xs
xsm
sm
md
lg

“อาคม” เข็น 17 โครงการ 1.6 ล้านล้าน ประมูลปี 58-59 กระตุ้นเศรษฐกิจระยะเร่งด่วน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“อาคม” ดันลงทุน 17 โครงการ มูลค่ากว่า 1.6 ล้านล้านบาท เร่งประมูลในปี 59 ตามแผนกระตุ้นเศรษฐกิจระยะเร่งด่วน เข็นประมูลรถไฟทางคู่ 6 สาย ชง ครม.อนุมัติรถไฟฟ้า 4 สาย ส่วนรถไฟไทย-จีนไม่ฟันธงตอกเข็มได้ตามแผนเดิม ธ.ค. 59 รอหารือจีนต้น ก.ย.ก่อน มั่นใจการลงทุนภาคขนส่งช่วยหนุนจีดีพีครึ่งปีหลัง เผยแบ่งงาน คุมหน่วยงานอากาศและระบบรางรถไฟไทย-ญี่ปุ่นเอง ส่วน “ออมสิน” คุมทางน้ำและรถไฟไทย-จีน



วันนี้ (26 ส.ค.) เวลา 08.30 น. นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เข้าสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นการเริ่มปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการ พร้อมทั้งได้ประชุมมอบนโยบายและแนวทางการทำงานให้แก่ผู้บริหารหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคม ว่า ในการทำงานหลังจากนี้จะดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลเป็นหลัก เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศไทย พ.ศ. 2556-2560 โดยมีโครงการเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2558-2559 มี 5 เรื่อง คือ 1. ขับเคลื่อนและผลักดันโครงการลงทุนของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง จำนวน 17 โครงการ มูลค่าประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท รวมทั้งเร่งรัดการลงทุนโครงการต่างๆ ทั้งในส่วนของงบประมาณประจำปี และงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจ 2. การใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งให้เป็นประโยชน์และเชื่อมโยงกัน ทั้งด้านท่องเที่ยว, ด้านสุขภาพ ซึ่งจะมีโครงการทางจักรยานเป็นหลัก, เศรษฐกิจชุมชนการเกษตร และเศรษฐกิจการค้าการลงทุนเชื่อมเขตเศรษฐกิจพิเศษ 3. การปรับปรุงคุณภาพและบริการของระบบขนส่งสาธารณะ โดยภายในปี 2559 จะต้องเชื่อมระบบตั๋วร่วมกับขนส่งทุกโหมด และเชื่อมบัตร Easy Pass ของทางด่วน และบัตร M Pass ของมอเตอร์เวย์ให้สามารถใช้งานได้ในใบเดียวกันภายในกลางปี 2559

4. การแก้ไขปัญหาและสร้างมาตรฐานใหม่ของการเป็นหน่วยงานกำกับดูแลและหน่วยงานการให้บริการ ได้แก่ การแก้ไขปัญหาและการสร้างมาตรฐานใหม่ เช่น แก้ปัญหา IUU ประเด็นการทำประมงผิดกฎหมาย และการแก้ไขปัญหามาตรฐานความปลอดภัยด้านการบิน หรือ SSC 5. การดำเนินการตามแผนฟื้นฟูหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ
สำหรับโครงการ 17 โครงการที่จะขับเคลื่อนนั้นมีที่ได้รับการอนุมัติแล้ว 5 โครงการคือ มอเตอร์เวย์ 3 สาย โครงการพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) และศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่แหลมฉบัง (SRTO) โดยเหลือ 12 โครงการ ซึ่งหลังจากนี้จะมีการพิจารณาโครงการที่อยู่ในแผนปีต่อไป หากมีความจำเป็นก็จะเร่งรัดในการดำเนินการก่อนได้ โดยในปลายปีนี้คาดว่าโครงการที่จะเสนอขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ คือ รถไฟฟ้า 4 สาย คือ สายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) สีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) สีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) และสีม่วงใต้ (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) รวมถึงความร่วมมือไทย-จีน รถไฟขนาดราง 1.435 เมตร เส้นทางกรุงเทพฯ-แก่งคอย, แก่งคอย-มาบตาพุด, แก่งคอย-โคราช, โคราช-หนองคาย ระยะทาง 873 กม. ความร่วมมือรถไฟไทย-ญี่ปุ่น และโครงการรถไฟความเร็วสูง (กรุงเทพฯ-ระยอง) และเส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน

ส่วนโครงการที่จะเปิดประกวดราคาได้ภายในปีนี้ คือ รถไฟทางคู่ 6 เส้นทาง ซึ่งขณะนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้ประกาศร่างทีโออาร์แล้ว 2 เส้นทาง คือ ฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย และจิระ-ขอนแก่น และอยู่ระหว่างนำเสนอ ครม. คือ มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ และที่อยู่ระหว่างการพิจารณาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ และช่วงนครปฐม-หัวหิน

นายอาคมกล่าวถึงรถไฟไทย-จีนว่า จากกำหนดที่จะตอกเข็มในเดือน ต.ค. หรืออย่างช้าเดือน ธ.ค. 2559 สำหรับตอนที่ 1 กรุงเทพฯ-แก่งคอย และตอนที่ 3 แก่งคอย-นครราชสีมา นั้นจะมีความชัดเจนหลังการประชุมร่วมครั้งที่ 7 ที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 10-11 ก.ย. 2558 เพราะตามขั้นตอนจะต้องมีการขออนุมัติและจะต้องดูความเป็นไปได้ของผลการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ ซึ่งทางจีนจะส่งมาในวันที่ 31 ส.ค.นี้ ซึ่งจะพิจารณารายละเอียดว่ามีความครบถ้วนหรือไม่ รวมถึงเห็นชอบร่วมกันก่อน จึงจะยืนยันได้ว่าจะสามารถตอกเข็มได้ในเดือน ต.ค.หรือไม่ หากผลศึกษายังไม่ได้รับความเห็นชอบเวลาในการตอกเข็มจะต้องขยับออกไป

“งานของคมนาคมถือเป็นหนึ่งในเสาหลักของทีมเศรษฐกิจที่จะร่วมผลักดันขับเคลื่อนการลงทุน ดังนั้นจะเร่งรัดผลักดันทุกทางเพื่อให้เป็นรูปธรรมในปี 58-59 ส่วนโครงการที่เกินจากปี 2559 ไปจะส่งมอบให้รัฐบาลชุดต่อไปขับเคลื่อน โดยจะปรับวิธีการทำงานเพื่อให้ขับเคลื่อนโครงการให้เป็นไปตามเป้าหมายได้ คือประสานในทุกขั้นตอนกับทุกหน่วยงาน เมื่อคำถามความเห็นจะต้องเร่งชี้แจง ทุกขั้นตอนจะกระชับเวลาให้รวดเร็วขึ้น มั่นใจว่าจะทำได้ตามเป้าหมาย นอกจากนี้จะเน้นเรื่องความโปร่งใส” นายอาคมกล่าว

นายอาคมกล่าวว่า การลงทุนด้านคมนาคมขนส่งที่คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1% ของ GDP จะมีเม็ดเงินออกมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลัง ให้ GDP เติบโตดีกว่าครึ่งปีแรกที่เติบโตได้ราว 2.9% โดยมีภาคการท่องเที่ยวเป็นตัวหลัก โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 4/58 จะมีการเบิกจ่ายงบ 40,000 ล้านบาทที่เป็นงบกระตุ้นเศรษฐกิจเข้าสู่ระบบ บวกกับเม็ดเงินต้นปีงบประมาณ 2559 จะทยอยออกมา

ด้านนายออมสิน ชีวะพฤกษ์ กล่าวว่า พร้อมที่จะทำงานเป็นทีมร่วมกับทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่อยู่ในความสนใจและเกี่ยวข้องกับการให้บริการประชาชนทั่วประเทศ จึงต้องดำเนินงานให้เห็นผลชัดเจนและเป็นรูปธรรม

อย่างไรก็ตาม นายอาคมได้กล่าวถึงการแบ่งงานในกำกับดูแลว่า ตนในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจะดูแลกรมทางหลวง (ทล.) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) บริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กรมการบินพลเรือน (บพ.) โรงแรมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริษัท ไทยอะมาดิอุส และการบินไทยสมายล์ และความร่วมมือพัฒนาระบบรางระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ส่วนนายออมสิน รมช.คมนาคม กำกับดูแลกรมทางหลวงชนบท (ทช.) กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กรมเจ้าท่า (จท.) การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) พร้อมกับความร่วมมือพัฒนาระบบรางระหว่างไทย-จีน โดยโครงการขนาดใหญ่ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจนั้นจะช่วยกันดูเพื่อแบ่งเบาภาระกัน

กำลังโหลดความคิดเห็น