ถกพลังงานไร้ข้อยุติ ตัวแทนภาคประชาชนบี้รัฐบาลแก้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ก่อนเปิดสัมปทานรอบใหม่ พร้อมหนุนทำประชามติ หากเป็นโพลต้องตั้งคำถามให้ชัด “ธีระชัย” ฉุน “ณรงค์ชัย” แบะท่าเปิดสัมปทานไม่สนเสียงเวทีกลาง “คุรุจิต” ของขึ้นโดน “รสนา” พาดพิงเป็น ขรก. นั่งบอร์ดรัฐวิสากิจ สวนย่ำยีศักดิ์ศรีคนอื่น เข้าข่ายหมิ่นประมาท ยันเดินหน้าไปก่อนค่อยแก้ กม. ได้ “บรรยง” เชียร์รัฐลุยไฟ ไม่ต้องถามความเห็นใครอีก ชี้เป็นอำนาจฝ่ายบริหาร
วันนี้ (20 ก.พ.) ตั้งแต่เวลา 09.30 น. ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ได้มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ภายใต้ชื่อ “เดินหน้าประเทศ เพื่อความมั่นคงทางพลังงานที่ยั่งยืน” โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และมีตัวแทนจากฝ่ายรัฐบาล ประกอบด้วย นายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน นายบรรยง พงษ์พานิช ผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการนโยบายกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ นายมนูญ ศิริวรรณ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และนายศิริพงษ์ ศุภกิจจานุสรณ์ นักวิชาการอิสระด้านกฎหมาย ขณะที่ฝ่ายผู้คัดค้าน ประกอบด้วย นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิก สปช. และ นายณพ สัตยาศัย มูลนิธินโยบายสุขภาวะ โดยมีตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ และประชาชน เข้าฟังการแสดงความคิดเห็นกว่า 300 คน รวมถึง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะตัวแทนฝ่ายผู้ยื่นแสดงเจตจำนงต่อรัฐบาล นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ อดีตโฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และ นายอลงกรณ์ พลบุตร สมาชิก สปช. เป็นต้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รูปแบบหารือครั้งนี้มีการกำหนดเวลาให้ทั้งสองฝ่ายฝั่งละ 1 ชั่วโมง 30 นาที ในการชี้แจง โดยให้บริหารจัดการเวลากันเองภายในทีม และมีเงื่อนไขว่า จะต้องไม่พาดพิงบุคคลอื่น รวมทั้งไม่มีเอกสิทธิ์คุ้มครองใดๆ ทั้งสิ้น กรณีขอใช้สิทธิคัดค้านในขณะที่อีกฝ่ายยังพูดไม่จบจะต้องถามพิธีกรว่า อีกฝ่ายยินดีหรือไม่
โดย นายธีระชัย กล่าวว่า มีเหตุผลอะไรที่จะไม่แก้กฎหมาย เห็นว่า การแก้กฎหมายต้องทำก่อนที่การเปิดสำรวจรอบที่ 21 ซึ่งการที่กระทรวงพลังงานออกประกาศเมื่อวันที่ 4 ก.พ. ที่ผ่านมา ว่า รัฐบาลมีนโยบายนำระบบแบ่งปันผลผลิตหรือระบบบริหารจัดการอื่นมาใช้ ตรงนี้เป็นการยอมรับที่ชัดเจนว่าทางราชการเห็นว่าวิธีการทางเลือกอื่นจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า การดำเนินการเป็นในรูปแบบสัมปทาน โดยรัฐบาลอาจจะใช้สิทธิแจ้งผู้ที่ได้รับสัมปทานมาเจรจาตกลงยินยอมหลักเกณฑ์ภายหลังได้ ซึ่งการที่จะนำระบบแบ่งปันผลผลิตมาใช้ในการคัดเลือกผู้ชนะนั้น ในแง่ของธรรมาภิบาลจะเกิดขึ้นอัตโนมัติโดยมีการประมูลแข่งขัน ซึ่งฝ่ายที่แบ่งสัดส่วนให้กับรัฐสูงสุดจะได้อัตโนมัติ แต่การประมูลแข่งขันต้องทำก่อนที่จะได้ผู้ชนะ ซึ่งปัญหาแรกคือ การพิจารณาในชั้นสัมปทาน เพราะไม่ได้มีการพูดคุยกันว่า ถ้าเปลี่ยนไปเป็นระบบแบ่งปันผลผลิตแล้วจะแบ่งรัฐกี่เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ คนที่จะต้องมารับผิดชอบเจรจากับผู้รับสัมปทานไม่ใช่รัฐมนตรีปัจจุบัน แต่จะเป็นรัฐบาลในอนาคตที่จะมาจากการเลือกตั้ง ปัญหาจะอยู่ที่ว่าเวลารัฐบาลในอนาคตจะเจรจาแทนที่จะเป็นการเจรจาและมีการแข่งขันปกติ แต่รัฐบาลจะต้องมาเจรจากับผู้ถือสัมปทานแทนอย่างนี้เขาเรียกว่าปิดประตูตีแมว
นายธีระชัย กล่าวว่า ในแง่ของเนื้อหาสัมปทานี่ผ่านมาเวลามีข้อถกเถียงกัน ขบวนการอนุญาโตตุลาการเขาไปทำกันที่ต่างประเทศ ซึ่งการที่จะไปชักจูงให้เขาแบ่งผลผลิตให้เรามันคงเป็นไปได้ยาก หรือต่อให้รัฐบาลในอนาคตออกกฎหมายเพื่อให้เอื้ออำนวยในการแบ่งผลผลิตนั้นต้องเข้าใจว่ากฎหมายไม่มีผลบังคับย้อนหลัง ฉะนั้น ถ้าดูในเชิงการเมืองการออกประกาศอย่างนี้มองว่าจะเป็นการผลักภาระให้รัฐบาลนี้ให้กับรัฐบาลหน้า ซึ่งเรื่องนี้จะมีความเสี่ยงกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพราะถ้าสมมุติว่ามีการแบ่งปันผลผลิตที่ไม่เท่ากันในแต่ละปี จะยอมกันหรือไม่ เพราะส่วนต่างตรงนี้มีจำนวนมาก ตนในฐานะประชาชนมีข้อกังวลว่า ทำไมไม่แก้กฎหมายตั้งกติกาให้เรียบร้อย ทำไมต้องเร่งรีบ
“ที่บอกว่ากระบวนการแก้กฎหมายต้องใช้เวลา แสดงว่ากระทรวงพลังงานไม่เคยศึกษาไว้เลยหรือไม่ว่าระบบแบ่งปันผลผลิตในทั่วโลกใช้มา 40 ปีกว่าแล้ว สถานการณ์วันนี้มีกฎอัยการศึก มีอำนาจพิเศษ หากต้องการเร่งรัดออกออกฎหมาย สามารถแก้ได้ ขณะเดียวกัน ก็สามารถเริ่มกระบวนการสำรวจได้เลย วันนี้รัฐบาลต้องหาทางสร้างศรัทธาและความมั่นใจให้กับประชาชนที่เป็นเจ้าของทรัพยากร นายกฯต้องทำให้ประชาชนใสบายใจ วันนี้เรามาเสนอแนะทำให้ข้อขัดแย้งหมดลง ถ้าเริ่มต้นอธิบายว่าของเก่าดีอยู่แล้วจะไม่จบ” นายธีระชัย กล่าว
อดีต รมว.คลัง กล่าวว่า พลังงานเป็นของประเทศชาติและประชาชน ขณะนี้ประชาชนมีข้อกังวลและไม่สบายใจต้องการจะเข้ามามีส่วนร่วมให้มีการกระบวนการทำงานที่มีธรรมาภิบาลมากขึ้น มีบทบาทในกระบวนการบริหารจัดการมากขึ้น ซึ่งถือว่าดีอย่างน้อยวันนี้ทางผู้แทนภาครัฐยอมรับว่ามีข้อบกพร่องในกฎหมายและกติกาต่างๆ ในเมื่อมีข้อบกพร่อง ทำไมไม่ร่วมมือที่จะแก้ไขกฎหมายและกติกาให้เรียบร้อยก่อน การเพิ่มทางเลือกให้ประเทศจะเสียหายอย่างไร การทำให้มีการแข่งขันเป็นธรรมกับประชาชนมากขึ้น แก้กติกาอุดช่องโหว่ทั้งภาษีและแง่ผลประโยชน์ทับซ้อน ทำให้มีความไม่สบายใจ กระบวนการในการจัดการทรัพยากรวันนี้ปัจจัยในแง่ของวิทยาศาสตร์เป็นรอง ปัจจัยที่สำคัญมากว่าคือ ธรรมาภิบาล เขาต้องการจะรู้ข้อมูลบริหารจัดการว่าทำให้เขาได้หรือเสียประโยชน์อย่างไร ดังนั้น ต้องแก้กฎหมายก่อน เพราะตอนนี้สามารถทำได้รวดเร็ว
“แต่หากไม่มีกระบวนการพิจารณาข้อบกพร่องให้ประชาชนมีความสบายใจแล้วจะสร้างศรัทธากับประชาชนได้อย่างไร ทราบจากข่าวว่าหลังจากประชุมวันนี้แล้วจะมีการทำโพล โพลดังกล่าวผมไม่แน่ใจว่าทำโดยองค์กรใด แต่หากจะมีการทำโพลจริงควรตั้งคำถามที่ชัดเจนว่า สมควรจะแก้ไขกฎหมายให้เป็นธรรมและโปร่งใสก่อนเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 หรือไม่ ขณะเดียวกัน ภาคประชาชนเห็นควรว่า ควรทำประชามติมากกว่า เพราะประชาชนทั้งประเทศตื่นตัวเรื่องนี้ เนื่องจากพลังงานเป็นทรัพย์สินของประชาชน ให้เขาได้ตัดสินใจ” นายธีระชัย กล่าว
ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าวว่า ประชาชนไม่ได้ต่อต้านการขุดเจาะ และเห็นด้วยกับการสำรวจเลย แต่สิ่งที่ติดใจคือ กระบวนการที่ใช้ยังมีข้อด้อยที่ต้องแก้ไข เราไม่อยากให้ทุกอย่างชักช้า อยากให้รีบทำด้วยซ้ำไป แต่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 ในมาตรา 23 ได้เขียนล็อกให้ใช้ระบบเดียวเท่านั้น ซึ่งล็อกตัวเองทำไม ทำไมไม่เขียนไปให้หมดให้มีทางเลือกมาที่สุด ถามว่าไม่ดีอย่างไรเปิดทางเลือกให้กับประเทศ น่าจะเป็นสิ่งที่รัฐบาลไม่ปฏิเสธ ชอบสัมปทานไม่เป็นไรแต่ต้องมีวิธีการอื่นด้วย รัฐต้องเลือกว่าจะขอเปิดโอกาสตัวเองหรือไม่ แบบแบ่งปันผลผลิต หรือจ้างผลิตก็ตาม ส่วนเรื่องกฎหมายภาษีสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบกับรายใหม่ เป็นเหตุให้รายใหม่ถึงไม่มาเพราะรู้ว่าเสียเปรียบรายเก่า กฎหมายข้อนี้จึงควรแก้ไข ยืนยันว่า เราไม่ได้ให้ชะลอการสำรวจ แต่เห็นว่ากระบวนการสัมปทานต้องมีการแก้ไข และแยกการสำรวจและการผลิต
โดย น.ส.รสนา กล่าวเช่นเดียวกันว่า ก่อนที่จะมีการเปิดสัมปทานพลังงานรอบที่ 21 ต้องมีการแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียม ทั้งในส่วนของ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ใน 3 ประเด็นสำคัญ คือ 1. แก้ไขกฎหมายภาษีปิโตรเลียม เกี่ยวกับการนำค่าใช้จ่ายมาหักลบภาษีได้ 2. แก้ไขบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการใช้กระบวนการอนุญาโตตุลาการยุติข้อพิพาทระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะประเด็นการเพิกถอนสัมปทาน เพราะไม่มีประเทศใดในโลกใช้ระบบอนุญาโตตุลาการที่ถือเป็นการให้สิทธิและอธิปไตยทางกระบวนการยุติธรรมนอกประเทศมาพิพากษาเกี่ยวกับสิทธิด้านทรัพยากรหรือกิจการสาธารณะนอกราชอาณาจักร และ 3. ควรบรรจุสิทธิด้านปิโตรเลียมและเชื้อเพลิงพลังงานไว้ในรัฐธรรมนูญเพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชน
“แม้รัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 จะให้สิทธิประชาชนในการเข้ามามีส่วนดูแลบริหารทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้น แต่ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม มีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2514 ซึ่งเมื่อมีประเด็นที่เกี่ยวกับพลังงานหรือในทางปฏิบัติ รัฐบาลไม่เคยที่จะให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมใดๆ เลย” น.ส.รสนา ระบุ
น.ส.รสนา ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การเร่งรีบให้สัมปทานครั้งนี้ทั้งที่ฝ่ายรัฐยอมรับว่ามีข้อบกพร่องอยู่ ทำให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อนของข้าราชการกระทรวงพลังงาน ที่ทำหน้าที่กำกับดูแลนโยบาย แต่กลับไปนั่งเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจ หรือบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ อย่างกรณี นายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นผู้ลงนามให้สัมปทานแก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ถือว่าเป็นการกระทำที่ขัดผลประโยชน์ทับซ้อนในการแบ่งแยกอำนาจการบริหารและการกำกับกิจการในฐานะข้าราชการระดับสูงต่อกิจการเอกชนหรือรัฐวิสาหกิจ ที่จะก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน คือ กรณีการกำหนด ราคาก๊าซ แอลพีจี ที่เกิดความเหลื่อมล้ำ เพราะธุรกิจปิโตรเคมีใช้ราคาก๊าซหน้าโรงงานและเป็นราคาในประเทศขณะที่ภาคประชาชนซื้อก๊าซในราคาตลาดโลก ที่สำคัญต้องแบกรับภาระราคาที่สูง ดังนั้นหากภาครัฐมีความจริงใจในการลอยตัวราคาก๊าซอย่างแท้จริงต้องให้ภาคธุรกิจและภาคประชาชนใช้ราคาก๊าซที่เท่าเทียมกัน
“ที่กำลังเร่งรีบอยู่ตอนนี้ เพราะต้องการนำก๊าซในอ่าวไทยไปป้อนให้กับธุรกิจปิโตรเคมีใช่หรือไม่” น.ส.รสนา ตั้งคำถาม
น.ส.รสนา กล่าวว่า ตนเชื่อว่ารัฐสามารถเป็นผู้สำรวจทรัพยากรด้วยตนเองได้ เพราะการที่เปิดให้เอกชนเป็นผู้สำรวจจะมีการลงทุนก่อนประมาณ 5 พันล้านบาท ถือเป็น 1% ของมูลค่าปิโตรเลียม ซึ่งหากมีการเปรียบเทียบกันแล้วการบริหารจัดการน้ำที่รัฐยอมลงทุนถึง 9 แสนล้านบาท การลงทุนเพื่อสำรวจทรัพยากร 5 พันล้านบาทจึงถือว่าคุ้มค่าพอสำหรับที่จะทำให้รัฐรับรู้ว่าทรัพยากรของชาติมีอยู่เท่าใด เพื่อสามารถบริหารจัดการต่อไปได้
ด้าน นายณพ กล่าวเสริมว่า เมื่อรัฐให้สัมปทานแก่บริษัทเอกชน ทางบริษัทเอกชนเองก็ต้องจ้างบริษัทอื่นเข้าไปสำรวจแหล่งพลังงานที่ได้รับสัมปทานก่อนที่จะดำเนินการต่อไป ดังนั้นภาครัฐควรที่จะหยุดการให้สัมปทาน และเข้าไปสำรวจ หรือว่าจ้างบริษัทเอกชนเข้าไปสำรวจแหล่งพลังงานก่อน เพื่อให้รู้ว่ามีพลังงานหรือไม่มี หรือมีมากน้อยเพียงใด ก่อนที่จะพิจารณาเปิดสัมปทาน
ในระหว่างการอภิปราย นายธีระชัย ได้กล่าวว่า รู้สึกไม่สบายใจ เพราะขณะที่เราพยายามหาทางออกข้อเสนอแนะต่างๆ อยู่ และทางฝั่งกระทรวงพลังงานยอมรับว่ายังมีข้อบกพร่องที่ต้องแก้ไข ปรากฎว่า นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงาน กลับไปให้สัมภาษณ์ว่ายืนยันจะเดินหน้าเปิดสัมปทานปิโตเลียมรอบที่ 21 ต่อ ทั้งที่การหารือยังไม่จบ ส่วนการเสนอให้มีการทำผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 นั้น ตนเห็นว่าควรทำในรูปแบบของการประชามติเพื่อให้ประชาชนทั้งประเทศในร่วมตัดสินใจ แต่หากไม่สามารถทำได้ ก็สนับสนุนรูปแบบการสำรวจความคิดเห็น แต่ต้องกำหนดหัวข้อให้ชัดเจนว่า เห็นด้วยให้มีการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับปิโตรเลียมก่อนที่จะเปิดสัมปทานรอบที่ 21 เป็นต้น
ขณะที่ตัวแทนภาครัฐ นายคุรุจิต กล่าวว่า เรื่องกฎหมายภาษีประการแรกยื่นคำขอการประมูลการแข่งขันภาคประชาชนยังเข้าใจไม่ถูกต้อง ระบบสัมปทานของไทยที่ยื่นข้อเสนอเปิดซองใครลงทุนสูงสุดคือ ผู้ชนะ ซึ่งเป็นระบบประมูลที่โปร่งใสที่สุด และทำมาแล้วหลายรัฐบาล แต่ระบบแบ่งปันผลผลิตเป็นมติที่เชิญชวน การจะเอาประโยชน์กี่เปอร์เซ็นต์นั่นคือการเจรจา สำหรับประเด็นอนุญาโตตุลาการอยากชี้แจงว่า ระบบสัมปทานปิโตรเลียมของไทยจ่ายถูกต้องหรือไม่ หรือมีค่าตอบแทนพิเศษอย่างไรทุกเรื่องจะจบที่ศาลไทย ขณะที่หลักประกันระบบแบ่งปันผลผลิต ไม่ว่าจะเป็นประเทศมาเลเซีย พม่า เวียดนาม เขาใช้สัญญาอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศทั้งสิ้น เป็นเรื่องปกติที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องของภาษี
“เรื่องภาษีเงินได้ปิโตรเลียมจึงอนุญาตผลักเป็นนิติบุคคลนั้นไม่จำเป็นต้องแก้ฎหมาย เพราะมาตรฐานการบริหาร เรื่องนี้ไม่เกี่ยวระบบสัมปทาน ฉะนั้นการไปหยิบข้อที่ไปเจอแล้วมาเทียบระบบสัปทานของไทยไม่แฟร์ นี่คือหลักสากลที่ไม่เลือกปฏิบัติ และถ้ารัฐบาลใหม่มาแล้วเห็นว่าไม่ควรให้รายเดิมลงทุนเพิ่มเติมสามารถที่จะตั้งเงื่อนไขในสัมปทานได้ไม่จำเป็นต้องแก้กฎหมายอีกเช่นกัน ทั้งหมดจึงอยู่ที่การอออกแบบการบริหาร ส่วนข้อกังวลที่ว่ากฎหมายปิโตรเลียมไม่เคยมีการแก้ไขนั้นไม่เป็นความจริง เพราะมีการแก้กฎหมายแล้วเป็นฉบับที่ 6 โดยเป็นระบบไทยแลนด์ 3 มีความเหมาะสมเรียกเก็บรายได้เข้ารัฐด้วยพอสมควร” นายคุรุจิต กล่าว
นายคุรุจิต กล่าวอีกว่า ประเด็นเรื่องความมั่นคงด้านพลังงาน รัฐบาลมีหน้าที่ต้องสร้างให้เกิดความมั่นคง ทางพลังงาน รัฐบาลไม่จำเป็นเข้าไปทำเองในทุกเรื่อง แต่ต้องให้เกิดความเป็นธรรม ส่วนเหตุผลการเปิดสัมปทานเพราะวันนี้เรานำเข้าพลังงานทุกประเภท น้ำมันถ่านหิน ก๊าซ ซึ่งปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติที่ตามหลักวิชาการเราเหลือไม่ถึง 13 ปี มีปริมาณการใช้มาก แต่การพบเจอก๊าซน้อยกว่า ดังนั้น ประเทศเสี่ยงเข้าสู่วิกฤตพลังงาน การเปิดสิทธิสำรวจสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 ในพื้นที่เดิมที่หาไม่เจอถือเป็นโอกาสที่จะหาเจอขึ้นมาได้หากบริษัทที่เข้ามามีเทคโนโลยีที่ทันสมัย อย่างไรก็ตาม การประมูลนั้นกระทรวงพลังงานได้รับฟังความคิดเห็นมาตลอด ประเทศไทยเราเขียนกติกาไว้ชัดเจน ไม่ต้องเจรจาต่อรอง และมีการเขียนกติกาเสนอข้อผูกพันการสำรวจ ปัจจุบันเราได้เสนอเรื่องผลประโยชน์พิเศษในตัวเงิน และผลประโยชน์นอกเหนือตัวเงิน รวมเสนอสิทธิบริษัทไทยเข้าร่วมทุนด้วย
ด้าน นายบรรยง กล่าวว่า ด้วยความรักชาติ เป็นห่วงระบบพลังงานไม่แพ้ใครๆ ที่มีการพูดกันว่าระบบที่กระทรวงพลังงานเดินหน้ายังมีความไม่สมบูรณ์ มีข้อบกพร่อง คิดว่าเป็นความจริง เพราะยังไม่เคยเห็นระบบใดในโลกไม่มีข้อบกพร่อง ส่วนหนึ่งปรับปรุงได้เลย ส่วนเรื่องการเปิดเผยข้อมูล ค่าใช้จ่าย ตรงนี้กระทรวงพลังงานแก้ไขไปแล้ว การบริหารของกระทรวงพลังงานในภาพใหญ่ ยอมรับว่า 30 ปีที่ผ่านมาเป็นไปได้ค่อนข้างจะดี เพราะเราไม่เคยขาดแคลนพลังงาน ราคาที่ประชาชนใช้เป็นราคาที่ไม่สูงเกินไป แต่เราต้องนำเข้าพลังงานเป็นต้นๆ ของโลก ส่วนที่ไม่ประสบความสำเร็จน่าจะเป็นเรื่องการบริหารอุปทานมากกว่า
“เห็นด้วยระบบยังไม่บูรณ์ ต้องปรับปรุง แต่ปรับปรุงควรจะไปรื้อมันทั้งระบบหรือ รื้อรากฐานหรือ อย่างไรก็ตาม มีคำถามว่า เรามีพลังงานมากมายอยู่ใต้ดินจริงหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์ แต่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ 3 - 4 ข้อว่า เราไม่ได้มีมากคือ ขุดหากันมา 40 ปี ครบคลุมเกือบทุกพื้นที่ แต่หาได้ร้อยละ 40 ที่ใช้อยู่ เรารู้ดีว่าอีก 7 - 8 ปีปริมาณสำรองที่พบแล้วจะหมดไป อัตราการเจาะหาสำเร็จน้อยลงเรื่อยๆ เราอยากจะมี แต่ข้อเท็จจริงยืนยันว่าไม่ได้เป็นอย่างนั้น” นายบรรยง กล่าว
นายบรรยง กล่าวอีกว่า การหารือวันนี้เรามาให้ข้อมูลกัน เพื่อให้ฝ่ายบริหารนำไประกอบกันการตัดสินใจ หวังว่าฝ่ายฝ่ายบริหารจะตัดสินใจเดินหน้าหรือหยุดก่อน ตนไม่เห็นด้วยกับการทำโพล หรือประชามติใดๆ นอกจากนี้ เราเห็นพ้องกันว่า มีพลังงานไม่มาก จะขาดแคลนในอนาคตอันใกล้ เรามีทางเลือกไม่มาก แม้ระบบเรายังไม่บูรณ์แบบ แต่มีความจำเป็นต้องเดินหน้า คิดว่าการตัดสินใจของรัฐครั้งนี้เป็นรื่องสำคัญ การเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 เองอาจเป็นส่วนหนึ่ง แต่ที่จะพบยังไม่พบ ประเทศจำป็นต้องรู้ว่ามีพลังงานแค่ไหน การตัดสินใจเรื่องพลังงานสำคัญมาก ยกตัวอย่างบางประเทศอย่างอินโดนีเซียใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต แต่นโยบายการบริหารของอินโดนีเซียถือว่าแย่มาก มีปัญหาเรื่องประสิทธิภาพและความโปร่งใส ผู้บริหารโดนดำเนินคดีข้อหาคอร์รัปชัน อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าการเปิดสัมปานรอบที่ 21 จะเดินหน้าต่อไปพร้อมกับการปฏิรูปด้านอื่นๆ
ต่อมา นายมนูญ กล่าวว่า การเสนอให้แก้ไขกฎหมายก่อนแล้วค่อยเปิดสำรวจปิโตรเลียมเห็นด้วยหากทำได้จริง แต่ใครจะรับรองได้ว่าจะใช้ระยะเวลาเท่าใด เพราะบางคนบอกจะใช้เวลา 6 เดือน 2 ปี หรือ 4 ปี ซึ่งตนไม่ได้คัดค้านระบบแบ่งปันผลผลิต แต่ทุกระบบมีทั้งข้อดีข้อเสีย การเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 มีความล่าช้ามาพอสมควร เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องรีบดำเนินการ เรื่องนี้ไม่ใช่แค่การค้นหาทรัพยากรธรรมชาติขึ้นมาใช้ประโยชน์เพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของการบริหารความเสี่ยงด้านพลังงานของประเทศ ถ้าไม่มีการสำรวจจะไม่ทราบความเสี่ยง ถ้าสำรวจแล้วพบหรือไม่พบก๊าซธรรมชาติก็จะได้รีบวางแผนพลังงานของประเทศบริหารความเสี่ยงได้
“อย่างที่คุณอภิสิทธิ์ว่าทำไมจะรอไม่ได้ 2 ปี ผมเห็นว่าการที่จะรู้ความเสี่ยงด้านพลังงานของประเทศ หากรู้เร็วขึ้น 2 ปี เป็นสิ่งที่ดี เพราะขณะนี้ความขาดแคลนพลังงาน กระทบความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศกำลังเกิดขึ้นจริงแล้ว เนื่องจากแหล่งก๊าซในพม่าเยตากุน และยานาดา ผลิตก๊าซได้ลดลงรวมกัน 500 ล้านล.บ.ฟุตต่อวัน ขณะที่แหล่งก๊าซเจดีเอ สิทธิ์ร่วมของมาเลเซียและไทย ก็จะลดลง 300 - 350 ล้าน ลบ.ฟุตต่อวัน โดยมาเลเซียจะขอคืนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ในวันที่ 1 เม.ย. นี้ แล้ว รวมแล้วก๊าซที่ไทยใช้จะหายไปประมาณวันละ 1,000 ล้าน ลบ.ฟุต แสดงให้เห็นว่า ภัยคุกคามด้านพลังงานเกิดขึ้นจริงแล้ว ไม่ใช่แค่มโนกันไป” นายมนูญ กล่าว
นายคุรุจิต กล่าวตอนท้ายว่า ปัจจุบันเรายังไม่ได้เห็นหน้าตาระบบแบ่งปันผลผลิตว่าหน้าตาเป็นอย่างไร ถึงเวลาที่ภาคประชาชนต้องเอามาแสดงว่า ระบบดังกล่าวที่พึงปรารถนาหน้าตาเป็นอย่างไร และอยากชี้แจงกรณีที่ น.ส.รสนา พูดเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เหมือนทวงถามความซื่อสัตย์สุจริตจากตน ตนเสียใจอยู่นิดเราเป็น สปช. และกรรมาธิการชุดเดียวกันทำไมไม่ไปพูดตรงนั้น ท่านพูดเหมือนกับว่าการที่เป็นข้าราชการไปเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจจะไปรักษาผลประโยชน์ส่วนรวมได้หรือ ตรงนี้ถ้าเป็นคนอื่นถือว่าหมิ่นประมาทไปแล้ว รัฐวิสาหกิจเป็นของรัฐหรือไม่ ใครควรจะเข้าไปดูแลรักษา สมัยนายธีระชัยเป็น รมว.คลัง ก็เป็นคนพิจารณาว่าจะตั้งใครไปเป็นรัฐวิสากิจบ้าง ตนเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจครั้งแรกสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ตนคิดว่าท่านคงเห็นว่ามีความรู้ความสามารถและความซื่อสัตย์สุจริตที่จะดูแลผลประโยชน์ของชาติ
“ผมว่าถ้าเรามองเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ถ้าข้าราชการได้ผลตอบแทนแล้วจะต้องไปเอื้อต่อเอกชน เป็นการมองที่แคบเกินไป เป็นการไม่ให้เกียรติ ย่ำยีศักดิ์ศรีคนอื่น เราอยู่ในสถานการณ์พิเศษ ข้าราชการประจำอย่างผมจริงๆ ไม่มีสิทธิจะไปอยู่ใน สปช. หรือ สนช. แต่บ้านเมืองเป็นอย่างนี้ เรามีความรู้ความสามารถ ผมทำงานเรื่องนี้มาสามสิบกว่าปี ฉะนั้นสิ่งที่ผมชี้แจงไปเป็นไปด้วยความรู้และประสบการณ์ ไม่ใช่ไม่ฟังเลยแล้วบอกเป็นข้อบกพร่อง ผมว่าผมชี้แจงข้อบกพร่องที่ชี้หมดทุกประเด็น ฉะนั้น อยากเรียนด้วยว่าถ้าท่านไม่อยากให้ข้าราชการไปทำงานรัฐวิสาหกิจ ซึ่งตอนนี้มีประมวลจริยธรรมข้าราชการ และมีคุณสมบัติที่ไม่ขัดกับพ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ และเป็นรัฐวิสาหกิจที่เป็นบรัษัท ยังมี พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลัพทรัพย์ ซึ่งเขาเน้นเรื่องธรรมาภิบาล นายธีระชัยก็ทราบเพราะผ่านการอบรมหลักสูตรมาแล้ว ผมคิดว่า ถ้าตั้งเราแง่กันแบบนี้จะเอาใครมาเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจ เราจะเอาผู้รับเหมาหรือเอาหัวคะแนนมาเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจอย่างนั้นหรือ” นายคุรุจิต กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การหารือครั้งนี้ทั้งสองฝ่ายยังมีความเห็นต่างกันอย่างชัดเจน ส่วนบรรยากาศการหารือพบว่า ยังมีเสียงปรบมือจากกองเชียร์ของทั้งสองฝ่าย และยังมีเสียงโห่เป็นระยะเวลาอีกฝ่ายพูดยืนยันจุดยืนของตัวเอง จนพิธีกรต้องคอยขอความร่วมมือผู้เข้าร่วมรับฟังหลายครั้ง
ถกนอกรอบมติร่วมกัน 3 ข้อ ตั้งคณะทำงานร่วมก่อนเปิดสัมปทาน 16 มี.ค.
ต่อมาเวลา 14.00 น.ตัวแทนทั้ง 2 ฝ่ายบนเวที ยกเว้นนายธีระชัย พร้อมด้วย ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล นายอภิสิทธิ์ นายเกียรติ สิทธิอมร นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ นายปานเทพ และ พล.ต.สรรเสริญ ได้หารือกันต่อที่ห้องสีฟ้า ตึกสันติไมตรี จนกระทั้งเวลา 16.00 น. การหารือเสร็จสิ้น ขณะที่นายอภิสิทธิ์ นายปานเทพ เดินออกด้านประตูด้านข้างห้องสีฟ้า ตึกสันติไมตรี ไม่ให้สัมภาษณ์ กล่าวเพียงว่า ที่ประชุมมีมติร่วมกัน 3 ข้อ ตกลงให้ ม.ล.ปนัดดา แถลงผู้เดียว โดยได้รับคำสั่งจาก คสช. ไม่ให้สัมภาษณ์ โดยก่อนหน้านี้ มีการแจ้งผู้สื่อข่าวว่า นายกฯ จะมาร่วมนี้ด้วย ผ่านไป 30 นาที มีการแจ้งใหม่ว่านายกฯ ไม่มาร่วมประชุมแล้ว
ขณะที่ ม.ล.ปนัดดา แถลงว่า ข้อตกลงร่วมกัน 3 ข้อ คือ 1. สองฝ่ายเห็นตรงกันที่จะบริหารพลังงานมีประสิทธิภาพ 2. เห็นควรว่าจำเป็นต้องทบทวนข้อกฎหมายบางประการ เพื่อสร้างทางเลือกให้มากขึ้นในการบริหารทรัพยากรพลังงานของประเทศไทย และ 3. สองฝ่ายยังมีความเห็นไม่ตรงกันในการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 จึงเสนอให้ตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อให้พิจารณาเสร็จก่อนวันที่ 16 มี.ค. และเสนอต่อผู้บริหารระดับสูงต่อไป โดยคณะทำงานจะมีภาคราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่มีภาคส่วนการเมืองเข้ามา และจะเกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด อย่างไรก็ตาม การสัมปทานยังอยู่ในกรอบเดิม โดยคณะทำงานต้องเร่งทำงานเร็วที่สุด
ด้าน พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า การหารือกับแกนนำช่วงบ่าย เพราะนายกฯ ต้องการให้ทุกฝ่ายร่วมกันหาทางออก ไม่อยากให้การพูดคุยในช่วงเช้าเป็นเพียงการแสดงความเห็นของแต่ละฝ่ายเท่านั้น โดยนายกฯ ไม่ต้องการตัดสินใจเพียงคนเดียว ภาพรวมในวันนี้ นายกฯ รู้สึกดีที่เวทีเกิดขึ้นได้ และหวังว่าฝ่ายที่คัดค้านจะนำผลการหารือไปชี้แจงมวลชนให้รับทราบ
นายกฯ พอใจยกนิ้วไลค์โชว์สื่อ
มีรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ติดตามการแสดงความคิดเห็นเวทีกลางจนจบ ที่ห้องทำงานตึกไทยคู่ฟ้า จนเวลา 17.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ได้ขึ้นรถเดินทางออกจากทำเนียบรัฐบาล ระหว่างที่รถกำลังเคลื่อนจากตึกไทยคู่ฟ้า ได้เปิดกระจกทักทายผู้สื่อข่าวที่ยืนอยู่ โดยผู้สื่อข่าวได้ตะโกนถามว่า เวทีกลางเป็นอย่างไรบ้าง โอเคไหม พล.อ.ประยุทธ์ ได้ยกนิ้วโป้ง คล้ายแสดงสัญลักษณ์กดไลก์ พร้อมกับยิ้ม และชี้นิ้วไปทางตึกไทยคู่ฟ้า ก่อนที่จะปิดกระจกเดินทางออกจากทำเนียบรัฐบาล