xs
xsm
sm
md
lg

เปิดโผ8คนขึ้นเวทีพลังงานวันนี้ “ประยุทธ์”ยันไม่เข้าร่วม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

“ประยุทธ์” ยันไม่ร่วมเวทีกลางถกสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 วันนี้ (20 ก.พ.) แฉรู้มีคนเตรียมคำถามสาดใส่ ระบุไม่นั่งด้วยก็ดูสดจากทีวีได้ ปลุกพลังเงียบร่วมตัดสิน หลังเวทีกลางจบ เผยฝ่ายรัฐส่งชื่อ 4 คนขึ้นเวทีทั้ง"คุรุจิต -บรรยง -มนูญ-ศิริพงษ์ " ขณะที่ฝ่ายเครือข่ายภาคประชาชน ส่ง"ธีระชัย-รสนา -กรกสิวัฒน์ -ดร.นพ "ขึ้นเวทีถก

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงเวทีกลางแสดงความคิดเห็นการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมครั้งที่ 21 ที่ทำเนียบรัฐบาล วันนี้ ( 20 ก.พ.) ว่าตนไม่เข้าไปร่วมฟังความคิดเห็นในเวทีกลางแสดงความคิดเห็นการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมครั้งที่ 21 แม้ว่าเครือข่ายภาคประชาชนที่คัดค้านการเปิดสัมปทานฯ ต้องการให้นายกฯเข้าร่วมรับฟังด้วยตัวเองก็ตาม เนื่องจากเห็นว่ามีการถ่ายทอดสดทางช่อง 11 แม้ว่าอยู่ตรงไหนก็ฟังได้อยู่แล้ว ซึ่งก็อยากจะรับฟังว่าทั้งสองฝ่ายมีการพูดอะไรเพิ่มเติมบ้าง

ที่ผ่านมาก็รับฟังอยู่แล้ว ซึ่งตนได้ให้ความสำคัญในทุกเรื่อง ไม่ใช่เฉพาะเรื่องพลังงานอย่างเดียว ปัญหาประเทศชาติมีมากมายหลายอย่าง ทำไมต้องฟังเองทุกอย่าง ถึงไม่ได้ไปนั่งอยู่ตรงนั้น ก็มีทีวีถ่ายทอดสด ระหว่างนั้นก็ฟังไปด้วยทำงานอื่นไปด้วย ส่วนฝ่ายเครือข่ายภาคประชาชนฯเรียกร้องขอให้เลื่อนเวทีดังกล่าวออกไปก่อนหากนายกฯไม่เข้าร่วมนั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ก็แล้วแต่การตัดสินใจของเขา ถ้าใครจะไม่มา ตนก็ไม่รู้ ส่วนที่จะออกไปเรียกร้องหรือเคลื่อนไหวข้างนอก ถือว่าไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อตนเปิดเวทีให้แล้วไม่มาพูด แล้วมาบังคับอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่ใช่เรื่อง

“ผมทราบดีว่าจะมีการมาตั้งคำถามอะไรใส่ผมด้วย ซึ่งมันไม่ใช่เรื่อง ผมเป็นผู้ที่จะตัดสินใจฟังความคิดเห็นจากทั้งสองฝ่าย ทั้งรัฐบาล ทั้งประชาชน ผมเป็นผู้นำองค์กรของฝ่ายรัฐก็ต้องฟังทั้งสองฝ่าย อะไรที่เป็นกติกาที่เป็นกฎหมายก็ต้องมาว่ากัน การตัดสินใจไม่ใช่ตัดสินใจง่าย พอฟังทั้งสองฝ่ายเสร็จแล้วก็จะสรุปออกมา เพื่อหาทางออกให้ได้ว่าจะไปทางไหน ” นายกรัฐมนตรี กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า เวทีกลางรับฟังความคิดเห็นฯครั้งนี้ ทางกระทรวงพลังงานหรือรัฐไม่ได้ตั้งธง แต่ทำตามกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.พลังงาน ไม่ทำก็ไม่ได้ ถือว่าผิด แต่วิธีการต่างๆ ที่กำหนดไว้ในกฎหมาย มันแก้ไขเสร็จหรือยัง ถ้าแก้ไขยังไม่ได้ จะทำอย่างไร ผลประโยชน์จะคุ้มค่าหรือไม่ มันขึ้นอยู่กับข้อมูลรายละเอียดวันนี้ซึ่งข้อมูลรายละเอียดไม่ตรงกันเลย จะไปกันอย่างไร ภาคประชาชนก็ต้องฟัง กลุ่มที่มาต่อต้านคัดค้านก็กลุ่มเดิมๆ อยู่แล้ว ซึ่งก็มีการชี้แจงมาหลายครั้ง ถ้ารัฐชี้แจงแล้วมีเหตุผลสู้ไม่ได้ ก็ต้องมาทบทวนว่าจะทำอย่างไรกันต่อไป

ส่วนกรณีที่กระทรวงพลังงานเดินหน้าเปิดสัมปทาน แต่ฝ่ายคัดค้านบอกให้ไขแก้กฎหมาย และรอระยะเวลาไปก่อน นายกฯ กล่าวว่า ก็ต้องดูว่าจะต้องรอถึงเมื่อไหร่ ถ้าต้องแก้กฎหมายเสร็จภายใน 3 เดือน ทางนี้ยอมไหม ต้องมาพูดกัน ถ้าจะต้องแก้กฎหมาย ก็ดูว่าต้องแก้ตรงไหน ส่งให้กฤษฎีกาดู และเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาให้เสร็จภายใน 3 เดือน และถามว่า 3 เดือน กฎหมายออกมาแล้ว ต้องเปิดสัมปทานรับได้หรือไม่ หรือจะไม่รับอีก และจะไปอย่างไร

ส่วนมติของคณะกรรมการพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่จะเปิดในวันที่ 16 มี.ค. ก็จะเลื่อนออกไปหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ในเมื่อขยายเวลาไปถึงวันที่ 16 มี.ค. ก็ต้องทำทุกอย่างให้เสร็จภายในเดือนมี.ค. หาคำตอบมาให้ได้ว่า จะแก้อะไร ตรงไหน มีมาตรการอะไรออก ก็ออกมา ถ้าจะเลื่อนอีก ก็ต้องหาเหตุผลเลื่อนมา

“ผมอยากให้ไปถามประชาชนคนทั้งประเทศส่วนใหญ่ เขามีความเห็นอย่างไร วันนี้มีกลุ่มนี้กับรัฐ แล้วกลุ่มที่เขายังไม่ได้พูดอยู่ตรงไหน ลองถามสิ หลังจากการพูดคุยเวทีกลาง ถ้าฟังข้างนี้ข้างเดียว ก็จะเป็นข้อมูลเดิมของฝ่ายที่ต่อต้าน ถ้าฟังรัฐก็เป็นข้อมูลที่เขามีอยู่ ด้วยหลักการเดิม ถ้าฟังสองพวกก็มีอยู่แค่นี้ ก็จะขัดแย้งกันอยู่อย่างนี้หรือเปล่า ผมไม่รู้ ต้องไปถามคนที่เหลือเขาฟังแล้วเขาเข้าใจอย่างไร อย่าให้ตัดสินโดยคนจำนวนไม่กี่คน เพราะประเทศไทยมีตั้ง 60 กว่าล้านคน” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ด้านม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าในการจัดเวทีกลางหารือเรื่องสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายเครือข่ายภาคประชาชนที่คัดค้าน โดยมีตนเป็นประธานเปิดงานซึ่งได้รับมอบหมายจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งเวทีดังกล่าวจะเริ่มขึ้นระหว่าง 9.30-14.00 น. ที่ตึกสันติไมตรีทำเนียบรัฐบาล

“จะหารือใน 2-3 ประเด็นสำคัญๆ และเป็นลักษณะของการตอบคำถามฝ่ายละ 1.30 ชั่วโมง โดยยืนยันว่านายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานจะเข้าร่วมรับฟังในเวทีดังกล่าวด้วย และในเวทีดังกล่าวนี้จะมีการถ่ายทอดสดผ่านโทรทัศน์ช่อง 11 ถึงเวลา 12.00 น.”ม.ล.ปนัดดากล่าว

ม.ล. กรกสิวัฒน์ เกษมศรี แกนนำเครือข่ายภาคประชาชนปฏิรูปพลังงาน กล่าวว่า ฝ่ายของเครือข่ายฯที่จะขึ้นเวทีมี 4 คนได้แก่ 1. ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง 2. น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) 3. ดร.นพ สัตยาศัย วิศวกรอาวุโสและ 4. ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี โดยประเด็นที่จะขอหารือมีเพียง 2 ประเด็นดังนี้

1. การแก้ไขและปรับปรุงพระราชบัญญัติปิโตรเลียมพ.ศ. 2514 และพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมพ.ศ. 2514 เนื่องจากมองว่ากฎหมายที่ดีควรมีการเปิดกว้างเพราะปัจจุบันระบบสัมปทานเป็นระบบที่ปิดตาย และเอื้อประโยชน์แก่ผู้ประกอบการมากจนเกินไป 2. ทำอย่างไรให้การพัฒนาพลังงานในไทยเป็นไปอย่างยั่งยืนและไม่เกิดวิกฤตพลังงานภายในระยะเวลา 6-7 ปีข้างหน้า

“ เราได้ส่งให้นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ หนึ่งในแกนนำเครือข่ายฯไปหารือให้นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงานขึ้นเวทีครั้งนี้ด้วยในฝ่ายรัฐบาลแต่ในเมื่อท่านไม่ขึ้นแต่เข้ามารับฟังก็ไม่เป็นไรเพราะทั้งหมดท่านเป็นผู้ที่จะตัดสินใจดำเนินการต่อไปจึงสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องมารับรู้ปัญหาทั้งหมด “ม.ล.กรกสิวัฒน์กล่าว

อย่างไรก็ตาม กรณีเมื่อถามว่ายังยืนยันที่จะเรียกร้องให้รัฐบาลชะลอการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมครั้งนี้ออกไป 2 ปีเช่นเดิมหรือไม่หลังจบสิ้นนั้น ก็คือสิ่งที่เรียกร้องให้แก้ไขปรับปรุงกฏหมายเมื่อมีเวทีก็จะต้องมาพิจารณาหากรัฐรับข้อเสนอไปการแก้ไขกฏหมายภายใต้รัฐบาลอำนาจพิเศษเช่นนี้บางครั้งอาจไม่จำเป็นจะต้องถึง 2 ปีก็ได้

แต่กรณีที่ว่าเมื่อเสร็จสิ้นเวทีนี้ไปแล้วรัฐบาลไม่มีการปรับปรุงใดๆ และยังคงเดินหน้าเหมือนเดิมนั้นประชาชนก็จะได้รับทราบว่ารัฐบาลคิดเช่นไรและหากเป็นเช่นนั้นการเดินหน้าจากนี้ไปก็จะยากอยู่ดี

นายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ตัวแทนของฝ่ายรัฐจะประกอบด้วย 1. นายบรรยง พงษ์พานิช คณะกรรมการนโยบายกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ 2. นายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน 3. นายศิริพงษ์ ศุภกิจจานุสรณ์ นักวิชาการอิสระด้านกฎหมาย และ 4. นายคุรุจิต นาครทรรพ
โดยในส่วนของรมว.พลังงานจะร่วมเข้ารับฟังในงานดังกล่าวตลอดจนจบแต่ไม่ได้ขึ้นเวทีแต่อย่างใด

ทั้งนี้การที่ฝ่ายคัดค้านเสนอให้ใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตหรือ PSC แทนระบบสัมปทานนั้นโดยระบุว่า PSC โปร่งใสกว่าก็ต้องการให้เสนอมาว่าคืออะไร แต่สิ่งที่ฝ่ายคัดค้านเสนอคือให้ไทยมีสิทธิในปิโตรเลียมและให้รัฐบาลลงทุนสำรวจ ซึ่งแน่นอนว่าต้องถามกลับว่ารัฐบาลมีเงินมากพอหรือไม่เพราะการสำรวจ 1 หลุมใช้เงินถึง 120 ล้านบาทไม่เจอแล้วใครรับผิดชอบ

นี่จึงเป็นที่มาของระบบสัมปทานที่ให้เอกชนไปเสี่ยงลงทุนแทนรัฐ ซึ่งหากมองไปที่ PSC เพื่อนบ้านที่ใช้ระบบดังกล่าวก็ต้องตั้งบริษัทน้ำมันแห่งชาติเข้าไปร่วมลงทุนกับเอกชนในการสำรวจเลยเพราะไม่มีเงินมากพอ ดังนั้นข้อเสนอจึงควรจะตั้งอยู่บนสมมติฐานที่เป็นไปได้ด้วย

“ผมเองก็เป็นปีสุดท้ายของหน้าที่ในราชการแล้วจึงไม่ใช่เรื่องผลประโยชน์สว่นตัวอะไร อยากให้ทุกฝ่ายมองไปข้างหน้าเพราะเวลานี้ไทยจากที่ไม่เคยนำเข้าก๊าซฯเราก็ต้องนำเข้า จากที่ไม่เคยต้องพึ่งถ่านหินก็ต้องพึ่ง น้ำมันไม่ต้องพูดถึงเรานำเข้ามาตั้งแต่แรก ซึ่งผมเองทำงานกับองค์กรร่วมไทย-มาเลเซียหรือ JDA ก็ใช้ระบบ PSC แบ่งผลประโยชน์ 50:50 ก็ยืนยันว่าผลประโยชน์ได้น้อยกว่าระบบสัมปทานด้วยซ้ำไป ขณะที่สัมปทานไม่มีการเจรจา แต่ PSC เป็นลักษณะของการใช้ดุลพินิจซึ่งเห็นว่าขั้นตอนนี้ไม่เหมาะกับการเมืองแบบไทยๆ และเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับ PSC ลองไปค้นหาดูว่าเปิดเผยข้อมูลเท่ากับไทยไหม” นายคุรุจิตกล่าว

**** สนธิทหาร-ตร.นับพัน รปภ.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่การรักษาความปลอดภัยหารือเวทีกลางสัปทานน้ำมัน สนธิกำลังเจ้าหน้าที่ทหารจากกรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ 200 นายและตำรวจนครบาล 5 กองร้อย ดูแลความเรียบร้อยทั้งที่ทำเนียบฯและที่ศูนย์บริการประชาชน ฝั่งสำนักงานก.พ.ที่จัดให้มวลชนติดตามการถ่ายถ่ายทอดสดผ่านกล้องวงจรปิด โดยนายกฯได้กำชับอย่าให้มีเรื่องเกิดขึ้น ทหารต้องเข้าเจรจาทันทีหากเกิดเรื่อง
กำลังโหลดความคิดเห็น