xs
xsm
sm
md
lg

กฟผ.เกาะติดปริมาณน้ำ 2 เขื่อนหลักใกล้ชิดหลังเหลือใช้ 36 วัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“กฟผ.” ยังคงเกาะติดสถานการณ์น้ำใน 2 เขื่อนหลักใกล้ชิดหลังนับถอยหลังเหลือแค่ 36 วันแล้ว! ทำให้การผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนปีนี้ลดเหลือเพียง 3% จาก 5% ย้ำการผลิตไฟแค่ผลพลอยได้เพราะการปล่อยน้ำเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ ก.เกษตรฯ


นายสุธน บุญประสงค์ รองผู้ว่าการระบบส่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กฟผ.ยังคงเฝ้าระวังและติดตามปริมาณฝนอย่างใกล้ชิดเนื่องจากน้ำใน 2 เขื่อนหลัก คือ ภูมิพล และสิริกิติ์ เหลือใช้ไม่มากนัก ภาพรวมจึงทำให้แนวโน้มการผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนปี 2558 จากเดิมที่มีสัดส่วน 5% ของการผลิตทั้งหมดลดลงเหลือ 3% อย่างไรก็ตาม การผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนเป็นเพียงผลพลอยได้เพราะน้ำจากเขื่อนเน้นการปล่อยเพื่อการอุปโภคและบริโภคเป็นหลัก และเป็นการบริหารผ่านคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดูแล

“ปีนี้คาดว่าการผลิตไฟฟ้าจากน้ำจะมีสัดส่วนลดลงจากปกติ ในส่วนของการผลิตไฟฟ้าทดแทนคงจะต้องมาจากน้ำมันเตา เพราะปัจจุบันเชื้อเพลิงประเภทอื่นโดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติมีการผลิตที่เต็มกำลังผลิตไปแล้ว ซึ่งน้ำมันเตาก็มีต้นทุนต่อการผลิตไฟเพิ่มขึ้น แต่หากดูจากการใช้ไฟที่ไม่ได้สูงขึ้นมากก็อาจไม่มีผลมากนัก และขณะนี้ก็ยังหวังว่าฝนจะตกลงมาในช่วงนี้เพิ่มเติมเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งได้” นายสุธนกล่าว

ส่วนการเตรียมพร้อมรับแหล่งก๊าซธรรมชาติพัฒนารวมไทย-มาเลเซีย หรือ JDA หยุดซ่อมบำรุงเดือนกรกฎาคมนี้ ทาง กฟผ.วางแผนไว้พร้อมโดยประสานงานกับ บมจ. ปตท. และกระทรวงพลังงานในการดูแลไฟฟ้าไม่ขาดแคลน มีทั้งการเตรียมพร้อมส่งไฟฟ้าจากภาคกลาง การซื้อไฟฟ้าจากมาเลเซีย การปรับให้โรงไฟฟ้าจะนะสามารถใช้น้ำมันเตาได้ แต่อย่างไรก็ตามต้องขอความร่วมมือภาคประชาชนโดยเฉพาะในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ลดการใช้ไฟฟ้าเพื่อลดความเสี่ยงไฟตก-ไฟดับด้วยเป็นสำคัญ

นายวันชัย ประไพสุวรรณ ผู้อำนวยการฝ่ายสำรวจ กฟผ. กล่าวว่า ภาพรวมปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพล และสิริกิติ์ ยังต้องตามเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดว่าในช่วงปลายเดือนมิถุนายน หรือต้นเดือนกรกฎาคมจะมีฝนตกตามฤดูกาลหรือไม่ หลังจากที่ปริมาณน้ำในเขื่อนทั้งสองแห่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเนื่องจากเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้ฝนตกลงมาน้อย น้ำไหลเข้าเขื่อนต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ช่วงนี้ภาครัฐจึงขอให้เกษตรกรชะลอการทำนาปีเพื่อรอให้ฝนตกลงมาก่อน และรณรงค์ให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัดเพื่อไม่ให้กระทบปริมาณน้ำต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า

“เขื่อนภูมิพลมีน้ำไหลเข้า 4 ล้านลูกบาศก์เมตร/วัน มีน้ำใช้งานได้ 392 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อน 3.5 ล้านลูกบาศก์เมตร/วัน น้อยกว่าค่าเฉลี่ย 46% หากฝนไม่ตกลงมากังวลว่าน้ำเพื่อการเกษตรจะไม่เพียงพอ เนื่องจากปริมาณน้ำในส่วนนี้ต้องสำรองไว้ใช้เพื่อการอุปโภคและบริโภค และรักษาระบบนิเวศด้วย นอกจากนี้ บางส่วนต้องจ่ายน้ำเพื่อการเกษตร 2.8 ล้านไร่ ดังนั้นจะใช้น้ำได้เพียง 36 วันจากเดิม 40 วัน” นายวันชัยกล่าว

สำหรับปริมาณน้ำภาคตะวันตก เช่น เขื่อนศรีนครินทร์ และภาคใต้ เช่น เขื่อนรัชชประภา และเขื่อนบางลางไม่น่ากังวล เพราะมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนเพียงพอ ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือต้องติดตามปริมาณน้ำในเขื่อนจุฬาภรณ์ที่ปริมาณน้ำลดลงเช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น