xs
xsm
sm
md
lg

“เลขามูลนิธิชัยพัฒนา” ย้ำ คนสร้างหนี้จำนำข้าว 7 แสนล้าน - ค้างสต๊อก 18 ล้านตัน ต้องรับผิดชอบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ประธานมูลนิธิข้าวไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการดำเนินการคัดเลือกครอบครัวชาวนาตัวอย่างระดับประเทศ แถลงข่าวร่วมกับดร. ขวัญใจ โกเมศ เลขาธิการมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์  (แฟ้มภาพ)
“เลขามูลนิธิชัยพัฒนา” ย้ำ คนสร้างหนี้จำนำข้าว 7 แสนล้านบาท จนทำให้มีข้าวค้างสต๊อกกว่า 18 ล้านตัน ต้องรับผิดชอบ เตือน “บิ๊กตู่” อย่าใช้อารมณ์แก้ปัญหานโยบายข้าว ด้าน “นายกฯ” เตรียมอนุมัติออก พ.ร.บ.ควบคุมการเช่าที่นา เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการทำการเกษตร ย้ำ จะต้องไม่มีการสวมสิทธิในการรับผลประโยชน์ และ ให้ความเป็นธรรมต่อผู้เช่าและให้เช่า

วันนี้ (26 พ.ค.) มีรายงานว่า ที่มูลนิธิชัยพัฒนา “มูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์” ร่วมกับ 4 องค์กรพันธมิตร ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร กรมการข้าว กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศรายชื่อครอบครัวชาวนาที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ จากโครงการคัดเลือกครอบครัวชาวนาตัวอย่าง ได้แก่ นายพิษณุ อรรคนิวาส ครอบครัวชาวนาตัวอย่างภาคเหนือ นายวินิจ สุภาจันทร์ ครอบครัวชาวนาตัวอย่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นายนพดล สว่างญาติ ครอบครัวชาวนาตัวอย่างภาคกลาง และ นางบุญเรือน ทองจำรัส ครอบครัวชาวนาตัวอย่างภาคใต้

ส่วนผู้ที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ มีดังนี้ ภาคกลาง นายกระจ่าง ชูใจ (จ.กาญจนบุรี) นายขวัญเรือน ศรีสวัสดิ์ (จ.อ่างทอง) นายสวอง สระเสริม (จ.ชัยนาท) ภาคเหนือ นายสุเทพ อภัยภักดิ์ (จ.พิจิตร) นางสมควร มานิตย์ (จ.สุโขทัย) นางบุญเลิศ ปราบภัย (จ.เพชรบูรณ์) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นายปฏิวัติ พริ้งเพราะ (จ.บุรีรัมย์) นายทองอยู่ ไหวพริบ (จ.นครราชสีมา) นายบุญมี สุระโคตร (จ.ศรีสะเกษ) ภาคใต้ นายชะลอ กาฬจันโท (จ.สงขลา) นายจักรกฤษณ์ สามัคคี (จ.พัทลุง) และ นายอารี กองทอง (จ.นครศรีธรรมราช)

จากนั้น นายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ประธานมูลนิธิข้าวไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการดำเนินการคัดเลือกครอบครัวชาวนาตัวอย่างระดับประเทศ กล่าวว่า ความสำเร็จและความมุ่งมั่นของครอบครัวชาวนาตัวอย่าง ที่ได้รับรางวัลเหล่านี้ จะเป็นแรงบันดาลใจและแรงจูงใจให้ชาวนาไทย พร้อมใจกันรักษาการทำนาให้คงอยู่และสืบทอดไปยังคนรุ่นต่อไป

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นห่วงพันธุ์ข้าวไทย โดยเฉพาะพันธุ์ข้าวท้องถิ่นที่กำลังจะสูญหาย แม้กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งรวบรวมข้าวทุกสายพันธุ์ แต่ยังขาดการให้ข้อมูลคุณลักษณะเด่นของพันธุ์ข้าวท้องถิ่นว่าไปแปรรูปต่อยอดอะไรได้บ้าง เช่น ตอนนี้ภาครัฐแห่ส่งเสริมข้าวไรซ์เบอรี่ ข้าวสุขภาพ เป็นเพียงแฟชั่น และไม่นานจะหายไป มันไม่ใช่เรื่องจริง เพราะคนไทยและทั่วโลกบริโภคข้าวขาว ซึ่งประเทศไทยตกอันดับไปเรื่อยๆ เสียแชมป์ส่งออกข้าวขาวให้กับเวียดนามไปแล้ว ผมดีใจที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หันมาพูดเรื่องข้าว ยาง และขอว่าอย่าใช้อารมณ์ความรู้สึกแก้ไขปัญหาชาวนา สวนยาง แต่ต้องวางมาตรการทั้งระบบ และอย่าดูเรื่องราคาอย่างเดียว เพราะมีการแข่งขัน ทำให้ที่ผ่านมาทำให้เราถอยหลังไปเรื่อยๆ หากเข้าเออีซี ชาวนาอาจต้องเลิกจากอาชีพ ภาคเกษตรไทยเจอปัญหาใหญ่แน่ จากต้นทุนแพงกว่า” นายสุเมธ กล่าว และว่า ในส่วนปัญหาข้าวค้างสต๊อกกว่า 18 ล้านตัน คนที่ทำพลาดในการบริหารจัดการข้าวจนเกิดเป็นหนี้ 6 - 7 แสนล้านบาท ก็ต้องรับผิดชอบ ซึ่งมันแก้กลับคืนยากมากยิ่งบริหารยิ่งตกอันดับ ต้องระวังมากขนาดยังไม่เปิดเออีซี ทั้งนี้ตนไปดูงานมหาวิทยาลัยที่ประเทศเวียดนาม พบว่าตอนนี้เวียดนามทุ่มงบประมาณมหาศาลในการวิจัยพัฒนาพันธุ์ข้าวและวางระบบเพาะปลูกใหม่ ต่อไปเราอาจได้กินข้าวหอมมะลิเวียดนาม” เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวไว้ตอนหนึ่ง

ด้าน ดร. ขวัญใจ โกเมศ เลขาธิการมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า คณะกรรมการคัดเลือกได้กำหนดเกณฑ์การตัดสินครอบครัวชาวนาตัวอย่างไว้ 5 ประการ คือ มีความต้องการที่จะสืบทอดการทำนามาหลายชั่วอายุคน มีความคิดสร้างสรรค์และริเริ่มที่จะปรับปรุงวิธีการทำนาให้เหมาะสมกับสภาพนา มีกระบวนการสืบทอดที่นา รวมทั้งความรู้และอาชีพการทำนาไปยังลูกหลาน ให้ความร่วมมือกับเพื่อนบ้านและกิจกรรมหมู่บ้าน เพื่อเสริมสร้างความสามัคคี และมีการดำเนินชีวิตที่ยึดหลักคุณธรรมและจริยธรรม ได้รับการยอมรับจากชุมชน

ทั้งนี้ ได้มีครอบครัวชาวนาที่ได้เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 259 ครอบครัว จาก 52 จังหวัด ซึ่งกว่าร้อยละ 70 สำเร็จการศึกษาไม่เกินระดับมัธยม และที่นาส่วนใหญ่ที่ทำอยู่ในปัจจุบันนั้นได้รับมาจากมรดก ขณะที่แรงบันดาลใจได้รับมาจากการปลูกฝังของบรรพบุรุษ โดยครอบครัวชาวนาตัวอย่างจะเข้ารับโล่พระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเงินสด ครอบครัวละ 100,000 บาท ในงานวันข้าวแห่งชาติ 5 มิถุนายน 2558 นี้ ที่กรมการข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน

“4 ครองครัวที่ได้รับรางวัล “ครอบครัวชาวนาตัวอย่าง” เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พิจารณา ในวันที่ 4 มิ.ย. นี้ โดยจะถือโอกาสนี้หารือกับนายกฯ ถึงการทำให้ชาวนาไทยสามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งภาครัฐต้องมีโยบายที่ทำได้จริงในการดูแลเกษตรกรเหล่านี้หากต้องเลิกอาชีพ”

รัฐบาลดัน พ.ร.บ.ควบคุมการเช่าที่นาลดความเหลื่อมล้ำ

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า ช่วงฤดูฝนนี้ ขอให้ประชาชนเตรียมรับมือ ที่จะเกิดปัญหาภัยแล้ง จากปริมาณฝนที่ตกน้อยกระทบต่อภาคการเกษตร รวมถึงน้ำด้านอุปโภคบริโภค จึงอยากให้ประชาชนช่วยเตรียมขุดบ่อน้ำขนาดเล็กไว้เพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ แต่รัฐบาลจะช่วยเหลือในการจัดหาแหล่งน้ำ และทำฝนหลวงเหนือเขื่อน

“มติที่ประชุม ครม. ยังได้เตรียมอนุมัติออก พ.ร.บ.ควบคุมการเช่าที่นา เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการทำการเกษตร โดยจะต้องไม่มีการสวมสิทธิในการรับผลประโยชน์ และให้ความเป็นธรรมต่อผู้เช่าและให้เช่า”

มีรายงานว่า ครม. เห็นชอบ ให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.การเช่าที่ดินฯ พ.ศ. 2524 หลังจากทาง คสช. ได้บรรจุเป็นวาระเร่งด่วน โดยทางกระทรวงมหาดไทย ได้สั่งการให้กรมการปกครอง ดำเนินการระดมความคิดเห็นทุกพื้นที่ตั้งแต่ระดับจังหวัด ตำบล และหมู่บ้าน เพื่อระดมความคิดเห็นในการแก้กฎหมายเพื่อให้เป็นธรรมระหว่างเจ้าของและผู้เช่านา

“ครม. เห็นชอบให้ ทบทวนร่างกฎหมาย พร้อมแก้ไข แล้วนำเสนอปลัดกระทรวงมหาดไทยให้ความเห็นชอบ จากนั้นจะนำเสนอต่อ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หากพิจารณาเห็นชอบจะออกเป็นกฎหมายบังคับใช้ทันที”

โดยในสาระเดิมของข้อกฎหมายนั้นอาจก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมระหว่างเจ้าของที่นากับผู้เช่าในหลายประการ เช่น ระยะเวลาการเช่านานาน 6 ปี ไม่ก่อให้เกิดแรงจูงใจแก่เจ้าของที่นาที่ไม่สามารถจะนำที่ดินของตนเองไปใช้ประโยชน์อื่นได้ในเวลาที่ต้องการ หรือเงื่อนไขของกฎหมายเดิมเมื่อเจ้าของที่นามีความประสงค์จะขายที่นาที่มีการเช่าจะต้องดำเนินการแจ้งให้ผู้เช่าทราบก่อนและต้องให้สิทธิผู้เช่านาเป็นผู้ซื้อก่อน หรืออัตราค่าเช่านาไม่เหมาะสม เป็นต้น ซึ่งเป้าหมายของการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ. ดังกล่าวนี้ จะคำนึงถึงสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายเดิมที่ชาวนาจะได้รับและเพื่อสร้างแรงจูงใจให้แก่เจ้าของที่ดินในการปล่อยเช่าที่นา แต่เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่พยายามหลายรัฐบาลแล้วไม่สำเร็จ

ทั้งนี้ ได้มีการพิจารณาอัตราค่าเช่านาเป็นราคากลางรายภาค โดยจากข้อมูลของกรมการปกครอง ระบุอัตราค่าเช่านา ณ ปัจจุบัน พบว่า นาเช่าภาคกลางมีค่าเฉลี่ยอัตราค่าเช่ารายปีสูงสุด ที่ 700 - 5,000 บาทต่อไร่ รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสานเฉลี่ยที่ 500 - 4,000 บาทต่อไร่ ภาคเหนือเฉลี่ย 1 - 2,500 บาทต่อไร่ และภาคใต้เฉลี่ย 1 พันบาทต่อไร่ ทั้งนี้ เฉลี่ยทุกภาคสามารถปรับลดลงได้อีก 200 - 600 บาทต่อไร่ โดยอัตราค่าเช่านารายปีที่เหมาะสมของภาคกลางควรอยู่ที่ 900 - 1,500 บาทต่อไร่ ภาคอีสาน 500 - 1,200 บาทต่อไร่ ภาคเหนือ 800 - 1,200 บาทต่อไร่ และ ภาคใต้ 800 บาทต่อไร่


กำลังโหลดความคิดเห็น