xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ชี้ “ธัมมชโย” ปาราชิก จ่อเชิญ ป.ป.ช.-DSI ถกปมสุมหัวโกงเครดิตยูเนี่ยน 120 ล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ไพบูลย์  นิติตะวัน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(แฟ้มภาพ)
“ไพบูลย์” แจงมติมหาเถรสมาคม “ธัมมชโย” อาบัติปาราชิก ตั้งแต่ 2542 โยง ผจก.สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น บริจาค 120 ล้าน ชี้สมรู้ร่วมคิดโกง ปชช.ฝากเงิน รัฐต้องฟันข้อหาฉ้อโกง กมธ.ปฏิรูปพระพุทธศาสนา เชิญ ป.ป.ช.-DSI ถกจันทร์นี้ ปัดยุบธรรมกายแต่ต้องเปลี่ยนคำสอนให้ถูก ชง 3 ข้อปฏิรูปศาสนา พร้อมแก้ปัญหาใช้ที่วัดหากิน



วันนี้ (19 ก.พ.) นายไพบูลย์ นิติตะวัน กรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ กล่าวว่า กรณีพระลิขิตสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช 3 ฉบับที่ระบุว่าพระธัมชโยมีการบิดเบือนคำสอนจนต้องอาบัติปาราชิกถือเป็นอดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย เป็นการพ้นจากความเป็นพระอย่างชัดเจนแล้ว ตั้งแต่วันที่มีมติมหาเถรสมาคม ครั้งที่ 16/2542 เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2542 รับรองพระลิขิตของพระมหาญาณสังวรณ์ดังกล่าว และยังโยงต่อไปถึงกรณีของนายศุภชัย ศรีศุภอักษร ผู้จัดการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ที่บริจาคเงิน 120 ล้านบาทแก่พระธัมมชโยในเวลาต่อมา ถือว่าเป็นการสมรู้ร่วมคิดในฐานการฉ้อโกงประชาชนเป็นความผิดทางอาญาแผ่นดินอีกประเด็นหนึ่ง ประชาชนที่ฝากเงินกับสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่นถือเป็นเจ้าทุกข์ที่ฟ้องเอาผิดได้ ส่วนรัฐเองก็ต้องดำเนินคดีในฐานการฉ้อโกงซึ่งเป็นความผิดตามอาญาแผ่นดิน ซึ่งในวันจันทร์ที่ 23 ก.พ.นี้ทางคณะกรรมการปฏิรูปฯ จะเชิญตัวแทนจาก ปปง. และดีเอสไอเข้าชี้แจงกรณีดังกล่าวต่อคณะกรรมการ

“เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการไปยุบวัดพระธรรมกาย เพราะเป็นวัดที่จดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพียงแต่จะต้องเปลี่ยนแปลงคำสอนให้ถูกต้องตามแนวพุทธบัญญัติ และพุทธศาสนิกชนที่ไปศึกษาในวัดพระธรรมกายจะได้ปฏิบัติธรรมอย่างถูกต้องตามธรรมวินัย” นายไพบูลย์กล่าว

นายไพบูลย์กล่าวว่า จากกรณีศึกษาจากวัดพระธรรมกายทำให้ทางคณะกรรมการได้เสนอกลไกการแก้ปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นในอนาคต 3 ประการ ต้องปฏิรูปศาสนาให้กลับไปยึดตามธรรมวินัย หรือพุทธบัญญัติ โดย 1. ดูเรื่องเงินของพระ กับเงินของวัด ต้องกำหนดให้เกิดความชัดเจนว่าครอบครองได้หรือไม่ ต้องเปิดเผยให้ตรวจสอบได้หรือไม่ 2. มีองค์กรมาตีความพุทธบัญญัติให้ชัดเจนคล้ายศาลรัฐธรรมนูญ แทนมหาเถรสมาคม ซึ่งปัจจุบันทำหน้าที่ทั้งบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการในองค์กรเดียว และ 3. ให้มีการส่งเสริมให้วัดทั่วประเทศต้องให้มีส่วนร่วมจากประชาชน ไม่ใช่อำนาจบริหารอยู่ที่เจ้าอาวาสเพียงรูปเดียว โดยคณะสงฆ์ต้องดูแลวัดและกิจกรรมของสงฆ์ร่วมกัน

นอกจากนี้ ในที่ประชุม กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญจะมีการพิจารณาประเด็นการปฏิรูปสังคม โดยยกกรณีวัดจำนวนมากได้เอาพื้นที่สาธารณะของวัดไปหารายได้ จึงควรกำหนดให้ศาสนาสถานต่างๆ ต้องจัดพื้นที่สาธารณะให้คนในชุมชนร่วมจัดกิจกรรมได้


กำลังโหลดความคิดเห็น