“ส.ศิวรักษ์” ระบุมหาเถรสมาคม ลงมติ “ธมฺมชโย” ไม่ปาราชิก ถือเป็น ความอัปลักษณ์ของกรรมการมหาเถรสมาคม เหน็บ น่าจะมีชนักติดหลังทำนองเดียวกัน ชี้เป็นการตะแบงพระวินัย ทั้งที่ลายพระหัตถ์สมเด็จพระสังฆราชชี้ชัดว่า ต้องอทินนาทานปาราชิก
กรณีที่ประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) ซึ่งมีสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เป็นประธานการประชุม วานนี้ (20 ก.พ.) มีมติว่า พระเทพญาณมหามุนี หรือ พระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย และประธานมูลนิธิธรรมกาย ไม่ขาดปาราชิกขาดจากความเป็นภิกษุ แม้จะมีพระลิขิตของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ลงวันที่ 26 เมษายน 2542 เนื่องจากได้มีการคืนทรัพย์สินทั้งหมดให้กับวัด ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาในช่วงนั้น นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ นักคิดนักเขียนชื่อดังได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กแฟนเพจ Sulak Sivaraksa เมื่อเวลา 09.12 น.วันนี้(21 ก.พ.) แสดงความเห็นต่อมติดังกล่าวไว้น่าสนใจว่า การที่ มส. ลงมติ ว่า ธัมมชโยไม่เป็นปาราชิกนั้น แสดงว่า มส. ที่ลงคะแนนให้ ธมฺมช น่าจะมีชนักติดหลังในทำนองเดียวกัน
“ในเมื่อลายพระหัตถ์สมเด็จพระสังฆราชชี้ชัดว่าบุคคลผู้นี้ต้องอทินนาทานปาราชิก แล้วกรรมการมหาเถรสมาคมซึ่งอ้างว่าเคารพสมเด็จพระสังฆบิดร กลับไม่ทำตามมติสมเด็จพระสังฆราช โดยที่อ้างว่าเขาคืนเงินให้แล้ว เป็นอันหมดมลทิน นั่นเป็นเรื่องตะแบงพระวินัยอย่างชัดเจน
.
“แต่นี่ไม่ใช่คราวแรกที่มหาเถรสมาคมมีพฤติกรรมเช่นนี้ เช่นเมื่อคราวกิตฺติวุฒฺโฑภิกขุสั่งรถวอลโว่เข้ามาโดยไม่ยอมเสียภาษี นี่ก็เป็นอทินนาทานปาราชิกเช่นเดียวกัน เพราะพระมีค่าเพียงแค่เงินบาทเดียว ฉ้อฉลเพียงบาทเดียวก็ต้องอทินนาทานปาราชิกหมดความเป็นภิกษุภาวะ คราวกิตฺติวุฒฺโฑ มหาเถรสมาคมก็ลงมติว่าเป็นนิสสัคคียปาจิตตีย์ และให้เอาเงินไปเสียภาษี เพื่อจบเรื่อง ดังกรณีธัมฺมชโยก็เช่นกัน อ้างว่าได้คืนเงินคืนทองไปแล้ว ยังสามารถคงความเป็นลัชชีไว้ได้ นี่เป็นตัวอย่างแห่งความอัปลักษณ์ของกรรมการมหาเถรสมาคม
.
“เมื่อถอดสมภารวัดสระเกศออกจากมหาเถรสมาคม และจากตำแหน่งต่าง ๆ อย่างน้อยแสดงว่ามหาเถรสมาคมมีความกล้าหาญทางจริยธรรมอยู่บ้าง แต่แล้วความกล้าหาญที่ว่านี้ก็ปลาสนาการไป เพราะคณะพระธรรมกายมีเงินและอำนาจมากมายมหาศาล ที่จะซื้อกรรมการมหาเถรสมาคมได้แทบทั้งหมด ยังท่านผู้รักษาการในตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ก็ปกป้องคณะพระธรรมกายมาโดยตลอด ถึงกับไปร่วมเดินกับคณะนี้เมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยอ้างว่านั่นเป็นธุดงควัตร แถมว่าที่สังฆราชยังออกว่า “เดินบนดอกไม้นุ่มดี ไม่เคยมีประสบการณ์เช่นนี้มาก่อน” แล้วคนอย่างนี้จะปล่อยให้เป็นสังฆราชได้หรือ ถ้าได้เป็น การพระศาสนาจะทรุดโทรมไปยิ่งกว่านี้เหลือคณานับ
.
“สิ่งซึ่งสังคมไทยต้องการในขณะนี้คือพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งทรงไว้ซึ่งศีลาจารวัตร ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยที่เนื้อหาสาระ ยกตัวอย่างเช่น มีคนต้องการเอารถยนต์ไปถวายวัดหนองป่าพง ท่านอาจารย์ชา สุภัทฺโท เรียกประชุมสงฆ์ว่าสมควรจะรับยานพาหนะดังกล่าวหรือไม่ สงฆ์ส่วนใหญ่เห็นว่าการมีรถยนต์จะช่วยให้พระภิกษุสามเณรสะดวกในการเดินทางไปไหนมาไหน ครั้นท่านอาจารย์ชาถามสังฆบริษัทว่าไม่อายชาวบ้านหรือ เพราะชาวบ้านรอบ ๆ วัด บางคนไม่มีแม้แต่เกวียน แต่เขาก็ทำบุญตักบาตรเลี้ยงพระให้มีความผาสุกตลอดมา แล้วพระไปนั่งรถยนต์เชิดหน้าชูตา จะเอาหน้าไปไว้ไหน สงฆ์ทั้งหมดจึงลงมติไม่รับรถยนต์ที่ทายกต้องการจะถวาย
.
“ขอให้เปรียบเทียบกับกรณีเณรคำ ซึ่งซื้อรถแพง ๆ ถวายพระสังฆาธิการในคณะธรรมยุติหลายต่อหลายรูป อันเป็นการติดสินบนนั่นเอง หากพระมหาเถระเหล่านั้นพากันพูดว่า “นี่เป็นของถวาย ไม่รับก็จะขัดศรัทธาเขา” พระสังฆาธิการเป็นอันมาก มีรถยนต์แพง ๆ กุฏิอันหรูหราฟ่าแฟ่ ติดแอร์ มีเครื่องรับโทรทัศน์ติดดาวเทียม ซึ่งจะดูหนังลามกอย่างไรก็ได้ แล้วนี่ไม่นำความหายนะมาสู่คณะสงฆ์หรอกหรือ
“ชีวิตพรหมจรรย์แปลว่าชีวิตอันประเสริฐ ต้องต่างไปจากชีวิตชาวบ้าน ซึ่งเป็นกามโภคี พระภิกษุสามเณรต้องเจริญเนกขัมมปฏิปทา แม่นทั้งทางศีลสิกขาและเจริญจิตสิกขา เพื่ออบรมตัวเองให้เข้าถึงปัญญา จะได้แลเห็นสิ่งต่าง ๆ ตามสภาพความเป็นจริงที่แท้ ถ้าไตรสิกขาเป็นเพียงคำพูด โดยไม่ประพฤติปฏิบัติตามที่เนื้อหาสาระ พระศาสนาก็ย่อมจะสั่นคลอนและอาจถึงซึ่งความอับปางก็ได้ ภายในชั่วอายุของกรรมการมหาเถรสมาคมในบัดนี้นี่เอง”