xs
xsm
sm
md
lg

ศาล ปค.สูงสุดยืนยกฟ้องคดีแยกระบบท่อก๊าซ ปตท.กลับเป็นของรัฐ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบระบบท่อก๊าซธรรมชาติ
ศาลปกครองสูงสุดยืนยกฟ้องคดีแยกระบบท่อก๊าซ ปตท.กลับเป็นของรัฐ เหตุฟ้องซ้ำ หลัง “มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค” ฟ้องเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้อง ดำเนินการ ติดตามท่อก๊าซบนบกและในทะเลที่มีก่อน 1 ตุลาคม 2544 ทั้งหมด + ท่อก๊าซเส้นที่ 3 ส่วนที่อยู่ในทะเล (เริ่มดำเนินการปี 2550 แต่วางท่อในทะเลก่อนการแปรสภาพ) เพราะมีหนังสือโต้ตอบระหว่างกระทรวงการคลัง กับ สตง.กล่าวถึงมูลค่าประมาณ 47,664 ล้านบาท

วันนี้ (16 ก.พ.) มีรายงานว่า ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น ไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ในคำร้องที่ 1034/2555 คำสั่ง 800/2557 ซึ่งเป็นคดีพิพาทระหว่างมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 1 กับพวกรวม 1,455 คน (ผู้ฟ้องคดี) ยื่นฟ้องคณะรัฐมนตรี ที่ 1 นายกรัฐมนตรี ที่ 2 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ 3 บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ที่ 4 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ 5 (ผู้ถูกฟ้องคดี) (คดีการแบ่งแยกระบบท่อก๊าซธรรมชาติของ บมจ.ปตท. ให้กลับมาเป็นของรัฐเพื่อประโยชน์สาธารณะ)

รายงานระบุว่า สำหรับคดีนี้ผู้ฟ้องได้ระบุว่า บมจ.ปตท.ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 แบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อคืนให้แก่รัฐหรือกระทรวงการคลังไม่ครบถ้วนตามที่ศาลปกครองสูงสุดเคยมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ ฟ.47/2549 คดีหมายเลขแดงที่ ฟ.35/2550 ซึ่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้มีหนังสือที่ ตผ 0023/68 ลงวันที่ 20 ก.พ. 2552 รายงานผลการตรวจสอบดังกล่าวต่อเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง แต่ปรากฏว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 (ภายใต้การกำกับดูแลของคณะรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรี) ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดกลับเพิกเฉย มิได้ดำเนินการแต่อย่างใด เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย ผู้ฟ้องจึงได้ยื่นขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้าร่วมกันดำเนินการแบ่งแยกระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติให้กลับมาเป็นของรัฐเพื่อประโยชน์สาธารณะ

เหตุที่ต้องฟ้องคดี เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2550 ศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำตัดสินในคดีที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค น.ส.รสนา โตสิตระกูล น.ส.สายรุ้ง ทองปลอน นางภินันทน์ โชติรสเศรณี และน.ส.บุญยืน ศิริธรรม ได้ยื่นฟ้องคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ต่อศาลปกครองสูงสุดและขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) พ.ศ. 2544 และพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียมแห่ง ประเทศไทย พ.ศ. 2544 ซึ่งเกี่ยวกับการแปลงสภาพการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยเป็นบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542

ในวันนั้นศาลปกครองสูงสุดพิพากษาว่า “ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ ร่วมกันกระทำการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิ ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ทั้งนี้ ให้เสร็จสิ้นก่อนการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ส่วนคำขอตามคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีทั้งห้า ที่ขอให้เพิกถอนพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) พ.ศ. 2544 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2550 และพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียมแห่ง ประเทศไทย พ.ศ. 2544 นั้นให้ยก”

แม้ว่าคำพิพากษาจะส่งผลให้ บมจ.ปตท ไม่ถูกเพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แต่จะต้องโอนคืนที่ดินและระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่มีการก่อสร้างขึ้นก่อน การแปรรูป ปตท.เมื่อปลายปี 2544 ให้กับกระทรวงการคลัง โดยยังมีสิทธิในการใช้ท่อส่งก๊าซแต่ต้องจ่ายค่าตอบแทนเป็นรายได้แผ่นดินตาม ที่กระทรวงการคลังกำหนด หลังศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาได้ 4 วัน คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อ 18 ธันวาคม 2550 ให้กระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลัง ดำเนินการเรียกคืนทรัพย์สินจาก บมจ.ปตท. โดยให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบความถูกต้อง และให้คณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้ชี้ขาดข้อโต้แย้งที่หากจะมีขึ้น

ต่อมา บมจ.ปตท.ได้ทำการโอนมอบทรัพย์สินให้กระทรวงการคลังมีมูลค่าประมาณ 15,139 ล้านบาท ประกอบไปด้วยที่ดินที่การปิโตรเลียมฯ ได้มาโดยการใช้อำนาจเวรคืนและได้โอนให้กับ บมจ.ปตท.จำนวน 32 ไร่ มูลค่า 7 ล้านบาท, สิทธิเหนือที่ดินเอกชนมูลค่า 1,124 ล้านบาทและทรัพย์สินที่เป็นท่อส่งก๊าซธรรมชาติและอุปกรณ์ที่ประกอบกันเป็น ระบบขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ ส่วนที่เป็นท่อก๊าซเส้นที่ 1 และ 2 เฉพาะส่วนที่อยู่บนบก มูลค่า 14,008 ล้านบาท ส่วนท่อเส้น 1 และ 2 ที่อยู่ใต้น้ำ (บริเวณอ่าวไทย) และท่อเส้นที่ 3 ทั้งบนบกและในน้ำไม่ยอมโอนคืนให้ก็ให้สิทธิ ปตท.ได้ใช้ท่อต่อไปโดยคิดค่าเช่าท่อก๊าซทั้งหมด 30 ปี จำนวน 8,800 ล้านบาท ให้ทยอยจ่ายปีละ 200 กว่าล้านบาท

หลังการโอนคืนทรัพย์สิน บมจ.ปตท ได้รายงานต่อศาลปกครองว่าคืนทรัพย์สินครบถ้วนแล้ว ซึ่งศาลมีคำสั่งคำร้องว่า ผู้เกี่ยวข้องได้ดำเนินการคืนทรัพย์สินตามคำพิพากษาเรียบร้อยแล้ว เมื่อ 26 ธ.ค. 2551 แต่ สตง.มีรายงานว่า คืนทรัพย์สินไม่ครบถ้วน เพราะ บมจ.ปตท.ต้องคืน ระบบท่อก๊าซที่สร้างก่อนการแปรรูปทั้งหมด แต่ บมจ.ปตท.คืนให้บางส่วนเฉพาะ 3 โครงการที่กล่าวถึงในคำพิพากษาเท่านั้น แต่กระทรวงการคลังในฐานะผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินกลับไม่พยายามติดตามทวงคืนเลย และอ้างแต่คำสั่งศาลปกครองที่ออกมาเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2551 ว่าได้มีการส่งคืนทรัพย์สินครบถ้วนแล้ว และยอมไม่ส่งเรื่องให้กฤษฎีกา ขณะที่กฤษฎีกาเองก็แจ้งว่าต้องให้ศาลชี้ขาด จึงเท่ากับว่ากระทรวงการคลังซึ่งเป็นเจ้าพนักงานของรัฐไม่ปฏิบัติหน้าที่ และไม่มีทางอื่นจึงต้องให้ศาลมีคำพิพากษาให้เจ้าพนักงานปฏิบัติ

อย่างรก็ตาม เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2555 ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษา/คำสั่ง ไม่รับคำฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณา และจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ เนื่องจากพิเคราะห์แล้วเห็นว่าผู้ฟ้องคดีทั้ง 1,455 คนประสงค์จะให้ศาลมีคำพิพากษาต่อผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้าให้มีการปฏิบัติให้ถูกต้องและครบถ้วนในการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิในการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อให้กับกระทรวงการคลัง ซึ่งกรณีพิพาทตามฟ้องนี้ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ ฟ.35/2550 ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึงที่ 4 ดำเนินการดังกล่าวแล้ว
จึงเห็นได้ว่า ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 226 ซึ่งเป็นฝ่ายชนะคดีตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ ฟ.35/2550 กับพวกรวม 1,455 คน ต้องการร้องขอเพื่อให้มีการดำเนินการให้มีการปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดให้ถูกต้องครบถ้วน ตามมาตรา 72 วรรคห้า แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ พ.ศ. 2542 ประกอบมาตรา 271 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งไม่จำต้องนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง กรณีจึงถือว่าคดียังไม่มีเหตุแห่งการฟ้องคดีที่ศาลจะต้องพิจารณาพิพากษาแต่อย่างใด ผู้ฟ้องคดีจึงได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุด

ต่อมา ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยแล้วว่า คดีนี้เป็นการขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดี หรือประเด็นข้อใดแห่งคดีที่ศาลปกครองสูงสุดในคดีหมายเลขแดง ที่ ฟ. 35/2550 ได้วินิจฉัยแล้ว จึงเป็นกรณีที่ต้องห้ามมิให้ดำเนินกระบวนการพิจารณาในประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้ว

ส่วนที่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 1,455 คนได้อ้างในคำร้องอุทธรณ์คำสั่งว่า รายงานสรุปผลการดำเนินงานตามคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ ฟ.35/2550 นั้น ศาลเห็นว่ายังเป็นรายงานสรุปการดำเนินการส่งมอบทรัพย์สินคืนให้กระทรวงการคลังที่ยังไม่ถูกต้องสมบูรณ์ตามกฎหมาย เพราะยังไม่ได้รับการตรวจสอบและรับรองความถูกต้องจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน สตง. จึงยังเป็นรายงานสรุปการดำเนินการส่งมอบทรัพย์สินคืนให้กระทรวงการคลังที่ยังไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด ศาลเห็นว่ากรณีดังกล่าวที่ผู้ฟ้องได้อ้างว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติให้เป็นไปตามคำพิพากษาไมได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องไปว่ากล่าวกันภายในหน่วยงานของรัฐที่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของคณะรัฐมนตรี มิใช่เป็นเหตุที่จะกล่าวอ้างว่าเป็นการดำเนินการที่ยังไม่ถูกต้องสมบูรณ์ตามกฎหมาย เพราะเป็นกระบวนการที่กำหนดขึ้นโดยมติคณะรัฐมนตรีเท่านั้น

การที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและจำหน่ายคดีออกจากสารบบความนั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วยในผล คำร้องอุทธรณ์คำสั่งของผู้ฟ้องทั้ง 1,455 คน ไม่มีเหตุผลที่จะรับฟังได้


กำลังโหลดความคิดเห็น