xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“งบ 1 แสนล้าน กับ“พิธีขอฝน” อะไรจะแก้ภัยแล้งได้ก่อนกัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - “ปีนี้ (2558) น่าห่วง ฝนโดยรวม ทั้งประเทศมีปริมาณน้อย”!!

“น้ำในเขื่อนไม่พอ วอน เกษตรกร-ชาวนา งดกิจกรรมทางการเกษตร ถึงต้นสิงหาคม”!!

หัวข้อข่าว ก่อนและหลัง 10 หน่วยงาน เข้าร่วมประชุมกับ “กรมชลประทาน”เพื่อติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ที่ผ่านมา

ผลการประชุมคร่าว ๆ วันนั้น สรุปว่า มีการเปิดโอกาสให้ตัวแทนจาก “กรมอุตุนิยมวิทยา” เข้ารายงานสถานการณ์ปริมาณฝน ซึ่งพบว่าปีนี้จะมีปริมาณฝนตกต่ำถึง ร้อยละ 10 ลักษณะการตก ก็จะเป็นแบบกระจุกตัวเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งจะมีปัญหาต่อการระบายน้ำ

ข้อมูลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า “เมื่อเข้าสู่เดือนพฤษภาคม ในปีการผลิต 2558/2559 ตามปกติถือว่าเข้าสู่ฤดูกาลเพาะปลูกข้าวนาปีอย่างเป็นทางการ”

แต่ กรมอุตุนิยมวิทยาและกรมชลประทาน คาดการณ์ว่า ฝนปีนี้อาจจะแล้งกว่าปกติ และเขื่อนต่างๆ ทั่วประเทศอาจไม่มีน้ำเพียงพอต่อการส่งเสริมการเพาะปลูก สืบเนื่องจากสภาพอากาศของประเทศ

กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ประกาศเข้าฤดูฝนตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา แต่ขณะนี้กำลังเข้าสู่สัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมิถุนายน แต่ฝนยังตกไม่สม่ำเสมอ

ขณะที่ “สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ” ชี้แจงว่า “หลายพื้นที่ขณะนี้ก็มีฝนตกเป็นไปตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาระบุ ซึ่งจะสังเกตว่าตกในพื้นที่ไม่กว้างและตกในเวลาที่จำกัด ไม่นาน โดยจะมีผลต่อการกักเก็บน้ำในแม่น้ำต่าง ๆ”

ทั้งนี้ “กรมอุตุนิยมวิทยา” และ “กรมชลประทาน”ได้ประเมินว่า ฤดูฝนจะเริ่มในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคม แต่จนขณะนี้ย่างสู่สัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมิถุนายน ยังไม่มีฝนมาเติมน้ำในเขื่อนได้อย่างเพียงพอ ทำให้ในเขื่อนหลักมีน้ำใช้การเหลือประมาณ 1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) สำหรับทุกกิจกรรม จึงอาจต้องประกาศงดส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกนาปี 2558/2559 เพื่อให้มีน้ำเหลือพอรักษาระบบนิเวศและการอุปโภคบริโภค

ปกติในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาจะมีการทำนาประมาณ 9.2 ล้านไร่ ตลอดฤดูกาลผลิต ซึ่งใช้น้ำจากเขื่อนต่างๆ เดือนละประมาณ 1,500 ล้าน ลบ.ม.

กรมชลประทานต้องส่งน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคเดือนละ 150 ล้าน ลบ.ม. และรักษาระบบนิเวศ (ผลักดันน้ำเค็ม) เดือนละ 180 ล้าน ลบ.ม. ดังนั้นโดยรวมต้องใช้น้ำในทุกกิจกรรมปริมาณ 1,800-1,900 ล้าน ลบ.ม. หากนำน้ำใช้การที่เหลืออยู่มาส่งเสริมการทำนาเต็มพื้นที่และส่งน้ำตามปกติกับกิจกรรมอื่นๆ อีกด้วยจะทำให้เหลือน้ำใช้เพียง 25 วันเท่านั้น

ที่ประชุมรับรายงานว่า จากปริมาณน้ำในเขื่อนหลัก 4 แห่งทั่วประเทศ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเชื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ขณะนี้รวมกันมีปริมาตรน้ำ 8,228 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 33 ของความจุอ่าง ซึ่งในจำนวนนี้สามารถใช้การได้เพียงร้อยละ 8

ส่วนสถานการณ์น้ำในพื้นที่ จ.นครราชสีมา “นายสุทธิโรจน์ กองแก้ว” ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง บอกว่า สถานการณ์น้ำปริมาณน้ำภายในอ่างเก็บน้ำลำตะคอง ในพื้นที่ อำเภอสีคิ้วจังหวัดนครราชสีมา ล่าสุด ปริมาณน้ำจากความจุกักเก็บทั้งหมด 373.64 ล้านลูกบาศก์เมตรมีปริมาณน้ำใช้การได้เหลืออยู่เพียง 65 ล้านลูกบาศก์เมตรคิดเป็น 21 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือได้ว่ามีปริมาณน้ำที่ลดต่ำลงอย่างต่อเนื่องในรอบหลายสิบปี

อย่างไรก็ตาม ทางอ่างเก็บน้ำลำตะคอง ก็ยังมีการจัดส่งปริมาณน้ำออกจากอ่างฯ เพื่อทำการรักษาระบบนิเวศ และการอุปโภคบริโภค เฉลี่ยอยู่ที่วันละ 7 แสนลูกบาศก์เมตร โดยถือได้ว่าเป็นปริมาณน้ำที่จัดส่งออกมาอยู่ในเกณฑ์ที่เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค ตั้งแต่เขื่อนลำตะคอง จนไปถึงลำน้ำมูล ผ่านทั้งหมด 5 อำเภอประกอบด้วย อ.สีคิ้ว, อ.สูงเนิน, อ.ขามทะเลสอ, อ.เมือง, เขตเทศบาลนครนครราชสีมา 88 ชุมชน และอ.เฉลิมพระเกียรติเป็นระยะทางกว่า 120 กิโลเมตร

"ทางอ่างเก็บน้ำลำตะคอง จะมีการหารือกับหน่วยงานที่ เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น กำนันผู้ใหญ่บ้าน กลุ่มตัวแทนผู้ใช้น้ำ ประปาชุมชน เพื่อกำหนดกรอบการใช้น้ำในการเตรียมรับมือกับปัญหาฝนทิ้งช่วงใน ตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายน 2558 เพื่อร่วมกันในการบริหารจัดการน้ำที่เหลืออยู่ให้เพียงพอต่อการรักษา ระบบนิเวศและการอุปโภคบริโภคเพื่อรอฝนตกลงมาเติมน้ำอ่าง"

ปลายเดือนพฤษภาคม ที่กรมอุตุมนิยมวิทยา ประกาศให้เป็นฤดูฝน กลับมีข่าวภัยแล้งเกิดขึ้น

“ภัยแล้งเริ่มคุกคามในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ทั้ง 17 อำเภอ โดยเฉพาะเขตพื้นที่ ต.แคน อ.สนม และ ต.ขวาวใหญ่ อ.ศีขรภูมิ จ.สุรินทร์ พบว่าสภาพนาข้าวกำลังได้รับความเสียหายที่เกิดจากภัยแล้งอย่างหนัก ต้นข้าวหอมมะลิที่ชาวนาหว่านไว้กำลังยืนต้นตายเป็นจำนวนมาก เนื่องมาจากฝนที่ไม่ตกต้องตามฤดูกาลเป็นวงกว้าง สร้างความเสียหายจำนวนมากให้กับชาวนาในทุกๆพื้นที่ของ จ.สุรินทร์”

“ชาวสวนแคนตาลูป จ.นครสวรรค์ ประสบปัญหาขาดทุน หลังภัยแล้งยังคุกคามหนัก เผยแล้งจัดต้นแคนตาลูปไม่ยอมโต ผลผลิตตกต่ำซ้ำโรคระบาดคุกคาม ประสบกับปัญหาการขาดทุนแล้วกว่า 2 หมื่นบาท”

ตอกย้ำข่าว “น้ำในเขื่อนไม่พอ -วอน เกษตรกร-ชาวนา งดกิจกรรมทางการเกษตร ถึงต้นสิงหาคม”

เมื่อ“นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์” เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) แจ้งว่า จากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน ได้ออกประกาศประกาศงดส่งน้ำ สำหรับเพาะปลูกข้าวนาปรัง ในพื้นที่จังหวัดลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและแนะนำถึงปลูกพืชฤดูแล้งเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ดังกล่าวไปแล้วตั้งแต่ช่วงปลายปี 2557 นั้น

ปรากฏว่า ยังมีชาวนาที่ฝ่าฝืนประกาศทำนาปรังไปรวมกว่า 6.87 ล้านไร่ทั้งนอกเขตและในเขตชลประทาน จากที่กำหนดไว้แค่ประมาณ 2 ล้านไร่ (นอกเขตชลประทาน) โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดลุ่มเจ้าพระยาในเขตชลประทานที่ให้งดทำนาปรัง พบว่ามีการปลูกถึง 3.78 ล้านไร่ จึงส่งผลให้การใช้น้ำในเชื่อนหลัก ทั้ง 4 แห่ง ประกอบด้วย เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีการใช้น้ำรวมทั้งสิ้น 1,200 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่งผลให้เหลือน้ำในเขื่อนสำหรับการเพาะปลูกข้าวนาปีระหว่างเดือนพฤษภาคม-ตุลาคมนี้ เพียงประมาณ 3,800 ล้านลูกบาศก์เมตร

ในเรื่องดังกล่าว ย่อมส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกข้าวนาปีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กอปรกับปริมาณน้ำฝนของภาคกลางและภาคเหนือในปีนี้ที่คาดว่าจะต่ำกว่าเกณฑ์

“ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงขอความร่วมมือให้เกษตรกรงดกิจกรรมการทางการเกษตรที่เคยดำเนินการไปจนถึงต้นเดือนสิงหาคม เพื่อรอปริมาณน้ำฝนและน้ำในเขื่อนที่มีปริมาณเพียงพอต่อการสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมทางการเกษตร”

อย่างไรก็ตาม ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว รัฐบาล โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สนับสนุนให้เกษตรกรหันมาดำเนินกิจกรรมด้านอื่นๆ เช่น การเรียนรู้นวัตกรรมและองค์ความรู้ทางการเกษตรใหม่ๆ หรือผ่านศูนย์เรียนรู้การเกษตรแบบเบ็ดเสร็จ 882 ศูนย์ ทั่วประเทศ ซึ่งศูนย์ดังกล่าวจะมีกิจกรรมให้เกษตรกรได้เลือก ทั้งการเรียนรู้ฟาร์มตัวอย่าง แปลงสาธิต การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ องค์ความรู้ด้านเมล็ดพันธุ์ เป็นต้น โดยสามารถสอบถามได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัดในพื้นที่ โดยกรมส่งเสริมการเกษตรจะมีการจัดทำโครงการต่างๆเพิ่มขึ้นในช่วงระยะเวลาดังกล่าว

ทั้งนี้ ในส่วนของเงินทุนหมุนเวียนนั้นที่รัฐบาลได้ช่วยเหลือเกษตรกรชาวนาทั่วประเทศที่ประสบปัญหาราคาข้าวตกต่ำ ประมาณ 60,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินการในมาตรการต่างๆ เช่น การลดต้นทุนการผลิต การช่วยเหลือค่าใช้จ่ายด้านต้นทุนการผลิต และให้ ธ.ก.ส.สนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนให้สหกรณ์การเกษตรและสถาบันเกษตรนั้น ย่อมส่งผลกระทบต่อ GDP ภาคเกษตรที่ลดลง ในช่วงระยะเวลาที่ขอความร่วมมือให้เกษตรกรงดการดำเนินกิจกรรมทางเกษตรไปจึงถึงต้นเดือนสิงหาคม 2558

ทั้งนี้ ภาครัฐ ได้มีแนวทางช่วยเหลือและมาตรการรองรับอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชนเพื่อเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง และแนวทางการลดค่าใช้จ่าย รวมทั้ง ทางกระทรวงพาณิชย์ได้มีการเตรียมแผนการช่วยเหลือแล้วในระยะต่อไป

วันก่อนที่ ห้องประชุมโครงการอ่างน้ำเก็บกักน้ำประแสร์ บ้านแก่งหวาย หมู่ 6 ตำบลชุมแสง อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง ในช่วงที่ พล ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.ลงพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา และ จ.ระยอง ได้รับฟังบรรยายสรุปโครงการเพิ่มประสิทธิภาพกักเก็บน้ำประแสร์ พร้อมกับพล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลป์ยะ ประธานกรรมการกำหนดนโยบายการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ

ทราบว่า รัฐบาลได้เพิ่มประสิทธิภาพในการกับเก็บและระบายน้ำ โดยสนับสนุนงบประมาณดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำประแสร์ จำนวนเงิน 64,600,000 บาท จะสามารถเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำประแสร์ จากเดิม 248 ล้าน เป็น 295 ล้าน ลบ.ม.ทำให้มีความจุเพิ่มขึ้น 46.50 ล้าน ลบ.ม.

แต่ “โครงการอ่างน้ำเก็บกักน้ำประแสร์”ยังไม่แล้วเสร็จ!!

นายกฯ พูดถึงเรื่องการกักเก็บน้ำว่า”ต้องการเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำแห่งใหม่ ลักษณะแบบทะเลสาบน้ำจืด เช่น บึงบอระเพ็ด กว๊านพะเยา มอบหมายให้อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำไปสำรวจพื้นที่ราชพัสดุ หรือที่ดินของกรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงที่ดินของประชาชนที่เป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากมาทำเป็นทะเลสาบขนาดใหญ่แห่งใหม่เพื่อกักเก็บน้ำและพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวด้วย”

ย้อนไปคราวการประชุมระดับปลัด ที่กระทรวงการคลัง เมื่อต้นสัปดาห์ พล.อ.ประยุทธ์ ได้สั่งให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงเกษตรฯ เตรียมตัวรับมือสถานการณ์แล้ง

“เตรียมลงพื้นที่ภาคเหนือปลายเดือนมิ.ย.นี้ เริ่มที่จังหวัดเชียงใหม่ และพิษณุโลก เพื่อดูปริมาณน้ำในเขื่อน นายกฯ ต้องการเห็นว่าสภาพน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ในภาคเหนือมีปริมาณเท่าไหร่ มีเพียงพอสำหรับการทำการเกษตรหรือไม่”

ขณะที่กองทัพทุกเหล่าทัพ กระทรวงมหาดไทย กรมชลประทาน และ กรมทรัพยากรน้ำ เข้าช่วยเหลือประชาชนมาตลอด ตามคำสั่งของ คณะกรรมการกำหนดนโยบายและบริหารจัดการน้ำเพราะเมื่อเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา รัฐบาลได้จัดงบประมาณสำหรับการนี้ไว้ทั้งสิ้นประมาณ 1 แสนล้านบาท เพื่อดำเนินการ 10,000 โครงการ

แต่ข่าวที่ว่า “กระทรวงเกษตรและสหกรณ์” ได้ออกคำสั่งขอความร่วมมือให้เกษตรกรงดกิจกรรมการทางการเกษตรที่เคยดำเนินการไปจนถึงต้นเดือนสิงหาคม “จึงถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การทำนาปี ที่กรมชลประทานจะงดส่งน้ำทำการเพาะปลูกตั้งแต่เดือนมิถุนายน เพราะเพิ่งเริ่มการเพาะปลูกได้เพียง 1 เดือนเท่านั้น ตามที่”ตามที่ นายวิเชียร พวงลำเจียก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ระบุไว้

สุดท้ายเมื่อ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีภาพข่าว “นายชวลิต ชูขจร” ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดทำพิธีขอฝนจากพระพิรุณอย่างอลังการ ที่หน้ากระทรวงเกษตรฯ ตามคำเตือนของโหรชื่อดัง

มีคำถามว่าฤดูฝนนี้ “งบประมาณ 1 แสนล้าน” กับ “พิธีขอฝน” อะไรจะแก้ปัญหาได้ก่อนกัน โปรดตามติดตาม


กำลังโหลดความคิดเห็น