xs
xsm
sm
md
lg

"ไพบูลย์"ดับเครื่องชนมติมหาเถรสมาคม ลุยสอบกก.หลายรูป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

กรณีมติการประชุมมหาเถรสมาคม(มส.) ครั้งที่ 5/2558 ซึ่งมีสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์(ช่วง วรปุญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรรมการมหาเถรสมาคม ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธาน เมื่อวันที่ 20 ก.พ.ที่ผ่านมา ในมีมติว่า พระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ยังไม่ปาราชิก เพราะไม่ได้ฝ่าฝืนพระลิขิตสังฆราช และคืนทรัพย์สินให้วัดไปแล้วนั้น

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เปิดเผยว่า มติมหาเถรสมาคมดังกล่าว เป็นมติที่จะต้องถูกตรวจสอบ เพราะขัดและแย้งกับพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราช เมื่อปี 2542 ที่รับรองโดยมติของมหาเถรสมาคมเอง

"การมีมติไปหักล้างมติเมื่อปี 2542 เป็นการใช้มติที่ประชุมของมหาเถรสมาคม ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ผู้ที่มีมติคือกรรมการมหาเถรสมาคม ซึ่งถือเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ อีกทั้งในกฎหมายยังเขียนด้วยว่า มติจะมีผล ต้องเป็นไปตามพระธรรมวินัยด้วย ดังนั้นมติดังกล่าวจึงต้องถูกตรวจสอบว่ามีการกระทำที่ถูกต้องหรือไม่"

อย่างไรก็ตาม มติดังกล่าวมีปัญหาแน่ เพราะเมื่อลงมติโดยมหาเถรสมาคม ก็ต้องถูกตรวจสอบ และที่ผ่านมากรรมการในมหาเถรสมาคมหลายรูป ก็ถูกร้องเรียนว่า มีลักษณะทับซ้อนกับการใช้ดุลยพินิจในเรื่องพระธัมมชโย จึงต้องถูกตรวจสอบในประเด็นปัญหาการใช้ดุลยพินิจ

นายไพบูลย์ กล่าวด้วยว่า มติที่ออกมาแล้วอ้างว่าไม่ขัดกับพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชนั้น ตนพิจารณาแล้วว่า อย่างไรก็ขัดพระลิขิตแน่ ทั้งนี้มติอีกประการหนึ่งที่อ้างว่า พระธัมมชโยได้คืนทรัพย์สินให้วัดหมดแล้ว ไม่มีเจตนาถือไว้ จึงไม่ต้องปาราชิก กรณีนี้ถือว่า เป็นคนละเรื่องกัน เพราะการเอาทรัพย์สินที่เป็นของวัดมาใส่ชื่อตัวเอง ต้องถือว่าขาดจากความเป็นพระแล้ว ยกตัวอย่างพระที่เสพเมถุน แม้ไม่ผิดกฎหมายก็ผิดข้อปาราชิก ส่วนการนำทรัพย์สินมาเป็นของตัวเอง แม้สุดท้ายเจ้าของทรัพย์จะยอมความ ไม่เอาผิด โดยทางโลกถือว่าพ้นผิด แต่ในทางธรรมนั้น "ปาราชิก" ไปตั้งแต่มีเจตนามาใส่ชื่อตนเอง แม้ตอนหลังจะมาคืน แต่ความเป็นปาราชิกมันต่อไปไม่ได้ มันขาดไปแล้ว

"ที่สำคัญคือ สมเด็จพระสังฆราชทรงมีพระลิขิตอีกฉบับเมื่อปี 2542 ว่าพระธัมมชโยได้ปาราชิกไปแล้ว เพราะไปบิดเบือนคำสอนของพระพุทธศาสนา ทำให้สงฆ์แตกแยก ซึ่งมติของมหาเถรสมาคมเมื่อวานนี้ ไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้ โดยพระลิขิตฉบับวันที่ 10 พ.ค.2542 ชัดเจนว่า เป็นเรื่องเกี่ยวกับ "อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย" การที่ทรงใช้คำนี้ เพราะเห็นว่าพระธัมมชโยขาดจากความเป็นพระไปแล้ว การปาราชิกก็มีผลทันทีตั้งแต่ตอนนั้น มติของมหาเถรสมาคมเมื่อวานจึงมีปัญหาแน่นอน"นายไพบูลย์กล่าว

สำหรับขั้นตอนการตรวจสอบมหาเถรสมาคมนั้น จะเป็นการเข้าตรวจสอบในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐ ส่วนการตรวจสอบพระธัมมชโย ทางคณะกรรมการฯจะพิจารณาถึงพฤติกรรมที่ไปรับเงินจากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ที่ไปฉ้อโกงเงินของประชาชน และรับเงินไปนานแล้ว เมื่อมีเรื่องร้องเรียนในศาล ก็ไปอ้างว่า ไม่รู้จักกับอดีตประธานสหกรณ์ ทั้งที่ข้อเท็จจริงนั้น รู้จักกันแน่นอ และประชาชนไม่มีความประสงค์จะให้แต่ยังถือไว้อีก นี่คือสิ่งที่คณะกรรมการจะเข้าตรวจสอบ การกระทำที่เข้าข่ายกระทำปาราชิก

"พระธัมมชโยสำหรับผม ถือว่าปาราชิกไปแล้ว ตามมติของมหาเถรสมาคมเมื่อปี 2542 การมาบอกว่า ฆราวาสไปตรวจสอบสงฆ์ไม่ได้ มันเป็นคนละเรื่องกัน ที่พูดนี้เป็นเรื่องธรรมวินัย แต่ไม่ใช่เรื่องการตรวจสอบทางกฎหมาย เพราะเจ้าอาวาสเป็นตำแหน่งทางกฎหมาย อย่างเรื่องวัดสระเกศที่สตง.ไปตรวจสอบการเงิน ทำไมตรวจสอบได้ ความจริงแล้วมันตรวจสอบได้ทั้งหมด และการที่เราตรวจสอบนี้ คือการตรวจสอบหน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งมีปัญหาจึงต้องถูกตรวจสอบ เพราะจะต้องไม่มีการขัดกันในผลประโยชน์ ซึ่งขณะนี้มีผู้นำข้อมูลมาให้แล้ว"
กำลังโหลดความคิดเห็น