“ฉัตรชัย”มอบนโยบายผู้บริหารระดับสูง ก.เกษตร ขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วน 5 ด้าน เน้นแนวทางการลดต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตร ฐานข้อมูลเกษตรกร แหล่งน้ำขนาดเล็ก การเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร และ เกษตรอินทรีย์ ตั้งเป้าลดต้นทุนภาคเกษตรเป็นวาระสำคัญปี59 ก่อนประชุม 11 ผู้ตรวจราชการกระทรวงฯ มอบดูแลพืชหลัก 11 ชนิด พร้อมตั้งเป็น Mister และ Miss ประจำพืช 11 ชนิด
วันนี้ (2 ก.ย.) พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า เป็นประธานการประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงเกษตรฯ เพื่อรับทราบการดำเนินงานที่ส่วนต่าง ๆ ดำเนินการอยู่ และพิจารณาขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วน 5 ด้าน ได้แก่ แนวทางการลดต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตร ฐานข้อมูลเกษตรกร แหล่งน้ำขนาดเล็ก การเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร และเกษตรอินทรีย์
นอกจากนี้ ได้เพิ่มเติมการส่งเสริมสหกรณ์ให้เข้มแข็ง การส่งเสริมเกษตรทฤษฎีใหม่ให้เห็นผลใน 6 เดือน การบริหารจัดการน้ำในช่วงหลังฤดูฝนปีนี้ และแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติโดยเน้นในระดับจังหวัด/อำเภอ/ตำบล นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำการทำงานทุกส่วนต้องมีเป้าหมายสอดคล้องกับปัจจัยภายใน/ภายนอกประเทศ มีแผนการทำงานรองรับ โดยจะประกาศให้ปี 2559 เป็นปีแห่งการลดต้นทุนการผลิตของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นี้หลังจากประชุมผู้บริหาร ได้ประชุมผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งในปัจจุบัน มี 11 คน มีหน้าที่ที่รับมอบหมาย 3 ด้าน ได้แก่ การตรวจราชการตามเขตพื้นที่ 17 เขต (บางท่านรับผิดชอบ 2 เขตพื้นที่) การตรวจและติดตามเร่งรัดการปฏิบัติงานเฉพาะด้าน (งานกรม) และ การตรวจราชการโครงการต่าง ๆ ผมได้รับฟังข้อเสนอแนะจากผู้ตรวจราชการซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาโดยเฉพาะแนวทางการบูรณาการการปฏิบัติงานทั้งในรูปของโครงการ และปรับปรุงโครงสร้าง เพื่อเชื่อมโยงลดช่องว่างส่วนกลางและส่วนภูมิภาค นอกจากนั้น ผมได้มอบหมายงานเพิ่มเติมให้ผู้ตรวจราชการแต่ละท่านดูแลพืชหลัก 11 ชนิด เป็น Mister และ Miss พืชนั้น ๆ และจะจัดประชุมผู้ตรวจราชการทุกเดือน
พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงเกษตรฯ ว่า เป็นการประชุมอย่างเป็นทางการนัดแรก ซึ่งนอกจากได้รับทราบแผนงานโครงการสำคัญที่แต่ละหน่วยงานดำเนินการแล้ว ยังได้มอบหมายภารกิจเร่งด่วนที่ต้องมีการบูรณาการจากทุกหน่วยงานในสังกัด เพื่อการแก้ไขปัญหาภาคการเกษตรที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ใน 4 ประเด็นหลัก คือ 1. การลดต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรให้เห็นผลชัดเจนให้ได้ ทั้งในด้านปัจจัยการผลิต การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ โดยจะเริ่มดำเนินการอย่างเข้มข้นภายในปีงบประมาณ 2559 ในทุกรายสินค้า โดยเฉพาะสินค้าที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เช่น ข้าว เป็นต้น
ส่วนประเด็นที่ 2 การปรับปรุงฐานข้อมูลเกษตรกร จากปัจจุบันที่มีอยู่ยังไม่ครบถ้วนเพียงพอในการใช้ประโยชน์ ในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรได้ตรงเป้าหมายได้ทันที จึงได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตร จัดทำแบบฟอร์มการสำรวจข้อมูลเกษตรกรในส่วนที่ยังไม่ครบถ้วน โดยเฉพาะเรื่องหนี้สินเกษตรกร เครื่องมือเครื่องจักรด้านการเกษตร โดยหากข้อมูลส่วนใดสามารถเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่นที่มีข้อมูลอยู่แล้ว ก็สามารถนำมาเพิ่มเติมได้ทันที ส่วนใดที่ยังต้องการสำรวจเพิ่มเติมจะมีเกษตรอาสาลงไปดำเนินการสอบถามจากเกษตรกรโดยตรง ซึ่งในส่วนของข้อมูลที่ต้องการรวมถึงแบบฟอร์มดำเนินการจะเร่งให้มีการสรุปมานำเสนอภายใน 1 สัปดาห์
ขณะที่ประเด็นที่ 3 คือ การขับเคลื่อนการดำเนินงานในส่วนภูมิภาคในระดับจังหวัดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากในการนำนโยบายจากรัฐบาล กระทรวง ไปปฏิบัติการในพื้นที่ และ 4. การส่งเสริมและผลักดันการใช้แนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ไปยังเกษตรกรให้ครอบคลุมในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยขยายผลจากเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จในการนำแนวทางเกษตรกรทฤษฎีใหม่เป็นแบบอย่าง ทั้งนี้ ได้ตั้งเป้าหมายต้องเห็นผลที่ชัดเจนภายใน 6 เดือน
สำหรับประเด็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าสำคัญ ๆ อาทิ สถานการณ์น้ำและภัยแล้ง ได้สั่งการกรมชลประทาน และกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด เพื่อวางแผนบริหารจัดการน้ำก่อนสิ้นฤดูฝน และวางแผนการจัดสรรน้ำเพื่อการปลูกพืชฤดูแล้ง ซึ่งยอมรับว่า สถานการณ์น้ำเก็บกักและปริมาณฝนที่ตกลงมา ประเมินเบื้องต้นว่าน่าเป็นห่วง โดยได้สั่งการให้กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ สร้างความเข้าใจกับเกษตรกรถึงสถานการณ์น้ำที่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม หากจะมีการประกาศงดทำนาปรังก็จำเป็นต้องมีแผนงานโครงการในการสร้างทางเลือกให้เกษตรกร ที่หากไม่สามารถปลูกข้าวได้รัฐจะช่วยเหลืออย่างไร โดยทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ต้องเข้ามาร่วมกันดำเนินการ ส่วนประเด็นผลกระทบของชาวประมงในการกำหนดวันทำประมงนั้น ได้มอบหมายให้กรมประมงประชุมหารือกับผู้ได้รับผลกระทบ เพื่อหามาตรการช่วยเหลือโดยเร่งด่วนแล้ว