นายกรัฐมนตรี ห่วงหนี้เกษตรกร หลังพบมีกว่า 1.6 ล้านราย มูลหนี้กว่า 3.8 แสนล้านบาท สั่งทุกหน่วนงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการช่วยเหลือไม่ให้ประชาชนสูญเสียที่ดินทำกิน พร้อมให้ความรู้ในการบริหารจัดการเงิน การใช้จ่าย และเก็บออม เพื่อให้หลุดพ้นจากวงจรหนี้ ขณะเดียวกัน ยังให้ออกมาตรการช่วยเหลือด้านต่างๆ เพิ่มเติม
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แสดงความเป็นห่วงพี่น้องเกษตรกรไทย หลังรับทราบรายงานตัวเลขหนี้ของเกษตรกร ซึ่งรวบรวมโดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ล่าสุด ที่พบว่าเกษตรกรไทยมีหนี้สิน จำนวน 1,637,562 ราย มูลหนี้ทั้งสิ้นประมาณ 388,361 ล้านบาท เฉลี่ยรายละ 237,158 บาท ซึ่งจำเป็นต้องมีมาตรการช่วยเหลือดูแล มิฉะนั้นอาจส่งผลให้พี่น้องเกษตรกรบางส่วนต้องสูญเสียที่ดินทำกิน
“ท่านนายกฯ ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้บูรณาการการทำงานเพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร และจำแนกสถานภาพ และความจำเป็นของลูกหนี้แต่ละรายอย่างละเอียด เพื่อให้สามารถดำเนินการช่วยดูแลบรรเทาปัญหาได้อย่างถูกจุด ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาแบบเหมารวม รวมทั้งท่านนายกฯ ยังให้นโยบายทุกหน่วยที่เข้าไปดูแลช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรว่า นอกจากช่วยเหลือในเรื่องการจัดการหนี้สินแล้ว ควรให้ความรู้ในเรื่องการบริหารจัดการเงิน การใช้จ่าย และเก็บออม ให้เหมาะสมแก่สถานภาพของแต่ละครอบครัว เพื่อให้สามารถหลุดพ้นจากวงจรการเป็นหนี้ หรือ อย่างน้อยให้สามารถบริหารหนี้ได้อย่างเหมาะสมไม่กลายเป็นภาระล้นพ้นตัว”
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า สำหรับหนี้สินของเกษตรกรตามที่มีการรวบรวมแบ่งเป็น 1.หนี้นอกระบบสถาบันการเงิน จำนวน 149,437 ราย มูลหนี้ประมาณ 21,590 ล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.1 กลุ่มที่มีความเดือดร้อนเร่งด่วนอยู่ในขั้นตอนการบังคับคดี จำนวน 92,945 ราย มูลหนี้ประมาณ 13,428 ล้านบาท และ 1.2 กลุ่มหนี้ไม่จำเป็นเร่งด่วน จำนวน 56,492 ราย มูลหนี้ประมาณ 8,162 ล้านบาท 2.ลูกหนี้ในระบบ 1,488,125 ราย มูลหนี้ประมาณ 366,771 ล้านบาท โดยกระทรวงมหาดไทย ได้ประสานข้อมูลหนี้สินเกษตรกรให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวกับดำเนินการต่อไป
ทั้งนี้ ได้จำแนกการช่วยเหลือเป็นกลุ่มดังนี้ ในกรณี 1.1 ข้อมูลลูกหนี้นอกระบบที่จำเป็นเร่งด่วน ได้มอบให้ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม โดยกรมบังคับคดี กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เพื่อช่วยเหลือทางด้านกฎหมาย และส่งให้แก่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อหาแนวทางปลดเปลื้องหนี้ต่อไป ส่วนข้อมูล 1.2 ลูกหนี้นอกระบบที่ไม่จำเป็นเร่งด่วน ส่งข้อมูลให้กองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมเกษตรกรและผู้ยากจนกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร กองทุนสงเคราะห์เกษตรกรกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับไปดำเนินการดูแล สำหรับกลุ่ม 2.คือข้อมูลลูกหนี้ในระบบ ให้กระทรวงการคลัง กำหนดมาตรการให้แก่สถาบันการเงิน และสหกรณ์ดำเนินการช่วยเหลือลูกหนี้ดังกล่าว
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรียังได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งออกมาตรการช่วยเหลือต่างๆ เพิ่มเติม เช่น โครงการส่งเสริมและฟื้นฟูอาชีพ การสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงธุรกิจ การพัฒนาชุมชนต้นแบบให้สามารถบริหารจัดการการผลิตได้เองในภาคชุมชน เพื่อส่งเสริมการเพิ่มรายได้ของเกษตรกร รวมถึงการขึ้นทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบต่อธนาคารเพื่อการเกษตรกรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งขณะนี้มีเกษตรกรมายื่นขอขึ้นทะเบียนแล้ว จำนวน 105,421 ราย มูลหนี้รวม 11,074 ล้านบาท นอกจากนี้ ธนาคารออมสิน ยังได้ดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ และรับขึ้นทะเบียนผู้เป็นหนี้สินนอกระบบเช่นเดียวกัน มีผู้มาขอขึ้นทะเบียนแล้ว จำนวน 4,450 ราย มูลหนี้รวม 542.41 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นการดูแลที่กว้างขวางครอบคลุม และหวังให้เกิดการดูแลตัวเองได้อย่างยั่งยืนต่อไป