xs
xsm
sm
md
lg

ครม.จัดงบ 100 ล้านให้ภารกิจเนปาล จ่อใช้ กม.ประมงใน 60 วัน แนะร่วมประกันข้าว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี(แฟ้มภาพ)
“สรรเสริญ” เผยประชุม ครม. สั่งกำลังพลช่วยเนปาล จัดงบ 100 ล้านใช้ภารกิจ ขอบคุณ ขรก.-ปชช.ช่วยยอดบริจาคถึง 56 ล้าน ขอสื่อย้ำบัญชีบริจาครัฐ กันถูกหลอก แจง กม.ประมงฯ ประกาศใช้ใน 60 วัน สั่ง ก.เกษตรฯ เตรียม กม.ลูกอุดช่องโหว่ IUU ชวนชาวนาร่วมประกันข้าวนาปี เหตุเยียวยาได้ไม่ทั่วถึงหากเสียหาย ส่วนอนุ กมธ.ปฏิรูปสาธารณะ ชงหมายเลข 112 ลิงก์ทุกหน่วยฉุกเฉินรับ AEC

วันนี้ (28 เม.ย.) พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ในช่วงต้นของการประชุม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานในที่ประชุม ได้สั่งการเกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในประเทศเนปาล เบื้องต้นได้มีการส่งกำลังพล เช่น ชุดแพทย์ฉุกเฉิน และชุดปฏิบัติการช่วยเหลือฟื้นฟู พร้อมยุทโธปกรณ์ จำนวนหนึ่งไปยังประเทศเนปาล โดยได้มอบหมายให้กองทัพอากาศเป็นผู้ดำเนินการ รวมทั้ง ครม.ยังได้อนุมัติงบประมาณ 100 ล้านบาทสำหรับใช้ในการปฏิบัติภารกิจทุกส่วนของการช่วยเหลือ นอกจากนี้ได้กำชับให้ทุกส่วนราชการได้ติดตามการช่วยเหลือเพิ่มเติมตามที่ทางประเทศเนปาลร้องขอมา โดยเฉพาะการฟื้นฟูบูรณะต่างๆ ในฐานะที่ประเทศไทยเคยมีประสบการณ์ด้านการบรรเทาภัยพิบัติขนาดใหญ่มาแล้ว

พล.ต.สรรเสริญกล่าวด้วยว่า พล.อ.ประวิตรยังได้กล่าวขอบคุณส่วนราชการ และคนไทยทุกคนที่ร่วมกันเป็นเจ้าภาพรายการ “หัวใจไทยส่งไปเนปาล” ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 27 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยมียอดบริจาคผ่านรายการดังกล่าวจำนวน 48 ล้านบาทเศษ และยังมีโอนมาเพิ่มเติมอีก 8 ล้านบาท รวมเบ็ดเสร็จแล้วขณะนี้มีเงินบริจาคทั้งสิ้น 56 ล้านบาทเศษ ทั้งนี้ ขอความร่วมมือสื่อมวลชนในการประชาสัมพันธ์ว่าในส่วนของรับบริจาคเงินของรัฐบาลนั้นได้เปิดบัญชี “หัวใจไทย ส่งไปเนปาล” ธนาคารกรุงไทย สาขาทำเนียบรัฐบาล ของสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี หมายเลขบัญชี 067-0-10330-6 เท่านั้น เพื่อป้องกันการหลอกลวงของผู้ไม่ประสงค์ดี

พล.ต.สรรเสริญกล่าวถึงการดำเนินการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย หรือ IUU Fishing ซึ่งประเทศไทยถูกสหภาพยุโรป (อียู) ประกาศภาคทัณฑ์ว่า ขณะนี้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประมง พ.ศ. 2558 ฉบับปรับปรุง ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในอีก 60 วัน พล.อ.ประวิตรในฐานะประธานคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณาจัดทำรายละเอียดคำสั่งต่างๆ ตาม พ.ร.บ.ดังกล่าวเพื่อให้ กองทัพเรือ เป็นหน่วยงานบูรณาการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการดำเนินการแก้ไขเรื่องต่างๆตามมติของอนุกรรมการฯ และได้สั่งการให้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดทำร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เพื่อปิดช่องโหว่ต่างๆตามที่อียูได้ท้วงติงมาให้พร้อม เพื่อประกาศออกมาทันทีที่ พ.ร.บ.ประมงมีผลบังคับใช้

ในส่วนของการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญที่ทางคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ จัดทำร่างแรกแล้วเสร็จ และอยู่ในระหว่างการพิจารณาเพื่อลงมติของ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) นั้น พล.อ.สรรเสริญกล่าวว่า ขณะนี้ทุกกระทรวงทบวงกรมได้รับรายละเอียดเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้ ครม.ได้มีมติสั่งการให้แต่ละหน่วยงานไปดูรายละเอียด และขอให้ส่งข้อคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรับธรรมนูญภายในวันที่ 19 พ.ค.นี้ เพื่อนำข้อคิดเห็นเข้าหารือในที่ประชุมร่วม ครม.และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

พล.ต.สรรเสริญแถลงถึงมติ ครม.ในส่วนโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปี 58 ว่า ครม.ได้มีมติอนุมัติตามกระทรวงการคลังเสนอ โดยเร่งรัดให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ดำเนินการให้ทันภายในฤดูเพาะปลูก หรือในเดือน พ.ค.นี้ โดยใช้งบประมาณ 476 ล้านบาท โดยเป็นงบประมาณของโครงการที่เหลือมาจากการดำเนินการในปี 57 จำนวน 208 ล้านบาท รวมกับงบประมาณที่ขออนุมัติเพิ่มเติมอีก 268 ล้านบาท ทั้งนี้เพื่อให้ดำเนินการเป็นไปด้วยความเรียบร้อยได้ให้ ธ.ก.ส.ทดรองจ่ายเงินอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยแทนรัฐบาลไปก่อนที่จะเบิกเงินชดเชยตามจำนวนที่จ่ายจริงในปีงบประมาณถัดไป สำหรับโครงการประกันภัยข้าวนาปี มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในการเพาะปลูกข้าวของเกษตร ซึ่งรัฐบาลอาจจะเยียวยาได้ไม่ครอบคลุม และใช้งบประมาณจำนวนมาก จึงได้เชิญชวนให้เกษตรเข้าร่วมโครงการดังกล่าวเพื่อป้องกันความเสียหายได้มากขึ้น ทั้งนี้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการต้องจ่ายไร่ละ 60-100 บาทต่อไร่ และรัฐบาลอุดหนุนเพิ่มเติม 64 - 384 บาทต่อไร่ ตามระดับพื้นที่รับประกันภัย 5 พื้นที่ คุ้มครองภัย 7 ประเภท ได้แก่ น้ำท่วมหรือฝนตกหนัก ภัยแล้ง ฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วงลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็ง ลูกเก็บ และไฟไหม้ รวมทั้งภัยศัตรูพืชและโรคระบาด โดยในปีนี้ตั้งเป้าหมายให้มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 1.5 ล้านไร่ เพิ่มจากปี 57 ที่มีเกษตรกรเข้าร่วมเพียง 8 แสนไร่เศษเท่านั้น

ขณะที่ พล.อ.ชูศิลป์ คุณาไทย ประธานคณะอนุกรรมาธิการปฏิรูประบบสาธารณะ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) แถลงว่า 6 เดือนที่ผ่านมา คณะอนุกรรมาธิการฯ ได้ศึกษาและผลักดันให้มีเกิดการใช้ระบบการแจ้งเหตุฉุกเฉินหมายเลขเดียว คือ หมายเลข 112 อันเป็นจุดเริ่มต้นในการปฏิบัติการช่วยฉุกเฉิน ที่มีประสิทธิภาพ มีการบูรณาการกับหน่วยงานที่รับแจ้งเหตุฉุกเฉินในปัจจุบัน เช่น เหตุด่วนเหตุร้าย 191 ไฟไหม้ ดับเพลิง 199 และเหตุการณ์ฉุกเฉินทางการแพทย์ 1669 และร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้เกิดการเชื่อมโยงประชาชนทุกกลุ่ม ทั้งผู้ด้อยโอกาส คนพิการ สามารถโทรเบอร์เดียวได้ทุกเหตุการณ์ ไม่สับสนสามารถโทรจากโทรศัพท์ทุกระบบ โทรมือถือแม้ไม่มีซิมการ์ด หรือถูกตัดสัญญาณ มีระบบการบอกตำแหน่งของผู้โทร ครอบคลุมทุกพื้นที่ในประเทศไทย ทำให้ผู้ช่วยเหลือเข้าถึงจุดเกิดเหตุเร็วขึ้น หมายเลข112 เป็นหมายเลขที่ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ ของประเทศทั่วโลกใช้แจ้งเหตุฉุกเฉิน และจะเชื่อมต่อกับระบบฉุกเฉินของกลุ่มประเทศอาเซียนเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว และการเป็นประชาคมอาเซียน (AEC) ในอนาคตด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น