xs
xsm
sm
md
lg

ปาราชิก? "ธัมมชโย" อื้อฉาวสะเทือนศาสนา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ธรรมกายสั่นคลอน ถูกขุดคุ้ย รื้อค้นจนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์มาตลอด ล่าสุด มีข่าวปาราชิก "ธัมมชโย" ผู้นำทางจิตวิญญาณของวัดพระธรรมกาย ตามพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราช ปี 2542 หลังถูกปล่อยให้ยืดเยื้อบานปลาย นำพาความเศร้าหมอง เสื่อมเสียให้เกิดแก่สงฆ์ แม้ทางวัดจะออกมาตอบโต้ พร้อมยืนยันว่าหลวงพ่อไม่ผิด แต่แหล่งข่าวปิดผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงศาสนากลับวิจารณ์ไว้อย่างน่าคิด

ปาราชิก? "ธัมมชโย"

เป็นกระแสขึ้นมาทันที หลังคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติมีความเห็นกรณีพระลิขิตสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช 3 ฉบับที่ระบุว่า พระธัมมชโยมีการบิดเบือนคำสอนจนต้องอาบัติปาราชิก ถือเป็นอดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย เป็นการพ้นจากความเป็นพระอย่างชัดเจนแล้ว ตั้งแต่วันที่มีมติมหาเถรสมาคม ครั้งที่ 16/2542 เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2542 รับรองพระลิขิตของพระมหาญาณสังวรณ์นั้น

เรื่องนี้ ไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา ยอมรับว่า ได้ประชุมเพื่อพิจารณาถึงกรณีสถานภาพของพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาจริง โดยนำพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชในปี 2542 มาพิจารณาในกรณีที่มีพระวินิจฉัยให้พระธัมมชโยปาราชิก

สำหรับพระลิขิตดังกล่าวเกิดขึ้นมาแล้วตั้งแต่ปี 2542 โดยในรอบดังกล่าวเกิดขึ้นจาก 2 กรณี คือ 1.กรณีการไม่ยอมคืนที่ดินให้วัดพระธรรมกาย และ 2. มีประเด็นที่พระธัมมชโยไปกล่าวหาว่าพระไตรปิฎกมีความบกพร่องจึงเป็นเหตุให้บิดเบือนคำสอน ซึ่งประเด็นนี้ถือเป็นขั้นอนันตริยกรรม ทำให้สมเด็จพระสังฆราชมีพระวินิจฉัยให้ปาราชิก จากนั้นจึงส่งให้ฝ่ายเถรวาทดำเนินการตามวินัยของสงฆ์


ทางด้านโฆษกสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อโทรทัศน์ช่องหนึ่งว่า เรื่องดังกล่าวยังไม่มีความชัดเจน เพราะมีเอกสารบางส่วนที่ยังขัดแย้งกันอยู่ นอกจากนั้นยังต้องใช้เวลาในการสืบค้นหาข้อมูล เพื่อให้เกิดความกระจ่างชัดเจน และถูกต้อง โดยมีหลักฐานเอกสารยืนยัน พร้อมกับสืบค้นมติมหาเถรสมาคมเมื่อ 16 ปีก่อนด้วยว่า มีมติอย่างไรหลังจากมีพระลิขิตดังกล่าว


ต่อกรณีเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อว่า เรื่องดังกล่าวต้องดูว่า มติเขาว่าอย่างไร สำนักพุทธศาสนาแห่งชาติก็จะมีการพิจารณาตามขั้นตอน โดยย้อนถามมติออกมาตั้งแต่ปี 42 ขณะนั้นเป็นรัฐบาลไหนทำไมไม่ทำ ตอนนี้ก็รับทั้งหมดมาทุกอย่างจึงต้องค่อย ๆ ดำเนินการไปตามขั้นตอน


ลงดาบ "ธัมมชโย" หน้าที่ใคร?


คอลัมนิสต์ หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ "เปลว สีเงิน" ได้เขียนบทความในหัวเรื่อง หน้าที่ใคร 'สึกโจรในคราบพระ'? ฉบับวันที่ 19 กุมภาพันธ์ โดยระบุถึงกรณีดังกล่าวไว้อย่างน่าคิด โดยทีมข่าว ASTVผู้จัดการ Live ขออนุญาตหยิบยกบางส่วนบางตอนมานำเสนอต่อ


"...มหาเถรสมาคมครั้งนั้น มีมติรับทราบตามพระดำริสมเด็จพระสังฆราชแล้ว ส่งเรื่องให้ฝ่ายสังฆการดำเนินการให้เป็นไปตามมติแล้ว แต่นับจากบัดนั้น 2542 จนบัดนี้ 2558 เดียรถีย์ธัมมชโย ก็ยังลอยชาย แปลงจีวรเป็นเสื้อแขนกระบอกเหลือง แปลงสบงเป็นกระโปรงเหลือง กระตุ้งกระติ้งเป็นแต๋วหัวโล้น"


ส่วนเรื่องนี้ควรจะเป็นหน้าที่ของใคร คอลัมน์นิสต์ชื่อดังได้วิเคราะห์เอาไว้ว่า "...ดูตามหน้าที่แล้ว น่าจะเป็นนายพนม ศรศิลป์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เพราะตามกฎหมายในโครงสร้างสำนักพุทธฯ ที่ทักษิณปฏิรูป เมื่อปี 45 กำหนดให้คนเป็น ผอ.สำนักพุทธฯ ทำหน้าที่ "เลขาธิการมหาเถรสมาคม"


ฉะนั้น นายพนมต้องทำหน้าที่....! หรือกลัว "ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนา" แถววัดราชาฯ ที่นายทองขาว ทองแดง และแก๊งแดงในคราบเหลือง "เขื่องอำนาจ" ว่า สำนักพุทธฯ เกิดจากอิทธิพลข้าในสมัยนั้นจะเขมือบหัว? หรือกลัวนายอำนาจ บัวศิริ ผอ.สำนักงานพุทธมณฑล?"


นอกจากนั้น ยังอธิบายให้แจ่มแจ้งด้วยว่า "กรณีนี้ ต้องเข้าใจกันให้ชัด ไม่ใช่ธัมมชโยขาดจากความเป็นพระด้วยพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระสังฆราชทรงพิจารณา ทบทวน สวนสอบ การกระทำของธัมมชโยเรื่องยักยอกเงินและทรัพย์สินวัดเกือบพันล้านตามกฎเกณฑ์พระวินัยบัญญัติแล้ว


ถึงแม้ยอมคืน ตอนจวนตัวใกล้ติดคุก เมื่อปี 2549 การมีเจตนาเอาทรัพย์เขาไปเป็นของตนแบบนั้น แม้เอามาคืนภายหลัง ก็ต้องอาบัติปาราชิก ขาดจากความเป็นพระอยู่ดี เป็นเดียรถีย์ในคราบเหลืองหัวโล้นนับแต่นั้น แต่คณะสงฆ์ไม่จัดการให้เป็นไปตามพระวินัย ด้วยเหตุดังที่...รู้ๆ กันอยู่ จนสมเด็จพระสังฆราชสลดสังเวชพระทัย จึงมีพระลิขิต "ตามพระวินัย" ติดต่อถึง 2-3 ฉบับ"




ฟากวัดพระธรรมกาย ล่าสุดก็ออกมาโต้ข้อหาธัมมชโยปาราชิก โดยสำนักสื่อสารองค์กรวัดพระธรรมกายได้เผยแพร่ภาพและข้อความชี้แจงเรื่องดังกล่าวผ่านเฟซบุ๊กว่า ข้อหายุติแล้วตั้งแต่ปี 2549 ขอยืนยันว่าหลวงพ่อไม่ผิด เป็นความเข้าใจผิด เพราะอาจได้รับข้อมูลไม่ครบ แต่กรรมการมหาเถรสมาคมได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง และเข้าใจดี จึงให้การยอมรับ ดังนั้น 1.มีการถวายคืนตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายแด่หลวงพ่อ ในปลายปี 2549 และ 2.ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระเทพญาณมหามุนี เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2554

เปิดโปงความจริงอีกด้าน


ด้านแหล่งข่าวปิดผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงศาสนา วิจารณ์ประเด็นอาบัติปาราชิก 'ธัมมชโย' ตามพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราช ตั้งแต่เมื่อปี 2542 แต่กลับไม่มีในทางปฏิบัติ กลายๆ ว่ามีเส้นสายในวงการสงฆ์ และฆราวาสมาร่วมมือเหยียบย่ำให้พระวินัยพุทธศาสนาเสื่อมทราม


"วัดพระธรรมกาย ตัวเจ้าอาวาสปราชิกไปตั้งนานแล้ว แต่คนทั่วไปกลับไม่รู้เรื่อง เป็นความอ่อนแอทางพระธรรมวินัยอย่างสูงสุด เจ้าหน้าที่ของรัฐ เช่น คณะกรรมการมหาเถรสมาคมที่ได้รับพระลิขิตจากสมเด็จพระสังฆราชไม่ได้ปฏิบัติตามพระลิขิต ไม่ได้ปฏิบัติตามพระวินัย ไม่ได้ปฏิบัติตามหน้าที่ทางข้าราชการ ไม่ฏิบัติตามกฎหมาย อีกส่วนหนึ่งอัยการมีการถอนฟ้องไม่ดำเนินคดีไปถึงจุดสิ้นสุด ทำให้สภาวะสภาพของความเป็นพระก็ยังมีอยู่ ไม่ได้ถูกจัดการไปตามกฎหมาย


อีกด้านหนึ่งที่สำคัญประชาชนในประเทศไทย ไล่มาตั้งแต่ผู้บริหารลงมาถึงประชาชนทุกคนเลย มีการศึกษาในพุทธศาสนาน้อย มีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎร์ 90-95 เปอร์เซ็นต์ เป็นชาวพุทธตามนิตินัย แต่พฤตินัยมีน้อยกว่านั้นมาก คนไทยมีความเข้าใจผิดในเรื่องศาสนาพุทธเยอะมาก ฉะนั้นทำให้ฆราวาสหรือชาวพุทธทั่วๆ ไป มีความรู้เรื่องธรรมวินัยน้อย ไม่รู้ว่าอะไรมันผิดแนวทางทางพุทธศาสนา เป็นปาราชิก เป็นการอวดอุตริ เป็นการผิดพระวินัยขั้นรุนแรง เป็นการบิดเบือนพระธรรมวินัย"


ส่วนเหตุผลว่าทำไม "ธัมมชโย" ยังคงยืนหยัดอยู่ได้นั้น แหล่งข่าวคนเดียวกัน บอกว่า เป็นเพราะมีเครือข่ายรู้เห็นเป็นใจ เขาอธิบายถึงลับลมคมใน

"ก่อนที่อัยการจะถอนฟ้องไม่กี่วัน ช่วงนั้นมีการจัดการที่เกี่ยวโยงนักการเมืองที่เป็นระดับนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร เป็นช่วงที่มีการแทรกแซงนักการเมืองมาก ซึ่งมีแนวโน้มสูงที่จะโน้มน้าวอัยการ ซึ่งอัยการก็คือนักกฎหมายของนายกรัฐมนตรี และเราจะพบว่ากิจกรรมของธรรมกายจะเชื่อมโยงกับนายกรัฐมนตรีตลอด อย่างเช่นในยุคของทักษิณ วัดพระธรรมกายก็จะเฟื่องฟูขึ้นมาก แต่พอเป็นในยุคของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เช่น โรงเรียนดีศรีตำบล ถูกคัดค้าน โครงการของวัดธรรมกายที่มีการบิดเบือนจะถูกคัดค้าน มาทำอีกทีในยุคของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" เขาบอก

ดังนั้น หากพิจารณาตามหลักพระวินัย ธัมมชโย นั้นถือว่าอาบัติปาราชิกไปตั้งแต่มีการลงชื่อเกี่ยวพันกับทรัพย์สินแล้ว ไม่สามารถแก้ต่างด้วยเหตุผลใดทั้งสิ้น

"ความปาราชิกในทางศาสนาพุทธ ปาราชิกแล้วปาราชิกเลย ไม่มีการยกฟ้อง ไม่มีการคืนสมบัติ ในศาสนาพุทธมีคำว่าตาลยอดด้วน ตาลที่ยอดด้วนแล้วมันเกิดเป็นตาลต่อไปไม่ได้ เขาออกจากการเป็นพระตั้งแต่วันที่เขาได้กระทำการปาราชิกไปแล้ว และสมเด็จพระสังฆราชท่านทรงย้ำกับมหาเถรสมาคมว่าพฤติกรรมที่เกิดขึ้นปาราชิกไปก่อนหน้านั้นนานแล้ว เพราะฉะนั้นสภาวะของธัมมชโย หมดไปตั้งแต่ที่เซ็นหนังสือโอนกรรมสิทธิ์เข้ามาหาตัวเองแล้ว ตอนนี้เขาไม่ใช่พระอีกต่อไปแล้ว"

นอกจากนี้ ยังสะท้อนต่อไปถึงความอ่อนแอในการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรที่กำกับดูแลสงฆ์ ทั้งที่ความจริง สมาคมสงฆ์ชี้ชัดปาราชิกออกไปแล้ว แต่มหาเถรสมาคมกลับบิดเบือนยอมรับ




"องค์กรกำกับดูแลสงฆ์มีส่วนรู้เห็นเป็นใจปล่อยปะละเลย ยังมีพระจำนวนไม่น้อยลุ่มหลงใน ลาภ ยศ สรรเสริญ ปล่อยให้พุทธศาสนาถูกทำลายอย่างไร้สำนึก วงการสงฆ์ขาดแคลนพระดี ขณะที่พระที่เป็นปัญหากลับขยายตัวขึ้นสูงยิ่ง และเป็นปัญหากว่าพระดีที่ขาดแคลนมากขึ้นอีก พระจะน้อยจะมากขอให้รักษาพระธรรมวินัยเป็นหลัก ปาราชิกคือต้องออกไปเลย"

ทั้งนี้ ในฐานะคลุกคลีอยู่ในวงการสงฆ์ เขาเสนอแนะเรื่องการปรับ พ.ร.บ.สงฆ์ ให้เท่าทันยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

"พ.ร.บ.สงฆ์ควรเป็นสากล ไม่ใช่เป็น พ.ร.บ.สงฆ์ ที่จะสนับสนุนพระกระทำผิดพระธรรมวินัยเช่นที่เกิดขึ้น แต่ในด้านหนึ่งที่เราปรับเปลี่ยนต้องเป็นคนที่มีความรู้พระธรรมวินัย ถ้าอย่างนั้นจะเป็นการแก้ไขที่ล้มเหลว" เขาเสนอ ก่อนจะขยายความต่อไปว่า "วงการสงฆ์ พระพุทธเจ้าท่านสร้างองค์กรไว้ดีแล้ว แต่สมมุติสงฆ์ สังคมไทยตอนนี้มีความอ่อนแอในศาสนามาก ไม่มีความรู้ทางศาสนาจริงๆ"


ถึงวันนี้ ประเทศไทยขับเคลื่อนภายใต้การปกครองของคสช. แต่ปัญหาผ้าเหลืองที่เปื้อนมลทินเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ไม่เคยได้รับการแก้ไข


"คสช. สามารถที่จะแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาดให้มันถูกได้ แสดงภาพของการรักษาคุณธรรม ให้ความเป็นธรรมาธิปไตยได้ทำงานโดยการแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาด เช่น ผู้ที่ละเมิดพระธรรมวินัย ผู้ที่บิดเบือนพระธรรมวินัย และวัดพระธรรมกาย ต้องการจัดการอันดับแรกๆ เลย ให้เป็นตัวอย่าง เพื่อให้ชาวพุทธเป็นอยู่ได้อย่างมีความสุข" แหล่งข่าวผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงศาสนาทิ้งท้าย


ล่าสุด ทางรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายสุวพันธ์ ตันยุวรรธนะ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการเปิดเผยพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราช เกี่ยวกับการต้องอาบัติปาราชิกของพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ว่าพระลิขิตทั้ง 6 ฉบับของสมเด็จพระสังฆราชเคยถูกนำไปพิจารณาในมหาเถรสมาคมมาแล้ว ตั้งแต่ปี 2542 ซึ่งในลิขิตฉบับที่ 3 มีกล่าวถึงเรื่องปาราชิก โดยในวันนี้ (20 ก.พ.) มหาเถรสมาคมจะมีการประชุมที่คาดว่าจะมีการพิจารณาในเรื่องพระลิขิต และเรื่องของวัดพระธรรมกาย และตัวพระธัมมชโยด้วย จึงต้องดูผลการประชุมว่าจะเป็นอย่างไร


ทั้งนี้ จะแบ่งออกเป็นสองเรื่องคือ เรื่องที่ดินที่มีการฟ้องร้อง และเรื่องที่ว่าความผิดส่วนนี้ต้องอาบัติปาราชิกหรือไม่ ซึ่งขณะนั้นทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เคยพิจารณาเรื่องที่ดินที่มีการฟ้องร้องแล้วโดยมีมติว่าขณะนั้นกำลังเป็นคดีความอยู่ จึงขอให้คดีสิ้นสุดก่อน ซึ่งต่อมาได้มีการถอนฟ้องไปในปี 2549



ข่าวโดย ASTVผู้จัดการ Live



มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!

และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754




ข่าวที่เกี่ยวข้อง (คลิก)
- รู้ตัวหรือไม่? ท่าน “ปาราชิก” เรียบร้อยแล้ว!! [Info]
กำลังโหลดความคิดเห็น