xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ย้อนรอยจับโกง “โครงการจำนำมันสำปะหลัง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -กำลังเป็นเรื่องที่น่าจับตาสำหรับการเข้ามาสอบสวน “ทุจริตโครงการแทรกแซงตลาดมันสำปะหลัง” ที่ “กรมสอบสวนคดีพิเศษ” (ดีเอสไอ) จะเสนอเรื่องให้คณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.)ชุดใหม่ ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่งแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิ ครบ 9 คน ไปเมื่อวันที่ 27 ม.ค.ที่ผ่านมา หลังจากได้ประชุมสรุปร่วมกับองค์การคลังสินค้า (อคส.) เพื่อวางรูปคดี และดำเนินการสอบสวนต่อ โดยตั้งเป้าจะเสนอเรื่องเป็นคดีพิเศษในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ก่อนจะมีการตรวจสอบลงลึกขยายความเพื่อจับกุมขบวนการนี้ให้ได้ในไม่ช้า

หากย้อนรอยทุจริต “โครงการแทรกแซงตลาดมันสำปะหลัง” หรือโครงการรับจำนำมันสำปะหลัง ระหว่างปี 51/52, 54/55, 55/56 ซึ่งสูญหายไป ทั้งหมดเป็นคู่สัญญากับองค์การคลังสินค้า (อคส.)หลังพบว่า มีการทุจริตเป็นขบวนการ

จากบทสรุปของ ดีเอสไอและ อคส. พบว่ามี “บริษัท เกษตรพืชผล อินเตอร์เทรด จำกัด” ซึ่งเป็นโกดังรับฝากเก็บมันสำปะหลังในโครงการ ได้ยักยอกโดยได้ขนย้ายมันสำปะหลังออกจากคลังสินค้ารวม 50,000 ตัน เป็น มันเส้นในโครงการแทรกตลาดมันสำปะหลังปี 2554-2556 ใน 5 จังหวัด ประกอบด้วย สระบุรี อยุธยา ราชบุรี ลพบุรี และกาญจนบุรี ทำให้มันเส้นสูญหายและมีการนำแกลบมาปะปนเพื่ออำพราง สร้างความเสียหากับรัฐกว่า 400 ล้านบาท

ดีเอสไอ ให้ข้อมูลว่า บริษัท เกษตรพืชผล อินเตอร์เทรด จำกัด จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 23 ส.ค. ปี 2549 ด้วยทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท ประกอบกิจการขายส่งข้าวเปลือกและผลิตผลทางการเกษตร มีนายชัยยศ สิงหา อายุ 54 ปี อยู่บ้านเลขที่ 359 หมู่10 ต.หน้าพระลาน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.สระบุรี เป็นกรรมการและผู้จดทะเบียนตั้งบริษัท

จากนั้นบริษัทเกษตรพืชผล อินเตอร์เทรด จำกัด ได้เข้ามาเป็นคู่สัญญากับองค์การคลังสินค้าในการเก็บมันสำปะหลังในโครงการแทรกแซงตลาดมันสำปะหลัง ตั้งแต่ปีการผลิต 2554 จนถึง 2557โดยมีโกดังทั้งหมด 5 แห่งใน 5 จังหวัดข้างต้น

ขยายผลพบว่า มีสัญญาฝากเก็บรักษามันเส้นโครงการแทรกแซงตลาดมันสำปะหลังปี 2554/55 และปี 2555/2556 ซึ่งเป็นคู่สัญญากับองค์การคลังสินค้าทุกสัญญา มีบัญชีรายชื่อบริษัทผู้ประกอบการตรวจสอบมาตรฐานสินค้ามันสำปะหลังตามโครงการฯ มีเอกสารการประกอบการรับสมัครเข้าร่วมโครงการ มีรายชื่อลานมันที่ทำหน้าที่แปรรูปเป็นมันเส้น ทั้งหมดมีการไปเก็บไว้ที่คลังของบริษัทแห่งนี้

นอกจากนี้ ยังมีสำนวนเดิมกับโครงการรับจำนำปี 51/52 - 55/56 ที่พบว่า มีการสูญหายไปจากคลังสินค้าปริมาณรวม 300,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายถึง 3,700 ล้านบาท อยู่ระหว่างที่ อคส. กำลังรื้อดูว่าทั้ง 95 คดีมีความเชื่อมโยงกัน หรือดำเนินการเป็นขบวนการหรือไม่ ขณะที่ อคส.ได้สั่งโยกย้ายหัวหน้าคลัง อคส. ออกจากพื้นที่แล้ว และได้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ซึ่งสำนวนนี้ก็จะนำเข้าเป็นคดีพิเศษเช่นกัน

ดีเอสไอและ อคส.ยังมีการข้อมูลว่า โกดังจังหวัดอื่น ๆที่มีปัญหามันสำปะหลังสูญหายมีไม่ต่ำกว่า 70 แห่ง และกำลังขยายผลการสอบสวนให้ครบทุกพื้นที่

ขณะที่บอร์ด อคส. มีมติให้ แจ้งความดำเนินคดี กับผู้ประกอบการที่ทุจริต ควบคู่กับการส่งคดีให้ดีเอสไอ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ปปท.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ดำเนินการ

ทีนี้มาย้อนรอยดูตัวอย่างปฏิบัติการลงพื้นที่ตรวจสอบโกดังมันสำปะหลังเส้น ตลอดเดือนมกราคม 2558 ที่ผ่านมาพบอะไรบ้าง เป็นการปฏิบัติการพร้อมกันของ สำนักปฏิบัติการคดีพิเศษภาค กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) เจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่กรมการค้าภายใน และเจ้าหน้าที่องค์การคลังสินค้า(อคส.)

8 ม.ค. 2558 ลงพื้นที่ตรวจสอบโกดังมันสำปะหลังเส้น เลขที่ 99/12 หมู่ 19 ต.ท่าผา อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ตามโครงการแทรกแซงตลาดมันสำปะหลัง ปีการผลิต 2555/2556 ซึ่งเป็น 1 ใน 5 จังหวัด ที่รัฐบาลฝากเก็บไว้ แต่มีการทุจริตโดยมีบิ๊กแบ็กยัดแกลบสอดไส้แทนมันสำปะหลัง และเกิดไฟไหม้ทั้ง 5 แห่ง ในระยะใกล้เคียงกัน ส่วนใหญ่เป็นมันเส้นจาก จ.กาญจนบุรี

“โกดังหลังที่ 5 ในส่วนของ จ.ราชบุรี นี้เกิดเหตุเพลิงไหม้ เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2557 และมีการแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้ที่ สภ.บ้านโป่ง ซึ่งมีกลิ่นเหม็น สภาพมันเป็นเส้นสีดำ และมีถุงขนาดใหญ่ (big bag) ภายในบรรจุแกลบ”

9 ม.ค.2558 ลงพื้นที่ตรวจสอบโกดัง หมู่ที่ 5 ต.โคกตูม อ.เมือง จ.ลพบุรี ที่ได้รับสัญญาให้ทำการเก็บรักษามันเส้น ของ อคส. มาตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งสาเหตุในการตรวจสอบครั้งนี้เมื่อประมาณกลางปีที่ผ่านมา ได้มีเจ้าหน้าที่ อคส. ของ จ.ลพบุรี ได้ไปแจ้งความร้องทุกข์ที่ สภ.โคกตูมว่า มีการยักยอกมันเส้นในโกดังดังกล่าวออกไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งก็ได้มีการตรวจสอบ และเรื่องก็เงียบหายไปจนกระทั่ง ได้เกิดเพลิงไหม้ขึ้นที่กองมันภายในโกดังดังกล่าว ซึ่งรวมความเสียหายทั้งหมดในจังหวัดลพบุรี ก็จะสูงถึง 161 ล้านบาท

กรณีนี้ต่อเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 12 ก.ย.2557 หลังจากเจ้าหน้าที่องค์การคลังสินค้าได้รับมอบอำนาจจากคลังสินค้า กระทรวงพาณิชย์ เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ให้ดำเนินคดีอาญา กับ บริษัทเกษตรพืชผล อินเตอร์เทรด จำกัด และพวกในความผิดฐานร่วมกันยักยอกทรัพย์ มันสำปะหลัง โครงการแทรกแซงตลาดมันสำปะหลัง ปีการผลิต 2555/56 มูลค่ากว่า 150 ล้านบาท เนื่องจากมีมันสำปะหลังที่เก็บไว้ในคลังสินค้ากลางโรงที่ 1 ได้หายไปทั้งหมด จำนวนกว่า 4,000 ตัน นอกจากนี้ ได้เข้าตรวจสอบโรงที่ 2 ก็ไปพบถุงบิ๊กแบ็กวางสอดไส้อยู่กลางกองมันสำปะหลังอีกด้วย

15 ม.ค.2558 เข้าตรวจสอบโกดัง โรงสีรวมทุนวัฒนา ถ.พหลโยธิน (ขาเข้ากทม.) กม.78 เลขที่ 68 หมู่ 2 ต.สนับทึบ อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา พบโกงดัง 3 หลังไม่พบสินค้าเกษตร ซึ่งกับ บริษัทเกษตรพืชผล อินเตอร์เทรด จำกัด ได้มาเช่าไว้ พบว่า เดือนกุมภาพันธ์ 2556 เกิดเพลิงไหม้โกดังดังกล่าว และยังพบบิ๊กแบ็กบรรจุแกลบเช่นกัน โกดังนี้มีการตรวจสอบล่าสุดพบว่า มีมันสำปะหลังจำนวน 13,300 ตัน มูลค่า 99 ล้านบาท แต่กลับหายไป

22 ม.ค.2558 เข้าตรวจสอบโกดังของบริษัทเกษตรพืชผลอินเตอร์เทรด ที่เช่าจากบริษัทเหมืองหินศิริพัฒนา ต.พุกร่าง อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี เพื่อเก็บมันสำปะหลัง แต่พบเป็นโกดังเปล่า โกดังแห่งนี้ต่อมาได้พบว่ามันสำปะหลังกว่า 6,000 ตันหายไปจากโกดัง มีการเก็บมันสำปะหลังไว้ 2 โกดัง จำนวน 12,000 ตัน และได้ขายออกไปแล้วครึ่งหนึ่ง ส่วนที่สูญหายคิดเป็นมูลค่า 43 ล้านบาท

28 ม.ค.2558 ลงพื้นที่ตรวจสอบโกดังมันสำปะหลัง เลขที่ 69 หมู่ 7 ต.แสนตอ อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี หลังได้รับแจ้งจากองค์การคลังสินค้าว่ามันสำปะหลังในโครงการฯ สูญหายไปมูลค่า 84,318,565.14 บาท มันที่เสียหายประมาณ 11,000 ตัน อีกทั้งโกดังดังกล่าวถูกไฟไหม้เสียหายเมื่อกลางดึกของวันที่ 22 พ.ค.2557แจ้งความร้องที่สภ.ลูกแก

คดีนี้ดีเอสไอ ให้แนวทางว่า"กระบวนการสอบสวนจะไล่มาตั้งแต่เมื่อมีการเริ่มขน วางของ ของเข้ามาใครดูแลบ้าง มีการทำความผิดต้นตั้งแต่เมื่อไหร่ โดยจะมีหัวหน้าอคส.เป็นผู้รับผิดชอบ มีคณะกรรมการระดับจังหวัดกำกับดูแล"

มีเรื่องหนึ่งเกี่ยวข้องต่อเนื่องกับจาก “เวปบอร์ดกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์” เมื่อวันที่ 20 มี.ค.2557 เคยมีการสอบถามการระบายมันสำปะหลังของบริษัทเกษตรพืชผล ที่ได้ทำสัญญาเช่าคลังสินค้าเพื่อเก็บมันสำปะหลัง กับโรงสีแห่งหนึ่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อ.วังน้อย ระบุว่า

“ขณะนี้คลังสินค้าได้รับความเสียหาย (ไฟไหม้) จากการเก็บมันสำปะหลังเป็นอย่างมาก ขณะที่กำแพงคลังสินค้ารับน้ำหนักของมันสำปะหลังที่เทมาด้านข้างไว้ไม่ไหวจึงเกิดการแตกพัง ทางบริษัทเกษตรพืชผล ยังได้ผิดสัญญาเช่าโดยไม่ชำระค่าเช่าคลังและไม่ซ่อมแซมในส่วนที่เสียหาย ทางเจ้าของคลังสินค้าจึงต้องการเเจ้งเตือนมายังกรมการค้าต่างประเทศให้เร่งระบายมันสำปะหลังของ บริษัทเกษตรพืชผลที่เช่าที่วางกับโรงสีแห่งนี้โดยด่วนที่สุด รบกวนขอทราบช่วงเวลาที่จะระบายมันสำปะหลังของบริษัทเกษตรพืชผลด้วย”

เรื่องนี้ เวปมาสเตอร์ (แอดมิน) สังกัดกองบริหารการค้าสินค้าทั่วไป กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ตอนคำถามกลับไปยังผู้ถาม เมื่อวันที่ 26 มี.ค.2557 ว่า

“ตามที่โรงสี...... ได้สอบถามถึงเรื่องการระบายมันสำปะหลังเส้น ที่ บจก.เกษตรพิชผลอินเตอร์เทรด ได้เช่าคลังสินค้าของโรงสีฯ เพื่อเก็บมันสำปะหลังเส้นตามโครงการแทรกแซงฯของรัฐบาลนั้น ขอเรียนว่า

1.การระบายมันสำปะหลังเส้นในสต็อกของรัฐบาล คณะทำงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการระบายฯ ได้เร่งดำเนินการระบายผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในสต็อกของรัฐบาลเป็นระยะๆ แต่ในส่วนของคลังสินค้า บจก.เกษตรพืชผลอินเตอร์เทรด จ.อยุธยา นั้น ปรากฎว่า ที่ผ่านมาไม่มีผู้สนใจมันสำปะหลังเส้นในคลังดังกล่าวเลย จึงยังไม่สามารถระบายได้ ซึ่งกรมฯ จะพิจารณาแนวทางระบายสินค้าในคลังดังกล่าวต่อไป

2. ทั้งนี้ สำหรับประเด็นเรื่องสัญญาเช่าคลังสินค้าระหว่างโรงสีรวมทุนวัฒนา กับ บจก.เกษตรพืชผลอินเตอร์เทรด นั้น ขอให้โรงสี...... แจ้ง บจก.เกษตรพืชผลอินเตอร์เทรด ให้เร่งซ่อมแซมกำแพงคลังสินค้าที่เสียหายโดยเร็ว เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อไป

ต่อมา เจ้าของโรงสี.... ตอบกลับไปยัง กองบริหารการค้าสินค้าทั่วไป ว่า

“ขอบคุณมากครับที่ตอบคำร้องเรียน ทางโรงสี........ได้แจ้งไปยัง บจก.เกษตรพืชผลอินเตอร์เทรด เป็นจำนวนหลายครั้งทั้งทางโทรศัพท์ ทางอีเมล์ แต่บจก.เกษตรพืชผลอินเตอร์เทรด กลับเพิกเฉยในเรื่องดังกล่าว ทางเราจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องขอความช่วยเหลือจากทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดต่อไปยัง บจก.เกษตรพืชผลอินเตอร์เทรด ให้เข้ามารับผิดชอบดูแลในเรื่องการซ่อมแซมหรือขนย้ายสินค้าออกไปไว้ที่คลังอื่นโดยด่วน เนื่องจากสินค้าเป็นสินค้าของทางรัฐบาลหากเกิดความเสียหายจะเป็นผลเสียอย่างยิ่งแก่ทั้งสองฝ่าย”

ร้องเรียน ไปตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค.2557 จนถึงวันนี้กุมภาพันธ์ 2558 ข้ามมา 1 ปีเศษ

สำหรับ โครงการแทรกแซงตลาดมันสำปะหลังปี 2555/ 2556 สมัยรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เปิดรับจำนำวันที่ 1 ธันวาคม 2555 เป้าหมายตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) 10 ล้านตัน วงเงิน 3.98 หมื่นล้านบาท แปรรูปเป็นมันเส้นและแป้งมัน 8.4 ล้านตัน และผลิตเอทานอล 1.6 ล้านตัน

ต่อมา การประชุมครม.รักษาการ เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2557 มีการพิจารณาข้อเสนอแนะของนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานกรรมการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ว่าป.ป.ช.ได้รับเรื่องร้องเรียนโครงการแทรกแซงราคามันสำปะหลัง ปีการผลิต 2554/2555 และ 2555/2556 มีการเอื้อประโยชน์แก่ผู้ประกอบการ อีกทั้งป.ป.ช.ได้ให้มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ศึกษาวิจัยมาตรการแทรกแซงตลาดมันสำปะหลังเพื่อป้องกันการทุจริต พบว่าช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เกิดปัญหาการทุจริต สูญเสียงบประมาณจำนวนมาก ป.ป.ช.จึงเสนอให้ยกเลิกโครงการ เพราะสร้างผลกำไรให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการจำนวนมาก โดยข้อเสนอดังกล่าวไม่มีการแถลงต่อสื่อมวลชน



กำลังโหลดความคิดเห็น