xs
xsm
sm
md
lg

กรมชลฯเตือนชะลอปลูกข้าว หวั่นน้ำมีไม่เพียงพอ เขื่อนภูมิพลแห้งรอบ51ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-กรมชลประทานประกาศเตือนเกษตรกรลุ่มเจ้าพระยา ชะลอปลูกข้าวไปปลายเดือนก.ค. เหตุไม่มีน้ำสนับสนุนแล้ว แต่ละเขื่อนเหลือใช้งานได้ไม่ถึง 10% เผยเขื่อนภูมิพลเข้าขั้นวิกฤตครั้งที่ 4 ในรอบ 51 ปี ชลประทานเชียงใหม่ขอเลื่อนปลูกข้าวเพื่อผันน้ำช่วยชาวสวนลำไย ก่อนผลผลิตเสียหาย ชาวนาพิจิตรถึงกับกั้นคลองขอแบ่งน้ำเข้านา ผู้ว่าฯ เตือนอีก 23 วันฝนไม่ตก หยุดจ่ายน้ำ "บิ๊กตู่" ลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการน้ำ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน ได้ออกประกาศกรมชลประทาน ลงวันที่ 9 มิ.ย.2558 ขอความร่วมมือเกษตรกรในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่ยังไม่ได้ปลูกข้าวนาปี ชะลอการเพาะปลูกไปก่อน จนกว่าจะเริ่มมีฝนตกชุกหรือมีน้ำเพียงพอช่วงปลายเดือนก.ค. และขอให้ทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัด เนื่องจากปีนี้ มีปริมาณฝนน้อยกว่าเกณฑ์ที่ประเมินไว้ ส่งผลให้น้ำไหลเข้าเขื่อนน้อย แต่ต้องระบายมากกว่าแผนที่วางไว้ ทำให้น้ำในเขื่อนลดลงอย่างต่อเนื่อง

โดยเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีน้ำใช้การได้ในเขื่อนภูมิพล จ.ตาก 457 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เขื่อนสิริกิติ์ 831 ล้านลบ.ม. รวม 2 เขื่อน 1,288 ล้านลบ.ม. หรือร้อยละ 7 ของความจุน้ำใช้การได้ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก 95 ล้านลบ.ม. หรือร้อยละ 11 และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี 97 ล้านลบ.ม. หรือร้อยละ 10

คณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. มีมติเห็นชอบให้ระบายน้ำจากเขื่อนทั้ง 4 แห่งช่วงเดือนมิ.ย.-ก.ค. เฉลี่ยวันละ 30-35 ล้านลบ.ม. เพื่อสนับสนุนการอุปโภค บริโภค รักษาระบบนิเวศ และข้าวนาปีที่เพาะปลูกแล้ว 2.84 ล้านไร่เท่านั้น จึงต้องขอความร่วมมือเกษตรกร ที่ยังไม่ได้ปลูกข้าวชะลอไปประมาณปลายเดือนก.ค.

ที่ จ.ตาก สถานการณ์น้ำในเขื่อนภูมิพล อ.สามเงา เข้าสู่ภาวะวิกฤติ มีน้ำกักเก็บน้อยที่สุดเป็นครั้งที่ 4 ในรอบ 51 ปี ของการก่อสร้างเขื่อน โดยครั้งแรกปี 2535 ครั้งที่ 2 ปี 2553 และครั้งที่ 3 ปี 2557 โดยครั้งนี้มีปริมาณน้ำกักเก็บน้อยกว่าวันเดียวกันของปีก่อนถึง 371 ล้านลบ.ม. และตั้งแต่ต้นเดือนมิ.ย.เป็นต้นมา ไม่มีน้ำไหลเข้าอ่าง

อย่างไรก็ตาม ยังหวังว่าจะมีมรสุมเข้ามาตามการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งจะทำให้มีฝนตกเหนืออ่างเก็บน้ำ

รายงานข่าวจาก จ.เชียงใหม่ แจ้งว่าขณะนี้ชลประทานจังหวัดเชียงใหม่ ได้ขอความร่วมมือชาวนาที่ใช้น้ำในลำน้ำแม่ปิง เลื่อนการปลูกข้าวนาปีออกไประยะหนึ่ง เพื่อผันน้ำไปให้ชาวสวนลำไย ใช้ในการหล่อเลี้ยงต้นลำไย ที่กำลังออกผล และจะเก็บผลผลิตช่วงเดือนก.ค.นี้

ทั้งนี้ ในอ.สารภี ซึ่งเป็นแหล่งปลูกลำไยที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัด เจ้าของสวนต่างลงทุนรายละกว่าหมื่นบาท เพื่อติดตั้งระบบสูบน้ำบาดาล และต่อสปริงเกอร์รดน้ำต้นลำไยไม่ให้ขาดน้ำ เพราะหากต้นลำไยขาดน้ำ จะทำให้ผลลำไยปริแตก แก่ก่อนเวลา และหลุดร่วง

นายเสน่ห์ นามจันทร์ อายุ 58 ปี ชาวสวนลำไยรายหนึ่งในอ.สารภี กล่าวว่า ทำสวนลำไยกว่า 20 ไร่ กำลังได้รับผลกระทบอย่างมาก เนื่องจากภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน ทำให้ชาวสวนต่างหวั่นวิตกเป็นอย่างมากว่าปีนี้จะเก็บผลผลิตได้น้อย เนื่องจากช่วงนี้ต้นลำไยต้องได้รับการบำรุงอย่างเต็มที่ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี มีคุณภาพ แต่จากภาวะภัยแล้งทำให้ขาดน้ำ จนลูกลำไยปริแตกและร่วง จึงเป็นห่วงว่าปีนี้จะเก็บผลผลิตได้น้อย และคุณภาพไม่ดี ส่งผลกระทบต่อราคาขาย จึงต้องอย่างทุกทางเพื่อหาน้ำไปหล่อเลี้ยงต้นลำไยให้ได้

ด้านนายเกื้อกูล มานะสัมพันธ์สกุล หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน โครงการชลประทานเชียงใหม่ กล่าวว่า ได้เรียกหัวหน้าฝายส่งน้ำในพื้นที่มาขอความร่วมมือชาวนาที่ใช้น้ำในแม่น้ำปิง เลื่อนการปลูกข้าวนาปีออกไปประมาณครึ่งเดือน เพื่อผันน้ำให้ชาวสวนลำไย ที่ต้องใช้น้ำจำนวนมากก่อน ซึ่งขอวอนให้ชาวนาช่วยเอื้อเฟื้อให้กับชาวสวนลำไยที่กำลังจะเก็บผลผลิตช่วงเดือนก.ค.-ส.ค.นี้ด้วย

ที่จ.พิจิตร ชาวนาในต.ฆะมัง และต.ท่าหลวง อ.เมือง กว่า 20 คน นำโดยนายวิจิตร ชมภู อายุ 74 ปี ที่ทำนา ในเขต ต.ฆะมัง และนายทุเรียน แสนศิริ อายุ 59 ปี สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ท่าหลวง ที่ทำนา 65 ไร่ ในเขตหมู่ 10 บ้านไผ่สีรุน ต.ท่าหลวง พากันนำเสาปูนคอนกรีตมาวางขวางทางน้ำที่คลองซอย ซึ่งรับน้ำมาจากคลอง C76 เข้ารักษาระบบนิเวศในบึงสีไฟ ที่ปัจจุบันมีสภาพแห้งขอด ทั้งนี้เพื่อดึงน้ำเข้าผืนนา หลังจากประสบปัญหาภัยแล้ง-ฝนทิ้งช่วง

นายสุรชัย ขันอาสา ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร กล่าวว่า ทราบเรื่องแล้ว และให้นายบุญเลิศ ศิริษา ป้องกันจังหวัดพิจิตร ไปดูสถานการณ์ร่วมกับเจ้าหน้าที่โครงการชลประทานดงเศรษฐี เบื้องต้นคงต้องแบ่งน้ำที่จะเข้าสู่บึงสีไฟให้ชาวนา พื้นที่กว่า 5,000 ไร่ก่อน หลังจากนั้นจึงจะเปิดน้ำเข้าบึงสีไฟ

“ขณะนี้การบริหารจัดการน้ำกำลังเป็นปัญหาใหญ่ของจ.พิจิตร โครงการชลประทานก็ปล่อยน้ำมาให้ได้ในขีดจำกัดแล้ว เพราะฝนก็ทิ้งช่วง ทำให้ชาวนาในพื้นที่อีกกว่า 1 ล้านไร่ยังไม่สามารถปลูกข้าวได้ แต่ขอยืนยันว่าน้ำดื่มน้ำใช้ทางราชการร่วมกับทหารดูแลไม่มีขาดตกบกพร่อง”

ต่อมา นายสุรชัย ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมร่วมกับหัวหน้าหน่วยราชการด้านการเกษตร ว่า ปัญหาภัยแล้งหลังฝนทิ้งช่วงกว่า 7 เดือน ทำให้นาข้าวกว่า 1.8 ล้านไร่ที่อยู่นอกเขตชลประทาน ไม่สามารถทำนาได้ ส่วนนาในเขตชลประทานประมาณ 3 แสนไร่ รับน้ำจากคลองชลประทานไปทำนาได้แล้วประมาณ 1.8 แสน ไร่

“ชลประทานแจ้งให้ประชาสัมพันธ์ให้กับชาวนาว่า นับถอยหลังจากวันนี้ไป 23 วัน คือ ถึงวันที่ 3 ก.ค. ถ้าไม่มีฝนตกลงมาเติมน้ำในเขื่อน จำเป็นต้องหยุดจ่ายน้ำให้แก่ชาวนาในเขตชลประทาน จึงขอให้เตรียมรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว และขอให้ฟังคำเตือนจากทางราชการ ไม่เช่นนั้นอาจจะทำให้ผลผลิตทางการเกษตรเสียหายได้”นายสุรชัยกล่าว

ที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาประแสร์ อ.วังจันทร์ จ.ระยอง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการลงพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา และระยอง ว่า ปัญหาเร่งด่วน คือ การแก้ปัญหาเรื่องน้ำ ต้องดูตั้งแต่การกักเก็บน้ำ ระบายน้ำ ส่งน้ำ ป้องกันอุทกภัย และภัยแล้งซ้ำซาก รวมถึงการจัดหาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร อุตสาหกรรมและการบริโภค

สำหรับการยกระดับอ่างเก็บน้ำประแสร์ขึ้นมา ก็เพื่อให้มีการเก็บน้ำได้มากขึ้น ส่วนข้อเรียกร้องของชาวบ้านให้มีการใช้อ่างเก็บน้ำแห่งน้ำผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อเกษรตกรด้วยนั้น จะส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการผลิตไฟฟ้า เพื่อพิจารณาว่าคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่ และกรณีที่อีส วอเตอร์ จะทำการติดตั้งท่อส่งน้ำประปา 15 จุด และจะแล้วเสร็จใน 3 เดือน จะช่วยให้ชาวบ้านได้ใช้น้ำฟรี ขณะที่ข้อเรียกร้องของเกษตรกรให้นำทหารมาช่วยเรื่องการขุดคลองนั้น ก็ดำเนินการอยู่ แต่มีกว่า 200 โครงการ ทหารจะขุดไหวไหม จึงต้องเปิดให้เอกชนที่มีเครื่องไม้เครื่องมือดีกว่าเข้ามาทำด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น