xs
xsm
sm
md
lg

ปิดตายชดเชยราคายาง อ้างขัดข้อตกลงWTO

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ครั้งที่ 3/2558 โดยมีผู้เกี่ยวข้องทั้งจากภาครัฐและตัวแทนภาคเกษตรร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง
จากนั้นเวลา 11.10 น. พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า วันนี้เราพูดหลายเรื่องด้วยกัน ในการที่จะพัฒนาโครงสร้างหรือปฏิรูปโครงสร้างในการผลิต การจำหน่ายยางให้ยั่งยืน เพื่อไม่ให้เกิดข้อขัดแย้ง ทั้งเรื่องการสร้างความเข้มแข็ง เรื่องต้นทุน การตลาด การใช้ยางในประเทศที่ได้มีการมุ่งเน้นไป โดยวันนี้ได้สั่งกรมทางหลวงและกระทรวงคมนาคมได้พิจารณาว่าจะใช้ถนนเส้นไหนบ้างที่จะใช้ยางในการทำ แต่ปัญหาที่มีคือราคาในการทำจะสูงขึ้น ก็ต้องดูว่าตรงไหนมีความเหมาะสมในการทำ แต่ยืนยันว่าเราจะใช้ยางในประเทศให้มากขึ้น เพราะที่ผ่านมาใช้ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เช่นเดียวกับการส่งเสริมในการผลิตสินค้าต่างๆอาทิ ที่นอน ถุงมือ หรือสนามฟุตซอล เป็นต้น ซึ่งก็มีผู้ประกอบการรายใหม่หลายแห่งรับซื้อยางไปแล้ว แต่ยังไม่รับรู้โดยทั่วกัน อีกสิ่งหนึ่งที่จะใช้ยางมากขึ้นคือ อุตสาหกรรมการผลิตยางในประเทศ ซึ่งวันนี้กำลังสร้างรับเบอร์ ซิตี้ เพื่อทำในเรื่องยางล้ออยู่ วันนี้ปัญหายางล้อที่ราคราลงเพราะน้ำมันราคาลง พวกยางต่างๆจึงใช้ยางสังเคราะห์แทน เพราะถูกกว่าการใช้ยางดิบ นี่ก็เป็นกระแสเศรษฐกิจโลกด้วย แต่อย่างไรก็ตาม หากเราใช้ในประเทศได้มากไม่ต้องไปขายออกข้างนอก ตนว่าจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มยางของเรา

** ตีตกข้อเสนอชดเชยราคา
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า สำหรับบรรยากาศการประชุมเป็นไปอย่างราบรื่น ตัวแทนภาคส่วนต่างๆมากันหมด ต่างก็พอใจในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การยางที่ออกมา ซึ่งทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมทั้งใน กนย. รวมไปถึงคณะอนุฯต่างๆด้วย โดยวันนี้ภาคเกษตรกรก็ได้มีข้อเสนอมาให้ด้วย ตนก็บอกว่าไม่มีข้อขัดแย้งใดๆทั้งสิ้นอีกต่อไป และก็รับปากกันว่าเราจะเดินหน้าในการสร้างความเข้มแข็งให้กลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตยาง รวมไปถึงผู้กรีดยางด้วย วันนี้ต้องพูดถึง 3 ส่วนที่ต้องเข้าไปดูแล คือ 1.เจ้าของสวน 2.ผู้รับจ้างทำ และ 3.ผู้กรีดยาง ซึ่งรัฐบาลมีแนวนโยบายในการสนับสนุนปลูกพืชเสริม การเลี้ยงสัตว์ หรือการเพิ่มอาชีพต่างๆ สร้างห่วงโซ่คุณค่าเชื่อมโยงกับการตลาด ทั้งในชุมชน ท้องถิ่น ภูมิภาค ตลาดชายแดน ไปสู่ประชาคมโลกอื่นๆ ตรงนี้ได้คุยกันทั้งหมด เข้าใจกันแล้ว แต่บางอย่างทำได้เลย ต้องใช้เวลาเดินหน้า
“เรื่องการชดเชยราคา มันเป็นอันตรายต่อข้อตกลงของ WTO ชดเชยราคา หรือส่วนต่างมากๆมันใช้ไม่ได้แล้ว ที่ผ่านมาก็ถูกจับตาดูอยู่เหมือนกัน วันนี้ต้องหามาตรการอื่นเอามาช่วยเรื่องการสร้างความเข้มแข็ง และทำอย่างไรให้เขาดูแลตัวเองได้ในยามที่ราคายางตก” นายกฯระบุ
ผู้สื่อข่าวถามา ก่อนหน้านี้ตัวแทนชาวสวนยางเรียกร้องในส่วนของราคายาง นายกฯ กล่าวว่า ไม่มีแล้ว วันนี้จบแล้ว
เมื่อถามย้ำว่า จะไม่มีการพูดถึงเรื่องการชดเชยหรืออุดหนุนราคาอีกแล้วใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เป็นการช่วยเหลือ ไม่พูดถึงค่าชดเชย ส่วนต่าง ราคาเท่านี้เท่านั้น เพราะมันผิดข้อตกลงระหว่างประเทศ

** ก.เกษตรฯชงเข้า ครม.อีก 2 สัปดาห์
ขณะที่ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวเสริมว่า รัฐบาลมีโครงการส่งเสริมอาชีพเสริมของเกษตรกรชาวสวนยางพาราได้รับความสนใจจำนวนมากถึง 5 หมื่นรายจากเดิมที่ตั้งเป้าไว้เพียง 3 หมื่นราย จึงจะต้องมีการขยายเวลาออกไปจนถึงปลายปีนี้ และเพิ่มวงเงินขึ้นอีก 2 พันล้านบาทจากเดิมมีอยู่ 1 หมื่นล้านบาท ส่วนการอุดหนุนชดเชยราคาต่างๆนั้น ที่ประชุมได้มีการหารือและตกลงร่วมกันทุกภาคส่วน ทั้งเกษตรกรคนกรีดยางและเจ้าของสวนยางได้ข้อยุติและเห็นตรงกันว่าไม่สามารถชดเชยส่วนต่างราคาได้ เพราะอาจจะมีปัญหาและอาจจะไม่ตรงตามความต้องการของเกษตรกรที่แท้จริงได้ แต่จะเน้นการสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตของเกษตรกร เพื่อสามารถอยู่อย่างยั่งยืนต่อไปได้ ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ตนเป็นประธานการประชุมร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อหามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรต่างๆ ภายในสัปดาห์หน้าที่กระทรวงเกษตรฯ และจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์ถัดไป ซึ่งจะช่วยเหลือได้อย่างแท้จริงและตรงความต้องการของเกษตร รวมทั้งไม่ผิดกติกาต่างๆ และเชื่อว่าการทำงานภายใน 2 สัปดาห์นี้จะสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วและเห็นผลเป็นรูปธรรมได้ภายในปีนี้

** หนุนปัจจัยการผลิต-หาตลาดเพิ่ม
พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวต่อว่า ขณะนี้มีพื้นที่ปลูกยางลดลง ส่วนสต็อกยางพาราที่มีอยู่ขณะนี้ตนได้รายงานต่อนายกฯแล้ว ซึ่งในส่วนนี้ก็มีเงื่อนไขและพันธสัญญาที่จะขายให้กับบริษัทต่างๆที่มีอยู่แล้วและจะยังเดินหน้าต่อไป และหากมีมาตรการที่ตรงตามความต้องการของเกษตรกรที่หารือในสัปดาห์หน้า เชื่อว่าสถานการณ์ต่างๆ ก็จะดีขึ้น เรื่องการชดเชยนั้น เกษตรกรเองก็ยอมรับและต้องขอบคุณที่ฝ่ายที่ยอมรับที่ได้มีการคุยกันร่วมกันว่าเราไม่อยากทำอะไรที่ผิดกฎหมายหรือแม้กระทั่งเรื่องที่จะถูกจับตาจากต่างประเทศซึ่งมีตัวอย่างอยู่แล้ว เช่น เรื่องการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) ที่เราถูกติดตามอยู่ในตอนนี้
“เกษตรกรเข้าใจดีและบอกว่าไม่เอาแล้วที่จะมาชดเชยราคา แต่มาคุยกันว่าจะให้มีการช่วยเหลืออย่างไร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัจจัยการผลิต ให้ตรงความต้องการและครอบคลุมทุกมิติ ส่วนเรื่องราคา ได้มีแผนงานและการหาตลาดเพิ่มแล้ว” พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว

** โวเตรียม 6 มาตรการช่วยเหลือไว้แล้ว
ด้าน นายอำนวย ปะติเส ที่ปรึกษา รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า มาตรการการช่วยเหลือเกษตรกรจะเข้าสู่ครม.ในอีก 2 สัปดาห์ โดยมาตรการจะไม่อัดฉีดเงินเข้ากระเป๋าเกษตรกร แต่จะใช้วิธีเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร ซึ่งการประชุมวันนี้เกษตรกรขอให้ช่วยเหลือโดยตรง โดยการขอเป็นเงินโดยตรงเข้ากระเป๋า แต่ฝั่งรัฐบาลอยากให้ทำเป็นมาตรการที่ยั่งยืน ส่วนมาตราช่วยเหลือปัจจัยการผลิต 2,500 บาทต่อไร่ ต้องหาวิธีการว่าถ้าให้ไปแล้วเกษตรกรจะจัดสรรเงินอย่างไร จึงถือเป็นมาตรการสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร
“เรื่องชดเชยส่วนต่างราคาทั้ง 2 ฝ่ายพูดคุยตกลงกันเป็นที่พอใจว่าจะไม่มีการดำเนินการในเรื่องนี้ โดยทางกระทรวงเกษตรได้เตรียม 6 มาตรการในการดูแลในการช่วยเหลือเกษตรกรไว้แล้ว” นายอำนวย กล่าว

** ชงใช้ ม.44 สั่งในประเทศใช้ยางให้มากขึ้น
อีกด้าน นายสุนทร รักษ์รงค์ ผู้ประสานงานแนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง 14 จังหวัดภาคใต้ ที่เข้าร่วมประชุม กนย.ในวันนี้ด้วยกล่าวว่า การเคลื่อนไหวของเครือข่ายชาวสวนยาง หรือการแสดงออกของชาวสวนยางตามกรอบของกฎหมายเป็นสิทธิคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้อง การแสดงออกต่างๆ ที่อยู่ในกรอบเกษตรกรชาวสวนยางมีสิทธิที่จะแสดงออก อย่างไรก็ตาม มาตรการต่างๆที่วันนี้ได้มีการตกลงระหว่างกันทั้งนายกรัฐมนตรีและ รมว.เกษตรฯ สิ่งที่เราเรียกร้องคือการช่วยเหลือ ซึ่งวันนี้ชัดเจนว่าหากใช้ประเด็นเรื่องของส่วนต่างอาจขัดกับประเด็นของ WTO จึงมีมติว่าอะไรก็ได้ที่ไม่ก่อให้เกิดความหนักใจต่อรัฐบาล ความช่วยเหลือดังกล่าวได้หยุดเลือดที่ไหลของเกษตรกรชาวสวนยาง โดยเฉพาะคนกรีดยางที่ไม่เคยได้รับความช่วยเหลือมาก่อน ส่วนรายละเอียดความช่วยเหลือนั้นในสัปดาห์หน้าก็จะมีการประชุมทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในส่วนของภาคเกษตรกรก็ใช้วิธีที่ให้เขาสะท้อนมาว่าเขาต้องการอะไรไม่ใช่การกำหนดจากข้างบน ทั้งนี้เราพอใจเพราะการช่วยของรัฐบาลเพราะการช่วยเหลือไปถึงคนกรีดยางด้วย
“ในการหารือที่ประชุมได้เสนอไปว่า นอกจากช่วยเกษตรกรหยุดเลือดที่ไหลในระยะสั้นแล้ว ต้องส่งเสริมความเข้มแข็ง และความมั่นคง ซึ่งในระยะยาวการที่จะทำให้ยางราพาปรับราคาขึ้นนั้นเป็นเรื่องยาก ฉะนั้นต้องทำอย่างไรให้เกษตรกรอยู่อย่างยั่งยืน ขณะที่ระยะกลางเสนอให้นายกฯใช้มาตรา 44 สั่งให้มีการใช้ยางในประเทศเพื่อลดปริมาณยางที่ค้างอยู่ ส่วนระยะยาวเสนอให้ใช้ พ.ร.บ.การยาง เป็นเครื่องมือและกลไกในการแก้ปัญหาต่างๆ” นายสุนทร กล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น