xs
xsm
sm
md
lg

คกก.ปฏิรูปพุทธศาสนา จ่อเชิญ ปปง.ถกเงินบริจาคยูเนียนฯ ชี้มติมาเถรฯ ขัดมติเดิม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสภาปฎิรูปแห่งชาติ (แฟ้มภาพ)
“ไพบูลย์” เผยพรุ่งนี้ คกก.ปฏิรูปพุทธศาสนาประชุมปม “ธรรมกาย” รับเงินบริจาคสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น 700 ล้าน เชิญ ปปง.ถก ชี้จากข้อมูลผู้รับเงินอ้างไม่รู้ไม่ได้ ฉะฉ้อโกง ปชช.บริจาควัดมีที่ไหนทำกัน ยันมติมหาเถรฯ ขัดมติเดิมต้องสอบ เปรียบทางโลก “ธัมชโย” ต้องปาราชิก เหตุพิพากษาจบไปแล้ว

วันนี้ (22 ก.พ.) นายไพบูลย์ นิติตะวัน ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า ในวันที่ 23 ก.พ.จะมีการประชุมคณะกรรมการฯ ต่อในเรื่องการรับเงินบริจาคของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นให้วัดพระธรรมกายกว่า 700 ล้านบาท โดยจะเชิญตัวแทนจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) มาร่วมประชุมเพื่อตรวจสอบเส้นทางการโอนเงินว่าให้ใครบ้าง กี่เส้นทาง เนื่องจากมีผู้ให้ข้อมูลเบื้องต้นว่ามีผู้รับบริจาคอย่างน้อย 3 ส่วน คือ ให้วัดพระธรรมกาย ให้พระธัมมชโย และพระปลัดคนที่ใกล้ชิดพระธัมมชโย ว่าผู้รับเงินทั้งหมดจะรู้เห็นด้วยหรือไม่ เพราะมีคดีร้องกันคาที่ศาล จึงจะบอกว่าคนรับเงินบริจาคจะไม่รู้เรื่องเลยก็ไม่ได้ มีคำถามว่าเป็นการสมรู้หรือไม่อย่างไร ที่สำคัญครั้งนี้จะหนักกว่าเดิมเพราะเป็นการฉ้อโกงทรัพย์ของประชาชนแล้วนำมาบริจาคให้วัด มีที่ไหนทำกัน จึงต้องตรวจสอบในกรณีนี้ด้วยเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำ เพื่อปฏิรูปปกป้องพระศาสนาไม่ให้มีปัญหามันจะเสื่อมเสียไปทั้งหมด

นายไพบูลย์กล่าวต่อว่า สำหรับเหตุที่ตนประกาศว่าจะตรวจสอบมติของมหาเถรสมาคม (มส.) ว่าถูกต้องหรือไม่ ในกรณีที่ มส.มีมติเมื่อวันที่ 20 ก.พ.ระบุว่าพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายยังไม่ปาราชิก ไม่ได้ฝ่าฝืนพระลิขิตของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกนั้น ตนกลับเห็นว่าไม่ถูกต้อง เพราะมติที่ออกมาเป็นการขัดต่อพระลิขิตเดิมที่มีตั้งแต่ปี 2542 ซึ่งมีออกมาถึง 3 ฉบับ และได้รับการรับรองจากที่ประชุม มส.ว่าเป็นของจริง และยืนยันเห็นชอบตามพระลิขิตดังกล่าวว่าเป็นไปตามกฎหมาย พระธรรมวินัย และกฎเถรสมาคม ที่สุดจึงมีมติให้ฝ่ายสังฆาธิการรับไปดำเนินการตามมติ มส. หากเปรียบเป็นศาลทางโลกก็เท่ากับธัมมชโยไดัถูกศาลฎีกาพิพากษาจบไปแล้ว

นายไพบูลย์กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ในพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชที่ มส.มีมติรับรอง ซึ่งทรงลงวันที่ 26 เม.ย. 2542 ระบุว่า “ความบิดเบือนพระพุทธธรรมคำทรงสอน โดยกล่าวหาว่าพระไตรปิฎกบกพร่อง เป็นการทำให้สงฆ์ที่หลงเชื่อคำบิดเบือน แตกแยกออกไป กลายเป็นสอง มีความเข้าใจความเชื่อถือพระพุทธศาสนาตรงกันข้าม เป็นการทำลายพระพุทธศาสนา ทำสงฆ์ให้แตกแยกเป็นอนันตริยกรรม มีโทษทั้งในปัจจุบันและอนาคต ที่หนัก” และที่ระบุชัดเจนในวรรค 2 ที่ว่า ส่วนที่มิใช่เป็นการลงโทษ แต่เป็นการทำที่ถูกต้อง คือต้องมอบสมบัติทั้งหมด ที่เกิดขึ้นในขณะเป็นพระ ให้แก่วัด ทันที (5 เม.ย. 2542) ไม่คิดให้มีโทษเพราะคิดในแง่ยกประโยชน์ให้ ว่าในชั้นต้นอาจไม่มีเจตนาถือเอาสมบัติของวัดเป็นของตนจริงๆ แต่เมื่อถึงอย่างไรก็ไม่ยอมมอบคืนสมบัติทั้งหมดที่เกิดขึ้นในขณะเป็นพระ ก็แสดงชัดแจ้งว่าต้องอาบัติปาราชิก ต้องพ้นจากความเป็นสมณะโดยอัตโนมัติ ต้องถูกจัดการอย่างเด็ดขาด เช่นเดียวกับผู้ไม่ใช่พระปลอมเป็นพระด้วยการนำผ้ากาสาวพัสตร์ไปครอง ทำความเศร้าหมองเสื่อมเสียให้เกิดแก่สงฆ์ในพระพุทธศาสนา


กำลังโหลดความคิดเห็น