“รสนา” เผยศาลยกคำร้องคดี “ปิยสวัสดิ์” ฟ้องบทความ “มหากาพย์ฮุบท่อก๊าซ สมบัติชาติ” เหตุเพราะเนื้อหาไม่ใช่ความเท็จ โอดยกฟ้องตั้งแต่ 23 มี.ค. ถึงวันนี้ไม่มีสื่อไหนนำเสนอข่าวเลย ตั้งข้อสงสัยหรือสื่อจะถูกซื้อไปแล้ว
วานนี้ (27 มี.ค.) น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “รสนา โตสิตระกูล” กรณีศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งยกฟ้องคดีที่นายปิยสวัสดิ์ ฟ้อง น.ส รสนาในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง สืบเนื่องจากบทความ “มหากาพย์ฮุบท่อก๊าซ สมบัติชาติ” ซึ่งเผยแพร่ในเฟซบุ๊ก และเพจ รสนา โตสิตระกูล เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2557 เนื้อหาที่โพสต์ระบุดังนี้
“วันจันทร์ที่ 23 มีนาคม 2558 ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งยกฟ้องคดีที่นายปิยสวัสดิ์ ฟ้อง น.ส รสนาในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง สืบเนื่องจากบทความ “มหากาพย์ฮุบท่อก๊าซ สมบัติชาติ” ซึ่งเผยแพร่ในเฟซบุ๊ก และเพจ รสนา โตสิตระกูล เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2557
คดีนี้นายปิยสวัสดิ์ฟ้องตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กล่าวหาว่า น.ส.รสนานำความเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ศาลได้ยกคำร้องด้วยเหตุผลว่าเนื้อหาที่ปรากฏในบทความนี้ไม่ใช่ความเท็จ
ที่น่าแปลกใจคือ ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคมที่ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งยกคำร้อง จนถึงวันนี้ วันที่ 27 มีนาคม ไม่มีสื่อออนไลน์ หรือสื่อหนังสือพิมพ์ฉบับใดลงข่าวนี้เลย!?!
สมัยที่ดิฉันฟ้องอดีตนักการเมืองในสภาหลายคน เมื่อศาลยกคำร้อง สื่อออนไลน์ทุกฉบับลงซ้ำแล้วซ้ำอีก หรือว่าสื่อถูกบริหารจัดการจริงๆ ตามที่สังคมมีความสงสัยตลอดมา!?! แม้แต่ผู้ใหญ่ระดับสูงท่านหนึ่งยังเคยเอ่ยปากกับดิฉันว่า “สงสัยว่าสื่อจะถูกซื้อ” ส่วนความสงสัยเหล่านี้จะจริงเท็จอย่างไร สื่อย่อมรู้ดีกว่าใคร ดิฉันในฐานะจบวารสารศาสตร์ ทราบดีว่าจริยธรรมของสื่อเป็นสิ่งสำคัญ เพราะสังคมจะก้าวหน้าหรือล้าหลังก็ขึ้นอยู่กับสื่อ สื่อมีหน้าที่สะท้อนความจริงอย่างตรงไปตรงมา อย่างปราศจากความลำเอียง
แม้สื่อจะไม่รายงานในวันนี้ เมื่อดิฉันได้คำพิพากษาฉบับเต็ม ก็จะทำหน้าที่สื่อเอง ด้วยการนำมาลงให้เพื่อนมิตรได้อ่าน ได้ศึกษากัน เผื่อท่านใดที่ถูกฟ้องแบบเดียวกัน จะได้ศึกษาไว้สู้คดีต่อไป
ดิฉันขอนำบทความ “มหากาพย์ฮุบท่อก๊าซ สมบัติชาติ” ที่เคยลงเผยแพร่ในเฟซบุ๊ก และเพจเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2557 มาลงให้อ่านอีกครั้ง
“ขอความกรุณาเพื่อนมิตร ไม่ใช้คำหยาบคาย หรือคำวิพากษ์วิจารณ์ที่เข้าข่ายหมิ่นประมาทบุคคลใดในการแสดงความเห็นด้วยค่ะ”
“มหากาพย์ฮุบท่อก๊าซ สมบัติชาติ”
การแปรรูป ปตท.ครั้งประวัติศาสตร์ เมื่อปี 2544 ในยุครัฐบาลทักษิณ เกิดขึ้นหลังจากพรรคไทยรักไทยจัดตั้งรัฐบาลเพียง9เดือนเศษ ทั้งที่เคยหาเสียงว่าหากได้เป็นรัฐบาลจะยกเลิก “กฎหมายขายชาติ 11 ฉบับ” ซึ่งหนึ่งในกฎหมายที่ถูกเรียกขานว่า “กฎหมายขายชาติ 11 ฉบับ” คือ พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ ที่ออกตามเงื่อนไขการกู้เงิน IMF เพื่อแก้ปัญหาวิกฤติต้มยำกุ้ง ที่เป็นผลจากความไร้วินัยทางการเงินของภาคเอกชน แต่เป็นมรดกบาปที่ประชาชนทั้งประเทศต้องมาจ่ายหนี้แทนเอกชนที่ล้มบนฟูกทั้งหลาย
เมื่อพรรคไทยรักไทยได้เป็นรัฐบาล ทักษิณมองเห็นสำรับผลประโยชน์ที่จัดเตรียมขึ้นโดยกลุ่มสนับสนุนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจตามแนวทางของมิลเลอร์ ฟรีดแมน ที่มีนางมาร์กาเรต แทตเชอร์ เอาไปปฏิบัติจนประเทศอังกฤษย่อยยับจากนโยบายแปรรูปของรัฐบาลของเธอ หากใครติดตามข่าวตอนมรณกรรมของอดีตนายกฯหญิอังกฤษคนนี้เมื่อปีที่แล้ว จะเห็น นสพ.ในอังกฤษหลายฉบับได้พาดหัวข่าวคำสัมภาษณ์ของคนอังกฤษที่พูดว่านางแม่มดชั่วร้ายได้ตายแล้ว (The wicked witch is dead) ประชาชนออกมาจัดปาร์ตี้แสดงความยินดีกับการตายของเธอตามท้องถนนสวนกระแสการไว้ทุกข์ของรัฐบาล
ทักษิณมองเห็นสาธารณสมบัติอันอุดม จึงละทิ้งสัญญาประชาคมตอนหาเสียงเลือกตั้ง และเข้ามาชุบมือเปิบผลประโยชน์ต่อจากกลุ่มนิยมขายสมบัติชาติที่ตั้งสำรับไว้แล้ว ด้วยการแปรรูป ปตท.เป็นลำดับแรกทันที
การแปรรูปในสายตานักเศรษฐศาสตร์ทุนนิยมกระแสหลักที่เน้นความโปร่งใสตรวจสอบได้ และเป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลเมื่อปี 2544 อย่าง โจเซฟ สติกลิสต์ ที่กล่าวอมตวาจาว่า
“การแปรรูปคือการคอร์รัปชัน (Privatization is Briberization) เพียงการบอกขายสมบัติชาติในราคาต่ำกว่าราคาตลาด ก็จะสามารถฉกฉวยเอาทรัพย์สินมูลค่ามหาศาลเป็นของตนแทนที่จะปล่อยมันไว้ให้คนอื่นเข้ามาถลุง”
การแปรรูป “ปตท.” เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สะท้อนอมตวาจาของสติกลิสต์ นอกจากนี้เขายังเคยพูดถึงวิกฤตเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์เมื่อปี 2551 ว่ารัฐบาลอเมริกันไม่ควรไปอุ้มกลุ่มทุนการเงินที่เป็นผู้สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างร้ายแรงให้กับสหรัฐอเมริกา และประชาคมเศรษฐกิจโลก เขาถามหาสิ่งที่เรียกว่าความรับผิดชอบ และการตรวจสอบได้ (Accountability) ของกลุ่มทุนการเงินเหล่านั้น และเรียกร้องให้คนพวกนั้นเป็นผู้ที่ต้องจ่ายให้กับความเสียหายที่เขาก่อขึ้น ไม่ใช่ให้รัฐบาลมาจ่าย และปล่อยคนเหล่านี้ลอยนวลไปพร้อมกับเงินก้อนใหญ่
สิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยในวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง เมื่อ 11 ปีก่อนหน้าวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์นั้นก็ไม่ต่างจากกลุ่มทุนการเงินชาวอเมริกัน คือนอกจากล้มบนฟูกแล้ว ยังตบตูดจากไปอย่างไม่ต้องรับผิดชอบอะไร ปล่อยให้ประชาชนรับกรรมใช้หนี้แทน แล้วยังนำปตท.ที่เป็นสาธารณสมบัติของชาติมาพยุงตลาดหลักทรัพย์ที่ซบเซาจากวิกฤติเศรษฐกิจในครั้งนั้น ที่มาจากความโลภและความไร้วินัยทางการเงินของสถาบันการเงินภาคเอกชน โดยคนเหล่านั้นหาได้มีจิตสำนึกความรับผิดชอบใดๆไม่
ปตท.จึงเป็นผลประโยชน์ก้อนใหญ่ที่กลุ่มทุนการเงินเอกชน และกลุ่มทุนการเมืองอย่างทักษิณหมายปอง แต่จังหวะเวลามาตกเข้าทางของรัฐบาลทักษิณพอดี
เมื่อรัฐบาลต้องการแปรรูป ปตท. ซึ่งทางคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ มีมติเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2544 ให้ ปตท. ซึ่งคือการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยไปดำเนินการแยกกิจการท่อก๊าซธรรมชาติ ออกจากกิจการจัดหาและจำหน่ายก่อนแปรรูปเข้าตลาดหลักทรัพย์ “โดยให้ ปตท.ที่เป็นรัฐวิสาหกิจ 100% ในขณะนั้นคงการถือหุ้นในกิจการนี้ร้อยละ 100”
มติดังกล่าว เป็นการมอบหมายให้การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย หรือ ปตท. ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2521 มีสถานะเป็นนิติบุคคลมหาชนและเป็นองค์การของรัฐซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำกิจการของรัฐ โดยทุนทั้งหมดของ ปตท. ได้มาจากเงินและทรัพย์สินของรัฐ จึงมีมติให้ ปตท.คงความเป็นผู้ครอบครองและดูแลระบบท่อส่งก๊าซต่อไป
แต่ทักษิณต้องการแปรรูป ปตท.และเอาเข้าตลาดหลักทรัพย์ทันที จึงมีมติ ครม.ให้แปรรูปก่อนและจะแยกท่อก๊าซหลังการแปรรูป 1 ปี
แต่พอครบ 1 ปีรัฐมนตรีพลังงานในสมัยนั้น ก็กลับมติ โดยให้ยกเลิกมติเดิมที่ให้แยกท่อก๊าซภายใน 1 ปี และให้ ปตท.เป็นผู้ซื้อก๊าซเพียงรายเดียว (Single Buyer) อันเป็นการโอนย้ายอำนาจผูกขาดจากรัฐไปให้เอกชนซึ่งคือการยักยอกทรัพย์ของแผ่นดินครั้งที่1
หลังจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายร่วมกันฟ้องเพิกถอนการแปรรูป ปตท.ต่อศาลปกครองสูงสุดในคำพิพากษาของศาลปกครองได้บรรยายอย่างชัดเจนว่าการแปรรูปโดยไม่ได้ทำตามเงื่อนไขในกฎหมายทุนรัฐวิสาหกิจที่กำหนดเงื่อนเวลาในการแยกทรัพย์สินที่ได้มาโดยอำนาจมหาชนและการไม่แบ่งแยกอำนาจรัฐออกจาก ปตท.ที่เป็นบริษัทเอกชนมหาชน โดยยังมีอำนาจเหมือนปตท.สมัยที่ยังเป็นรัฐวิสาหกิจที่ได้รับมอบอำนาจมหาชนตามกฎหมายจากสภานิติบัญญัตินั้นเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ศาลได้บรรยายในคำพิพากษาว่า เมื่อ ปตท.ได้เปลี่ยนสภาพจากการเป็นองค์กรมหาชนของรัฐไปเป็นองค์กรเอกชนมหาชนแล้ว จึงไม่ถือเป็นองคาพยพของรัฐอีกต่อไป แม้ว่ากระทรวงการคลังจะถือหุ้นใหญ่เกิน 51% แต่ก็ไม่ได้ทำให้ ปตท.มีสถานะกลับมาเป็นองค์กรมหาชนของรัฐอีกแต่อย่างใด
ปตท.จึงไม่สามารถครอบครองทรัพย์สินที่ได้มาด้วยอำนาจมหาชน (อำนาจรัฐ) ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติเพื่อการใช้ร่วมกันของคนในชาติ และไม่สามารถใช้อำนาจรัฐได้อีก
อันที่จริงศาลมีความเห็นว่า การแปรรูป ปตท.เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่เนื่องจากการแปรรูป ปตท.ผ่านไปกว่า 5 ปีแล้ว ปตท.ได้ก่อนิติสัมพันธ์กับบุคคลภายนอกเป็นจำนวนมาก และมูลค่า ปตท.ในตลาดหลักทรัพย์ขณะนั้นสูงถึง 8.4 แสนล้านบาท หากเพิกถอนการแปรรูปเกรงจะก่อให้เกิดความเสียหาย
ศาลปกครองได้อ้าง พ.ร.บ กำกับกิจการพลังงานที่ออกในสมัยรัฐบาล พล.อ สุรยุทธ์ จุลานนท์ ว่าเป็นการเยียวยาความเสียหายแล้ว จึงให้ยกคำร้องการเพิกถอนการแปรรูป ปตท. แต่สั่งให้แบ่งแยกทรัพย์สินที่ได้มาโดยอำนาจมหาชนและทรัพย์สินที่มาจากการรอนสิทธิคืนให้กับรัฐ ทั้งหมดให้ดำเนินการให้เสร็จสิ้นก่อนมีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน อีกทั้งไม่ให้ ปตท.ใช้อำนาจรัฐอีก
แต่การคืนท่อก๊าซโดยรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานในสมัยนั้น ก็คืนเฉพาะท่อก๊าซบนบกที่มีการรอนสิทธิ ส่วนท่อส่งก๊าซในทะเลไม่ได้คืนตามคำพิพากษา และไม่ได้ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ ที่ได้มีมติมอบหมายให้ สตง.เป็นผู้ตรวจสอบความถูกต้องในการคืนทรัพย์ทรัพย์สิน หากมีข้อโต้แย้งทางกฎหมายเรื่องทรัพย์สิน มติ ครม.ได้ระบุให้คณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้วินิจฉัย
แม้ สตง.จะยืนยันตลอดมาว่าปตท.ยังไม่ได้คืนท่อส่งก๊าซในทะเลและอุปกรณ์ที่รวมกันเป็นระบบตามคำสั่งศาล แต่รัฐบาลในสมัยต่อมาก็ไม่ได้ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาเข้ามาร่วมพิจารณา คงมีเพียง บมจ.ปตท.ซึ่งเป็นลูกหนี้และจำเลยไปรายงานต่อศาลว่าตนเองคืนทรัพย์สินครบแล้ว โดยไม่ได้ผ่านการตรวจสอบของ สตง.ก่อนตามมติ ครม.แต่อย่างใด
มาถึงวันนี้ นายปิยสวัสดิ์ อดีตรัฐมนตรีพลังงานที่สั่งให้คืนเฉพาะท่อส่งก๊าซบนบก ส่วนท่อในทะเล อ้างว่ามีคณะกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เป็นผู้ดูแลแล้ว จึงไม่ต้องคืน
สิ่งต้องถามนายปิยสวัสดิ์ คือ เมื่ออ้างว่าท่อส่งก๊าซในทะเลไม่ต้องคืน เพราะมี กกพ.เป็นผู้กำกับดูแลแล้ว แต่ก็ต้องตอบมาให้ชัดเจนว่า แล้ว “กรรมสิทธิ์ระบบท่อส่งก๊าซเป็นของใคร?”
ระบบท่อส่งก๊าซที่เป็นสาธารณสมบัติของชาติจึงอยู่ในสภาพที่ ปตท.ครอบครอง แต่ประชาชนคัดค้านและต้องการทวงคืน
การกำกับดูแลท่อก๊าซโดย กกพ. ปรากฏว่ามติ กกพ.ล้วนแต่เป็นประโยชน์ต่อ ปตท.ทั้งสิ้น เพราะ ปตท.ยังเป็นผู้ผูกขาดท่อก๊าซ และผูกขาดการซื้อก๊าซเจ้าเดียว แต่ประชาชนต้องเสียประโยชน์จากมติของ กกพ.คือ ต้องจ่ายค่าผ่านท่อแพงขึ้น ต้องจ่ายทั้งค่าก๊าซและค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้นด้วย
ตัวอย่างเช่น กกพ.ยอมให้ ปตท.สามารถนำท่อก๊าซที่โต้แย้งกรรมสิทธิ์กันระหว่างประชาชนกับ ปตท.ไปตีมูลค่าใหม่ได้ และอนุมัติให้ ปตท.สามารถเพิ่มค่าผ่านท่อได้เพราะได้มูลค่าท่อก๊าซเพิ่มขึ้นจากการตีราคาเสมือนมีการลงทุนใหม่
การใช้อำนาจรัฐของรัฐมนตรีพลังงาน และรัฐมนตรีกระทรวงการคลังอีกหลายรัฐบาลต่อมาทำให้กรรมสิทธิ์ระบบท่อส่งก๊าซไม่ได้กลับคืนมาเป็นกรรมสิทธิของรัฐและประชาชน ยังคงปล่อยให้ ปตท.ถือครองทรัพย์สินของรัฐที่มีสภาพผูกขาดโดยธรรมชาติต่อไป ซึ่งขัดต่อสาระในคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด
มหากาพย์ภาค 2 แผนการฮุบท่อส่งก๊าซไปเป็นของเอกชนกำลังจะเริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริษัท ปตท.จำกัด ได้เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการ บมจ.ปตท. เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2557 ว่า ได้เห็นชอบแนวทางการเพิ่มการแข่งขันในธุรกิจพลังงาน และลดอำนาจการผูกขาดของ ปตท. โดยให้ ปตท.ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรียุครัฐบาลทักษิณเมื่อปี 2544 ก่อนที่จะมีการแปรรูป ปตท. ในส่วนของระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ คือ ให้ดำเนินการแยกท่อก๊าซ ปตท. ให้เป็นบริษัทเพื่อเปิดให้บุคคลที่ 3 มาใช้ท่อก๊าซฯ ด้วย
นายปิยสวัสดิ์ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการเผชิญหน้า ทีวีสปริงนิวส์ว่า จะแยกท่อก๊าซออกมาตั้งเป็นบริษัทใหม่โดยให้เป็นของบริษัท ปตท.หลังจากนั้นก็แล้วแต่ “คสช.” จะตัดสินใจให้คนอื่นมาถือหุ้นแทน ปตท.และเรื่องแยกท่อก๊าซก็ต้องทำให้เสร็จก่อนมีการเลือกตั้งในปี 2558 อีกด้วย
ความหมายที่ชัดเจนคือ การอ้างมติ ครม.ในปี 2544 นั้นเป็นการมั่วนิ่มหรือเปล่า?
เพราะมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2544 ที่มอบหมายให้ ปตท.ที่เป็นรัฐวิสาหกิจก่อนการแปรรูปไปแยกท่อส่งก๊าซ และมอบหมายให้ ปตท.ที่เป็นรัฐวิสาหกิจ 100% ในขณะนั้นคงการถือหุ้นในกิจการนี้ร้อยละ 100 แสดงว่าระบบท่อส่งก๊าซต้องเป็นของรัฐ 100%
แต่สิ่งที่นายปิยสวัสดิ์จะดำเนินการแยกระบบท่อก๊าซมาตั้งเป็นบริษัทใหม่ โดยในระยะเริ่มแรกเป็นของ บริษัท ปตท.ก่อนนั้น ย่อมมีความแตกต่างจากมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เพราะ ปตท.ในขณะนี้เป็น บมจ.ปตท.ที่รัฐถือหุ้นเพียง51% และมีเอกชนมาถือหุ้นร่วมด้วยอีก 49% ปตท.ในขณะนี้จึงไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ100% เหมือนเมื่อก่อนแปรรูป
ดังนั้น การแยกท่อก๊าซมาตั้งเป็นบริษัทใหม่ตามข้อเสนอของนายปิยสวัสดิ์ จะทำให้รัฐและประชาชนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิระบบท่อส่งก๊าซเพียง 51% เท่านั้นไม่ใช่เป็นเจ้าของ 100% ตามมติเดิมของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
มหากาพย์ฮุบท่อก๊าซภาคสมบูรณ์จะเกิดขึ้นและสำเร็จได้ ถ้า “คสช.” หลงคารมวาทกรรมว่ารัฐไม่ควรถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจอีกเลย เพื่อหนีการล้วงลูกของนักการเมือง ข้อเสนอของคนกลุ่มนี้ คือ รัฐควรขายกรรมสิทธิ์ในรัฐวิสาหกิจทั้งหมดโดยเฉพาะ “ปตท.” ให้เหลือ 0%
เมื่อทุนเอกชนสามารถยึดโครงข่ายกิจการสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างโครงข่ายระบบท่อส่งก๊าซได้ ก็เหมือนยึดเส้นเลือดในกายเศรษฐกิจของชาติด้านพลังงานได้ทั้งหมด แล้วเลือดจะไปไหนเสีย?
ยิ่งกลุ่มทุนที่นิยมขายสมบัติชาติพยายามผลักดันให้ คสช.คงระบบสัมปทานในการให้สิทธิสำรวจผลิตปิโตรเลียมแก่เอกชนต่อไป โดยอ้างวาทกรรมเรื่องปริมาณปิโตรเลียมของประเทศมีน้อย
การคงระบบสัมปทานปิโตรเลียมก็คือ การยกกรรมสิทธิ์ในทรัพยากรปิโตรเลียมทั้งหมดให้กับกลุ่มทุนพลังงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ
เมื่อทุนพลังงานครอบครองกลไกเครื่องมือ คือ ระบบท่อส่งก๊าซ ท่อส่งน้ำมันและได้กรรมสิทธิ์ในทรัพยากรปิโตรเลียมไปด้วย คนไทยก็จะตกเป็นอาณานิคมของกลุ่มทุนพลังงานเอกชนโดยสมบูรณ์
ราคาพลังงานจะแพงขึ้นเท่าไหร่ ประชาชนต้องก้มหน้ารับกรรมกันไป จะไปเรียกร้องตรวจสอบอะไรอีกไม่ได้ เพราะเขาเป็นเอกชนเต็มตัว
เมื่อตอนกลุ่มธุรกิจเอกชนใหญ่ก่อวิกฤตเศรษฐกิจฟองสบู่ ประชาชนต้องเข้าไปรับเคราะห์แทน
แต่พอเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว เขาก็มาฮุบสาธารณูปโภคพื้นฐานของประชาชน เอาไปเป็นสมบัติส่วนตัวของผู้ถือหุ้นใหญ่ๆไม่กี่ราย
มหากาพย์ฮุบสมบัติชาติภาคสมบูรณ์ จะเป็นการช่วยต่อยอดให้กับการฮุบสมบัติชาติภาคแรกเมื่อปี 2544 ให้สำเร็จในสมัยนี้ได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับความตื่นรู้ของประชาชนคนไทยทั้งปวง
รสนา โตสิตระกูล
อดีตสมาชิกวุฒิสภากรุงเทพฯ
12 สิงหาคม 2557”