xs
xsm
sm
md
lg

“ข้าวไทย” เสียแชมป์! ผวา “เวียดนาม” ทะลวงหอมมะลิ!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“18 ล้านตัน” ล้นสต๊อกตั้งแต่ยุคจำนำข้าว! ชาวนาเดือดร้อนเพราะขายไม่ออก รัฐบาลปิดปากสนิท ไร้เข็มทิศชี้แนวทาง ปล่อย “ข้าวไทย” หงอยอยู่ในตลาดโลก ตกอันดับตลาด “ข้าวขาว” ถูกเวียดนามและอินเดียแย่งแชมป์ส่งออกไปครอง เหลือความหวังริบหรี่อยู่ที่ “หอมมะลิไทย” ซึ่งกำลังจะถูกเวียดนามตีตลาด รอวันพ่ายยับถ้าไม่เร่งแก้ระบบ!!




เมื่อ “ข้าวไทย” ถูกตีตลาดยับ!
“ตอนนี้ “เวียดนาม” กับ “อินเดีย” เขาเอาแชมป์ส่งออกข้าวไปจากเราได้แล้วค่ะในตลาด “ข้าวขาว” ทั้งๆ ที่เราครองแชมป์ตลาดข้าวมาตลอด และอีกหน่อย “พม่า” กำลังจะเข้ามาทำให้เราวุ่นวายเพิ่มแน่นอน!”

ดร.ขวัญใจ โกเมศ เลขาธิการมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยข้อมูลด้วยน้ำเสียงเป็นกังวลอนาคตตลาดข้าวไทย ระบุชัดว่าขณะนี้ข้าวไทยพ่ายให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านในตลาดขาย “ข้าวขาว” หรือข้าวคุณภาพไม่สูงมากเสียแล้ว เหลือเพียงตลาด “ข้าวคุณภาพ” หรือตลาดข้าวราคาสูงเท่านั้นที่ยังพอมีหวังครองแชมป์ต่อไปได้อยู่ ส่วนตลาดข้าวขาวที่ตกอันดับไปแล้วก็ไม่ควรปล่อยเลยตามเลย แต่ควรเร่งเพิ่มขีดความสามารถของชาวนาไทย ก่อนจะไม่อาจร่วมแข่งกับตลาดโลกได้ในอนาคตอันใกล้นี้


“ตอนนี้ในตลาด “ข้าวคุณภาพ” ประเทศไทยยังถือว่าเป็นอันดับต้นๆ อยู่ค่ะ อย่าง “ข้าวหอมมะลิ 105” ของไทยก็ขายได้มากกว่าประเทศอื่นๆ แต่กลุ่มที่จะซื้อได้ จะเป็นกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อที่อยากได้ข้าวคุณภาพ ถ้าจะให้เทียบข้าวหอมมะลิไทยกับข้าวหอมมะลิของประเทศเพื่อนบ้าน คุณภาพของเราสูงกว่าที่อื่นอยู่ค่ะ เพราะโรงสีบ้านเราแปรรูปข้าวได้ดีกว่ามาก ทำให้คุณภาพสูง แต่ถ้าต่อไปประเทศอื่นสามารถแปรรูปข้าวหอมมะลิของเขาออกมาได้มีคุณภาพเทียบเท่าบ้านเรา อย่างในเขมรที่กำลังพยายามทำอยู่ เราก็จะมีคู่แข่งเพิ่มขึ้นอีกในตลาดส่วนนี้

ทางมูลนิธิที่ได้ไปดูงานที่เวียดนามมา เราพบว่าบ้านเขากำลังจะเพิ่มปริมาณข้าวส่งออกให้มากขึ้น แข่งกับเรา วิธีที่เขาทำคือการเพิ่มกองทุนงานวิจัย ค้นหาวิธีที่จะสามารถผลิตข้าวชนิดคุณภาพดีได้มากขึ้น ทำให้ ดร.สุเมธ (เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา และประธานมูลนิธิข้าวไทยในพระบรมราชูปถัมภ์) เป็นห่วงว่าวันหนึ่งเขาอาจจะขายข้าวหอมมะลิที่มีคุณภาพได้เทียบเท่ากับเรา เพราะงานวิจัยของเขามีเงินสนับสนุนเยอะมาก ในขณะที่งานวิจัยบ้านเราขาดการสนับสนุนพอสมควร มันก็เลยทำให้เราเป็นกังวลค่ะว่าวันหนึ่งทางเวียดนามจะสามารถขายข้าวหอมมะลิสู่ตลาดได้ในระดับคุณภาพแบบเรา เป็นความห่วงใยว่าถ้าบ้านเราไม่ช่วยเรื่องงานวิจัยให้แข็งแรงขึ้น วันหนึ่งเราก็จะล้าหลังกว่าเขาและจะสู้เขาไม่ได้”

ลองมองจากมุมมองเกษตรกรไทย ประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาข้าวไทย ค่อนข้างปลงตกกับสถานการณ์ดังกล่าวอยู่พอสมควร บอกเลยว่า “ผมมองว่าทุกอย่างมันก็เป็นไปตามสภาพ เวียดนามเขาไปไกลเพราะงานวิจัยเขาทำเต็มที่ และเขากำลังลดสารเคมีต่างๆ ในภาคการผลิตลงด้วย แต่อย่างของไทยเรา บอกเลยว่าเราไม่ได้ทำแบบนั้น งานวิจัยเราก็ยังไม่ค่อยได้รับการสนับสนุน ไม่ค่อยได้งบ มันเลยเหมือนเรากลายเป็นคนที่เดินตามหลังเขาตลอด

ถามว่ากลัวไหมว่าประเทศอื่นจะแซงหน้าเรา แม้แต่ “ลาว” เอง เขายังประกาศตัวเลยว่าต่อไปหลังเปิด AEC แล้ว เขาจะนำหน้าไทย ขอเวลาไม่เกิน 2 ปี เขาวางเป้าไว้เลยว่าจะเขาจะสร้างรายได้ให้ประชาชน เขาจะส่งเสริมพี่น้องเกษตรกรในประเทศ แต่ของไทยเรายังไม่มีความชัดเจนอะไรเลย หน่วยงานที่ดูแลเกี่ยวกับเรื่องข้าวในไทยแต่ละที่ก็วิเคราะห์ข้อมูลเรื่องต่างๆ ไปคนละทิศละทาง สสก.(สำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ) ก็ไปอีกทาง, กรมการข้าวก็อีกทาง หรือกรมส่งเสริมการเกษตร (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์) ก็ให้ข้อมูลไปอีกทาง

ทุกวันนี้ สมาคมชาวนาข้าวไทยก็พยายามรวมกลุ่มกันประชุม เสนอภาพปัญหาทั้งหมดให้ทางรัฐบาลลงมาช่วยดูแลแก้ไข หาวิธีที่จะให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาอย่างถูกทิศถูกทาง ส่วนเรื่องการส่งออกข้าวในระดับโลก ชาวนาไทยเราไม่ได้มองไปถึงตรงนั้นหรอกครับ เพราะส่วนใหญ่ยังขาดความรู้เรื่องตลาดการต่างประเทศ จุดนี้เราต้องให้บุคคลที่มีความรู้และเป็นมืออาชีพมาจัดการ ชาวนาเราก็ทำได้แค่ทำนา และอยากให้รัฐบาลลงมาช่วยแก้ปัญหาเรื่องการขายข้าวให้แก่โรงสี เราไม่ได้รับความไม่เป็นธรรมเรื่องการชั่งกิโลบ่อยมาก ถูกผู้ซื้อเอาเปรียบตลอดเวลา




ต้นตอปัญหาอยู่ที่ “จำนำข้าว”

ค้นให้ลึกลงไปถึงปัญหาจะเจอ “ระบบ” การบริหารจัดการข้าวครอบความเจริญของประเทศเอาไว้ และระบบที่เป็นบ่อเกิดแห่งหายนะ สร้างความปั่นป่วนแก่ปากท้องเกษตรกรไทยลากยาวมาจนถึงวันนี้ก็ถือระบบพังๆ จากการ “จำนำข้าว” นั่นเอง เลขาธิการมูลนิธิข้าวไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ช่วยวิเคราะห์

ต้องยอมรับว่าปัญหาเรื่องข้าวทุกวันนี้ มันมาจากการ “จำนำข้าว” ที่ทำให้เรามีข้าวเหลืออยู่ในสต๊อกเยอะแยะ ทำให้เราเสียเงินงบประมาณไปอีกไม่รู้เท่าไหร่ นอกจากนั้นมันยังฆ่าคุณภาพข้าวของเราอีก ทำลายคุณภาพข้าว เพราะราคาที่รัฐบาลซื้อไม่ได้กำหนดว่าคุณภาพดีหรือไม่ดี ไม่ว่าข้าวจะมายังไง เขากำหนดเอาไว้เลยว่าให้ 10,000 บาทต่อตันเต็มที่ ยกเว้นหอมมะลิจะได้ 15,000 บาทต่อตัน ทำให้ชาวนารีบปลูกให้เยอะๆ จากเคยปลูกปีละครั้ง ก็กลายเป็น 2-3 ครั้งต่อปี มันทำให้อายุข้าวสั้นลงและได้ข้าวที่คุณภาพต่ำลง แต่ในเมื่อรัฐบาลไม่ใส่ใจเรื่องคุณภาพ ชาวนาเขาก็เลยไม่สนใจเหมือนกัน

แต่รัฐบาลนี้รู้แล้วว่าการจะไปตั้งราคาจำนำข้าวแบบรัฐบาลชุดก่อนมันไม่ได้แล้ว เพราะมันเป็นประชานิยมจริงๆ เป็นการเอาเงินไปซื้อ และชาวนาก็ไม่ค่อยจะได้เงินเท่าไหร่อย่างที่ได้ข่าวกันมา และที่น่าห่วงมากคือระบบจำนำข้าวนี่แหละค่ะที่ไปทำลายระบบการผลิตของชาวนาไปหมดเลย ตลอด 2-3 ปีให้หลังนี้แหละที่ชาวนาส่วนใหญ่ไม่สนใจเรื่องคุณภาพของข้าวเลย เพราะไม่มีใครสนใจ คุณมาข้าวมา เขาให้คุณราคาเดียวกันหมด พันธุ์ดีไม่ดียังไงก็ไม่สน ขอให้ปลูกเยอะๆ ปีละหลายๆ หนเท่านั้นเอง เขาจะได้ข้าวมากขึ้น ขายได้เยอะขึ้น นี่แหละค่ะคือปัญหาของการจำนำข้าวที่ทำให้กลายมาเป็นผลเสียระยะยาวจนถึงทุกวันนี้


ผลกระทบเรื่องการเป็นหนี้จากระบบตรงนี้มันเห็นชัด และรัฐบาลก็ต้องจ่ายเงินกันไปอีกยาว แต่ผลกระทบเรื่องการทำลายระบบการผลิตของชาวนา ทำให้ชาวนาผลิตข้าวโดยไม่คำนึงถึงคุณภาพของข้าว สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่น่าเสียใจมาก และจะเป็นผลร้ายที่อยู่กับเรานาน ซึ่งต้องเร่งแก้ไขกันค่ะ”

ทุกวันนี้มีข้าวค้างสต๊อกอยู่ประมาณ 18 ล้านตัน แม้ทางรัฐบาลจะยังไม่ออกมาประกาศจำนวนที่แน่นอน แต่หลายฝ่ายที่ติดตามเรื่องนี้รับทราบไปในทิศทางเดียวกันว่าคือตัวเลขนี้ และข้าวค้างโรงเก็บเหล่านี้เองที่เป็นต้นเหตุของปัญหายักษ์ใหญ่ตั้งแต่รัฐบาลยุคก่อน จนกลายเป็นก้อนเนื้อร้ายทำลายระบบเกษตรกรรมมาจนถึงทุกวันนี้

“เรื่องข้าวของเราน่าเป็นห่วงมาก คือเรามีข้าวอยู่ในสต๊อกประมาณ 18 ล้านตัน อันนี้เท่าที่ทราบนะคะ แต่ยังไม่มีใครคอนเฟิร์มได้แน่ชัดว่าจริงๆ แล้วมีประมาณเท่าไหร่ เพราะทางรัฐบาลไม่ออกมาให้ข้อมูลที่ชัดเจน ซึ่งบางส่วนในนั้นอาจจะมีทั้งที่ขายไม่ได้แล้วด้วย ดังนั้น ตัวเลข 18 ล้านตันที่มีอยู่จึงฟังดูน่ากลัว กลัวว่าจะทำยังไงดี ขายตอนนี้ก็มีแต่ราคาจะตก ชาวนาก็ปวดหัวอีก

ส่วนพ่อค้าที่มาจากต่างประเทศ เขาก็กำลังเก็งกำไรอยู่ว่าถ้า 18 ล้านตันที่ขายยังไม่ออกนี้ สามารถดึงราคาลงกว่านี้ได้อีก เขาก็ยังไม่อยากจะซื้อตอนนี้ ก็เลยทำให้เกิดภาวะละล้าละลังตอนนี้ ทำให้ข้าว 18 ล้านตันที่เรามีอยู่สร้างปัญหาอยู่พอสมควร เพราะเขาคิดว่าเรามีสต๊อกข้าวมากอยู่ และมันจะไปช่วยดึงราคาตลาดโลกลง ซึ่งปัญหาตรงนี้ไม่เกี่ยวกับว่าเขากลัวว่าไทยจะขายข้าวเก่าในสต๊อกให้เขา เพราะเขารู้ว่าเรามีข้าวล็อตใหม่ให้อยู่แล้ว แต่พ่อค้าจากประเทศอื่นก็ยังเกี่ยงๆ อยู่ ยังไม่ตัดสินใจเซ็นสัญญาซื้อเสียที

ที่ผ่านมา ทางกระทรวงพาณิชย์เพิ่งจัดการ Thailand Rice Convention 2015 ขึ้นมา มีผู้ซื้อข่าวต่างประเทศมาประชุมกันเยอะแยะ ทุกคนก็จะถามเรื่องข้าวในสต๊อกที่ทราบมาว่ามีอยู่ 18 ล้านตันว่าจริงๆ แล้วมีอยู่เท่าไหร่กันแน่ และรัฐบาลจะทำยังไงกับมัน ซึ่งทางเราไม่สามารถให้คำตอบที่ชัดเจนแก่เขาได้ นี่แหละค่ะคือปัญหาใหญ่ เพราะถ้าเราไม่ชัดเจนว่าจะทำยังไงกับสต๊อกที่มีอยู่ เขาก็จะคิดไปว่าเดี๋ยววันหนึ่งเราก็ต้องขาย คอยไปก่อนก็ได้ เผื่อราคาตกลง คนซื้อจะได้ได้กำไร

เรื่องสต๊อกข้าวและการจัดการ มันไม่ใช่เรื่องที่เป็นความลับเลยค่ะ ในตลาดโลกจะมีบริษัทที่ดูแลเกี่ยวกับตัวเลขสต๊อกข้าวของประเทศต่างๆ เอาไปเผยแพร่ เพื่อให้ผู้ที่ซื้อข้าวในแต่ละประเทศต่างๆ ฉลาดขึ้น ให้ตัดสินใจได้ด้วยวิธีที่ถูกต้องที่สุด ข้อมูลคือส่วนสำคัญที่จะทำให้พ่อค้าต่างชาติตัดสินใจเปรียบเทียบได้ถูกต้อง คิดดูว่าทั้งงานมีคนถามแต่เรื่องข้าวในสต๊อก พ่อค้าหลายคนมางานเพราะหวังจะมาซื้อข้าวถูก แต่ก็ไม่ได้คำตอบที่แน่ชัดกลับไป


ทุกวันนี้ ผู้ส่งออกข้าวซึ่งเป็นเอกชนของไทยถือว่ามีความสามารถในการหาลูกค้ามาซื้อข้าวของตัวเองพอสมควร แต่ยังติดปัญหาตรงตัวเลขที่ทางรัฐบาลไม่ยอมประกาศให้ชัดเจนนี่เองที่ทำให้เราก้าวไปยากขึ้น เพราะฉะนั้น วิธีแก้ปัญหาก็คือรัฐบาลต้องจริงใจ บอกให้เคลียร์ไปเลยว่าตอนนี้ข้าวในสต๊อกของเรามีอยู่เท่าไหร่กันแน่ และสามารถเอาไปขายได้เท่าไหร่ เพราะที่อยู่ในสต๊อกนั้น มันไม่ใช่ข้าวที่ดีทั้งหมดนะคะ และในจำนวนที่ไม่ดีนั้น ไม่ดีแบบไหน แบบที่ยังเอาไปให้สัตว์กินได้ หรือแม้แต่สัตว์ก็ยังกินไม่ได้

สถานการณ์ข้าวไทยเท่าที่ติดตามมาโดยตลอด แนวโน้มมันแย่ลงเรื่อยๆ เช่นตอนนี้มันแล้ง ชาวนาปลูกข้าวมากก็ไม่ได้ เกิดปัญหา ปัญหาที่มีมาจากสองฝั่ง ฝั่งแรกฝั่งพ่อค้า เขาขายข้าวได้น้อยลง อีกฝั่งคือฝั่งชีวิตชาวนา เขาจะอยู่กินกันยังไง ไม่รู้ว่าจะปลูกต่อไปดีหรือไม่ดี ทุกวันนี้ราคาข้าวตกลงเยอะมาก ทั้งๆ ที่เราไม่ได้ผลิตมากขึ้น แต่เป็นเพราะเรามีสต๊อกเยอะ ทำให้ชาวนาปลูกแล้วเอามาขายไม่ได้ราคาดี ต้องขอให้รัฐบาลช่วย แต่ต้นทุนการผลิตของประเทศเราสูงกว่าต้นทุนการผลิตของเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะที่เวียดนาม ทำให้เราขายสู้เขาไม่ได้ในตลาดโลก ไม่ใช่ว่าเราไม่เก่งนะคะ เราปลูกเก่งมาก แต่สุดท้ายมันก็ต้องสู้กันที่ราคา




ชัดเจน-ใส่ใจ ก่อน “หอมมะลิไทย” หมดอนาคต!

10,000 บาทต่อตัน คือราคาข้าวไทยในตลาดทุกวันนี้ บางพื้นที่เหลือขายอยู่ที่ 7,000-8,000 บาทต่อตันด้วยซ้ำ ซึ่งถือเป็นวิกฤตระลอกใหญ่สำหรับกระดูกสัญหลังของชาติ และถ้าอยากจะแก้ไขให้ทุกอย่างกลับมาเข้ารูปเข้ารอยก็ยังพอจะทำได้ เพียงแต่ต้องชัดเจนและใส่ใจ และนี่คือแสงเทียนนำทางจากฝั่ง ดร.ขวัญใจ เลขาธิการมูลนิธิข้าวไทยในพระบรมราชูปถัมภ์

“ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นทำให้ชาวนาเป็นห่วง และไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ดี การแก้ปัญหาที่ดีคือต้องไปดูว่าเขามีความเป็นอยู่ยังไงและเราสามารถเข้าไปช่วยให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้นได้ไหม ทางเราเป็นห่วงมากว่าชาวนาไทยจะไม่อยู่นาน แล้ววันหลังใครจะปลูกข้าวให้เรากิน ทางมูลนิธิถึงได้มีโครงการ “ครอบครัวชาวนาตัวอย่าง” เพื่อจะดูว่าชาวนาไทยอยู่อย่างยั่งยืนได้ยังไง ค้นหาชาวนามาสมัครซึ่งมีคุณบัติว่าต้องทำงานติดต่อกันมา 3 ชั่วคนและไม่ต่ำกว่า 20 ปี เพราะเราอยากรู้ว่าชาวนาเหล่านี้เขาอยู่มาได้ยังไงอย่างยั่งยืน

ทุกวันนี้ชาวนาหมดกำลังใจเพราะต้นทุนเขาไม่ได้ต่ำลงมาด้วย แถมค่าแรงก็สูงขึ้น ค่าเช่านาก็สูงขึ้นเพราะเจ้าของนาเคยได้รับสูง เขาก็ไม่อยากจะลดราคาลงมา และชาวนาเดี๋ยวนี้ก็ยอมไปกู้เงินมากขึ้นจากทาง ธ.ก.ส. จะปลูกข้าวทีต้องกู้มาเป็นแสน ดอกเบี้ยมันก็เยอะ ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นเรื่อยๆ ทุกอย่างกลายเป็นต้นทุนไปหมด แถมผลิตมาแล้วยังไม่มีใครบอกได้อีกว่าราคาจะขึ้น


นี่เป็นหน้าที่ของรัฐบาลเลยค่ะที่จะต้องลุกขึ้นมาวางนโยบาย วางแผน และมองให้มันรอบด้านว่าจะทำยังไง เราอยากให้มีข้าวส่งออกไปขายต่างประเทศเท่าไหร่ อยากให้มีข้าวหมุนเวียนให้คนในประเทศกินในราคาเท่าไหร่ และควรผลิตเท่าไหร่ ไม่ใช่จู่ๆ มาบอกว่าชาวนาเลิกปลูกข้าวเถอะ ปลูกให้น้อยๆ ลง เพราะปลูกเยอะแล้วมันมีปัญหา อ้าว! แล้วอย่างนี้ชาวนาเขาจะทำอะไรล่ะคะ ถ้าไม่ให้เขาปลูกข้าวแล้วจะให้เขาไปทำอะไร มีเสียงออกมาแบบนี้บ่อยมาก ซึ่งไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหา ถ้าจะให้เขาเลิกปลูก รัฐบาลก็ต้องมีทางเลือกให้เขาสิ

ประเทศเราต้องการนักวางแผนที่มองไปไกลเกินกว่าจมูกของเรา จะแก้ปัญหาโดยไม่มองปัญหารอบด้านมันไม่ได้หรอก ทางเรายังเป็นห่วงเพราะรัฐบาลดูยังไม่มีนโยบายตรงนี้ ไม่มีแผนที่จะวางนโยบายเรื่องนี้ แล้วจะทำยังไงดี การให้เงินเขาฤดูละ 1,000 บาทต่อไร่ไปเรื่อยๆ มันจะไปได้นานเท่าไหร่กันเชียว มันคือการแก้ปัญหาระยะสั้น แต่เราต้องการการแก้ปัญหาระยะยาวควบคู่กันไปด้วย แก้ปัญหาแบบนี้ไปเรื่อยๆ คงไม่ได้ มันต้องมีหนทางที่ดีกว่านี้”

ถ้าไม่เร่งหาทางแก้ปัญหา คาดการณ์ล่วงหน้าได้เลยว่าอีกไม่เกิน 4-5 ปีข้างหน้า “เวียดนาม” ซึ่งกำลังวางระบบเกษตรกรรมและวิจัยอย่างหนักเกี่ยวกับพันธุ์ “ข้าวหอมมะลิเวียดนาม” มีหวังได้เบียดตลาดส่งออก “ข้าวหอมมะลิไทย” ในตลาดข้าวคุณภาพแน่นอน!

“จริงๆ แล้วข้าวหอมมะลิไทยของเรามีคุณสมบัติที่เหนือกว่าข้าวหอมมะลิของประเทศอื่นอยู่นะคะ เพราะถึงจะเป็นข้าวหอมฯ เหมือนกัน แต่มันไม่เหมือนกันตรงที่ ข้าวหอมมะลิไทยจะหอมอีกแบบหนึ่ง ยีนที่ทำให้หอมมันจะเป็นคนละยีนกัน ของเรานอกจากหอมแล้วยังนุ่ม หุงแล้วนุ่มนิ่ม ความหอมอยู่ได้นาน ทำให้ข้ามหอมมะลิของไทยมีชื่อไปทั่วโลก ทำให้คนยังยินดีที่จะซื้อแม้ว่าราคาจะค่อนข้างสูง

เพราะฉะนั้น อยากให้รัฐบาลมองให้เห็นว่าอะไรที่เรามีอยู่แล้ว ให้เพิ่มประสิทธิภาพให้มันดีขึ้นไปอีก เรามีข้าวที่ดีแล้วก็ต้องหาเทคโนโลยีเข้ามาผลิตให้ดียิ่งขึ้น มีผลผลิตสูงขึ้น ต้นทุนจะได้ต่ำ จะได้สู้เขาได้ ต้องให้มีคน “ใส่ใจ” กับข้าวชนิดดีของเราเพื่อจะทำให้เราตีตลาดโลกได้อย่างสบายๆ ถึงตอนนี้ตลาด “ข้าวขาว” เราจะผลิตสู้เขาไม่ได้แล้ว แต่เราอาจมามุ่งที่ “Niche Market” หาพันธุ์ข้าวที่ตลาดอาจจะสนใจเพิ่มขึ้น เช่น พันธุ์ข้าวที่ให้สุขภาพที่ดี ผู้ซื้อหลายรายก็ไม่ได้อยากได้ความอร่อยอย่างเดียวแต่อยากได้สุขภาพที่ดีด้วย เราก็น่าจะเข้ามาจัดการกับตลาดส่วนนี้ให้ได้”


ไม่มีใครอยากเห็นประเทศเดินถอยหลังเข้าคลอง หรือปล่อยให้ประเทศอื่นๆ เบียดขึ้นมาแซงหน้า และนี่คือหนึ่งเสียงตัวแทนของชาวนา จากปากนายกสมาคมชาวนาข้าวไทยที่อยากให้ผู้คุมอนาคตชาติไทยได้รับรู้

“เรื่องที่ชาวนาต้องการอย่างมากคืออยากให้รัฐบาลหาวิธีลดต้นทุนให้ได้ เพิ่มผลผลิตเพื่อสู้กับ ASEAN เราต้องมีข้าวที่ปลอดสาร ส่วนเรื่องการตลาดก็ต้องมีคนเข้ามาช่วยจัดการ เพราะเป็นเรื่องที่ชาวนาไทยไม่มีความรู้ ยิ่งถ้าต้องทำการค้าระหว่างประเทศยิ่งต้องรู้ แต่ทุกวันนี้ชาวนาเรายังไม่ได้รับความรู้ที่ชัดเจนจากแหล่งไหนเท่าไหร่ เราแค่ต้องการมาตรการที่ชัดเจน ที่จะไม่ให้ผู้ซื้อมาเอาเปรียบเราก็พอ เราต้องพัฒนาและปรับปรุงปัญหาตรงนี้ให้ได้ แล้วชาวนาไทยก็จะเป็นชาวนาที่มีคุณภาพ เป็นชาวนาที่นำหน้าประเทศอื่นอย่างที่ทุกคนอยากเห็น

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น