xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ตรวจฯ ชี้ รัฐไม่แยกท่อก๊าซก่อนแปรรูป ขัดมติ ครม.แนะ นายกฯสั่งทบทวนแบ่งทรัพย์สิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ศรีราชา วงศารยางกูร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน (แฟ้มภาพ)
ปธ. ผู้ตรวจฯ แจง ผลวินิจฉัย ย้ำ รัฐ ไม่แยกท่อก๊าซก่อนแปรรูป ขัดมติ ครม. ไม่คืนท่อในทะเลผิด กม. แพ่ง ฉะ คลัง - พลังงาน สุมหัว ปตท. ยื่นรายงานเท็จต่อศาลปกครองสูงสุด ฮุบสาธารณสมบัติ 6.8 หมื่น ล. ชี้ คลัง ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ แนะ “ประยุทธ์” สั่ง คลัง พลังงาน ปตท. ทบทวนแบ่งแยกทรัพย์สิน ให้ สตง. ตรวจสอบ ทวงคืนสมบัติชาติพร้อมดอกเบี้ย - ผลประโยชน์ย้อนหลัง 14 ปี ตั้งแต่ 30 ก.ย. 44

วันนี้ (3 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายศรีราชา วงศารยางกูร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้แจ้งผลการวินิจฉัยเรื่อง “การแบ่งแยกทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินคืนรัฐไม่ครบถ้วน” ในคดีแปรรูป ปตท. ถึง ประธานกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาลวุฒิสภาเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2558 โดยสำนังานวุฒิสภาได้รับเมื่อวันที่ 28 เมษายน ที่ผ่านมา หลังจากยื่นเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินวินิจฉัยตั้งแต่ 3 พ.ย. 2554

สำหรับคำวินิจฉัยของประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ระบุว่า กระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง และ ปตท. ดำเนินการผิดกฎหมายในสี่ประเด็น คือ 1) การที่กระทรวงการคลัง และกระทรวงพลังงาน ไม่ดำเนินการทบทวนการแบ่งแยกทรัพย์สินดังกล่าวตามความเห็นและผลการตรวจสอบของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งคณะรัฐมนตรีมอบหมาย จึงเป็นการที่หน่วยงานดังกล่าวไม่เป็นปฏิบัติให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี

2) การกล่าวอ้างของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในคำร้องที่ยื่นต่อศาลปกครองสูงสุดที่ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้ดำเนินการตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดครบถ้วนแล้วจึงเป็นการรายงานที่เป็นเท็จต่อศาลปกครองสูงสุดที่ส่งผลต่อการพิจารณาการบังคับคดีของศาลปกครองสูงสุดในคดีนี้

3) ทรัพย์สินที่การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยรับโอนมาดังกล่าว และทรัพย์สินที่ได้มาจากการประกอบกิจการของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ตั้งแต่การก่อตั้งจนถึงวันที่1ตุลาคม 2544 ซึ่งเป็นวันแรกที่การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยเปลี่ยนสภาพเป็นบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ประเภททรัพย์สินใช้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะตามมาตรา 1304 (3) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์... จึงอนุมาณได้ว่าระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อในทะเลเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน...และการที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ไม่ส่งมอบระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อให้กับกระทรวงการคลัง จึงขัดกับหลักการแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1305 ที่บัญญัติว่าทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นจะโอนแก่กันมิได้

ดังนั้น ทรัพย์สินส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินมูลค่าสุทธิของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยณ.วันที่ 30 กันยายน 2544 รวมทรัพย์สินสุทธิ 68,569.69 ล้านบาท ต้องโอนให้กระทรวงการคลังทั้งจำนวน (หน้า 5)

4) ข้อเท็จจริงแสดงให้เห็นว่านับตั้งแต่มีการเปลี่ยนสถานะจากการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ไปเป็นบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) .... ไม่ปรากฏว่ากระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงานได้ดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ให้กลับมาเป็นของแผ่นดินหรือกระทรวงการคลังอย่างครบถ้วนแต่อย่างใด ซึ่งพฤติการณ์ดังกล่าวจึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย อันเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด

กรณีดังกล่าวจึงเป็นกรณีที่กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ปฏิบัติหรือละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ร้องเรียนโดยไม่เป็นธรรมตามกฎหมาย ตามมาตรา13 (1) (ก) (ข) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2552

นอกจากนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินยังมีความเห็นและข้อเสนอต่อนายกรัฐมนตรี และรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติในฐานะหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจที่จะขอให้กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ดำเนินการดังต่อไปนี้

1) ทบทวนการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ...และให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินรับรองความถูกต้องการแบ่งแยกทรัพย์สินให้เป็นไปตามขั้นตอนของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550

2) แบ่งแยกทรัพย์สินและโอนทรัพย์สินของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยตามมูลค่าสุทธิ ณ วันที่ 30 กันยายน 2544 รวมทั้งจ่ายค่าตอบแทน ผลประโยชน์อื่นใดที่มาจากการใช้ทรัพย์สิน สิทธิ หรือสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตนของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้อาศัยใช้ประโยชน์ในการประกอบกิจการพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายให้ครบถ้วนต่อไป

3) พิจารณานำข้อเท็จจริง ความเห็น และข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินไปเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาปฏิรูปพลังงานต่อไป

อนึ่ง ปัญหาการแบ่งแยกทรัพย์สินของ ปตท. นอกจากผู้ตรวจการแผ่นดินจะทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีให้มีการทวงคืนท่อก๊าซในทะเล และสาธารณสมบัติอื่นที่ ปตท. ยังคืนไม่ครบมูลค่ากว่า 6.8 หมื่นล้านบาทแล้ว ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินยังได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีให้ทวงคืนสมบัติชาติดังกล่าวด้วย แต่เรื่องนี้กลับไม่มีความคืบหน้า โดยนายกรัฐมนตรีไม่ตัดสินใจ และโยนให้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินไปปรึกษาข้อกฎหมายกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเวลาผ่านมาหลายเดือนแล้วแต่ยังไม่มีความบทสรุปใดๆ ออกมา


กำลังโหลดความคิดเห็น