อุดรธานี - รองอธิบดีกรมการปกครองลงพื้นที่อุดรธานี ติวเข้มเตรียมความพร้อมจัดการเลือกตั้งผู้แทนเกษตรกรเข้าร่วมเป็นกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ 28 มิ.ย. รับภารกิจใหญ่แก้ไขปัญหาหนี้สินและพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร ตั้งเป้าสมาชิกใช้สิทธิให้ถึงร้อยละ 30 หลังจากที่ผ่านมาใช้สิทธิไม่ถึง 17%
วันนี้ (9 มิ.ย.) ที่โรงแรมเจริญโฮเต็ล อ.เมืองอุดรธานี นายดลเดช พัฒนรัฐ รองอธิบดีกรมการปกครอง เป็นประธานเปิดการสัมมนาเพื่อเตรียมความพร้อมการบริหารจัดการเลือกตั้งผู้แทนเกษตรกร โดยมี นายสมปอง อินทร์ทอง รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมเป็นเกียรติในพิธี และมีจ่าจังหวัด หัวหน้าสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ปลัดอำเภอ หัวหน้าศูนย์บริหารการทะเบียนภาค ผู้แทนสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าร่วมงานกว่า 200 คน
นายดลเดชกล่าวว่า สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการบริหารจัดการเลือกตั้งผู้แทนเกษตรกร เพื่อเป็นกรรมการในคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ. 2558 ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้ให้การสนับสนุน
โดยมอบหมายให้กรมการปกครองรับผิดชอบในการบริหารจัดการเลือกตั้งดังกล่าว เพื่อให้การจัดการเลือกตั้งผู้แทนเกษตรกรที่จะมีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 28 มิ.ย. 58 นี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และมีประสิทธิภาพ
กรมการปกครองจึงได้จัดสัมมนาในครั้งนี้ขึ้นเพื่อชี้แจงนโยบายการบริหารจัดการการเลือกตั้งผู้แทนเกษตรกร และซักซ้อมขั้นตอนการปฏิบัติในการบริหารจัดการเลือกตั้งผู้แทนเกษตรกร พ.ศ. 2558 ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ และให้ผู้เข้าอบรมสามารถบริหารจัดการเลือกตั้ง และนำความรู้ที่ได้ไปอบรมสัมมนาเจ้าหน้าที่ระดับอำเภอให้มีประสิทธิภาพต่อไป
นอกจากนี้ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เข้ารับการสัมมนาได้ซักถาม แสดงความคิดเห็นการบริหารจัดการเลือกตั้งผู้แทนเกษตรกร พ.ศ. 2558 และนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้องต่อไป
ด้านนายวัชระพันธ์ จันทรขจร เลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เปิดเผยว่า ที่ผ่านมานั้นมีการเลือกตั้งผู้แทนเกษตรกรกันมาแล้ว 5 ครั้ง แต่ในปี พ.ศ. 2557 ไม่ได้มีการเลือกตั้ง เนื่องจากอยู่ระหว่าการเปลี่ยนแปลง จากนั้นได้เลื่อนมาทำการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2558 ถือว่าเป็นครั้งที่ 6 โดยได้เปิดรับสมัครแยกเป็นแต่ละภูมิภาคไปแล้วระหว่างวันที่ 11-15 พ.ค. 58 ที่ผ่านมา
ซึ่งผู้แทนเกษตรกรของภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะสมัครที่ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น และจะมีการเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 28 มิ.ย. 58
สำหรับการเลือกตั้งผู้แทนเกษตรกร สืบเนื่องมาจากพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ. 2542 มาตรา 12 และมาตรา 13 ได้บัญญัติให้มีผู้แทนเกษตรกรซึ่งมาจากการเลือกตั้งของสมาชิกองค์กรเกษตรกร จำนวน 20 คน เป็นกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร
โดยจำแนกเป็นผู้แทนภาคเหนือ 5 คน ภาคกลาง 4 คน ภาคตะวันออก 7 คน และภาคใต้ 4 คน โดยตัวแทนเกษตรกรฯ มีวาระการเป็นตัวแทนเกษตรกรเทอมละ 2 ปี
ทั้งนี้ ผู้แทนเกษตรกรที่มาจากการเลือกตั้งดังกล่าวจะเป็นบุคคลสำคัญในการเข้าไปทำหน้าที่เสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร รวมทั้งฟื้นฟู และพัฒนาเกษตรกร และทำหน้าที่อื่นๆ ในการส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงานของเกษตรกร
นอกจากนี้ คณะกรรมการดังกล่าวจะทำหน้าที่กำหนดนโยบาย และแก้ไขปัญหาหนี้สินของสมาชิกกองทุนทั่วประเทศที่มีอยู่ประมาณ 5.77 ล้านคนเศษ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะต้องให้ความสำคัญและใช้สิทธิของตนให้เกิดประโยชน์สูงสุด
นายวัชระพันธ์กล่าวว่า ที่ผ่านมานั้นเกษตรกรที่เป็นสมาชิกของกองทุนฯ ประมาณ 4 แสนคนยื่นขอรับการช่วยเหลือการแก้ไข และได้รับการแก้ไขหนี้สินไปประมาณ 29,000 รายเศษ รวมมูลค่าประมาณ 6,000 ล้านบาท จากหนี้สินทั้งหมดประมาณ 3 แสนล้านบาทเศษ ซึ่งหนี้สินของเกษตรกรที่ได้มีการรวบรวมและแยกประเภทออกแล้วนั้นเรียงตามอันดับคือ หนี้สินที่เกิดจากปัจจัยการผลิต หนี้สินค่าใช้จ่ายในเรื่องของอาหาร หนี้สินในครัวเรือน เช่น การใช้จ่ายเรื่องการศึกษาของบุตรหลาน และหนี้สินที่เกิดจากการดูแลครอบครัว ทั้งนี้ หนี้สินทั้งหมดของเกษตรกรกว่า 60% ก็เป็นหนี้สินกับ ธ.ก.ส.
การเลือกตั้งที่ผ่านมานั้นปรากฏว่ามีเกษตรกรที่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งตัวแทนหรือผู้แทนเกษตรกรอยู่ในอัตราที่ต่ำมากเพียง 16.9% เท่านั้น ในการเลือกตั้งครั้งนี้ทางกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงมหาดไทยได้ร่วมกันทำการจัดการเลือกตั้งโดยกรมการปกครองจะทำหน้าที่จัดการเลือกทั้งหมด เนื่องจากกรมการปกครองมีประสบการณ์ในการจัดการเลือกตั้งมาเป็นระยะเวลานาน
พร้อมกันนี้ก็จัดให้มีการรณรงค์ให้มีความกว้างขวางมากกว่าที่ผ่านมา ด้วยการจัดรางวัลให้แก่อำเภอใดที่รณรงค์ให้มีการใช้สิทธิเลือกตั้งมากที่สุดก็จะได้รับรางวัล มีการขอความร่วมมือไปยังกำนัน ผู้ใหญ่บ้านให้มีการประกาศเสียงตามสายให้เกษตรกรออกไปใช้สิทธิเพื่อเลือกตัวแทนหรือผู้แทนเกษตรกรที่เป็นผู้แทนหรือตัวแทนเกษตรกรอย่างแท้จริง โดยได้ตั้งเป้าให้มีผู้ออกมาใช้สิทธิไม่ต่ำกว่า 30%