ASTVผู้จัดการรายวัน - “เลขามูลนิธิชัยพัฒนา” ย้ำ คนสร้างหนี้จำนำข้าว 7 แสนล้านบาท จนทำให้มีข้าวค้างสต๊อกกว่า 18 ล้านตัน ต้องรับผิดชอบ ห่วงภาครัฐแห่ส่งเสริมข้าวไรซ์เบอรี่ ข้าวสุขภาพ เป็นเพียงแฟชั่นและไม่นานจะหายไป มันไม่ใช่เรื่องจริง เพราะคนไทยและทั่วโลกบริโภคข้าวขาว หนักใจไทยเสียแชมป์ส่งออกข้าวขาวให้เวียดนามไปแล้ว เตือน "บิ๊กตู่" อย่าใช้อารมณ์แก้ปัญหานโยบายข้าว ด้าน “นายกฯ”เตรียมอนุมัติออก พ.ร.บ.ควบคุมการเช่าที่นา เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการทำการเกษตร ย้ำ จะต้องไม่มีการสวมสิทธิในการรับผลประโยชน์ และให้ความเป็นธรรมต่อผู้เช่าและให้เช่า
วานนี้ (26 พ.ค.) มีรายงานว่า ที่มูลนิธิชัยพัฒนา “มูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์” ร่วมกับ 4 องค์กรพันธมิตร ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร กรมการข้าว กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศรายชื่อครอบครัวชาวนาที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ จากโครงการคัดเลือกครอบครัวชาวนาตัวอย่าง
จากนั้น นายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ประธานมูลนิธิข้าวไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการดำเนินการคัดเลือกครอบครัวชาวนาตัวอย่างระดับประเทศ กล่าวว่า ความสำเร็จและความมุ่งมั่นของครอบครัวชาวนาตัวอย่าง ที่ได้รับรางวัลเหล่านี้ จะเป็นแรงบันดาลใจและแรงจูงใจให้ชาวนาไทย พร้อมใจกันรักษาการทำนาให้คงอยู่และสืบทอดไปยังคนรุ่นต่อไป
“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นห่วงพันธุ์ข้าวไทยโดยเฉพาะพันธุ์ข้าวท้องถิ่นที่กำลังจะสูญหาย แม้กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งรวบรวมข้าวทุกสายพันธุ์ แต่ยังขาดการให้ข้อมูลคุณลักษณะเด่นของพันธุ์ข้าวท้องถิ่นว่าไปแปรรูปต่อยอดอะไรได้บ้าง เช่น ตอนนี้ภาครัฐแห่ส่งเสริมข้าวไรซ์เบอรี่ ข้าวสุขภาพ เป็นเพียงแฟชั่นและไม่นานจะหายไป มันไม่ใช่เรื่องจริง เพราะคนไทยและทั่วโลกบริโภคข้าวขาว ซึ่งประเทศไทยตกอันดับไปเรื่อยๆเสียแชมป์ส่งออกข้าวขาวให้กับเวียดนามไปแล้ว ผมดีใจที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หันมาพูดเรื่องข้าว ยาง และขอว่าอย่าใช้อารมณ์ความรู้สึกแก้ไขปัญหาชาวนา สวนยาง แต่ต้องวางมาตรการทั้งระบบ และอย่าดูเรื่องราคาอย่างเดียว เพราะมีการแข่งขัน ทำให้ที่ผ่านมาทำให้เราถอยหลังไปเรื่อยๆ หากเข้าเออีซี ชาวนาอาจต้องเลิกจากอาชีพ ภาคเกษตรไทยเจอปัญหาใหญ่แน่ จากต้นทุนแพงกว่า"นายสุเมธ กล่าว และว่า
“ ในส่วนปัญหาข้าวค้างสต๊อกกว่า 18 ล้านตัน คนที่ทำพลาดในการบริหารจัดการข้าวจนเกิดเป็นหนี้ 6-7 แสนล้านบาท ก็ต้องรับผิดชอบ ซึ่งมันแก้กลับคืนยากมากยิ่งบริหารยิ่งตกอันดับ ต้องระวังมากขนาดยังไม่เปิดเออีซี ทั้งนี้ตนไปดูงานมหาวิทยาลัยที่ประเทศเวียดนาม พบว่าตอนนี้เวียดนามทุ่มงบประมาณมหาศาลในการวิจัยพัฒนาพันธุ์ข้าวและวางระบบเพาะปลูกใหม่ ต่อไปเราอาจได้กินข้าวหอมมะลิเวียดนาม” เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวไว้ตอนหนึ่ง
ด้าน ดร. ขวัญใจ โกเมศ เลขาธิการมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ทาง 4 ครองครัวที่ได้รับรางวัล "ครอบครัวชาวนาตัวอย่าง" เข้าพบพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พิจารณา ในวันที่ 4 มิ.ย.นี้ โดยจะถือโอกาสนี้หารือกับนายกฯ ถึงการทำให้ชาวนาไทยสามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งภาครัฐต้องมีโยบายที่ทำได้จริงในการดูแลเกษตรกรเหล่านี้หากต้องเลิกอาชีพ”
***รบ.ดันพรบ.ควบคุมการเช่าที่นาลดความเหลื่อมล้ำ
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวว่า ช่วงฤดูฝนนี้ ขอให้ประชาชนเตรียมรับมือ ที่จะเกิดปัญหาภัยแล้ง จากปริมาณฝนที่ตกน้อยกระทบต่อภาคการเกษตร รวมถึงน้ำด้านอุปโภคบริโภค จึงอยากให้ประชาชนช่วยเตรียมขุดบ่อน้ำขนาดเล็กไว้เพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ แต่รัฐบาลจะช่วยเหลือในการจัดหาแหล่งน้ำ และทำฝนหลวงเหนือเขื่อน
“มติที่ประชุม ครม.ยังได้เตรียมอนุมัติออก พ.ร.บ.ควบคุมการเช่าที่นา เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการทำการเกษตร โดยจะต้องไม่มีการสวมสิทธิในการรับผลประโยชน์ และให้ความเป็นธรรมต่อผู้เช่าและให้เช่า”
มีรายงานว่า ครม.เห็นชอบ ให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.การเช่าที่ดินฯ พ.ศ.2524 หลังจากทางคสช.ได้บรรจุเป็นวาระเร่งด่วน โดยทางกระทรวงมหาดไทย ได้สั่งการให้กรมการปกครอง ดำเนินการระดมความคิดเห็นทุกพื้นที่ตั้งแต่ระดับจังหวัด ตำบล และหมู่บ้าน เพื่อระดมความคิดเห็นในการแก้กฎหมายเพื่อให้เป็นธรรมระหว่างเจ้าของและผู้เช่านา
โดยในสาระเดิมของข้อกฎหมายนั้นอาจก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมระหว่างเจ้าของที่นากับผู้เช่าในหลายประการ เช่น ระยะเวลาการเช่านานาน 6 ปี ไม่ก่อให้เกิดแรงจูงใจแก่เจ้าของที่นาที่ไม่สามารถจะนำที่ดินของตนเองไปใช้ประโยชน์อื่นได้ในเวลาที่ต้องการ หรือเงื่อนไขของกฎหมายเดิมเมื่อเจ้าของที่นามีความประสงค์จะขายที่นาที่มีการเช่า จะต้องดำเนินการแจ้งให้ผู้เช่าทราบก่อนและต้องให้สิทธิผู้เช่านาเป็นผู้ซื้อก่อน หรืออัตราค่าเช่านาไม่เหมาะสม เป็นต้น
ทั้งนี้ ได้มีการพิจารณาอัตราค่าเช่านาเป็นราคากลางรายภาค โดยจากข้อมูลของกรมการปกครอง ระบุอัตราค่าเช่านา ณ ปัจจุบัน พบว่า นาเช่าภาคกลางมีค่าเฉลี่ยอัตราค่าเช่ารายปีสูงสุด ที่ 700-5 พันบาทต่อไร่ รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสานเฉลี่ยที่ 500-4 พันบาทต่อไร่ ภาคเหนือเฉลี่ย 1-2.5 พันบาทต่อไร่ และภาคใต้เฉลี่ย 1 พันบาทต่อไร่ ทั้งนี้เฉลี่ยทุกภาคสามารถปรับลดลงได้อีก 200-600 บาทต่อไร่ โดยอัตราค่าเช่านารายปีที่เหมาะสมของภาคกลางควรอยู่ที่ 900-1.5 พันบาทต่อไร่ ภาคอีสาน 500-1.2 พันบาทต่อไร่ ภาคเหนือ 800-1.2 พันบาทต่อไร่ และภาคใต้ 800 บาทต่อไร่.