xs
xsm
sm
md
lg

มส.ถก"ธัมมชโย"ปาราชิก DSIสอบเช็ค700ล. "ธรรมกาย"ตะแบงข้อหายุติแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นายกฯเครียดปัญหา"ธรรมกาย" เข้ามาสุม โวยสื่ออย่ามาเร่ง ต้องทำตามขั้นตอน เรื่องเกิดปี 42 แต่ไม่เคยไปเร่งรัดกับรัฐบาลก่อนหน้านี้ ขณะที่มหาเถรสมาคมนัดหารือ "ธัมมชโย" ปาราชิก หรือไม่วันนี้ กมธ.ปกป้องพระพุทธศาสนาเตรียมเชิญ ปปง.-ดีเอสไอ ชี้แจงกรณี"ธัมมชโย" สมรู้ร่วมคิดฉ้อโกงเงินสหกรณ์เคดิตยูเนียนคลองจั่น ด้าน"ดีเอสไอ" จ่อเรียกสอบธรรมกายรับเช็ค 700 ล้าน จาก"ศุภชัย" ปธ.สหกรณ์ เครดิต ยูเนี่ยนฯ ผู้ต้องหาคดียักยอกเงิน ส่วน "ธรรมกาย" อ้างข้อกล่าวหาต่างๆ ยุติแล้ว

วานนี้ (19ก.พ.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ออกมาระบุว่า พระเทพญาณมหามุนี หรือ พระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ต้องอาบัติ ปาราชิก ขาดจากความเป็นภิกษุ ตามพระลิขิตสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ว่า ก็ต้องดูว่ามติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าอย่างไร ขณะนี้ก็ต้องรอให้ทางคณะกรรมการของสำนักงานพระพุทธศาสนาได้พิจารณาเสนอเรื่องขึ้นมา และไม่จำเป็นจะต้องมาเร่งถาม เพราะเขามีขั้นตอนในการดำเนินการอยู่แล้ว

" สื่อก็มาถามให้ผมเร่งไปถามเรื่องนั้น เรื่องนี้ เร่งกันเข้ามา สุมไฟกันเข้าไป ทุกๆเรื่องปัญหาเต็มไปหมด ไปถามรัฐบาลก่อนหน้าผมบ้างสิว่า ทำไมถึงไม่ทำ มติที่ออกมาตั้งแต่เมื่อไร ตั้งแต่ปี 2542 ใช่หรือไม่ เป็นรัฐบาลชุดไหน ไปถามดูว่า ทำไมถึงไม่ทำ อย่างไรก็ตามขณะนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างการพิจารณา โดยรับเรื่องมาทั้งหมด เดี๋ยวก็คงค่อยดำเนินการไปทีละขั้นตอน" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

** มหาเถรสมาคมหารือวันนี้

นายสุวพันธ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า พระลิขิตทั้ง 6 ฉบับ ของสมเด็จพระสังฆราชฯ เคยถูกนำไปพิจารณาในมหาเถรสมาคมมาแล้ว ตั้งแต่ปี 2542 ซึ่งในลิขิต ฉบับที่ 3 มีกล่าวถึงเรื่องปราชิก โดยในวันนี้ (20 ก.พ.) มหาเถรสมาคม จะมีการประชุม คาดว่าจะมีการพิจารณาในเรื่องพระลิขิต และเรื่องของวัดพระธรรมกาย และตัวพระธัมชโยด้วย จึงต้องดูผลการประชุม ว่าจะเป็นอย่างไร

ทั้งนี้ เรื่องนี้แบ่งเป็นสองเรื่องคือเรื่องที่ดิน ที่มีการฟ้องร้อง และเรื่องที่ว่าความผิดส่วนนี้ต้องอาบัติปราชิกหรือไม่ ซึ่งขณะนั้นทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.)เคยพิจารณาเรื่องที่ดินที่มีการฟ้องร้องแล้วโดยมีมติว่าขณะนั้นกำลังเป็นคดีความอยู่ จึงขอให้คดีสิ้นสุดก่อน ซึ่งต่อมาได้มีการถอนฟ้องไปในปี2549

"การปราชิก เป็นโทษประหารชีวิตสำหรับพระสงฆ์ ใครต้องโทษปราชิกแล้ว ไม่สามารถกับมาบวชได้อีก และไม่ใช่ที่ทางฆาราวาส หรือใครจะไปชี้ เป็นเรื่องของคณะสงฆ์ที่จะต้องชี้ความผิดต่างๆ ทางฝ่ายอาณาจักร (รัฐบาล) ก็มีหน้าที่อำนวยความสะดวก มีหน้าที่ในการส่งเสริม และปกป้องพุทธศาสนา อะไรที่จะทำให้พุทธศาสนาเสียหาย เราต้องป้องกัน และแก้ไข และส่งเสริมให้ได้รับความศรัทธา และเชื่อถือ" นายสุวพันธ์ กล่าว

ส่วนกรณีที่ พระธัมชโย รับเงินจากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน คลองจั่น ถือเป็นปารชิก หรือไม่นั้น นายสุวพันธ์ กล่าวว่า ตนพูดเต็มที่ไม่ได้ เพราะไม่เห็นเรื่องราวทั้งหมด แต่คิดว่าเจ้าของคดี กำลังดำเนินการอยู่ ก็ต้องไปดูตรงนั้นว่า ในทางสงฆ์จะผิดอะไรหรือไม่ ยืนยันว่า รัฐบาลจะทำหน้าที่ส่งเสริมและปกป้องพุทธศาสนาให้ดีที่สุด ทุกอย่างต้องมีข้อยุติ ซึ่งก็เชื่อด้วยว่า พระผู้ใหญ่หล่ายท่านก็ไม่ต้องการให้พุทธศาสนาเสื่อมเสีย

**"ธรรมกาย"อ้างข้อกล่าวหายุติแล้ว

ด้านสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) ในฐานะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช กล่าวว่า เรื่องนี้จะมีการหารือในที่ประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) ซึ่งจะมีการพิจารณากันอีกครั้ง

ด้านนายพนม ศรศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) กล่าวว่า ในการประชุมมส.วันที่ 20 ก.พ.นี้ จะมีการนำเรื่องที่สภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.) แต่งตั้ง คณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา โดยมีนายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นประธานฯ และมีกรรมการรวมทั้งหมด 16 คน รายงานให้ที่ประชุมมส.ได้รับทราบ

ทั้งนี้ ที่ประชุม มส. จะมีการหยิบยกเรื่องของพระลิขิต เมื่อปี 2542 มาพิจารณาด้วย ซึ่งคงต้องรอดูว่า ทาง มส.จะมีแนวทางออกมาอย่างไร

ในวันเดียวกันนี้ พระสนิทวงศ์ วุฑฺฒิวํโส ผอ.สำนักสื่อสารองค์กรวัดพระธรรมกาย ได้ออกหนังสือเรื่องวัดพระธรรมกาย ชี้แจง“ข้อกล่าวหาต่างๆยุติแล้ว”โดยระบุว่า จากกรณีข่าวที่ปรากฏในสื่อต่างๆ วัดพระธรรมกายขอยืนยันว่า“ข้อกล่าวหาต่างๆยุติแล้ว”จึงเจริญพรมาเพื่อทราบและโปรดเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องแก่สาธารณชนด้วย

ทั้งนี้ สำนักสื่อสารองค์กรวัดพระธรรมกาย ได้ชี้แจงเรื่องนี้ ผ่านเพซบุ๊กว่า ข้อหายุติแล้วตั้งแต่ปี 2549 ขอยืนยันว่า หลวงพ่อไม่ผิด เป็นความเข้าใจผิด เพราะอาจได้รับข้อมูลไม่ครบ แต่กรรมการมหาเถรสมาคมได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง และเข้าใจดี จึงให้การยอมรับ ดังนั้น 1. มีการถวายคืนตำแหน่งเจ้าอาวาส วัดพระธรรมกายแด่หลวงพ่อในปลายปี 2549 และ 2. ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระเทพญาณมหามุนี เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2554

**เชิญ ปปง.-ดีเอสไอชี้แจงกรณีโกงเงิน

นายไพบูลย์ นิติตะวัน กรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ กล่าวว่า กรณีพระลิขิตสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช 3 ฉบับที่ ระบุว่า พระธัมชโย มีการบิดเบือนคำสอน จนต้องอาบัติปาราชิก ถือเป็นอดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย เป็นการพ้นจากความเป็นพระอย่างชัดเจนแล้ว ตั้งแต่วันที่มีมติมหาเถรสมาคม ครั้งที่ 16/2542 เมื่อวันที่ 20 พ.ค.42 รับรองพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราช ดังกล่าว และยังโยงต่อไปถึงกรณีของนายศุภชัย ศรีศุภอักษร ผู้จัดการสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น ซึ่งบริจาคเงิน 120 ล้านบาท แก่ พระธัมมชโย ในเวลาต่อมา ซึ่งถือว่าเป็นการสมรู้ร่วมคิด ในฐานการฉ้อโกงประชาชน เป็นความผิดทางอาญาแผ่นดินอีกประเด็นหนึ่ง ซึ่งประชาชนที่ฝากเงินกับสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น ถือเป็นเจ้าทุกข์ ที่ฟ้องเอาผิดได้ ส่วนรัฐเองก็ต้องดำเนินคดีในฐานการฉ้อโกง ซึ่งเป็นความผิดตามอาญาแผ่นดิน ซึ่งในวันจันทร์ที่ 23 ก.พ. นี้ ทางคณะกรรมการปฏิรูปฯ จะเชิญตัวแทนจาก ปปง. และ ดีเอสไอ. เข้าชี้แจงกรณีดังกล่าวต่อคณะกรรมการ

“เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการไปยุบวัดพระธรรมกาย เพราะเป็นวัดที่จดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพียงแต่จะต้องเปลี่ยนแปลงคำสอนให้ถูกต้อง ตามแนวพุทธบัญญัติ และพุทธศาสนิกชนที่ไปศึกษาในวัดพระธรรมกาย จะได้ปฏิบัติธรรมอย่างถูกต้องตามธรรมวินัย”นายไพบูลย์ กล่าว

**วาง 3 มาตรการปฏิรูปศาสนา

นายไพบูลย์ กล่าวว่า จากกรณีศึกษาจากวัดพระธรรมกาย ทำให้ทางคณะกรรมการได้เสนอกลไกการแก้ปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นในอนาคต 3 ประการ ต้องปฏิรูปศาสนาให้กลับไปยึดตามธรรมวินัย หรือพุทธบัญญัติ โดยต้อง 1. ดูเรื่องเงินของพระกับเงินของวัด ต้องกำหนดให้เกิดความชัดเจนว่าครอบครองได้หรือไม่ ต้องเปิดเผยให้ตรวจสอบได้หรือไม่ 2. มีองค์กรมาตีความพุทธบัญญัติให้ชัดเจน คล้ายศาลรัฐธรรมนูญ แทนมหาเถรสมาคม ซึ่งปัจจุบันทำหน้าที่ทั้ง บริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการในองค์กรเดียว และ 3. ให้มีการส่งเสริมให้วัดทั่วประเทศ ต้องให้มีส่วนร่วมจากประชาชน ไม่ใช่อำนาจบริหารอยู่ที่เจ้าอาวาสเพียงรูปเดียวโดยคณะสงฆ์ต้องดูแลวัด และกิจกรรมของสงฆ์ร่วมกัน

นอกจากนี้ ในที่ประชุม กมธ.ยกร่างรธน. จะมีการพิจารณาประเด็นการปฏิรูปสังคม โดยยกกรณีวัดจำนวนมาก ได้เอาพื้นที่สาธารณะของวัดไปหารายได้ จึงควรกำหนดให้ศาสนาสถานต่างๆ ต้องจัดพื้นที่สาธารณะ ให้คนในชุมชนร่วมจัดกิจกรรมได้
ดีเอสไอจ่อเรียกธรรมกายสอบปากคำ รับเช็ค ศุภชัย ปธ.สหกรณ์ เครดิต ยูเนี่ยนฯ ผู้ต้องหาคดียักยอกเงิน 700 ล้านบาท

**DSIเรียกสอบธรรมกายรับเช็ค 700 ล.

พ.ต.ท.สมบูรณ์ สาระสิทธิ์ ผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ 3 ดีเอสไอ กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินคดีกับ นายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน คลองจั่น และพวก กรณียักยอกเงินสหกรณ์เครดิต ยูเนี่ยน คลองจั่น กว่า 12,000 ล้านบาทว่า พนักงานสอบสวนได้แบ่งชุดทำงานให้รับผิดชอบเฉพาะเรื่องเพื่อความรวดเร็วของคดี เช่น ชุดติดตามร่องรอยทางการเงิน เช็ค 878 ฉบับ , ชุดตรวจสอบทางบัญชี, ชุดติดตามคืนทรัพย์สิน ซึ่งจะมีการประชุมติดตามความคืบหน้าทุกวันศุกร์

ทั้งนี้จากการประชุมชุดทำงานล่าสุด ได้มีการตรวจสอบเช็คแต่ละฉบับ ว่ามีใครเกี่ยวข้องบ้างจากจำนวนเช็ค 878 ฉบับ ซึ่งตอนนี้รู้แล้วว่ามีใครเกี่ยวข้องบ้าง หลังจากนี้จะเรียกผู้ที่รับเช็คดังกล่าวมาสอบปากคำ อย่างไรก็ตาม พนักงานสอบสวนได้ขอข้อมูลจากธนาคารเกี่ยวกับเส้นทางการเงินเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการ

ส่วนคดีพิเศษที่ 64/2557 ซึ่งเป็นคดียักยอกทรัพย์ประชาชน จำนวน 27 ล้านบาท ที่ทาง สน.ลาดพร้าว โอนสำนวนมายังดีเอสไอนั้น คาดว่าจะใช้เวลาสอบปากคำในระยะเวลา 1 เดือน และจะส่งฟ้องต่อศาลได้ ทั้งนี้ ตนเชื่อว่านายศุภชัย ศรีศุภอักษร ยังอยู่ในประเทศไทย และยังสามารถติดต่อได้ เนื่องจากที่ผ่านมาทุกครั้งที่มีการเรียกให้มารายงานตัว นายศุภชัยก็มารายงานตัวตามนัด นอกจากนี้ในวันที่ 20 ก.พ.นี้ ในเวลา 09.30 น. ผู้เสียหายในคดีดังกล่าวจำนวน 25 คน จะเข้าให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวนเพิ่มเติม

พ.ต.ท.สมบูรณ์ ได้กล่าวถึงกรณีที่ นายศุภชัย โอนเงินให้กับทางวัดธรรมกาย ประมาณ 700 ล้านว่า ทางพนักงานสอบสวน จะดำเนินการตรวจสอบเส้นทางการเงินโดยจะเรียกผู้ที่รับเช็ค มาสอบสวนด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น