xs
xsm
sm
md
lg

2เขื่อนใหญ่วิกฤตหนัก ในหลวงทรงห่วง ระดมทำฝนหลวงด่วน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-ปลัดเกษตรฯเผย สำนักพระราชวัง แจ้งสถานการณ์น้ำใน “เขื่อนภูมิพล” และ “เขื่อนสิริกิติ์” วิฤกตหนักแล้ว ให้”กรมฝนหลวง-การบินเกษตร” น้อมนำแนวทาง “เทคนิคฝนหลวงพิเศษ”ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาใช้เป็นการด่วน เผยให้ ขึ้นระดมทำฝนหลวงให้ตกในพื้นที่เขื่อนทั้ง 2 แห่ง อย่างเร่งด่วน และให้ตกในพื้นที่จำเป็นที่สุดก่อน เผย รายงาน กฟผ. “เขื่อนภูมิพล” วิฤกตหนักในรอบ 57 ปี ส่วน “เขื่อนสิริกิติ์” ขั้นวิฤกตสุดในรอบ 40 ปี "บิ๊กตู่"กำชับครม.แก้ปัญหาภัยแล้ง ชี้ปีนี้รุนแรงสุด อนุมัติช่วยชาวนาไร่ละ 1,000 บาท "อนุพงษ์" นัดถกวันนี้ กำหนดมาตรการรับมือผลกระทบ พร้อมทำความเข้าใจเกษตรกร อย่าแย่งน้ำ ภัยแล้งดันราคาผักพุ่ง

วานนี้ (23 มิ.ย.) นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สำนักพระราชวัง ได้แจ้งมายังกระทรวงเกษตรแลสหกรณ์ ว่า สถานการณ์น้ำในเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ในขณะนี้อยู่ในขั้นวิฤกตหนักแล้ว โดยให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร น้อมนำแนวทางการทำฝนหลวงพระราชทาน ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระราชทานเทคนิคฝนหลวงพิเศษ ในช่วงเกิดภัยแล้งที่ผ่านมานำมาใช้อย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะให้ตกในพื้นที่จำเป็นที่สุดก่อน ที่ต้องอาศัยจังหวะสภาพอากาศเหมาะสม ขึ้นระดมทำฝนหลวงให้ตกในพื้นที่เขื่อนทั้ง 2 แห่ง อย่างเร่งด่วน

"ทางสำนักพระราชวัง ยังได้กำชับถึงสถานการณ์น้ำเขื่อนวิฤกตแล้ว ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นห่วงประชาชนมาโดยตลอด จึงให้ยึดแนวทางที่พระองค์ทรงพระราชทานในการแก้ไขวิฤกตการณ์ทุกครั้ง และสามารถบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน และเกษตรกร ให้ผ่านพ้นไปได้ทุกครั้ง”

ปลัดกระทรวงเกษตร เผยต่อว่า สำนักพระราชวัง ระบุว่า ในครั้งนี้กรมฝนหลวงฯ ควรปรับแก้การทำฝนหลวง โดยน้อมนำไปใช้อย่างจริงจัง ให้ย้ายฐานที่กระจัดกระจายไปถึง 13 หน่วย มาปฏิบัติการฝนหลวง ระดมทำในพื้นที่จำเป็นเร่งด่วนก่อน เพราะขณะนี้มีร่องมรสุมเข้ามา และมีความกดอากาศต่ำ ทำให้สภาพอากาศมีความชื้นเพียงพอสามารถทำฝนหลวงได้ผล โดยใช้เทคนิคพระราชทาน เช่น "ซุปเปอร์แซนวิส" ที่จะทำจุดให้ฝนตกได้ในจุดหลักก่อน การนำฐานฝนหลวงไปกระจัดกระจายตามที่ต่างๆ อาจไม่ได้ผลเท่าที่ควร เพราะไม่มีความขื้นเพียงพอก็ไม่สามารถขึ้นปฏิบัติการได้ ต้องนำกลับมาวางเฉพาะพื้นที่จำเป็น เพื่อช่วงชิงสภาพอากาศที่มีร่องมรสุมเข้ามา และทำให้พื้นที่วิฤกตจริงๆ ก่อน" นายชวลิต กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 24 มิ.ย.นี้ ตนพร้อมกรมฝนหลวงฯ และทีมนักวิทยาศาสตร์ของกรมที่มีทั้งหมด ไปตรวจสอบสภาพปัญหาน้ำในเขื่อน 2 แห่ง และประชุมทันที เพื่อวางแผนการทำฝนหลวง

ทั้งนี้ จากการรายงานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทย( กฟผ.) ที่ดูแล 2 เขื่อน พบว่าน้ำในเขื่อนภูมิพล อยู่ในระดับวิฤกตหนักในรอบ 57 ปีที่ผ่านมา โดยน้ำที่ใช้ในการเกษตรมีค่าเท่ากับศูนย์ ไม่สามารถจะปล่อยน้ำกับเกษตรกรได้อีกแล้ว ในขณะที่สถานการณ์น้ำในเขื่อนสิริกิติ์ อยู่ในขั้นวิฤกตสุดในรอบ 40 ปี โดยมีน้ำในขณะนี้เพียง 500 ล้าน ลบ.ม.เท่านั้น ซึ่งจะให้น้ำเพื่อการเกษตรเหลืออีก 200 ล้าน ลบ.ม.

ในส่วนแผนการช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ชะลอปลูกข้าวนาปี 4 ล้านไร่ ในขณะนี้ ได้ระดมเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ไปสำรวจพื้นที่เพื่อวางแผนและประเมินสถานการณ์ สรุปตัวเลขการใช้งบประมาณ เสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา โดยให้พื้นที่เร่งสรุปข้อมูลที่ไปสำรวจความต้องการจากชาวนามายังกระทรวง ภายในวันที่ 26 มิ.ย.เป็นวันสุดท้าย

***บิ๊กตู่สั่งเร่งแก้ภัยแล้ง-รับปีนี้หนัก

วานนี้ (23 มิ.ย.) พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธาน ถึงข้อสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. เรื่องพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้งว่า แม้ขณะนี้ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว แต่ปริมาณฝนที่ตกก็ยังไม่มากนัก และตกในพื้นที่ด้านล่างของเขื่อนรับน้ำขนาดใหญ่ ทำให้น้ำต้นทุนในเขื่อนหลักๆที่หล่อเลี้ยงพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาภาคกลาง มีปริมาณน้อย ซึ่งเป็นข้อห่วงใยของท่านนายกฯต่อเรื่องการบริหารจัดการน้ำ และการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นชาวไร่ ชาวสวน และพี่น้องประชาชนโดยทั่วไป

ทั้งนี้ที่ประชุมได้รับรายงานว่า ในช่วงก่อนวันที่ 22 พ.ค. มีการสำรวจปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ทั้งสิ้น เบ็ดเสร็จประมาณ 3,800 ล้านลบ.ม. ซึ่งถือว่าน้อย และมีสำรวจภายหลังวันที่ 22 พ.ค. ซึ่งถือว่าเข้าสู่ช่วงหน้าฝน มีปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของทุกๆ ปีประมาณ 60-70% นอกจากนั้น หากวัดปริมาณน้ำฝนตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. จนถึงกลางเดือนมิ.ย. พบว่ามีน้ำฝนที่ตกมาแล้วไหลเข้าสู่เขื่อนขนาดใหญ่เพียง 200 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของทุกปีกว่า 70%

และในที่ประชุมได้รับทราบข้อมูลเพิ่มเติมว่า พื้นที่การปลูกข้าวในลุ่มน้ำภาคกลางนั้นแบ่งเป็น 2 ส่วน โดยส่วนแรก คือ ส่วนที่อยู่ในเขตชลประทาน มีทั้งหมด 7,700,000 ไร่ แต่เดิมจากการสำรวจพบว่า มีการปลูกข้าวไปแล้วประมาณ 3,700,000 ไร่ แต่เมื่อผ่านไปเพียง 2 อาทิตย์ พบว่า พื้นที่ที่ใช้ปลูกข้าวเพิ่มจำนวนไปกว่า 4,000,000 ไร่ ซึ่งชะลอตามที่รัฐบาลขอความร่วมมือไป 7,700,000 ไร่ สำหรับส่วนที่สอง คือพื้นที่นอกเขตชลประทาน อีกประมาณ 2,300,000 ไร่ ทำนาไปแล้ว 1,300,000 ไร่ ซึ่งชะลอตามที่รัฐบาลขอความร่วมมือไป 1,000,000 ไร่ ซึ่งทั้งหมดนี้คือปัญหาที่เราต้องเร่งแก้ไข

เมื่อเวลา 16.45 น. ที่ท่าอากาศยานทหาร2 บน.6 กองทัพอากาศดอนเมือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ กล่าวหลังกลับจากการร่วมประชุมACMECS ที่ประเทศเมียนมาร์ว่า ตนสั่งการไปแล้วเพิ่มเติมในเรื่องของการขุดเจาะบ่อบาดาลเพิ่่ม แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเอาไปทำการเกษตรทั้งหมด เพราะบางส่วนต้องเตรียมการไปแก้ปัญหาภัยแล้ง ทั้งในส่วนของน้ำอุปโภคบริโภค น้ำจะกินก็ยังไม่มีเลย และวันนี้(24มิ.ย.)จะมีการพูดคุยกันอีกครั้งในการประชุมครม.เศรษฐกิจ

"เป็นสิ่งที่บกพร่องในการบริหารจัดการน้ำที่ผ่านมา น้ำต้นทุนในเขื่อนตอนนี้ไม่มีอยู่แล้ว เพราะมันปล่อยละลายไปหลายปีแล้ว วันนี้ก็ต้องเตรียมตั้งหน้าตั้งตาสะสมน้ำเหล่านี้ใหม่ และในเมื่อฝนตกใต้เขื่อนก็ทำให้น้ำในเขื่อนไม่มี การผลิตไฟฟ้าก็ทำไม่ได้ ก็ต้องพึ่งแก๊สและน้ำมัน นี่คือปัญหาที่จะเจอในวันหน้า ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นเพิ่งเกิดวันนี้หรือ แต่ทำอย่างไรจะให้เวลาในการแก้ปัญหาเหล่านี้ให้ยั่งยืน ปัญหาเกิดมาเป็นสิบปีแล้ว โครงสร้างไม่ได้ทำ ไปย้อนหลังดูเพราะฉะนั้นวันนี้เรากำลังเริ่มแก้โครงสร้างทั้งหมด ภาคการเกษตร เรื่องน้ำ เรื่องสาธารณูปโภค เรื่องกฎหมายเราแก้ใหม่หมด" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

**อนุมติเงินช่วยเหลือไร่ละ1,000 บาท

พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่าครม.มีมติเห็นชอบในหลักการ การให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกร 2 กรณี คือ 1. พี่น้องเกษตรกรที่ปลูกข้าวนาปีในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ฝั่งตะวันออก คือ จ.นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ให้สามารถเข้าร่วมโครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยไร่ละ 1,000 บาทได้ เป็นจำนวนทั้งสิ้นกว่า 37,000 ครัวเรือน ทั้งนี้ ฤดูกาลปลูกข้าวในพื้นที่ภาคใต้ จะไม่เหมือนกับภาคอื่น ซึ่งมาตรการดังกล่าว ไม่ได้ครอบคลุมถึงพี่น้องเกษตรกรภาคใต้

2. พี่น้องเกษตรกรที่ได้ลงบัญชีไว้ตั้งแต่แรก แต่เอกสารหลักฐานยังไม่ครบถ้วน มีส่วนตกหล่นอยู่ 2,091 ครัวเรือน ซึ่งเป็นมติครม. ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 57 อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงการคลังได้มีการตรวจสอบในเบื้องต้น แต่อยากให้ทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ได้พิจารณาตรวจสอบซ้ำอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งหากหลักฐานไม่ตรง ก็ต้องตัดสิทธิ์เกษตรกรรายดังกล่าว

** "อนุพงษ์"นัดถกแก้ภัยแล้งวันนี้

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงกรณีที่ครม. มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย ดูแลแก้ปัญหาภัยแล้ง จนล่าสุดเกิดกรณีการแย่งน้ำของเกษตรกรว่า ในวันนี้ (24 มิ.ย.) ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะนำข้อมูลมาหารือร่วมกันในการประชุมครม.เศรษฐกิจ ทั้งปริมาณน้ำในปัจจุบัน กับปริมาณน้ำในช่วงฤดูฝน ว่า สามารถช่วยเหลือเกษตรได้เพียงใด พื้นที่ใดที่ไม่มีน้ำเลย ซึ่งนายกฯได้ให้แนวทางว่าต้องมีบ่อน้ำบาดาล ส่วนการแก้ไขปัญหาการแย่งน้ำของเกษตรกรนั้น ต้องดูในภาพรวมว่า พื้นที่ใดควรช่วยเหลืออย่างไร ตอนนี้ให้คำตอบไม่ได้ เพราะต้องดูปริมาณน้ำทั้งหมดว่าเพียงพอหรือไม่ ส่วนพื้นที่ที่ไม่มีน้ำ จะต้องดูว่าจะสามารถนำน้ำจากแหล่งใดมาช่วยเหลือได้หรือไม่ อย่างไร

นอกจากนี้ จะมีการหารือถึงกรณีที่น้ำทะเลหนุน จนกระทบต่อพื้นที่การเกษตรด้วย เพราะปัญหาไม่ใช่เฉพาะการปล่อยน้ำเพื่อการช่วยเหลือเกษตรกรอย่างเดียว แต่ต้องคำนึงถึงการผลักดันน้ำทะเลหนุนด้วย แต่หากปล่อยน้ำโดยที่ไม่คิดถึงน้ำต้นทุนที่มีอยู่ เกรงว่าเกษตรจะไม่มีน้ำใช้ถึงเดือนเม.ย.ปีหน้า

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการทำความเข้าใจกับเกษตรกรที่แย่งน้ำกันอย่างไร พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า หลังจากการประชุมวันนี้ ก็จะทราบว่า จะมีปริมาณน้ำมากน้อยเพียงใด จะคำนวณปริมาณน้ำเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้ถึงฤดูแล้งปีต่อไปได้ อีกทั้งจะได้หารือถึงการให้การช่วยเหลือเกษตรกรที่เพาะปลูกอย่างไร พื้นที่ที่ไม่สามารถช่วยได้จะให้ใช้น้ำบาดาลได้อย่างไร รวมถึงต้องสร้างความเข้าใจให้กับเกษตรกร ไม่ใช่ไปแย่งน้ำกัน เพราะในภาวะที่ปริมาณน้ำมีจำนวนจำกัด ต้องมีวิธีที่จะทำให้เกษตรกรยึดถือ เช่น พื้นที่ใดประสบภัยแล้งอย่างสาหัส จนไม่สามารทำอะไรได้ ก็ต้องพูดถึงการช่วยเหลือ ว่าจะช่วยอย่างไรจะได้ไม่ต้องตีกัน

***ภัยแล้งดันราคาผักสดพุ่งกระฉูด

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า ขณะนี้ปัญหาภัยแล้งได้เริ่มส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าหลายรายการที่ได้มีการปรับราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่ากลุ่มผักสด เช่น คะน้า ผักบุ้งจีน ผักกาดหอม แตงกวา ผักกาดขาว กระหล่ำปลี ผักกวางตุ้ง พริกสด มะลอกอดิบ ถั่วฝักยาว ต้นหอม ขึ้นฉ่าย และผักชี เป็นต้น
มีการปรับราคาเพิ่มขึ้น ขณะที่กลุ่มเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อหมู เนื้อไก่ ก็มีราคาสูงขึ้นเช่นเดียวกัน ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตเข้าสู่ตลาดลดลง

ทั้งนี้ ผักที่มีปัญหาราคาเพิ่มขึ้นสูงสุดเกิน 100% คือ ผักคะน้า หลังจากราคาเมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ได้อ่อนตัวลงมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีระดับต่ำสุด คือ กก.ละ 6 บาท ส่วนผักชี ราคาก็ปรับเพิ่มขึ้นเป็น กก.ละ 180 บาทแล้ว หลังจากที่ราคาต่ำสุดเมื่อเดือน พ.ค.อยู่ที่ กก.ละ 25 บาทเท่านั้น ส่วนมะลอกอดิบ ก็เช่นเดียวกันราคาเพิ่มขึ้นถึงหนึ่งเท่าตัว ซึ่งส่งผลกระทบต่อร้านส้มตำ ที่ใช้มะลอกอเป็นวัตถุดิบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.กระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการให้กรมการค้าภายในและผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงฯ ออกตรวจสอบภาวะราคาสินค้าในตลาด เพื่อป้องกันการฉกฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาสินค้า

**กปภ.สาขาแม่ริมประกาศเข้าขั้นวิกฤต

นายนพดล ปั้นรัตน์ ผู้จัดการการประปาส่วนภูมิภาค สาขาแม่ริม ออกประกาศผ่านเฟซบุ๊กของการประปาส่วนภูมิภาคว่า ด้วยปัจจุบันการประปาส่วนภูมิภาค สาขาแม่ริมประสบปัญหาปริมาณน้ำดิบในลำน้ำแม่สามีปริมาณไม่เพียงพอต่อการผลิตจ่ายน้ำประปา สามารถสูบขึ้นมาผลิตได้น้อยมาก เนื่องจากภาวะภัยแล้งฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล

ล่าสุดการประปาส่วนภูมิภาค สาขาแม่ริมได้ออกประกาศถึงภาวะภัยแล้งขณะนี้เข้าขั้นวิกฤต ทำให้น้ำประปาจะไม่ไหลหรือไหลอ่อน โดยเฉพาะในพื้นที่ดังกล่าว การประปาฯ โดยคาดว่าภาวะน้ำไหลอ่อนหรือไม่ไหลเลยจะยาวนานไปจนถึงเดือนกรกฎาคม

**พิจิตรแล้งหนักนา1.4 ล้านไร่ไม่มีน้ำ

ที่ จ.พิจิตร นายธรรมนูญ แจ่มศรี เกษตรและสหกรณ์จังหวัดพิจิตร กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ได้ประกาศให้ 7 อำเภอ 26 ตำบล 199 หมู่บ้าน เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติภัยแล้ง ส่วนพื้นที่ทำนา 1.8 ล้านไร่ ขณะนี้ 1.4 ล้านไร่ ที่อยู่นอกเขตชลประทานไม่สามารถทำนาได้ เนื่องจากไม่มีน้ำ จึงขอให้ชาวนาเลื่อนไปทำนาที่มีข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยาว่า กลางเดือนกรกฎาคมจนถึงเดือนกันยายน 2558 จะมีฝนตกชุก

นายประเทือง นาราสิริวิมล นายกเทศมนตรีตำบลตลิ่งชัน จ.สุโขทัย กล่าวว่า สถานการณ์ภัยแล้งครั้งนี้ถือว่าหนักสุดในรอบ 20 กว่าปี พื้นที่เกษตรกรรมกว่า 30,000 ไร่ ซึ่งมีทั้งไร่อ้อย มันสำปะหลัง ถั่วเขียว และนาข้าว กำลังได้รับผลกระทบอย่างหนัก เกษตรกรปลูกอะไรไม่ได้เลย ปลูกกันไปก็ตายแล้วตายอีก เรียกว่า “ปลูกตาย ปลูกตาย” จนเกษตรกรหมดเนื้อหมดตัว ไม่เหลือทุนอีกแล้ว จึงขอวิงวอนรัฐบาลให้เข้ามาช่วยเหลือด้วย

ด้านสถานการณ์ปริมาณน้ำภายในอ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ที่ยังคงมีปริมาณน้ำลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง จนล่าสุดมีปริมาณน้ำที่ใช้การได้เพียง 59 ล้าน ลบ.ม.หรือคิดเป็น 18% ของความจุเขื่อนทั้งหมด 314.49 ล้าน ลบ.ม.ซึ่งปริมาณน้ำภายในอ่างฯที่ลดลง จึงทำให้มีถนนโผล่ขึ้นที่บริเวณกลางอ่างเก็บน้ำ ที่มีระยะทางยาวกว่า 15 กิโลเมตร
กำลังโหลดความคิดเห็น