xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 15-21 ก.พ.2558

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1.อัยการ ยื่นฟ้อง “ยิ่งลักษณ์” คดีละเลยทุจริตจำนำข้าวแล้ว ด้านศาลฎีกานักการเมืองนัดฟังคำสั่งรับฟ้องหรือไม่ 19 มี.ค.!
(บน) อัยการยื่นฟ้องคดี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ระงับยับยั้งการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (ล่าง) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
เมื่อวันที่ 19 ก.พ. ซึ่งเป็นวันที่อัยการกำหนดยื่นฟ้องคดี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในคดีปล่อยปละละเลยไม่ระงับทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ปรากฏว่า ช่วงสาย นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง พร้อมด้วยทีมทนายความ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้เดินทางมายื่นหนังสือแจ้งให้อัยการสูงสุดทราบว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่เดินทางมารายงานตัว เนื่องจากเห็นว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์อยู่ในสถานะผู้ถูกกล่าวหาเท่านั้น หากศาลฎีกาฯ มีคำสั่งประทับรับฟ้องและนัดพิจารณาคดีครั้งแรก น.ส.ยิ่งลักษณ์ยืนยันพร้อมจะเดินทางมาศาลเพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และขอใช้สิทธิต่อสู้คดี โดยมั่นใจว่าบริสุทธิ์ และมีพยานหลักฐานหักล้างข้อกล่าวหาของอัยการได้ ส่วนการเดินทางออกนอกประเทศนั้น นายนรวิชญ์ บอกว่า ขณะนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังไม่มีกำหนดเดินทางไปไหน หากจะเดินทาง ต้องขออนุญาต คสช.ก่อน เพราะอยู่ในช่วงประกาศกฎอัยการศึก

ต่อมา นายชุติชัย สาขากร อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ และนายสุรศักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูล อธิบดีอัยการสำนักงานคดีสอบสวน ได้นำสำนวนคดีทุจริตจำนำข้าว จำนวน 20 ลัง ใส่รถเข็น 3 คันไปยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเปิดแถลงหลังยื่นฟ้องว่า อัยการสูงสุดได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ หรือให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ต้องระวางโทษจำคุก 1-10 ปี ปรับ 2,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ,พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 4 ,มาตรา 123/1 ต้องระวางโทษจำคุก 1-10 ปี ปรับ 20,000—2000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ด้านนายธีรทัย เจริญวงศ์ เลขานุการแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แถลงขั้นตอน หลังอัยการสูงสุดยื่นฟ้องคดี น.ส.ยิ่งลักษณ์ว่า หลังจากนี้ จะมีการเรียกประชุมใหญ่ศาลฎีกาเพื่อเลือกองค์คณะผู้พิพากษา 9 คนภายในไม่เกิน 14 วันนับแต่วันยื่นฟ้อง จากนั้นองค์คณะจะประชุมเพื่อเลือกผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน 1 คน และพิจารณาคำฟ้องของอัยการสูงสุด โดยศาลได้นัดฟังคำสั่งว่าจะรับฟ้องหรือไม่ในวันที่ 19 มี.ค.เวลา 10.00 น. หากศาลเห็นว่าคำฟ้องครบถ้วนสมบูรณ์ จะมีคำสั่งประทับฟ้องและกำหนดให้คู่ความมาศาลในวันพิจารณาครั้งแรก

ทั้งนี้ นอกจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์จะถูกฟ้องคดีต่อศาลฎีกาฯ แล้ว เมื่อวันที่ 17 ก.พ. ที่ประชุม ป.ป.ช.ยังมีมติทำหนังสือถึงกระทรวงการคลังให้ประเมินความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว และเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้เกี่ยวข้อง โดยนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช. ชี้แจงว่า เหตุที่ ป.ป.ช.ต้องแจ้งไปยังกระทรวงการคลัง เนื่องจากกระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานรับค้ำประกันเงินงบประมาณในโครงการรับจำนำข้าว เมื่อเกิดความเสียหายขึ้น กระทรวงการคลังต้องไปเรียกร้องค่าเสียหายคืน โดยเป็นไปตามมาตรา 73/1 วรรคท้ายของ พ.ร.บ. ป.ป.ช. พ.ศ.2542

ส่วนฐานความเสียหายนั้น นายปานเทพ กล่าวว่า ป.ป.ช.จะส่งสำนวนที่ชี้มูลความผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งมีการระบุถึงฐานความเสียหายของการปิดบัญชีตั้งแต่ครั้งที่ 3 ประมาณ 3.2 แสนล้านบาท แต่ยังมีการปิดบัญชีโดยกระทรวงการคลังที่ระบุว่าสูงถึง 6 แสนล้านบาท นอกจากนี้ยังต้องไปดูในส่วนของการตรวจสอบคุณภาพข้าวในโกดังที่มี ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานการตรวจสอบคุณภาพข้าวด้วย

2.เสวนาพลังงานไร้บทสรุป ภาค ปชช.จี้รัฐบาลแก้ ก.ม.ปิโตรเลียมก่อนเปิดสัมปทาน ขณะที่ฝ่ายรัฐยันไม่ต้องแก้ ด้าน “บิ๊กตู่” ยกนิ้วพอใจ!
บรรยากาศเวทีรับฟังความคิดเห็นการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ภายใต้ชื่อ “เดินหน้าประเทศ เพื่อความมั่นคงทางพลังงานที่ยั่งยืน ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล
เมื่อวันที่ 20 ก.พ. ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ได้มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ภายใต้ชื่อ “เดินหน้าประเทศ เพื่อความมั่นคงทางพลังงานที่ยั่งยืน” โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน สำหรับผู้แสดงความเห็น มีทั้งตัวแทนจากฝ่ายรัฐและฝ่ายประชาชนที่ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 ก.พ.ให้ชะลอการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ออกไป เพื่อแก้กฏหมาย พ.ร.บ. ปิโตรเลียม และปรับปรุงกระบวนการบริหารจัดการด้านพลังงาน เพื่อให้ประเทศและประชาชนได้ประโยชน์มากที่สุดก่อน

ทั้งนี้ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง 1 ในตัวแทนฝ่ายประชาชน ได้กล่าวเสนอแนะให้มีการนำระบบแบ่งปันผลผลิตมาใช้แทนระบบสัมปทาน เพราะจะเกิดประโยชน์ต่อรัฐมากกว่า และต้องแก้กฎหมาย พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ให้เอื้อต่อการใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตก่อนเปิดสัมปทานรอบใหม่ ไม่ใช่ไปแก้หลังจากเปิดประมูลแล้ว เพราะหากไปแก้กฎหมายภายหลัง จะเกิดปัญหากฎหมายไม่มีผลบังคับย้อนหลัง “ที่บอกว่ากระบวนการแก้กฎหมายต้องใช้เวลา แสดงว่ากระทรวงพลังงานไม่เคยศึกษาไว้เลยหรือไม่ว่าระบบแบ่งปันผลผลิตในทั่วโลกใช้มา 40 ปีกว่าแล้ว สถานการณ์วันนี้มีกฎอัยการศึก มีอำนาจพิเศษ หากต้องการเร่งรัดออกออกฎหมาย สามารถแก้ได้ ...ทราบจากข่าวว่าหลังจากประชุมวันนี้แล้ว จะมีการทำโพล โพลดังกล่าวผมไม่แน่ใจว่าทำโดยองค์กรใด แต่หากจะมีการทำโพลจริง ควรตั้งคำถามที่ชัดเจนว่า สมควรจะแก้ไขกฎหมายให้เป็นธรรมและโปร่งใสก่อนเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 หรือไม่ ขณะเดียวกัน ภาคประชาชนเห็นควรว่า ควรทำประชามติมากกว่า เพราะประชาชนทั้งประเทศตื่นตัวเรื่องนี้ เนื่องจากพลังงานเป็นทรัพย์สินของประชาชน ให้เขาได้ตัดสินใจ”

ด้าน น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) 1 ในตัวแทนฝ่ายประชาชน กล่าวเช่นเดียวกันว่า ก่อนจะเปิดสัมปทานพลังงานรอบที่ 21 ต้องแก้กฎหมายปิโตรเลียม ทั้งในส่วนของ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 ใน 3 ประเด็นสำคัญ คือ 1. แก้ไขกฎหมายภาษีปิโตรเลียมเกี่ยวกับการนำค่าใช้จ่ายมาหักลบภาษีได้ 2. แก้ไขบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการใช้กระบวนการอนุญาโตตุลาการยุติข้อพิพาทระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะประเด็นการเพิกถอนสัมปทาน เพราะไม่มีประเทศใดในโลกใช้ระบบอนุญาโตตุลาการที่ถือเป็นการให้สิทธิและอธิปไตยทางกระบวนการยุติธรรมนอกประเทศมาพิพากษาเกี่ยวกับสิทธิด้านทรัพยากรหรือกิจการสาธารณะนอกราชอาณาจักร และ 3. ควรบรรจุสิทธิด้านปิโตรเลียมและเชื้อเพลิงพลังงานไว้ในรัฐธรรมนูญเพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชน

น.ส.รสนา ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การเร่งรีบให้สัมปทานครั้งนี้ทั้งที่ฝ่ายรัฐยอมรับว่ามีข้อบกพร่องอยู่ ทำให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อนของข้าราชการกระทรวงพลังงาน ที่ทำหน้าที่กำกับดูแลนโยบาย แต่กลับไปนั่งเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจ หรือบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ อย่างกรณีนายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน ที่เป็นผู้ลงนามให้สัมปทานแก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ถือว่าเป็นการกระทำที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนในการแบ่งแยกอำนาจการบริหารและการกำกับกิจการในฐานะข้าราชการระดับสูงต่อกิจการเอกชนหรือรัฐวิสาหกิจ ที่จะก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม น.ส.รสนา ยังตั้งคำถามด้วยว่า “ที่กำลังเร่งรีบ(เปิดสัมปทานปิโตรเลียม)อยู่ตอนนี้ เพราะต้องการนำก๊าซในอ่าวไทยไปป้อนให้กับธุรกิจปิโตรเคมีใช่หรือไม่”

ขณะที่นายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน 1 ในตัวแทนฝ่ายรัฐ ยืนยันว่า ไม่จำเป็นต้องแก้กฎหมายปิโตรเลียม เพราะเคยแก้มาแล้ว พร้อมย้ำว่า ระบบสัมปทานของไทยที่ยื่นข้อเสนอเปิดซอง ใครลงทุนสูงสุดคือผู้ชนะ เป็นระบบประมูลที่โปร่งใสที่สุด และทำมาแล้วหลายรัฐบาล “นี่คือหลักสากลที่ไม่เลือกปฏิบัติ และถ้ารัฐบาลใหม่มาแล้วเห็นว่าไม่ควรให้รายเดิมลงทุนเพิ่มเติม สามารถที่จะตั้งเงื่อนไขในสัมปทานได้ ไม่จำเป็นต้องแก้กฎหมายอีกเช่นกัน ทั้งหมดจึงอยู่ที่การอออกแบบการบริหาร ส่วนข้อกังวลที่ว่ากฎหมายปิโตรเลียมไม่เคยมีการแก้ไขนั้นไม่เป็นความจริง เพราะมีการแก้กฎหมายแล้วเป็นฉบับที่ 6 โดยเป็นระบบไทยแลนด์ 3 มีความเหมาะสม เรียกเก็บรายได้เข้ารัฐด้วยพอสมควร”

นายคุรุจิต ยังชี้แจงอีกว่า เหตุผลการเปิดสัมปทานปิโตรเลียม เพราะวันนี้เรานำเข้าพลังงานทุกประเภท ซึ่งปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติที่อ้างอิงตามหลักวิชาการเราเหลือไม่ถึง 13 ปี มีปริมาณการใช้มาก แต่การพบเจอก๊าซน้อยกว่า ดังนั้นประเทศเสี่ยงเข้าสู่วิกฤตพลังงาน การเปิดสิทธิสำรวจสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 ในพื้นที่เดิมที่หาไม่เจอ ถือเป็นโอกาสที่จะหาเจอขึ้นมาได้ หากบริษัทที่เข้ามามีเทคโนโลยีที่ทันสมัย อย่างไรก็ตาม การประมูลนั้น กระทรวงพลังงานได้รับฟังความคิดเห็นมาตลอด ประเทศไทยเราเขียนกติกาไว้ชัดเจน ไม่ต้องเจรจาต่อรอง และมีการเขียนกติกาเสนอข้อผูกพันการสำรวจ ปัจจุบันเราได้เสนอเรื่องผลประโยชน์พิเศษในตัวเงิน และผลประโยชน์นอกเหนือตัวเงิน รวมทั้งเสนอสิทธิให้บริษัทไทยเข้าร่วมทุนด้วย

ด้านนายมนูญ ศิริวรรณ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) 1 ในตัวแทนฝ่ายรัฐ กล่าวว่า เห็นด้วยกับการแก้กฎหมายก่อนแล้วค่อยเปิดสำรวจปิโตรเลียมหากทำได้จริง แต่ใครจะรับรองได้ว่าต้องใช้เวลาเท่าใด เพราะบางคนบอกจะใช้เวลา 6 เดือน 2 ปี หรือ 4 ปี ซึ่งตนไม่ได้คัดค้านระบบแบ่งปันผลผลิต แต่ทุกระบบมีทั้งข้อดีข้อเสีย พร้อมย้ำ การเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องรีบดำเนินการ เพราะล่าช้ามาพอสมควรแล้ว “ขณะนี้ความขาดแคลนพลังงานกระทบความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศกำลังเกิดขึ้นจริงแล้ว เนื่องจากแหล่งก๊าซในพม่าเยตากุน และยานาดา ผลิตก๊าซได้ลดลงรวมกัน 500 ล้าน ลบ.ฟุตต่อวัน ขณะที่แหล่งก๊าซเจดีเอ สิทธิร่วมของมาเลเซียและไทย ก็จะลดลง 300-350 ล้าน ลบ.ฟุตต่อวัน โดยมาเลเซียจะขอคืนสิทธิในการใช้ประโยชน์ในวันที่ 1 เม.ย. นี้แล้ว รวมแล้วก๊าซที่ไทยใช้จะหายไปประมาณวันละ 1,000 ล้าน ลบ.ฟุต แสดงให้เห็นว่า ภัยคุกคามด้านพลังงานเกิดขึ้นจริงแล้ว ไม่ใช่แค่มโนกันไป”

ทั้งนี้ มีรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ติดตามการแสดงความคิดเห็นเวทีดังกล่าว ที่ห้องทำงานตึกไทยคู่ฟ้า และเดินทางออกจากทำเนียบรัฐบาลในช่วงเย็น โดยระหว่างที่รถกำลังเคลื่อนออกจากตึกไทยคู่ฟ้า ได้เปิดกระจกทักทายผู้สื่อข่าว ซึ่งผู้สื่อข่าวตะโกนถามว่า เวทีกลางเป็นอย่างไรบ้าง โอเคไหม พล.อ.ประยุทธ์ ได้ยกนิ้วโป้ง คล้ายแสดงสัญลักษณ์กดไลก์ พร้อมกับยิ้ม และชี้นิ้วไปทางตึกไทยคู่ฟ้า ก่อนที่จะปิดกระจกเดินทางออกจากทำเนียบรัฐบาล

3.มหาเถรสมาคม ชี้ “ธัมมชโย” ไม่ปาราชิก อ้างไม่ฝ่าฝืนพระลิขิตพระสังฆราชฯ-ไม่เจตนาฉ้อโกงเงิน-ที่ดินวัดพระธรรมกาย!
พระลิขิตของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ที่พูดถึงพฤติกรรมของพระธัมมชโยและการต้องอาบัติปาราชิก
จากกรณีที่คณะกรรมาธิการการศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ที่มีนายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นประธาน ได้มีมติว่า พระเทพญาณมหามุนี(ไชยบูลย์ ธัมมชโย) หรือพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย และประธานมูลนิธิธรรมกาย ต้องอาบัติปาราชิกตามพระลิขิตสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เมื่อวันที่ 26 เม.ย.2542 นั้น

เมื่อวันที่ 20 ก.พ. ได้มีการประชุมมหาเถรสมาคม(มส.) เพื่อชี้ขาดเรื่องนี้ โดยมีสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์(ช่วง วรปุญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรรมการมหาเถรสมาคม ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธาน หลังประชุม พระพรหมเมธี(จำนงค์ ธมฺมจารี) กรรมการและโฆษก มส. กล่าวว่า ที่ประชุม มส.ได้มีมติรับทราบกรณีนายสมเกียรติ ธงศรี ผู้อำนวยการสำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม ผู้แทนสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) มาชี้แจงกรณีพระธัมมชโยว่า ได้มีการละเมิดพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราชฯ เมื่อปี 2542 หรือไม่ จากนั้น มส. ได้พิจารณาถึงเจตนาของพระธัมมชโย ใน 2 กรณี คือ 1. ฝ่าฝืนพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราชหรือไม่ ซึ่งที่ประชุม มส. ได้ยกมติ มส. เมื่อปี 2549 ขึ้นมาพิจารณา พบว่าพระธัมมชโยยอมรับและปฏิบัติตามพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราช ในการคืนที่ดินทุกประการ
2. พระธัมมชโยมีเจตนาฉ้อโกงหรือไม่ ที่ประชุมพิจารณาแล้วเห็นว่า พระธัมมชโยได้ทยอยคืนทรัพย์สินทั้งหมดให้แก่วัดพระธรรมกาย ขณะเดียวกันคณะกรรมการฝ่ายสงฆ์ ซึ่งประกอบด้วย เจ้าคณะปกครอง ได้สอบสวนความผิดของพระธัมมชโยแล้ว โดยผลสรุปออกมาว่า ไม่มีเจตนาฉ้อโกง ไม่ผิดพระวินัย ไม่ถือเป็นความผิด จึงถือเป็นอันยุติ เมื่อไม่มีเจตนาฉ้อโกง ไม่ได้ฝ่าฝืนพระลิขิต ก็ไม่ถือว่ามีความผิด และพ้นมลทิน รวมทั้งได้ยึดตามมติ มส. ปี 2549 โดยได้คืนตำแหน่งเจ้าอาวาส และได้ขอพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ให้ ดังนั้นสถานภาพปัจจุบันของพระธัมมชโย ยังคงดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดและดำรงสมณศักดิ์เช่นเดิม

พระพรหมเมธี กล่าวอีกว่า กรณีที่นายสมพร เทพสิทธา และนายมาณพ พลไพลิน เป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาว่า พระธัมมชโยยักยอกทรัพย์ของวัดพระธรรมกายนั้น นายมาณพ หนึ่งในโจทย์ร่วมได้ถอนฟ้องแล้ว ทางอัยการพิจารณาแล้ว จึงได้ถอนฟ้องคดีดังกล่าว ถือว่าพระธัมมชโยพ้นมลทินแล้ว “อยากจะวิงวอนให้พุทธศาสนิกชน พิจารณารับข่าวสารจากสื่อที่มีความรวดเร็ว อาจมีข้อผิดพลาดได้ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลเน้นสร้างความปรองดองของคนในชาติ จึงไม่อยากให้นำเรื่องที่ยุติลงแล้วมาพูดซ้ำ”

ทั้งนี้ หลังการประชุม มส. นายประจิณ ฐานังกรณ์ ประธานกลุ่มธรรมาธิปไตย ได้มายื่นหนังสือถึง ผู้อำนวยการ พศ. ผ่านทางฝ่ายสารบัญ เพื่อติดตามความคืบหน้ากรณีที่ตนเคยยื่นให้มีการตรวจสอบพระธัมมชโยอวดอุตริมนุสธรรมเมื่อวันที่ 31 พ.ค.2542 เหตุที่มาถามความคืบหน้า เนื่องจากเห็นว่า มส. มีการพิจารณาเรื่องของวัดพระธรรมกาย ซึ่งตนเคยยื่นเรื่องร้องเรียนไว้ แต่เรื่องกลับเงียบหาย

สำหรับคดีพระธัมมชโย เกิดขึ้นเมื่อปี 2541 โดยพระอดิศักดิ์ วิริสโก อดีตพระลูกวัดพระธรรมกาย กล่าวหาพระธัมมชโยว่า ยักยอกเงินและที่ดินที่ญาติโยมบริจาคให้วัด และมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เช่น ใกล้ชิดสีกา และอวดอุตริมนุสธรรม ต่อมากรมที่ดินได้สำรวจพบ พระธัมมชโยมีชื่อเป็นเจ้าของโฉนดที่ดินและบริษัทที่เกี่ยวกับวัดพระธรรมกายกว่า 400 แปลง เนื้อที่กว่า 2 พันไร่ ในจังหวัดพิจิตรและเชียงใหม่ มหาเถรสมาคมจึงมอบหมายให้พระพรหมโมลี เจ้าอาวาสวัดยานนาวา ซึ่งเป็นเจ้าคณะภาค 1 ตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งมีข้อสรุปว่า เป็นจริงตามที่ถูกกล่าวหา มหาเถรสมาคมจึงมีมติให้พระธัมมชโยปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของเจ้าคณะภาค 1 คือ ให้ปรับปรุงคำสอนของวัดพระธรรมกายว่า นิพพานเป็นอนัตตา ไม่ใช่อัตตา และยุติการเรี่ยไรเงินนอกวัด นอกจากนี้สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้มีพระลิขิตให้พระธัมมชโยคืนที่ดินและทรัพย์สินขณะเป็นพระให้วัดพระธรรมกาย แต่พระธัมมชโยไม่ยอมคืน กรมการศาสนาจึงได้เข้าแจ้งความต่อกองปราบปราม กล่าวโทษพระธัมมชโยในคดีอาญา ม.137 ,147 และ 157 ฐานเป็นเจ้าพนักงานเบียดบังยักยอกทรัพย์และปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

หลังกระบวนการยุติธรรมดำเนินไปนานเกือบ 7 ปี เหลือแค่สืบพยานจำเลย 2 นัดสุดท้าย ในวันที่ 23 และ 24 ส.ค. 2549 ปรากฏว่า วันที่ 21 ส.ค. ก่อนหน้าวันนัดสืบพยานแค่ 2 วัน เรืออากาศโทวิญญู วิญญกุล พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 5 ในฐานะโจทก์ ก็ได้ขอถอนฟ้องพระธัมมชโย และนายถาวร พรหมถาวร ลูกศิษย์ที่ถูกฟ้องด้วย โดยอ้างเหตุผลว่า พระธัมมชโย จำเลยที่ 1 กับพวก ได้เผยแผ่พระพุทธศาสนาตรงตามพระไตรปิฎกและนโยบายของคณะสงฆ์แล้ว และได้มอบที่ดินและเงินจำนวน 959,300,000 บาท คืนให้แก่วัดพระธรรมกายแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1 กับพวก จึงเป็นการปฏิบัติตามพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชฯ ครบถ้วนทุกประการแล้ว ประกอบกับบ้านเมืองต้องร่วมกันสร้างความสามัคคีของคนในชาติทุกหมู่เหล่า เห็นว่าหากดำเนินคดีกับจำเลยทั้งสองต่อไป อาจก่อให้เกิดความแตกแยกในศาสนจักรและไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะ นายพชร ยุติธรรมดำรง อัยการสูงสุดในขณะนั้น จึงมีคำสั่งให้ถอนฟ้องพระธัมมชโยและลูกศิษย์ดังกล่าว

4.ศาล พิพากษาจำคุก “พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์” คดีฟอกเงิน-บ่อนพนัน-ส่วยน้ำมันเถื่อน 10 ปี ด้าน ปปง.เตรียมนำทรัพย์สินที่ยึดไว้ขายทอดตลาด!
(บน) พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ล่าง) ทรัพย์สินที่ยึดได้จากเครือข่ายพงศ์พัฒน์ที่ ปปง.เตรียมจะขายทอดตลาด
เมื่อวันที่ 17 ก.พ. ศาลอาญาได้นัดสอบคำให้การจำเลยคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 3 เป็นโจทก์ฟ้อง พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง(ผบช.ก.) ,พล.ต.ต.โกวิทย์ วงศ์รุ่งโรจน์ อดีต ผบช.ก. ,พล.ต.ต.บุญสืบ ไพรเถื่อน อดีตผู้บังคับการตำรวจน้ำ ,นายชอบ ชินนะประภา ,นางปิยพรรณ ชินนะประภา น้องเขยและน้องสาว พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ,นายเริงศักดิ์ ศักดิ์ณรงค์เดช และนางสวงค์ มุ่งเที่ยง สองสามีภรรยา เป็นจำเลยที่ 1-7 ในความผิดฐานร่วมกันฟอกเงิน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราปปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3,5 ,7 ,60 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และ 91

คดีนี้ โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 16 ก.พ. ที่ผ่านมา สรุปว่า จำเลยได้ร่วมกันทำผิดกฎหมายหลายกรรมต่างกัน โดยร่วมกันเรียกรับเงินจากผู้กระทำผิดการพนันออนไลน์(อาบูบาก้า) ร่วมกับผู้อื่นเปิดบ่อนการพนันโคลอนเซ่ ย่านพระราม 9 ร่วมกันเรียกรับเงินจากการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจในสังกัด บช.ก. ร่วมกันเรียกรับเงินส่วยน้ำมันเถื่อนจากผู้ลักลอบค้าน้ำมันกลางทะเลในภาคใต้ จากนั้นจำเลยได้ฟอกเงินที่ได้จากการกระทำผิด ด้วยการนำไปแปลงเป็นทรัพย์สินต่างๆ

ทั้งนี้ หลังศาลสอบคำให้การจำเลยว่าจะรับสารภาพหรือปฏิเสธ ปรากฏว่า จำเลยทั้งเจ็ดรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ไม่ขอต่อสู้คดี โดย พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ แถลงต่อศาลว่า จำเลยทุกคนยอมสารภาพผิด และว่า ขณะเกิดเหตุ ตนเป็นผู้สั่งการให้จำเลยอื่นๆ ปฏิบัติตามคำสั่งทุกประการ เนื่องจากตนเป็นนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ มีความน่าเคารพ น่าเชื่อถือ จึงขอให้ศาลเมตตาพวกจำเลยคนอื่นๆ ด้วย

ด้านศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยทั้งหมดกระทำผิดจริง โดย พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ จำเลยที่ 1 กระทำผิดรวม 2 กระทง จำคุกกระทงละ 10 ปี รวมจำคุก 20 ปี ส่วนจำเลยที่ 2 ,4 ,5 ,6 และ 7 จำคุกคนละ 10 ปี สำหรับจำเลยที่ 3 พล.ต.ต.บุญสืบ จำคุก 3 ปี อย่างไรก็ตาม จำเลยทั้งหมดรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ 10 ปี ส่วนจำเลยที่ 2 ,4 ,5 ,6 และ 7 เหลือจำคุกคนละ 5 ปี สำหรับ พล.ต.ต.บุญสืบ คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน

สำหรับคดีนี้ นับเป็นคดีที่ 3 แล้วที่ศาลมีคำพิพากษา รวมโทษจำคุก พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ทั้ง 3 คดี 16 ปี 9 เดือน

ส่วนความคืบหน้ากรณียึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับคดี พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์นั้น เมื่อวันที่ 16 ก.พ. พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) ได้แถลงเตรียมนำทรัพย์สินที่ยึดและอายัดได้จากเครือข่ายของ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ มาขายทอดตลาด โดยจะจัดงานมหกรรมขายทอดตลาด ตัดวงจรฟอกเงิน นำเงินคืนสู่แผ่นดิน จำนวนกว่า 20,000 ชิ้น มูลค่ากว่า 50 ล้านบาท ซึ่งเบื้องต้นจะจัดงานขายทอดตลาด 2 ครั้ง ครั้งแรก วันที่ 5-8 มี.ค. ครั้งที่ 2 วันที่ 23-26 มี.ค. ทรัพย์สินที่จะขายทอดตลาด แบ่งเป็น 5 ประเภท คือ 1.ภาพวาดของศิลปินที่มีชื่อเสียงทั้งในและต่างประเทศ 2.ชุดถ้วยชาม เครื่องเงิน เครื่องแก้ว ที่มีคุณค่า 3.เฟอร์นิเจอร์ที่ผลิตจากไม้ที่มีมูลค่าสูง 4.ประติมากรรม วัตถุโบราณ ศิลปะโบราณ พระพุทธรูปสมัยโบราณ 5.อื่นๆ เช่น นาฬิกาข้อมือ Rolex เป็นต้น

5.ศาลฎีกา พิพากษาให้ กทม.ชดใช้ค่าเสียหายญาติผู้เสียชีวิตกรณีโป๊ะพรานนกล่มปี ’38 เป็นเงิน 12.6 ล้าน!
ภาพเหตุการณ์ขณะโป๊ะท่าเรือพรานนกล่มเมื่อวันที่ 14 มิ.ย.2538
เมื่อวันที่ 18 ก.พ. ศาลแพ่งได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีที่นางไสว ภู่สุวรรณ์ หรือวุฒิสาหะ มารดาของ น.ส.รัชนี ภู่สุวรรณ์ ญาติของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์โป๊ะเทียบเรือท่าพรานนกล่ม ขณะรอลงเรือด่วนเจ้าพระยาเมื่อวันที่ 14 มิ.ย.2538 พร้อมพวกรวม 12 คน ร่วมกันเป็นโจท์ฟ้องบริษัท สุภัทรา จำกัด ,บริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด ,กรุงเทพมหานคร(กทม.) และกรมเจ้าท่า เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานละเมิด เนื่องจากเหตุเกิดจากความประมาทและการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยทั้งสี่ โดยขอให้จำเลยร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย ค่าขาดไร้อุปการะและค่าปลงศพให้แก่โจทก์

สำหรับคดีนี้ โจทก์ได้ขอถอนฟ้องบริษัท สุภัทรา และบริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา ในเวลาต่อมา เนื่องจากจำเลยทั้งสองได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์บางส่วนแล้ว ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งอนุญาตให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 และ 2 ออกจากสารบบความ และให้ยกฟ้องกรมเจ้าท่า จำเลยที่ 4 เนื่องจากไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง จึงเหลือเพียงกรุงเทพมหานครที่สู้คดีมาจนถึงชั้นศาลฎีกา

ทั้งนี้ ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า บริษัท สุภัทรา เป็นผู้ก่อสร้างท่าเทียบเรือพรานนกที่เกิดเหตุ ตามแบบแปลนที่ กทม. กำหนด โดยได้รับอนุญาตจากกรมเจ้าท่า และบริษัท สุภัทรา ยกสิ่งก่อสร้างให้เป็นกรรมสิทธิ์ของ กทม. สำหรับท่าเทียบเรือดังกล่าว ก่อนหมดสัญญาเช่าเมื่อวันที่ 31 พ.ค.2538 จะมีช่องเก็บค่าโดยสารและตรวจนับผู้โดยสารที่เรียกว่า ช่องแก๊ก มี 2 ช่อง ซึ่งผู้โดยสารที่จะลงเรือจะต้องผ่านช่องนี้ ส่วนผู้โดยสารที่จะขึ้นจากเรือมาที่ท่าเทียบเรือ จะเดินผ่านประตูตะแกรงเหล็กที่อยู่ระหว่างช่องแก๊กทั้งสอง โดยมีลูกจ้างของบริษัท สุภัทรา เป็นผู้ควบคุมการเลื่อนเปิดปิดประตู แต่เมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดลง จึงได้รื้อถอนประตูและช่องเก็บเงิน เพื่อทำเป็นท่าเทียบเรือสาธารณะตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งศาลเห็นว่า ทาง กทม.ทราบดีอยู่แล้วว่า ท่าเทียบเรือที่เกิดเหตุ รับผู้โดยสารได้เพียง 60 คน และมีผู้โดยสารมาใช้บริการเป็นจำนวนมาก ดังนั้นการรื้อถอนช่องแก๊กและประตูตะแกรงเหล็กออก อาจเกิดอันตรายได้หากประชาชนลงท่าเทียบเรือเกินน้ำหนักที่จะรับได้ แต่จำเลยก็ไม่จัดให้มีมาตรการในการควบคุมดูแลความปลอดภัย เพื่อไม่ให้ผู้โดยสารไปอยู่บนท่าเทียบเรือเกินกว่า 60 คน

กระทั่งวันเกิดเหตุ 14 มิ.ย.2538 มีผู้โดยสารลงไปบนท่าเทียบเรือเกินจำนวนที่จะรับน้ำหนักได้ ประกอบกับมีเรือด่วนแล่นมาเทียบสองลำในเวลาเดียวกัน ทำให้ผู้โดยสารไปออกันที่ริมท่าเทียบเรือจำนวนมาก เป็นเหตุให้ท่าเทียบเรือเอียงและจมลง ซึ่งเป็นผลโดยตรงที่เกิดจากจำเลยที่ 3 สั่งให้จำเลยที่ 1 รื้อถอนช่องแก๊กและประตูตะแกรงเหล็กกันผู้โดยสารออกไป โดยไม่ได้มีมาตรการอื่นเพื่อทดแทน จึงเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงในการป้องกันสาธารณภัยและควบคุมความปลอดภัยสาธารณสถานตามกฎหมาย ถือว่าจำเลยที่ 3 กระทำละเมิดต่อโจทก์

ส่วนที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า มีการติดป้ายประกาศไว้ที่โป๊ะเทียบเรือแล้วว่า รับน้ำหนักได้ไม่เกิน 60 คน การที่ผู้โดยสารลงไปบนท่าเทียบเรือจำนวนมาก ถือว่าผู้โดยสารยอมเสี่ยงอันตรายที่จะเกิดขึ้นเอง จึงเป็นความประมาทของผู้ตายและผู้บาดเจ็บนั้น ศาลเห็นว่า การติดป้ายประกาศไว้เพียงอย่างเดียว ย่อมไม่อาจป้องกันและควบคุมประชาชนจำนวนมากที่ต้องการใช้บริการเรือด่วนไม่ให้ลงไปอยู่บนท่าเทียบเรือได้ จำเลยที่ 3 จึงไม่อาจอ้างการติดป้ายประกาศดังกล่าวมาเป็นข้อแก้ตัวเพื่อให้พ้นความรับผิดได้

ศาลฎีกาจึงพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ให้ กทม.ชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 และ 2 จำนวน 1,165,500 บาท ,ชำระเงินแก่โจทก์ที่ 3 จำนวน 627,549 บาท ,ชำระเงินแก่โจทก์ที่ 4 และ 5 จำนวน 1,920,000 บาท ,ชำระเงินแก่โจทก์ที่ 6 จำนวน 1,200,000 บาท ,ชำระเงินแก่โจทก์ที่ 7 จำนวน 1,214,000 บาท ,ชำระเงินแก่โจทก์ที่ 8 จำนวน 2,080,000 บาท ,ชำระเงินแก่โจทก์ที่ 9 จำนวน 860,000 บาท ,ชำระเงินแก่โจทก์ที่ 10 จำนวน 698,442 บาท ,ชำระเงินแก่โจทก์ที่ 11 และ 12 จำนวน 2,850,750 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 12,616,241 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ฟ้องเมื่อปี 2539
กำลังโหลดความคิดเห็น