xs
xsm
sm
md
lg

สตง.บี้ ปตท.คืนท่อ 3.26 หมื่นล้าน รอลุ้นคำวินิจฉัยกฤษฎีกาชี้ขาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สตง.กัดไม่ปล่อย จี้ ปตท.แบ่งแยกและส่งมอบท่อก๊าซในทะเลและบนบกที่ค้างอยู่คิดเป็นมูลค่า 3.26 หมื่นล้านบาทคืนให้กระทรวงการคลัง ยันรอกฤษฎีกาชี้ขาดว่า ปตท.ส่งมอบทรัพย์สินครบถ้วนหรือไม่ โดยพร้อมปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของกฤษฎีกา



นายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) แถลงข่าวโต้แย้ง บมจ.ปตท. ที่ยืนยันว่าแบ่งแยกและส่งมอบทรัพย์สินให้กระทรวงการคลังเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ว่า จากการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) พบว่าทรัพย์สินท่อก๊าซฯ ที่ บมจ.ปตท. (PTT) แบ่งแยกและส่งมอบให้กระทรวงการคลังแล้ว มูลค่ารวม 16,176.22 ล้านบาท เป็นท่อก๊าซธรรมชาติที่อยู่บนบกเพียงบางส่วนเท่านั้น แต่ยังมีท่อก๊าซทั้งบนบกและในทะเลที่ ปตท.ยังไม่แบ่งแยกและส่งมอบให้คลัง คิดเป็นมูลค่ารวม 32,613.45 ล้านบาท จึงกล่าวได้ว่า ปตท.ยังไม่ได้ดำเนินการแบ่งแยกและคืนทรัพย์สินให้คลังถูกต้องครบถ้วนตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด

ซึ่งเรื่องดังกล่าวทาง สตง.ได้ส่งผลตรวจสอบเสนอต่อหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 14 ส.ค.ที่ผ่านมา จากนั้นหัวหน้า คสช.ได้มอบหมายให้ สตง.เสนอเรื่องดังกล่าวให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความปัญหาเพื่อยุติความขัดแย้ง ซึ่งเมื่อวันที่ 13 พ.ย.ที่ผ่านมา สตง.ได้เข้าไปชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องการแบ่งแยกทรัพย์สินต่อที่ประชุมคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ)

ขณะนี้ทาง สตง.อยู่ระหว่างการรอคำวินิจฉัยของกฤษฎีกา ซึ่งไม่ทราบว่าจะมีคำวินิจฉัยเมื่อใด แต่เมื่อมีคำวินิจฉัยออกมาเป็นอย่างไรก็พร้อมจะปฏิบัติตาม โดยหากคำวินิจฉัยระบุว่า ปตท.ได้มีการแบ่งแยกและส่งมอบทรัพย์สินให้คลังครบถ้วนแล้ว สตง.ก็จะยุติเรื่องดังกล่าว

แต่ถ้าการวินิจฉัยของกฤษฎีการะบุว่า ปตท.ยังแบ่งแยกและส่งมอบทรัพย์สินยังไม่ครบ ก็จะพิจารณาแล้วส่งเรื่องให้ศาลปกครองสูงสุดไต่สวนพิจารณาเพื่อบังคับคดีให้ถูกต้อง โดยยืนยันว่าไม่ใช่เป็นการเพิกถอนคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด เนื่องจากอยู่ในชั้นบังคับคดี เมื่อมีข้อมูลใหม่ก็สามารถนำข้อมูลมาพิจารณาไต่สวนแล้วแก้ไขคำสั่งเดิมที่ระบุว่า ปตท.ส่งมอบทรัพย์สินเรียบร้อยแล้วไปเพื่อดำเนินการส่งมอบท่อก๊าซให้ครบถ้วน

ส่วนก่อนหน้านี้ที่กระทรวงการคลังออกมาระบุว่า ปตท.คืนทรัพย์สินเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยท่อก๊าซในทะเลไทยไม่ได้ใช้อำนาจมหาชนในการรอนสิทธิ์นั้นเป็นความเห็นของกระทรวงการคลัง แต่ สตง.ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลผลประโยชน์ของชาติ เห็นว่าการวางท่อก๊าซฯ ไม่ว่าจะอยู่บนบกหรือในทะเลต้องใช้อำนาจมหาชนตาม พ.ร.บ.การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2521 มาตรา 30-36 และใช้เงินแผ่นดินในการลงทุน ซึ่งผู้วางท่อและใช้ท่อเป็นการปิโตรเลียมฯ ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐ ดังนั้นท่อก๊าซฯ จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินภายใต้ประมวล กม.แพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304(3)

นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการ สตง. กล่าวยืนยันว่า สตง.ในฐานะเป็นผู้สอบบัญชีให้ บมจ.ปตท. ได้ดำเนินการตามหลักสากลของผู้สอบบัญชีที่ออกใบรับรองงบการเงิน และได้ให้ข้อสังเกตในประเด็นเรื่องนี้ในรายงานประกอบงบการเงิน ปตท. ซึ่งจะไม่กระทบต่อฐานะการเงินของ ปตท.ที่ผ่านมา แต่อนาคตขึ้นอยู่กับคำวินิจฉัยของกฤษฎีกา แต่เชื่อว่าฝ่ายบริหาร ปตท.จะมีแนวทางการบริหารจัดการเพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อกิจการได้

“รายงานของ สตง.เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการแบ่งแยกและส่งมอบทรัพย์สินให้กระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นชั้นบังคับคดี และเมื่อหัวหน้า คสช.สั่งให้เสนอเรื่องนี้ต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความปัญหาดังกล่าวเพื่อยุติความขัดแย้ง และไม่ใช่ว่า สตง.ไม่เคารพคำสั่งศาล แต่แถลงข่าววันนี้เพื่อลดความขัดแย้งของสังคม”

ทั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้ ปตท.แบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2550 และวันที่ 25 ธ.ค. 2551 ปตท.ทำคำร้องส่งศาลปกครองสูงสุดว่าได้ดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินให้กระทรวงการคลังเรียบร้อยแล้ว

วันที่ 26 ธ.ค. 2551 นายจรัล หัตถกรรม ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุดได้เกษียนในคำร้องของ ปตท.ว่า ปตท.ได้ดำเนินการตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ในวันเดียวกันนี้เองทาง สตง.ได้ส่งรายงานการตรวจสอบการแบ่งแยกทรัพย์สินของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอต่อ ปตท. เลขาธิการคณะรัฐมตรี และเลขาธิการศาลปกครอง โดยระบุว่ายังมีทรัพย์สินที่ ปตท.ยังไม่ได้แบ่งแยกให้กระทรวงการคลังตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดเป็นมูลค่ารวม 32,613 ล้านบาท และ สตง.ได้มีการทำหนังสือความเห็นเดิมเมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2552 ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
กำลังโหลดความคิดเห็น