“ธีระชัย” ช่วยผู้ตรวจการแผ่นดินยืนยัน ปตท.รายงานเท็จต่อศาลจนศาลตัดสินเข้าข้าง ชำแหละไม่แจ้งถึงกรณีที่ สตง. มีหนังสือว่ายังโอนท่อก๊าซไม่ครบ ทั้งที่ได้รับหนังสือก่อนหน้านั้นถึง 2 เดือนเศษ
วันที่ 21 พ.ย. นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง โพสต์ลิงก์กรณีที่นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) อ้างว่า ปตท.คืนท่อก๊าซธรรมชาติให้แผ่นดินตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดครบถ้วนแล้ว (http://www.manager.co.th/iBizchannel/ViewNews.aspx?NewsID=9570000133720) ผ่านเฟซบุ๊ก "Thirachai Phuvanatnaranubala" พร้อมระบุว่า “ตามที่ผมเขียนว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินมีข้อสังเกตว่า
สำหรับคำร้องที่บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ยื่นต่อศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2551 นั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่า “เป็นการรายงานข้อเท็จจริงอันเป็นเท็จต่อศาลปกครองสูงสุด เนื่องจากในคำร้องดังกล่าวบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) อ้างต่อศาลปกครองสูงสุดว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ได้ดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินให้กระทรวงการคลังครบถ้วนแล้วนั้น
แต่ข้อเท็จจริงปรากฏภายหลังจากที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2550 แล้ว คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550 มอบหมายให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้อง ... แต่ไม่ปรากฏว่าสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้ดำเนินการตรวจสอบและรับรองความถูกต้องในรายงานการดำเนินการตามคำพิพากษาของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2551 ดังกล่าวแต่อย่างใด
ดังนั้น การกล่าวอ้างของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ในคำร้องที่ยื่นต่อศาลปกครองสูงสุดที่ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้ดำเนินการตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดครบถ้วนแล้ว จึงเป็นการรายงานที่เป็นเท็จต่อศาลปกครองสูงสุด ที่ส่งผลต่อการพิจารณาการบังคับคดีของศาลปกครองสูงสุดในคดีนี้”
ในวันนี้ ปตท.ได้แถลงข่าวว่า สตง.ได้มีหนังสือถึงศาล วันที่ 26 ธันวาคม 2551 และอีกครั้งวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2552 โดยศาลได้มีหนังสือตอบ สตง.วันที่ 10 มีนาคม 2552 ว่า ปตท.ได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาเรียบร้อยแล้ว จึงจะฟ้องผมว่าละเมิดต่อ ปตท. นัยว่าที่ผมอ้างข้อสังเกตุของผู้ตรวจการแผ่นดินเรื่องรายงานที่เป็นเท็จนั้น ไม่ถูกต้อง
ผมมีข้อสังเกตดังนี้
1. วันที่ 18 ธันวาคม 2550 ครม.มีมติให้ สตง.ต้องเป็นผู้ตรวจสอบรับรองการโอนทรัพย์สิน ใช่หรือไม่ มีผู้อื่นใดที่ ครม.สั่งให้ตรวจสอบรับรอง นอกจาก สตง.หรือไม่
2. วันที่ 31 มกราคม 2551 ปตท.แจ้งรายละเอียดทรัพย์สินที่โอนแก่ สตง. ใช่หรือไม่
3. วันที่ 10 ตุลาคม 2551 สตง.ตรวจสอบแล้ว สตง. แจ้ง ปตท.ว่าทรัพย์สินที่โอนยังไม่ครบ ใช่หรือไม่ ปตท.ได้รับหนังสือของ สตง. ก่อนหน้าที่ ปตท.จะยื่นคำร้องต่อศาลวันที่ 25 ธันวาคม 2551 หรือไม่
4. วันที่ 25 ธันวาคม 2551 ที่ ปตท.ยื่นคำร้องต่อศาลนั้น ปตท.ได้แจ้งให้ศาลทราบความเห็นของ สตง.วันที่ 10 ตุลาคม 2551 หรือไม่
5. หากไม่แจ้ง เหตุใด ปตท.ซึ่งได้รับทราบความเห็นของ สตง. ว่าทรัพย์สินที่โอนยังไม่ครบ ได้รับหนังสือนี้ ก่อนหน้าการยื่นคำร้องถึง 2 เดือนเศษ และเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ ครม.กำหนด แต่ทำไม ปตท.จึงไม่แจ้งศาล
6. ปตท.แถลงข่าวว่า สตง.มีหนังสือวันที่ 26 ธันวาคม 2551 และต่อมาวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2552 แจ้งศาล ถามว่าในการที่ศาลลงลายมือที่หน้าคำร้อง ซึ่งกระทำในวันที่ 26 ธันวาคม 2551 นั้น
ในวันที่ 26 ธันวาคม 2551 ในขณะที่พิจารณาคำร้องดังกล่าว และขณะที่ลงลายมือนั้น ตุลาการท่านนี้ได้รับทราบหนังสือวันที่ 26 ธันวาคม 2551 ของ สตง.หรือยัง และตุลาการท่านนี้ ได้นำข้อมูลในหนังสือวันที่ 26 ธันวาคม 2551 ของ สตง.มาประกอบการพิจารณาลงลายมือนั้น หรือไม่
7. หนังสือของ สตง.ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2551 นั้น ส่งถึงที่ทำการของศาลเมื่อใด ศาลลงทะเบียนรับเอกสารเลขที่เท่าใด วันใด เวลาใด และเจ้าหน้าที่ธุรการของศาล ได้ส่งหนังสือดังกล่าวให้ถึงมือของตุลาการท่านนี้ หรือไม่ วันใด เวลาใด ทะเบียนการส่งเอกสารภายในศาล เลขที่เท่าใด
8. หากในการที่ศาลลงลายมือ ซึ่งกระทำในวันที่ 26 ธันวาคม 2551 โดยที่ขณะนั้น ถ้าหากตุลาการยังมิได้อ่านหนังสือของ สตง ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2551 ถามว่า เมื่อตุลาการท่านนี้ได้อ่านหนังสือทั้งสองฉบับดังกล่าวภายหลังวันที่ 26 ธันวาคม 2551 ศาลได้มีการเปิดการพิจารณาคดีนี้ใหม่ หรือไม่ และถ้าหากมีการพิจารณาคดีนี้ใหม่ และถ้าหากศาลได้มีการนำข้อมูลในหนังสือ สตง. ที่ได้รับหลังการพิจารณาลงลายมือของศาลเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2551 เข้ามาประกอบการพิจารณาคดีนี้ใหม่ การพิจารณาคดีนี้ใหม่ดังกล่าว เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 26 ธันวาคม 2551 ถึงวันที่ 10 มีนาคม 2552 หรือไม่ ผู้ใดเป็นผู้พิจารณาคดีนี้ใหม่
9. หากศาลได้ลงลายมือ ซึ่งกระทำในวันที่ 26 ธันวาคม 2551 โดยที่ถ้าหากขณะนั้น ตุลาการท่านนี้ยังมิได้อ่านหนังสือของ สตง. ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2551 และถ้าหากศาลมิได้มีการเปิดการพิจารณาคดีนี้ใหม่ ระหว่างวันที่ 26 ธันวาคม 2551 ถึงวันที่ 10 มีนาคม 2552 การที่ศาลได้มีหนังสือวันที่ 10 มีนาคม 2552 ตอบ สตง. ว่า ปตท ได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาเรียบร้อยแล้วนั้น เป็นเพียงการแจ้งให้ สตง. ทราบ ถึงคำวินิจฉัยที่ศาลได้กระทำไปเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2551 หรือไม่
10. การที่ศาลมีหนังสือตอบ สตง. วันที่ 10 มีนาคม 2552 ว่า ปตท ได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาเรียบร้อยแล้วนั้น ตุลาการท่านนี้เป็นผู้ลงนามในหนังสือตอบ สตง หรือไม่ ถ้าเป็นผู้ลงนาม ขอให้ตุลาการท่านนี้อธิบายว่า วัตถุประสงค์ของหนังสือดังกล่าว เพื่อเป็นการยืนยันว่า ปตท ได้ให้ข้อมูลต่อศาลในคำร้องวันที่ 25 ธันวาคม 2551 เกี่ยวกับความเห็นของ สตง ครบถ้วนแล้ว หรือไม่
11. ถึงแม้ สตง.จะได้รับหนังสือจากศาลวันที่ 10 มีนาคม 2552 แล้ว สตง.โดยคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ยังทำหนังสือวันที่ 11 สิงหาคม 2553 หลังจากได้รับหนังสือดังกล่าวเป็นเวลาถึง 5 เดือน เพื่อแจ้งประธานวุฒิสภา ว่าการคืนทรัพย์สินยังไม่ครบถ้วน ด้วยเหตุใด
12. ถึงแม้ สตง.จะได้รับหนังสือจากศาลวันที่ 10 มีนาคม 2552 แล้ว ต่อมา สตง.โดยคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ได้มีหนังสื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2554 หลังจากได้รับหนังสือดังกล่าวเป็นเวลาถึง 2 ปีเศษ เพื่อแจ้งปลัดกระทรวงการคลังว่าการคืนทรัพย์สินยังไม่ครบถ้วนอีก ด้วยเหตุใด
13. ถึงแม้ สตง.จะได้รับหนังสือจากศาลวันที่ 10 มีนาคม 2552 แล้ว ต่อมา สตง. โดยคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ได้มีหนังสือวันที่ 6 พฤษภาคม 2554 หลังจากได้รับหนังสือดังกล่าวเป็นเวลาถึง 2 ปีเศษ เพื่อแจ้งประธานรัฐสภาว่าการคืนทรัพย์สินยังไม่ครบถ้วนอีก ด้วยเหตุใด
14. ถึงแม้ สตง.จะได้รับหนังสือจากศาลวันที่ 10 มีนาคม 2552 แล้ว เมื่อเร็วๆ นี้ หลังจากได้รับหนังสือดังกล่าวเป็นเวลากว่า 5 ปี สตง.โดยนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ได้มีหนังสือถึงคณะกรรมการกฤษฎีกา ขอให้พิจารณาตีความเรื่องการคืนทรัพย์สินยังไม่ครบถ้วน ด้วยเหตุใด
ผู้อ่านลองวินิจฉัยเองนะครับ ว่าข้อสังเกตของผู้ตรวจการแผ่นดินเรื่องรายงานที่เป็นเท็จนั้น ถูกต้องหรือไม่” นายธีระชัยระบุทางเฟซบุ๊ก