xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อโลกกระหายน้ำได้ โลกก็สำลักน้ำได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กวาดสายตาไปทั้งโลกก็ประจักษ์ว่า มนุษย์เป็นทั้งผู้สร้าง และผู้ทำลายในเวลาเดียวกัน

ความก้าวหน้าทางวิทยาการด้านต่างๆ ของมนุษย์ ไกลเกินกว่าสัตว์ทุกสายพันธุ์จะไปถึง มนุษย์ฉลาดเป็นลำดับ วางตัวเป็นผู้ฝืนกฎธรรมชาติด้วยวิทยาการที่ก้าวหน้า เพื่อชีวิตสุขสบาย

จำนวนประชากรโลกเพิ่มขึ้น อุปสงค์ (Demand) เพิ่มขึ้น ในขณะฝั่งอุปทาน (Supply) โดยเฉพาะทรัพยากรธรรมชาติกลับลดลง

เป็นการสวนทางที่น่าระทึกใจเป็นอย่างยิ่ง

ปัญหาน้ำของประเทศไทยก็คล้ายกับทั่วโลก ความต้องการน้ำเพิ่มขึ้นตามลำดับและรวดเร็ว เพราะจำนวนประชากรแต่ละ 1,000 ล้านคน เพิ่มขึ้นในอัตราที่เร็วขึ้น หรือใช้เวลาสั้นลง กิจกรรมใช้น้ำก็หลากหลายขึ้น

โลกจึงหิวกระหายน้ำไม่เคยพอ

ในบรรดาชาติด้อยพัฒนาน้ำเป็นทรัพยากรที่หาได้ยาก ผู้หญิงเทินที่ใส่น้ำเดินเป็นระยะไกลๆ เป็นค่อนครึ่งวันเพื่อหาน้ำมาใช้ในครัวเรือน เวลาที่เสียไปเท่ากับเวลาผลิตหรือหาอาหารที่น้อยลง น้ำจึงจำเป็นต่อชีวิตอย่างยิ่ง ชาติเกษตรกรรมก็ต้องการน้ำมาก เช่นเดียวกับชาติอุตสาหกรรม

ประเทศไทยอาจโชคดีตรงตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ฝนตก 6 เดือน ตกหนักเสีย 2-3 เดือน อีก 6 เดือนเข้าสู่หน้าแล้ง ปริมาณฝนเฉลี่ยกว่า 1,400 มิลลิเมตรต่อปี ช่วยทำให้ประเทศนี้เขียวขจี มีอาหารการกินที่อุดมสมบูรณ์

แต่ก็โดยการแทรกแซงธรรมชาติ ด้วยการพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุน ในนามเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ รวมทั้งระบบส่งน้ำ ระบายน้ำ ที่เรียกระบบชลประทาน

113 ปี นับแต่สถาปนากรมคลอง ต้นทางของกรมชลประทานในเวลาต่อมา ประเทศไทยมีเขื่อนเก็บกักน้ำหรืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 33 แห่ง ขนาดกลาง 448 แห่ง รวมความจุ 76,000 ล้านลูกบาศก์เมตร

นี่คือโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำ ที่ทำให้ประเทศแห่งนี้กลายเป็นอู่ข้าว อู่น้ำ แห่งหนึ่งของโลก เรียกขานกันในนามครัวโลก

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ปราศจาก 33 เขื่อน และอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 448 ขนาดกลาง โฉมหน้าของประเทศนี้จะเป็นเช่นไร ในขณะที่ประชากรไทยเพิ่มขึ้นเป็น 70 ล้านคน จาก 113 ปีก่อน อาจมีแค่หลักแสนหรือล้านต้นๆ เท่านั้น

ปี 2556/2557 ประเทศไทยต้องงดทำนาปรังอย่างจริงจังในพื้นที่ลุ่มน้ำสำคัญอย่างเจ้าพระยา และแม่กลอง เพราะปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเหลือน้อย

มันเป็นสัญญาณของธรรมชาติที่ไม่เป็นใจ และอาจถึงขั้นปรากฏการณ์เอลนีโญที่จะเวียนมาถึงอีกรอบ และถี่ขึ้น จนถึงฤดูฝน 2558 นับแต่เดือนพฤษภาคมฝนก็ยังทิ้งช่วง จนไม่แน่ใจว่าปลายเดือนจะตกไหม

ลำพังนาในพื้นที่ชลประทานยังได้รับการส่งน้ำที่เก็บไว้ช่วงที่งดทำนาปรัง แต่นานอกพื้นที่ชลประทานหรือนาน้ำฝน ถ้าฝนไม่ตกนั่นหมายถึงยังไม่ถึงเวลาหว่านดำข้าว ยิ่งเนิ่นช้าก็ยิ่งเสี่ยง เพราะสิงหาคม-ตุลาคม เป็นช่วงเดียวที่ฝนตกหนักที่สุด และมักเกิดน้ำท่วมช่วงนี้

ถ้าปลูกช้า กว่าจะเก็บเกี่ยวก็ปาเข้าไปปลายฤดูฝน หรือช่วงที่ฝนกำลังตกหนัก ข้าวเปลือกในนาเสียหายด้วยฝน ด้วยน้ำบ่าท่วม ทั้งชีวิตของชาวนาอยู่ที่นั่น อยู่ตรงนั้น

เราบังคับฝนตกมากน้อย กำหนดสถานที่ตกก็ไม่ได้ ฉะนั้นน้ำในอ่างเก็บน้ำจึงสำคัญยิ่งยวด เมื่อมีน้ำในอ่างเก็บน้ำจึงต้องบริหารจัดการให้ดีที่สุด

ดีที่สุดสำหรับคนไทยทุกคน

กรมชลประทานจัดวางลำดับความสำคัญของกิจกรรมการใช้น้ำเพื่อ 1. การอุปโภคบริโภค 2. การรักษาระบบนิเวศ ไม่ให้น้ำทะเลรุกล้ำพื้นที่การเกษตรและน้ำจืด 3. การเกษตรกรรม-การอุตสาหกรรม และอื่นๆ

เท่ากับประกันความมั่นคงของชีวิตเป็นเบื้องต้น ประกันความมั่นคงด้านอาหารเป็นลำดับถัดมา

เป็นการสำทับว่า น้ำคือชีวิต

กลับกัน ต้องบริหารน้ำปริมาณมากเกินความต้องการให้ไม่เกิดภัยในนามอุทกภัย หรือมหาอุทกภัย

ปี 2554 เป็นบทเรียนที่ต้องถอดรหัสออกมา เพื่อให้แน่ใจว่าไม่เกิดซ้ำสอง แม้ปริมาณน้ำจะมาก หากมีวิธีบริหารจัดการที่ถูกต้อง ความเสียหายก็จะน้อยลง

แล้งๆ และร้อนๆ อย่างนี้ ด้านหนึ่ง น่ากลัวแล้ง อีกด้านหนึ่งอาจพลิกผันเกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ตามมา เหมือนปี 2554 ที่ปี 2553 ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำมีน้อยมาก แต่พอเข้าสู่ปี 2554 กลับมีพายุพัดผ่านเข้ามาหลายลูกอย่างต่อเนื่อง จนน้ำท่วมใหญ่ในประวัติศาสตร์ไทย

เป็นภาวะเดียวกับที่โลกสำลักน้ำในหลายๆ พื้นที่เช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น