xs
xsm
sm
md
lg

มส.ยัน “ธัมมชโย” ไม่ปาราชิก อ้างไม่เจตนาฝืนพระลิขิตสังฆราช

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


มหาเถรสมาคมแถลงยัน “ธัมมชโย” ไม่ต้องปาราชิก เหตุไม่มีเจตนาฝ่าฝืนพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราช ไม่ได้ฉ้อโกงที่ดินวัดพระธรรมกายโดยได้คืนให้วัดทั้งหมดแล้ว จึงให้คงสถานะเจ้าอาวาสเหมือนเดิม อ้างความปรองดองไม่อยากให้นำเรื่องนี้มาพูดอีก

จากกรณีที่คณะกรรมาธิการการศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่มี นายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นประธาน ได้มีมติว่า พระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธัมมชโย) เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย และประธานมูลนิธิธรรมกาย ต้องอาบัติปาราชิก พ้นจากความเป็นสมณะโดยอัตโนมัติ ตามลิขิตสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ลงวันที่ 26 เมษายน 2542 นั้น

วันนี้ (20 ก.พ.) ที่อาคารสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม ได้มีการประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) ครั้งที่ 5/2558 โดยมีสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรรมการมหาเถรสมาคม ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธาน ทั้งนี้ พระพรหมเมธี (จำนงค์ ธมฺมจารี) กรรมการและโฆษก มส. กล่าวภายหลังการประชุม มส. ว่า ที่ประชุม มส. ได้มีมติรับทราบกรณี นายสมเกียรติ ธงศรี ผู้อำนวยการสำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม (มส.) ผู้แทนสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ไปชี้แจงกรณี พระเทพญาณมหามุนี หรือ หลวงพ่อธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ว่า ได้มีการละเมิดพระลิขิตสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในปี 2542 หรือไม่ จากนั้น มส. ได้พิจารณาถึงเจตนาของหลวงพ่อธัมมชโย ใน 2 กรณี ดังนี้ 1. ฝ่าฝืนพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราชหรือไม่ ซึ่งที่ประชุม มส. ได้ยกมติ มส. เมื่อปี 2549 ขึ้นมาพิจารณาแล้ว พบว่า หลวงพ่อธัมมชโย ยอมรับและปฏิบัติตามพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชในการคืนที่ดินทุกประการ

พระพรหมเมธี กล่าวต่อว่า 2. มีเจตนาฉ้อโกงหรือไม่ โดยที่ประชุมได้พิจารณาแล้ว หลวงพ่อธัมมชโย ได้ทยอยคืนทรัพย์สินทั้งหมดให้แก่วัดพระธรรมกาย ในขณะเดียวกัน คณะกรรมการฝ่ายสงฆ์ ซึ่งประกอบด้วย เจ้าคณะปกครอง ได้ดำเนินการสอบสวนความผิดของหลวงพ่อธัมมชโย โดยผลสรุปออกมาว่า ไม่มีเจตนาฉ้อโกง ไม่ผิดพระวินัย ไม่ถือเป็นความผิด ถือเป็นอันยุติ ทั้งนี้ เมื่อไม่มีเจตนาฉ้อโกง ไม่ได้ฝ่าฝืนพระลิขิต ไม่ถือว่ามีความผิด และพ้นมลทิน รวมทั้งยึดตามมติ มส. ปี 2549 โดยได้คืนตำแหน่งเจ้าอาวาส และได้ขอพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ให้ ดังนั้น สถานะภาพปัจจุบันของหลวงพ่อธัมมชโย ยังคงดำรงตำแหน่ง เจ้าอาวาสวัดและดำรงสมณศักดิ์เช่นเดิม

พระพรหมเมธี กล่าวว่า ส่วนกรณีที่มี นายสมพร เทพสิทธา และ นายมาณพ พลไพลิน เป็นฝ่ายโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลอาญา ว่า หลวงพ่อธัมมชโย ยักยอกทรัพย์ของวัด แต่ต่อมานายมาณพ หนึ่งในโจทย์ร่วมฟ้องได้ถอนฟ้อง ทางอัยการได้พิจารณาแล้ว จึงได้ถอนฟ้องคดีดังกล่าว ถือว่า หลวงพ่อธัมมชโย ได้พ้นมลทินแล้ว

“อยากจะวิงวอนให้พุทธศาสนิกชน พิจารณารับข่าวสารจากสื่อที่มีความรวดเร็ว อาจมีข้อผิดพลาดได้ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลเน้นสร้างความปรองดองของคนในชาติ จึงไม่อยากให้นำเรื่องที่ยุติลงแล้วมาพูดซ้ำ มส. เองไม่รู้ว่าพิจารณาอย่างไร อย่างไรก็ตาม มส. ถือเป็นองค์กรปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ โดยเมื่อมีปัญหาของคณะสงฆ์เกิดขึ้น ก็ได้พิจารณาตามกระบวนการปกครองสงฆ์ สำหรับพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราชในปี 2542 ถือเป็นข้อแนะนำของคณะสงฆ์ทั้งประเทศควรยึดถือปฏิบัติ” พระพรหมเมธี กล่าว

โฆษก มส. กล่าวว่า ที่ประชุม มส. ยังได้มติตั้งคณะทำงาน ติดตามข่าวสารทางโลกขึ้นมา 1 ชุด ประกอบด้วย พระพรหมเมธี พระพรหมบัณฑิต พระพรหมสิทธิ พระธรรมบัณฑิต นายจำนง สวมประคำ อดีตเลขาธิการวุฒิสภา และนายพิสิฐ เจริญสุข อดีตข้าราชการกรมการศาสนา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการประชุม มส. นายประจิณ ฐานังกรณ์ ประธานกลุ่มธรรมาธิปไตย ได้มายื่นหนังสือถึง ผอ.พศ. ผ่านทางฝ่ายสารบัญ เพื่อติดตามกรณีเคยยื่นให้มีการตรวจสอบเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย อวดอุตริมนุสธรรม เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2542 ทั้งนี้ นายประจิณ กล่าวว่า ตนต้องการมาติดตามเรื่องดังกล่าว เพราะเห็นว่า มส. มีการพิจารณาเรื่องของวัดพระธรรมกาย ซึ่งตนเคยยื่นเรื่องร้องเรียนไว้เช่นกัน แต่เรื่องกลับเงียบหาย จึงมายื่นเรื่องทวงถามความคืบหน้าอีกครั้ง

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่













กำลังโหลดความคิดเห็น