xs
xsm
sm
md
lg

ครม.ไฟเขียวอัด1.3แสนล้าน สมคิดลั่นหว่านเมล็ดรากหญ้า

เผยแพร่:

ASTVผู้จัดการรายวัน – ครม.ไฟเขียวอัดฉีดเงินกระตุ้นรากหญ้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ที่ทีมเศรษฐกิจเสนอ ระลอกแรก 1.3 แสนล้าน ตั้งเป้าเห็นผลภายในปีนี้ “สมคิด” ลั่นไม่ใช่ประชานิยม แต่เป็นการหว่านเมล็ดสร้างความเข้มแข็งและการเติบโตทางเศรษฐกิจ ด้านกรมบัญชีกลางขยายวงเงินการจัดซื้อจัดจ้างโครงการขนาดเล็ก สนับสนุนการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นของรัฐบาล


วานนี้ (1 ก.ย.) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.อนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจส่วนแรกภายใต้วงเงินราว 1.3 แสนล้านบาท ซึ่งจะเร่งรัดการใช้จ่ายให้เม็ดเงินลงสู่ระบบภายในปีนี้ เพื่อให้เห็นผลในระยะสั้นโดยเร็วจากการหมุนของเม็ดเงินดังกล่าว ต่อจากนี้รัฐบาลยังมีมาตรการเพิ่มเติมเพื่อฟื้นเศรษฐกิจในระยะต่อไปในอีก 3 เดือนข้างหน้า โดยภายใน 1-2 สัปดาห์จากนี้จะนำเสนอมาตรการช่วยเหลือธุรกิจ SME ให้ ครม.พิจารณา
"นี่เป็นเพียงแค่แพคเกจส่วนแรกที่ต้องการให้เม็ดเงิน 1.3 แสนล้านบาทไปสู่ภูมิภาคให้เร็วที่สุดซึ่งขณะนี้กระทรวงมหาดไทยเริ่มไปประชุมกันแล้ว นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่จะทำ ไม่ใช่โครงการประชานิยมแน่ และไม่ได้ยืมใครมา อะไรที่ช่วยประชาชนได้ก็ต้องทำไม่ว่าจะพรรคการเมืองไหน" นายสมคิดกล่าว
ด้านนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวว่า ชุดมาตรการดังกล่าว ประกอบด้วย มาตรการแรก เป็นการปล่อยเงินกู้ผ่านกองทุนหมู่บ้านวงเงินราว 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นเงินของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสิน ซึ่งจะไม่คิดดอกเบี้ยใน 2 ปีแรก อายุโครงการ 7 ปี ไม่จำกัดวงเงินกู้ต่อราย แต่ขึ้นอยู่กับความจำเป็นที่คณะกรรมการกองทุนฯจะเป็นผู้พิจารณา โดยรัฐบาลจะอุดหนุนภาระดอกเบี้ยให้ในช่วง 2 ปีแรก ส่วนปีที่ 3-7 ในอัตราดอกเบี้ยเท่ากับต้นทุนทางการเงิน บวกด้วยร้อยละ 1.0 ต่อปี เพราะเชื่อว่าปีที่ 3 เป็นต้นไปประชาชนจะสามารถหาเงินมาชำระคืนดอกเบี้ยได้ ซึ่งคิดเป็นเม็ดเงินที่รัฐบาลต้องรับภาระปีละ 2 พันล้านบาท
มาตรการที่ 2 เร่งรัดการใช้จ่ายสู่ระดับตำบลกว่า 7 พันตำบล ๆ ละ 5 ล้านบาท คิดเป็นวงเงินราว 3.6 หมื่นล้านบาท เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาด้านต่าง ๆ รวมถึงการจ้างานในชุมชน โดยให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักดำเนินมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล และเร่งรัดการใช้จ่ายเงินตามโครงการให้เสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 เพื่อดำเนินโครงการที่มีการจ้างแรงงานหรือก่อให้เกิดการจัดซื้อจัดจ้างสินค้า และบริการในจังหวัดในลักษณะดังต่อไปนี้ โครงการซ่อมแซมหรือบูรณะทรัพย์สินที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เช่น การซ่อมแซมแหล่งน้ำและระบบส่งน้ำ การซ่อมแซมสถานพยาบาล โรงเรียน ตลาดกลาง และการปรับปรุงและฟื้นฟูแหล่งขยะ เป็นต้น, โครงการส่งเสริมการพัฒนาชุมชนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง เช่น การปลูกพืชใหม่ที่มีตลาด การเปลี่ยนแปลงอาชีพ การสร้างฝาย และการปลูกต้นไม้หรือป่าชุมชน เป็นต้น และโครงการด้านเศรษฐกิจและสังคม เช่น การเพิ่มศักยภาพในการประกอบอาชีพ ของคนในหมู่บ้าน/ชุมชน ส่งเสริมการประกอบอาชีพ การปรับปรุงซ่อมแซม ศูนย์เด็กเล็ก และศูนย์บริการผู้สูงอายุ เป็นต้น
มาตรการที่ 3 เร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณในส่วนของโครงการขนาดเล็กโครงการละประมาณ 1 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการที่มีเงินงบประมาณอยู่แล้ว 1.6 หมื่นล้านบาทที่จะเร่งให้เกิดการใช้จ่ายภายในปีนี้ และอีก 2.4 หมื่นล้านบาทจะเปิดให้ส่วนราชการของบประมาณในโครงการขนาดเล็กเพิ่มเติมได้ โดยให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น ยกเว้นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกองทุนและเงินทุนหมุนเวียน ที่มีแผนการดำเนินงานที่สอดคล้องกับมาตรการส่งเสริมการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาลทั่วประเทศ จัดทำแผนการดำเนินการรายการที่มีลักษณะเป็นรายจ่ายลงทุนที่มีความสำคัญ และจำเป็นต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของหน่วยงาน วงเงินในการดำเนินการจัดซื้อ/จัดจ้าง รายการละไม่เกิน 1 ล้านบาท และต้องดำเนินการเบิกจ่ายให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 โดยให้ขอรับการจัดสรรงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น
นอกจากนี้ ให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น ดำเนินการตามมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณไว้แล้ว โดยจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณให้สอดคล้องกับมาตรการส่งเสริมการลงทุนขนาดเล็กนี้ โดยเฉพาะรายการรายจ่ายลงทุนที่มีวงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท ให้ดำเนินการลงนามในสัญญาและเบิกจ่ายให้แล้วเสร็จภายใน 31 ธันวาคม 2558
"การดำเนินมาตรการดังกล่าวจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และกระจายการลงทุนไปในพื้นที่ต่างๆ ในต่างจังหวัด ตลอดจนผลักดันให้เกิดการพัฒนาในท้องถิ่นและภูมิภาคอย่างทั่วถึง" นายอภิศักดิ์กล่าว
นายสมคิดกล่าวเสริมว่า มาตรการสองส่วนแรกที่เลือกการอัดฉีดเงินผ่านกองทุนหมู่บ้านและตำบล เพราะดำเนินการได้เร็วและถึงมือชาวบ้านได้เร็วมากกว่าทางอื่น ซึ่งจะช่วยผ่อนคลายความยากลำบากได้ส่วนหนึ่ง และอีกส่วนนึงคือ ต้องการให้เป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้หมู่บ้านและตำบลเกิดการพัฒนาให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืนในอนาคตข้างหน้า โดยจะนำไปสู่จุดประสงค์หลัก คือ การผลิต แปรรูป สร้างสินค้าชุมชน และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว
"งานนี้คือการหว่านเมล็ด ซึ่งเคยเรียนให้ทราบแล้วว่ารัฐบาลต้องการสร้างความเข้มแข็งและการเติบโตทางเศรษฐกิจจากภายในให้มีความสมดุลกับเรื่องของการเติบโตจากการส่งออก..นี่คือจุดเริ่มต้น" รองนายกรัฐมนตรีกล่าวและว่า ส่วนที่ 3 คือ มีโครงการลงทุนที่คั่งค้างอยู่ ก็จะเร่งรัดด้วยการแตกเป็นโครงการขนาดเล็กโครงการละ 1 ล้านบาท ขณะเดียวกันบางส่วนที่เป็นปีงบประมาณปีหน้าก็จะดึงเข้ามาให้มีการเบิกจ่ายเสร็จภายในเดือน ธ.ค.นี้ ซึ่งจะทำให้เงินหมุนเวียนในระบบและเป็นการช่วย SME อีกทางหนึ่ง
“นายกรัฐมนตรีได้กำชับไม่ให้เกิดการใช้เงินผิดประเภท เพราะเงินก้อนนี้จะต้องใช้เพื่อสร้างตัวขึ้นมาใหม่ให้รอดพ้นจากเศรษฐกิจซบเซา ไม่ได้ให้ใช้ในสิ่งฟุ่มเฟือย แม้จะเป็นส่วนเล็กๆ แต่เชื่อว่าจะสามารถสร้างรายได้ค่อไปในวันข้างหน้า นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังกำชับเรื่องกระบวนการการตรวจสอบการใช้เงิน โดยขอความร่วมมือจากกรรมการหมู่บ้านและผู้ที่เกี่ยวข้องให้ช่วยดูแลให้เป็นอย่างดี”
สำหรับมาตรการในเฟส 2 จะมีการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนเพิ่มมากขึ้น โดยจะดึงภาคเอกชนเข้ามาร่วมสนับสนุนงานของรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ขณะที่ภาครัฐจะเป็นฝ่ายอำนวยความสะดวก ขจัดอุปสรรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งจะเป็นการทำงานร่วมกัน และจะสรุปมาตรการและแนวทางต่าง ๆ ให้ได้ก่อนเดือน ธ.ค.นี้เพื่อนำข้อมูลไปนำเสนอให้กับนักลงทุนต่างประเทศต่อไป
"เฟส 1 คือบรรเทาความเดือดร้อน ก่อนจะเข้าสู่เฟส 2 ซึ่งสำคัญมาก คือ การก่อให้เกิดการลงทุนในประเทศ ซึ่ง รมว.คลังกำลังดูแลอยู่ บางส่วนอาจจะมีนโยบายเพื่อที่จะเร่งการลงทุนให้เร็วขึ้น บางส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ บางส่วนอาจจะเกี่ยวข้องกับการจูงใจให้มีการลงทุนในท้องถิ่น แต่ส่วนที่สำคัญมากที่กระทรวงคลังกำลังเวิร์กอยู่ เราได้ประกาศเจตนารมณ์ว่าเราจะให้ความร่วมมือกับเอกชนให้เขาเป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อะไรก็แล้วแต่ที่จะทำให้เกิดความสะดวก ขจัดอุปสรรคในการขับเคลื่อนธุรกิจ รมว.คลังจะไปหารือและดูสิ่งเหล่านี้ อย่าลืมว่า Factor ตัวนี้คือตัววัดความสามารถของเราในการแข่งขัน คือความสะดวกสบายในการลงทุนและทำธุรกิจ เพราะฉะนั้นจะจับเรื่องนี้อย่างเป็นชิ้นเป็นอัน ดูให้ครบวงจร จะมีกาทำงานร่วมกัน ทั้งหมดนี้จะพยายามให้เสร็จก่อน ธ.ค.58 หลังจากนั้นก็จะเป็นช่วงที่จะไปโรดโชว์ต่างประเทศ เอาสิ่งเหล่านี้ไปจูงใจให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ถึงตอนนั้นเราจะสามารถตอบคำถามได้ว่าเรามีอะไรบ้าง เราพร้อมอย่างไร"
"ผมได้บอก รมว.คลังแล้วว่า ไม่ต้องห่วงว่าจะทำให้ภาระหนี้สูงจนเราแย่ จำตอนปี 40 ได้หรือไม่ ตอนนั้นหนี้เราสูงถึง 3 ล้านล้านบาท เราต้องทำกรอบความยั่งยืนทางการคลัง 7 ปีว่า 3 ล้านล้านบาทและหนี้สามารถชำระคืนใน 7 ปี ซึ่งเราต้องหาอะไรที่ทำให้ต่างประเทศเชื่อถือเราและทำอย่างจริงจัง" นายสมคิดกล่าว

***กรมบัญชีกลางขยายวงเงินจัดซื้อจัดจ้าง
นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะประธานคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ (กวพ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กวพ.มีมติขยายวงเงินจัดหาพัสดุของส่วนราชการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มตามหนังสือ กค (กวพ) 0421.3/ว 299 ลงวันที่ 28 สิงหาคม 2558 สำหรับการจัดซื้อจัดจ้างตั้งแต่ราคา 1 – 500,000 บาท ให้ส่วนราชการใช้วิธีตกลงราคา ซึ่งใช้เวลาดำเนินการเพียง 2-5 วันเท่านั้น โดยมีงบประมาณในส่วนดังกล่าวประมาณ 80,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 80 ของโครงการลงทุนปี 2558
หากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างจะช่วยให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศสอดคล้องกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นของรัฐบาล
หากเป็นการซื้อหรือการจ้างโดยวิธีพิเศษได้ขยายวงเงินเช่นกัน โดยการซื้อหรือการจ้างซึ่งมีราคาเกิน 500,000 บาท ให้กระทำได้เฉพาะกรณีหนึ่งกรณีใดตามที่กำหนดไว้ในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติมข้อ 23 หรือ 24 แล้วแต่กรณีๆ ไป สำหรับมติที่กำหนดให้ดำเนินการวิธีการจัดหาพัสดุดังกล่าวกำหนดให้ส่วนราชการเริ่มปฏิบัติตามแนวทางข้างต้นตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2558 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2559 ส่วนการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างที่ทำก่อนวันที่ 15 กันยายน 2558 นั้น หากมีการดำเนินการแล้วก็ให้ดำเนินการต่อไปจนเสร็จ

***นายกฯ เผยส่งออกไทยดีขึ้น
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระบุว่า ภาพรวมการส่งออกของไทยดีขึ้น แม้ในเดือน ก.ค.จะยังติดลบ แต่เป็นการติดลบที่น้อยลงจากช่วงที่ผ่านมา จึงขอให้เชื่อมั่นในการดูแลค่าเงินบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ช่วงไหนบาทอ่อนค่าเกินไปหรือแข็งค่าเกินไปก็ต้องมีมาตรการดูแล โดยในวันนี้ (1 ก.ย.) ได้อนุมัติงบประมาณ 1.3 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นมาตรการเน้นการจ้างงานและเน้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รวมทั้งเร่งการใช้จ่ายเงินงบประมาณ โดยเป็นการสร้างความเข้มแข็งผ่านกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงมหาดไทย
นายกรัฐมนตรียังได้กำชับให้ทุกหน่วยงานมีการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุดและยั่งยืน ซึ่งไม่ใช่ลักษณะโครงการประชานิยม พร้อมทั้งให้มีทบทวนองค์กรมหาชน และกองทุนบทบาทสตรีให้แล้วเสร็จภายในอาทิตย์หน้า เพื่อพิจารณาว่า องค์กรใดสามารถเดินหน้าต่อไป หรือองค์กรใดจำเป็นต้องมีการปรับปรุง ซึ่งบางองค์กรอาจจะป็นต้องยกเลิกไปเพราะไม่คุ้มค่างบประมาณ
นอกจากนี้ ยังสั่งการให้มีการดูแลเรื่องราคาสินค้า ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตว่าราคาน้ำมันปรับลดลง แต่ราคาสินค้ายังไม่ปรับลงตามไปด้วย โดยนายกรัฐมนตรีชี้แจงว่า ต้องดูจากหลายปัจจัย ทั้งเรื่องการส่งออกที่ยังติดลบ ส่งผลให้การผลิตสินค้ามีปัญหา เพราะหากผลิตมากๆ ราคาสินค้าก็จะลดลง และเมื่อพ่อค้าคนกลางนำไปขายต่อมีการขึ้นราคา เพื่อให้คุ้มกับผลกำไร ทำให้ราคาสินค้าอาจจะแพงขึ้น ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ฝากให้ทุกคนช่วยสอดส่องหากพบว่าราคาสินค้าตามท้องตลาดมีราคาแพงเกินไปให้แจ้งมายังรัฐบาลเพื่อส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบให้
"ก็ขอบคุณพ่อแม่พี่น้องที่เหลือก็โอเคที่ให้กำลังใจผม รักน้อยๆแต่รักนานดีกว่า รักนานๆไม่ได้หมายถึงสืบทอดอำนาจ แต่รักนานๆในช่วงระหว่างผมทำหน้าที่เท่านั้นเอง ไม่ต้องมากมาย ถ้ารวมกันเยอะๆก็เป็นพลังให้ผมทำอะไรได้ โดยที่เป็นความต้องการของพี่น้องประชาชนโดยรวม" นายกรัฐมนตรีกล่าวและว่า ตนเองรู้สึกสบายใจที่เห็นทีมงานเศรษฐกิจที่นำโดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มีการพูดคุยกัน ยิ้มแย้มแจ่มใสและขานรับกับนโยบายที่ตนเองสั่งการไปในที่ประชุม ครม.
"ไม่ใช่ของเก่าไม่ดีเพียงแต่สถานการณ์ ท่านที่แล้วโดนเยอะ มันก็เซ็งเหมือนกัน ท่านใหม่รู้สึกกำลังใจเยอะ ผมก็บอกกำลังใจมีเยอะ แต่ระยะเวลาสั้นหน่อย เขาพยายามทำแต่จะเห็นผลปุ๊ปปั๊ปมันไม่ได้หรอก จะเป็นแบบเปิดปิดสวิทช์ได้อย่างไรมันค่อยๆ ดีขึ้น".
กำลังโหลดความคิดเห็น