xs
xsm
sm
md
lg

“อาคม” ปรับแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เร่งประมูลมอเตอร์เวย์-รถไฟทางคู่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
“อาคม” เร่งปรับแผนงานลงทุนโครงสร้างพื้นฐานช่วง 3 เดือนนี้ให้กระชับมากขึ้น เพื่ออัดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบาย พร้อมเร่งรัดหน่วยงานประมูลและทำสัญญาโครงการในงบประมาณปี 59 ให้เสร็จภายใน ธ.ค.นี้ ขณะที่แบ่งงานใหม่คุมรถไฟไทย-จีน และไทย-ญี่ปุ่นเอง ส่วน “ออมสิน” คุม ร.ฟ.ท. และทางคู่เป็นหลัก

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับแผนงานการลงทุนโครงการและตารางการทำงานในช่วง 3-4 เดือนนี้เพื่อให้กระชับมากขึ้น และเพื่อให้สามารถติดตามความคืบหน้าแต่ละโครงการได้ง่ายขึ้นว่าอยู่ในขั้นตอนใดและติดขัดตรงไหน ซึ่งมี 17 โครงการที่ต้องเร่งรัดการประกวดราคาให้ได้ภายในสิ้นปีนี้ เช่น โครงการมอเตอร์เวย์ สายพัทยา-มาบตาพุด วงเงิน 20,200 ล้านบาท โครงการรถไฟทางคู่ 6 เส้นทาง เป็นต้น โดยแผนงานจะเสร็จใน 2 สัปดาห์ และรายงาน ครม.รับทราบ

“ยอมรับว่าการเร่งรัดงานและปรับแผนงานให้กระชับขึ้นนั้นจะเป็นตัวชี้วัดการทำงานของกระทรวงคมนาคม เพราะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ดังนั้นจึงมีการกำหนดเป้าหมายไว้ภายในเดือน ธ.ค. 2558 จะต้องมีการประกวดราคาให้ได้ ส่วนงบประมาณปี 2559 ได้กำหนดเป้าหมายในการประกวดราคาและลงนามสัญญาให้ได้ภายในไตรมาส 1 ปีงบประมาณ 2559 หรือภายในเดือน ธ.ค. 2558 ซึ่งเป็นมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน” นายอาคมกล่าว

***แบ่งงานใหม่ ดึงรถไฟไทย-จีน และไทย-ญี่ปุ่นดูเอง

นอกจากนี้ นายอาคมกล่าวถึงการกำกับดูแลหน่วยงานในกระทรวงคมนาคมว่า ได้ปรับเปลี่ยนการมอบหมายใหม่ โดยตนจะกำกับดูแลสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) งานด้านทางอากาศทั้งหมด ซึ่งมีกรมการบินพลเรือน (บพ.) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) บริษัท โรงแรมท่าอากาศยาน จำกัด (รทส.) บริษัท ไทยอมาดิอุส จำกัด (ทอส.) โดยภารกิจพิเศษคือ การแก้ไขปัญหา SSC ตามการตรวจสอบของ ICAO แผนฟื้นฟูการบินไทยตามมติ คนร. และเร่งรัดการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 2 และรันเวย์ที่ 3

กำกับงานด้านถนน คือ กรมทางหลวง, กรมทางหลวงชนบท และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) งานเร่งด่วนคือประมูลมอเตอร์เวย์ 3 เส้นทาง เร่งรัดการใช้ระบบตั๋วร่วม Easy Pass และ M Pass ยุทธศาสตร์พัฒนาถนนระยะ 20 ปี ด้านทางน้ำ กำกับดูแลการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ด้านทางรางกำกับดูแลการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เพื่อเร่งรัดการจัดหาผู้เดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย และรถไฟฟ้า 4 สายใหม่ โครงการรถไฟไทย-จีน และรถไฟไทย-ญี่ปุ่น

ส่วนนายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นั้นจะกำกับดูแล กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) งานเร่งรัดคือแผนฟื้นฟู ขสมก. การจัดหารถเมล์ 3,183 คัน และการย้ายสถานีหมดชิต 2, กรมเจ้าท่า และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (แอร์พอร์ตลิงก์) ภารกิจพิเศษโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทาง กทม.-ระยอง, กทม.-หัวหิน แผนฟื้นฟูรถไฟ และการก่อสร้างรถไฟทางคู่ 6 เส้นทาง

“ในแง่โครงการนั้นผมจะดูโครงการความร่วมมือรถไฟไทย-จีน และไทย-ญี่ปุ่นเองทั้งหมด เพื่อให้ไม่สับสนและจะได้ให้ข้อมูลจากผมคนเดียว ส่วน รมช.ออมสินจะดูรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง 2 เส้นทางที่จะให้เอกชนมาลงทุน”

***ถกญี่ปุ่นหาทางออกแนวเส้นทาง “บ้านภาชี” หวังใช้ทางร่วมรถไฟไทย-จีน

นายอาคมกล่าวภายหลังประชุมร่วมกับผู้แทน กระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและการท่องเที่ยวของญี่ปุ่น (MLIT) วานนี้ (1 ก.ย.) ว่า เป็นการหารือร่วมกันอย่างเป็นทางการครั้งที่ 1 ภายหลังมีการลงนามในการพัฒนาระบบรางไทย-ญี่ปุ่น โครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ และการพัฒนารถไฟเส้นทาง กาญจนบุรี-กรุงเทพฯ, กรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา-อรัญประเทศ, กรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา-แหลมฉบัง โดยญี่ปุ่นได้นำคณะที่ปรึกษา ประกอบด้วย ไจก้า (ที่ปรึกษาด้านเทคนิค), JR East (ผู้ผลิตรถไฟฟ้าและเดินรถ), ฮิตาชิ (ผู้ผลิตระบบ) ร่วมหารือ ซึ่งได้พูดคุยถึงแนวเส้นทางโดยเฉพาะระบบรางและอาณัติสัญญาณที่จะต้องใช้ร่วมกันกับโครงการความร่วมมือรถไฟไทย-จีนที่บริเวณสถานีบ้านภาชี เพื่อตกลงร่วมกันให้ได้ว่าจะออกแบบโครงการและระบบอย่างไร จะสามารถใช้ทางร่วมกันได้หรือไม่ ซึ่งเบื้องต้นทางญี่ปุ่นเสนอขอทางรถไฟและระบบอาณัติสัญญาณแยกต่างหาก เช่นเดียวกับทางจีนที่ต้องการแยกรางและระบบ แต่ปัญหาคือ พื้นที่เขตทางรถไฟที่มีอาจไม่พอสำหรับการแยกรางและระบบดังกล่าว และหากจะต้องเวนคืนที่ดินเพิ่มจะสามารถทำได้หรือไม่

“ทางญี่ปุ่นจะศึกษาและลงพื้นที่สำรวจสภาพภูมิประเทศก่อน โดยทาง สนข. และ ร.ฟ.ท.ร่วมทีมสำรวจเพื่อนำข้อมูลมาพิจารณาร่วมกัน ซึ่งหากเป็นไปได้ทั้ง 2 โครงการใช้ทางและระบบร่วมกันได้ จะช่วยประหยัดค่าลงทุนและต้องการก่อสร้างไปตามแนวเส้นทางรถไฟเดิมให้มากที่สุด แต่ขณะเดียวกันต้องฟังทั้งสองฝ่ายด้วย” นายอาคมกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น