xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เศรษฐกิจถดถอย จ่อคอหอย “บิ๊กตู่” ระวังเดี้ยงก่อนเวลา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เริ่มทยอยมาไม่ขาดสายข่าวร้ายสำหรับชายคนเดิม ผู้เสียสละความสุขส่วนตัวเพื่อแผ่นดิน ไหนจะต้องจัดการให้สังคมไทยสมานฉันท์ปรองดองแต่ก็ยังไม่ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ไหนจะขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศใหม่แต่ก็ยังเชื่องช้าเหมือนเต่า ไหนจะจัดการกับปัญหาคอร์รัปชั่นที่เน่าเฟะดุจซากศพ ไหนจะกระตุ้นเศรษฐกิจให้ชาวประชาลืมตาอ้าปากพ้นทุกข์ยาก

ทุกถ้อยคำที่เอ่ยอ้างเชื่อว่าจะดีขึ้นแน่ๆ ก็ยังเป็นแต่ลมลวงๆ โดยเฉพาะปัญหาปากท้อง เพราะดัชนีชี้วัดของจริงออกมาแล้ว ออกมาแบบมีแต่ข่าวร้ายสำหรับชายชาติทหารผู้เสียสละที่ชื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผู้บริหารประเทศสูงสุดในเวลานี้

รีดภาษีก็พลาดเป้า ส่งออกก็ทรุด ดัชนีอุตสาหกรรมที่บ่งชี้ถึงการลงทุนก็ดิ่ง อสังหาริมทรัพย์ก็หืดจับ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีต่ำกว่าเป้าหมาย อ่อนแอกว่าที่คาด ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำกำลังซื้อหด ตลาดหุ้นซึมยาว

ถามว่าต้นทุนพลังงานที่ลดต่ำลงไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นเลยหรือ .... มีข่าวดีๆ บ้างไหม?

คำตอบคือ ยัง ยังไม่มี และยังไม่พอ เพราะมีแถมด้วยกระแสข่าวสะพัดด้วยเรื่องเกาเหลาชามใหญ่ ระหว่างพี่เบิ้มบูรพาพยัคฆ์ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กระทรวงกลาโหม กับทีมเศรษฐกิจที่นำโดย “คุณชายอุ๋ย” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ ให้พล.อ.ประยุทธ์ คันหัวใจเล่นอีกต่างหาก

สารพัดปัญหาที่ถาโถมอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ “บิ๊กตู่” เบรกแตก จวกสื่อยับก่อนบินไปบรูไนด้วยอารมณ์ขุ่นมัวเมื่อวันก่อน

แต่ไม่ว่าจะขุ่นมัวเช่นไรมีแต่ต้องทำใจให้ร่มๆ เพราะทีมเศรษฐกิจที่อยู่ข้างกายก็คัดสรรอย่างสุดฝีมือโดย คสช. ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ เป็นหัวหน้า โดยดรีมทีมเศรษฐกิจนี้เป็นทีมที่พี่เบิ้มบูรพาพยัคฆ์ ภูมิใจนำเสนอ และหัวหน้าคสช.ก็เห็นดีเห็นชอบรับสนองเห็นพ้องต้องกันแล้วว่าฝีมือเจ๋งสุดในแผ่นดิน

อย่างไรก็ตาม หากกล่าวอย่างเป็นธรรมและเข้าใจโลกความจริงอย่างที่ท่านผู้นำเรียกร้อง ต้องบอกว่า เกือบสิบเดือนที่คสช.ยึดอำนาจและตั้งรัฐบาลขึ้นมาบริหารประเทศก็ถือเป็นช่วงเวลาเพียงไม่นาน เมื่อเทียบกับโครงสร้างของประเทศในทุกด้านเกิดสนิมแต่เนื้อในกัดกร่อนจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองมาเกือบสิบปี การที่จะให้ คสช.เป่ามนต์เสกเพี้ยงให้ทุกอย่างดีขึ้นในพริบตาก็เป็นเรื่องที่มโนกันเกินไป ดังนั้นทุกสิ่งอย่างจึงเพียงแต่กำลังฟื้นตัวอย่างช้าๆ

ดังสภาพการณ์ที่ธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) แถลงตัวเลขการเติบโตเศรษฐกิจของไทย เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2558 ที่ผ่านมา โดยนางลัษมณ อรรถาพิช เศรษฐกรอาวุโสประจำประเทศไทย อารัมภบทด้วยการโปรยยาหอมเอาใจรัฐบาลเล็กน้อยว่า เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวช้าๆ จากการเมืองที่มีเสถียรภาพ การลงทุนภาครัฐและราคาน้ำมันที่ปรับลดลง รวมทั้งการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว

ขณะที่ความเป็นจริงที่เอดีบีต้องการจะบอก ก็คือ เอดีบี คาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้อยู่ที่ร้อยละ 3.6 ปรับลดจากเดิมที่คาดการณ์ไว้ว่าโตร้อยละ 3.9 และคาดการณ์ว่า ปี 2559 จะมีการขยายตัวร้อยละ 4.1 ซึ่งการประมาณการครั้งนี้ตั้งอยู่บนสมมติฐานว่ามีการเลือกตั้งต้นปี 2559 และรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่ดี

ฟังเช่นนี้ที่ว่ากำลังฟื้นตัวอย่างช้าๆ จึงเป็นแค่ยาหอม ส่วนปรับลดจีดีพีลงคือเตรียมเผาจริงกันแล้ว

สำหรับสาเหตุที่ปรับอัตราการเติบโตเศรษฐกิจหรือจีดีพีลดลง เอดีบี ระบุว่า เนื่องจากการส่งออกขยายตัวน้อย เพียงร้อยละ 1-2 จากเดิมคาดว่าโตร้อยละ 3-4 เพราะสินค้าเกษตรยังส่งออกได้น้อย แต่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมดีขึ้น ส่วนปี 2559 คาดว่าส่งออกจะดีขึ้นเติบโตร้อยละ 3.5-4

นอกจากนี้ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคในช่วง 2 เดือนแรกปีนี้ยังไม่ฟื้นตัว เนื่องจากรายได้ภาคเกษตรยังมีปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ และมีหนี้ครัวเรือนสูง โดยคาดการณ์บริโภคภาคเอกชนโตร้อยละ 2.5 แต่เชื่อว่านโยบายสินเชื่อรายย่อย จะช่วยผู้มีรายได้ต่ำเข้าถึงเงินทุนได้มากขึ้น การจับจ่ายจะดีขึ้น ส่วนอัตราเงินเฟ้อปีนี้ต่ำอยู่ที่ร้อยละ 0.2 ตามราคาน้ำมันที่ต่ำลง

เอดีบี มองว่า ปัจจัยหลักที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีนี้ คือ การลงทุนภาครัฐที่จะกลับมาขยายตัวร้อยละ 7.5 จากการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม มูลค่า 3 ล้านล้านบาท และโครงการขนาดเล็ก เช่น การก่อสร้างถนน ส่วนโครงการขนาดใหญ่จะเริ่มเห็นเม็ดเงินปีหน้า ส่วนการลงทุนภาคเอกชน เริ่มฟื้นตัวอย่างช้าๆ ตามโครงการลงทุนของภาครัฐ และปัจจัยบวกจากราคาน้ำมันต่ำ รวมทั้งการลดดอกเบี้ย

นอกจากนี้ การที่รัฐบาลมีแผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ 5 แห่งตามแนวชายแดน จะช่วยสงเสริมให้เอกชนลงทุน คาดว่าการลงทุนภาคเอกชน จะโตร้อยละ 3.5

ด้านการเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาลในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 ดีขึ้น โดยเบิกจ่ายไปแล้วร้อยละ 42.6 และปีงบประมาณ 2559 กำหนดการขาดดุลไว้มากขึ้น เป็น 390,000 ล้านบาท เพื่อให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น โดยปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจไทยขึ้นอยู่กับการลงทุนภาครัฐว่าจะสามารถเบิกจ่ายและดำเนินโครงการตามแผนหรือไม่ ขณะที่ปัจจัยการเมืองยังคงมีความเสี่ยงบ้าง ส่วนปัจจัยภายนอก คือความเสี่ยงเงินทุนเคลื่อนย้ายผันผวนจากธนาคารกลางสหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ย

กล่าวโดยสรุปก็คือ เศรษฐกิจไทยจะเติบโตไปได้มากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับฝีมือการบริหารและการลงทุนภาครัฐเป็นสำคัญ หากขับเคลื่อนไปไม่ได้ก็ซึมยาว เพราะภาคเอกชนจะไปได้หรือไม่ได้ก็ขึ้นอยู่กับการลงทุนภาครัฐเป็นแรงหนุนส่ง ส่วนจะหวังกับภาคส่งออกที่ตกลงต่อเนื่องก็คงยาก และตราบใดที่สินค้าเกษตรราคาต่ำกำลังซื้อของประชาชนก็ไม่มี จะกระตุ้นการ จับจ่ายใช้สอยก็ไม่ได้ผล จะเก็บภาษีให้เข้าเป้าก็คงยากเช่นกัน

ดังที่นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร ระบุว่า ได้ปรับลดเป้าหมายการจัดเก็บภาษีรายได้ในปีงบประมาณ 2558 อยู่ที่ 1.796 ล้านล้านบาท จากที่ตั้งไว้ 1.96 ล้านล้านบาท เนื่องจากมีตัวแปรปัจจัยภายนอกที่เหนือการควบคุม เช่น ราคาน้ำมันที่ต่ำลง พิกัดอัตราภาษีศุลกากรลดลง 2 พันรายการ หรือ ภาษีปิโตรเลียมที่ควบคุมไม่ได้ ซึ่งทำให้เป้าที่ตั้งไว้เป็นไปไม่ได้

ไม่ใช่แต่เอดีบีเท่านั้นที่ปรับลดตัวเลขอัตราการเติบโตเศรษฐกิจของไทยลดลง ศูนย์วิจัยธนาคารกสิกรไทย ก็ปรับลดประมาณการณ์จีดีพีในปี 2558 ลงเหลือ 2.8% และอาจมีแนวโน้มปรับลดลงได้อีกหากตัวเลขการส่งออกติดลบ จากที่เคยคาดการณ์เมื่อปลายปีที่แล้วว่าจีดีพีปีนี้จะโต4%

ขณะที่ดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจ อย่างเช่น ผลสำรวจความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เมื่อเดือนก.พ. 2558 ปรับตัวลดต่อเนื่องเป็นเดือนที่สองอันเป็นผลจากเศรษฐกิจซบเซา ฉุดกำลังซื้ออ่อนแอลง

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนก.พ. สำรวจผู้ประกอบการ 1,168 ราย อยู่ที่ 88.9 ลดลงจากระดับ 91.1 ในเดือนม.ค. เกิดจากการลดลงของค่าดัชนีโดยรวมของยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย ปริมาณการผลิต ต้นทุนและผลประกอบการลดลง ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่น 3 เดือนข้างหน้าลดลงจาก 100.4 ในเดือนม.ค. เหลือ 99.2 นับเป็นค่าดัชนีลดลงต่ำกว่าระดับ 100 เป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือน สะท้อนความเชื่อมั่นไม่ดีต่อเศรษฐกิจในอนาคต

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคก็ติดลบต่อเนื่อง ทั้งนี้ นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.พ. 2558 ปรับตัวลดลงทุกรายการ ซึ่งติดลบติดต่อกันเป็นเดือนที่สอง โดยดัชนีอยู่ที่ระดับ 79.1 ลดจาก 80.4 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันอยู่ที่ 59.8 ลดจาก 60.7 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคตอยู่ที่ 86.4 ลดจาก 87.9 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 68.4 ลดจาก 69.7 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานทำอยู่ที่ 73.0 ลดจาก 74.1 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 95.8 ลดจาก 87.4

สำหรับการส่งออกยังไม่มีข่าวดีเช่นกัน ล่าสุด น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ แถลงว่า ตัวเลขการส่งออกสินค้าไทยเดือนก.พ.2558 มูลค่า 1.72หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 6.14% ส่วนนำเข้ามีมูลค่า1.68 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 1.47% ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้าก.พ. 390 ล้านบาท

ขณะที่การส่งออก 2 เดือนมีมูลค่า 3.44หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 4.82% ส่วนนำเข้า 3.45 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 6.69% ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้าช่วง2เดือนมูลค่า 66 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเป็นผลจากเศรษฐกิจไม่ฟื้นตัวตามที่คาดและราคาน้ำมัน ทองคำลดลง

ตัวเลขส่งออกที่ทรุดต่อเนื่อง ทำให้แบงก์ชาติเตรียมปรับประมาณการส่งออกปี 2558 ใหม่ โดยคาดการณ์ว่าปีนี้การส่งออกจะขยายตัวได้แค่ 1% เท่านั้น

เวลาเผาจริงใกล้เข้ามาแล้ว เมื่อถึงวันนั้นไม่ว่ารัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จะหงุดหงิดอารมณ์เสียอย่างไร ความจริงก็คือความจริงวันยังค่ำ


กำลังโหลดความคิดเห็น