ก.เกษตรฯ คาด “นาปี” เสียหาย 6 หมื่นล้าน หากภัยแล้งยาวนาน และไม่สามารถทำนาปีได้ วอน คสช. ส่งทหาร สกัดชาวบ้านแย้งน้ำ เผย “กรมชลฯ” หมดหนทาง พึ่งไสยศาสตร์อีกรอบ เชิญโหรขอฝน หน้าเขื่อนใหญ่ทั่วประเทศ “ปีติพงศ์” ย้ำจำเป็น ต้องชะลอปลูกข้าวนาปี 4 ล้านไร่ จนถึงปลาย เดือน ก.ค. นี้ หลังรับรายงานปริมาณน้ำในลุ่มเจ้าพระยา เข้าข่ายวิกฤต
วันนี้ (15 มิ.ย.) นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ เรียกประชุมผู้บริหาร Morning Talk ทุกหน่วยงานเพื่อรับมือสถานการณ์ฝนทิ้งช่วง
ภายหลังการประชุม รมว.เกษตรฯ เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทานได้ประกาศขอความร่วมมือเกษตรกรชะลอการปลูกข้าวนาปีในลุ่มน้ำเจ้าพระยาออกไปก่อน เนื่องจากพื้นที่ชลประทานลุ่มเจ้าพระยาเป็นพื้นที่การเพาะปลูกขนาดใหญ่ของประเทศ และใช้น้ำจาก 4 เขื่อนหลักในการบริหารจัดการ โดยปริมาณน้ำใช้การได้ขณะนี้ก็มีอย่างจำกัด และจำเป็นต้องบริหารจัดการน้ำที่มีจำกัดอย่างรัดกุม ซึ่งจากแผนการเพาะปลูกข้าวนาปี ปี 2558 พื้นที่ชลประทานลุ่มเจ้าพระยา 22 จังหวัดรวม 7.45 ล้านไร่
ล่าสุด พบว่า มีการเพาะปลูกแล้ว 3.44 ล้านไร่ ยังคงเหลือพื้นที่ที่ยังไม่เพาะปลูกอีกประมาณ 4 ล้านไร่ จึงจำเป็นจะต้องเร่งสร้างความเข้าใจกับเกษตรกรถึงสถานการณ์ที่มีอยู่จริงอยู่ในขณะนี้ เพื่อร่วมมือกับทางภาครัฐในการชะลอการทำนาปีออกไปก่อนจนกว่าฝนในฤดูปกติจะมาถึง ซึ่งกรมอุตุนิยมคาดการณ์ว่าจะมีฝนตกชุกตามฤดูกาลในช่วงกลาง - ปลายเดือนกรกฎาคมนี้
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ จำเป็นต้องขอความร่วมมือเกษตรกรชะลอปลูกข้าวนาปีออกไปก่อน เนื่องจากปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยาต่ำกว่าเป้าหมายมาก ขณะเดียวกัน ปริมาณฝนที่ตกในช่วงเดือน พ.ค. ในภาคกลางก็ต่ำกว่าปี 2557 ถึง 45% แต่กรมชลประทานยังต้องจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภค - บริโภค และรักษาระบบนิเวศไม่ให้ได้รับผลกระทบ ดังนั้น พื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ซึ่งเริ่มฤดูนาปีตั้งแต่ต้นเดือน พ.ค. ซึ่งขณะนี้มีพื้นที่ปลูกข้าวแล้ว 3.44 ล้านไร่ กรมชลประทานจะบริหารจัดการน้ำที่มีอยู่ไม่ให้พื้นที่ที่ลงมือเพาะปลูกไปแล้วได้รับความเสียหาย
ส่วนพื้นที่ที่ยังไม่เพาะปลูก ได้สั่งการให้หน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ ร่วมกับทางจังหวัดในการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกับเกษตรกรถึงสถานการณ์จริงที่เป็นอยู่ รวมถึงใช้โอกาสนี้เข้าไปสำรวจความต้องการของเกษตรกรที่ต้องชะลอการปลูกข้าวนาปีไปปลูกพืชชนิดอื่นที่ใช้น้ำน้อยกว่าให้แล้วเสร็จภายในสัปดาห์หน้า เพื่อพิจารณามาตรการให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปุ๋ยพืชสด การทำประมง หรือ ปศุสัตว์ จนถึงช่วงที่ฝนมาปกติ
“ส่วนพื้นที่อื่นๆ ที่ยังไม่เริ่มฤดูเพาะปลูกทางกรมชลประทานจะติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด โดยภาคตะวันนอก และ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะเริ่มนาปีในเดือนมิถุนายน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการปลูกข้าวโดยวิธีหว่าข้าวแห้งและใช้ฝนธรรมชาติ ก็ไม่น่าจะได้รับผลกระทบมากนัก ภาคเหนือ และ ตะวันออก เริ่มปลูกในเดือนกรกฎาคมซึ่งก็ต้องดูสถานการณ์ฝนอีกครั้ง ส่วนภาคใต้และตะวันตกเริ่มปลูกในเดือนสิงหาคม”
อย่างไรก็ตาม จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาในช่วงวันที่ 14 - 18 มิ.ย. (ข้อมูล ณ วันที่ 12 มิ.ย. 58) มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยมีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มมากขึ้นในช่วงวันที่ 12 - 18 มิ.ย. โดยทั่วประเทศจะมีฝนตกประมาณ 5 - 20 มม. ซึ่งแม้จะเป็นปริมาณฝนที่ไม่มากนัก แต่ก็จะบรรเทาความแห้งแล้งและเพิ่มความชุ่มชื้นในอากาศได้บางส่วน ซึ่งได้สั่งการให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด โดยสภาพอากาศในทั่วทุกภาคขณะนี้ พบว่า มีความชื้นสัมพันธ์ในอากาศเพิ่มมากขึ้นมากกว่า 60% โดยเฉพาะภาคเหนือที่มีความชื้นมากกว่า 70% ซึ่งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่มีอยู่ทั้ง 13 ฐาน ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ พิษณุโลก นครสวรรค์ ลพบุรี กาญจนบุรี ขอนแก่น นครราชสีมา ระยอง จันทบุรี อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี สงขลา และอุบลราชธานี พร้อมปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเติมน้ำในเขื่อนและสำรองน้ำให้ได้มากที่สุด
“ทหาร กอ.รมน. และข้าราชการในพื้นที่ ต้องทำความเข้าใจกับเกษตรกร ทำอย่างไรไม่เกิดปัญหาแย่งน้ำ และพูดความจริงถึงปัญหาน้ำ อย่าให้ใครมาบังคับเปิด - ปิดประตูน้ำ กันอีก ยุคนี้ไม่มีใครมาสั่งได้ และยุคนี้ไม่จำเป็นต้องหาเสียง ในพื้นที่ไม่ต้องฟัง ส.ส. เหมือนก่อน ขอให้เข้ามาช่วยกันดูแลประชาชน โดยเฉพาะขอให้ทหารมาช่วยควบคุมการหมุนเวียนรอบส่งน้ำ ให้เป็นไปตามแผน หากเกษตรกรไม่เชื่อฟังอาจเกิดปัญหาขัดแย้งได้ และขอความร่วมมือเกษตรกรและประชาชนติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ หากเดือน ก.ค. ไม่มีฝนตก จะต้องมีปรับแผนการใช้น้ำ และวางมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม พื้นที่ยังไม่ได้ปลูกข้าว ซึ่งมีจำนวน 1.25 ล้านไร่ ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ได้รับผลกระทบ จะให้กรมส่งเสริมการเกษตร สำรวจเพื่อลงไปช่วยเหลือให้ปลูกพืชระยะสั้น เช่น ข้าวโพด ทำปศุสัตว์ และ ประมง ซึ่งรัฐบาลเตรียมงบประมาณไว้แล้วบ้างส่วน” นายปีติพงศ์ กล่าว
ด้าน นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า หากสถานการณ์แล้งยาวนาน และไม่สามารถทำนาปีได้ จะทำให้เสียหายในภาพรวม 6 หมื่นล้านบาท โดยภาคเกษตรมีจีดีพีต่ำกว่าร้อยละ 1.15 จากที่ตั้งเป้าไว้ที่ร้อยละ 2.3 ในปีนี้ ซึ่งคาดว่าสถานการณ์ปีนี้ใกล้เคียงกับเหตุการณ์ฝนทิ้งช่วงต่อเนื่อง เคยเกิดเมื่อปี 33 จนเขื่อนต้องหยุดปล่อยน้ำเพื่อการผลิตไฟฟ้า เก็บน้ำไว้เพื่ออุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเท่านั้น
ขณะที่ นายชูชาติ ฉุยกรม อดีตวิศวกรใหญ่ที่ปรึกษาด้านวิศกรรมโยธา กรมชลประทาน ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นโหรใหญ่ประจำกรมชลฯ และเป็นผู้ให้คำแนะนำนายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ประกอบพิธีบวงสรวงขอฝนจากพระพิรุณทรงนาคที่ประดิษฐานด้านหน้ากระทรวงเกษตรฯ เพราะปีนี้เจอแล้งหนัก จนเป็นที่ฮือฮาในช่วงก่อนหน้านี้ เปิดเผยว่า หลังจากปลัดกระทรวงเกษตรฯ ได้ประกอบพิธีขอฝนที่กระทรวงเกษตรฯ ซึ่งเป็นการขอฝนภาพใหญ่ทั่วทั้งประเทศแล้ว
จากนั้น ตนยังได้ไปประกอบพิธีขอฝนบริเวณเขื่อนต่างๆ เพิ่มเติม โดยเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. ที่ผ่านมา ได้ไปทำพิธีขอฝนที่เขื่อนภูมิพล จ.ตาก หลังจากนี้ ก็จะไปทำพิธีขอฝนที่เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช เขื่อนอุบลรัตน บริเวณริมแม่น้ำโขงที่ อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย และภาคตะวันออก ที่ จ.จันทบุรี
“การบวงสรวงทำพิธีขอฝน ที่ปลัดกระทรวงเกษตรฯได้ทำ และผมได้ทำที่เขื่อนใหญ่ๆ ทั่วประเทศ เพราะได้รับคำขอร้องจากเพื่อนฝูงที่เป็นข้าราชการกรมชลฯ เหมือนหมอดูที่จะดูดวง หรือต่อชะตาให้คนอื่นได้ก็ต้องมาจากคำร้องขอของเจ้าตัว โดยการทำพิธีขอฝนทั้งหมดใช้เงินส่วนตัวดำเนินการกันเอง เป็นพิธีเล็กๆ ไม่ใช่พิธีใหญ่เหมือนในตำราพระพิรุณ ที่ต้องทำกันพิธีขอฝนที่ท้องสนามหลวง โดยสิ่งที่ทำเป็นเรื่องของความเชื่อ เรื่องของจิตใจและความเป็นสิริมงคล แล้วแต่ใครจะเชื่อหรือไม่ เพราะทำแล้วไม่ได้เกิดความเสียหายอะไร จะได้ผลมากน้อยก็ขึ้นอยู่กับกำลังจิตของผู้ที่มาร่วมในพิธี ที่ผ่านมาผมก็ได้ประกอบพิธีบวงสรวงขอฝนให้แก่กรมชลฯ มาหลายปีแล้ว แต่ก็ไม่เคยเปิดเผย” นายชูชาติ กล่าว