xs
xsm
sm
md
lg

เบอร์ 112 ผ่าวิกฤตเหตุฉุกเฉินไทยได้จริงหรือ?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

โดย...สิรวุฒิ รวีไชยวัฒน์

ไม่ว่าจะเป็น อุบัติเหตุ เจ็บป่วยฉุกเฉิน เหตุด่วนเหตุร้าย หรือแม้แต่ไฟไหม้ ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะจะขอความช่วยเหลือได้จากใครจึงจะรวดเร็วและปลอดภัยที่สุด ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือเหตุฉุกเฉินหลายแห่งด้วยกัน

หากเป็นด้านความปลอดภัย มีสายด่วน 191 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) คอยดูแล

หากเป็นเรื่องเจ็บป่วยฉุกเฉิน มีสายด่วน 1669 ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) มีสายด่วน 1646 ของ ศูนย์เอราวัณ กทม.

หากเป็นเหตุไฟไหม้ มีสายด่วน 199 แจ้งดับเพลิงขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

แต่ในความเป็นจริง เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินจะมีสักกี่คนที่จะตั้งสติและระลึกได้ว่าง เมื่อเกิดเหตุใดควร โทร.ไปยังหมายเลขใด แต่ที่ดูเหมือนทุกคนจะจำได้แม่นคือสายด่วน 191 ในการขอความช่วยเหลือ แต่ที่ผ่านมากลับพบว่ามีคน โทร.ป่วนเป็นจำนวนมาก ทำให้สายที่ต้องการความช่วยเหลือจริงๆ นั้นไม่สามารถขอความช่วยเหลือได้

ขณะที่สายด่วนด้านการแพทย์ฉุกเฉินที่ผ่านมาก็มีข่าวคราวปัญหาของการขอความช่วยเหลือ เพราะ สพฉ. จะดูแลพื้นที่ต่างจังหวัด ส่วนศูนย์เอราวัณจะดูแลพื้นที่ส่วน กทม. ทำให้เมื่อเกิดเหตุ กทม. แต่มีการ โทร.แจ้ง 1669 ของ สพฉ. จึงเกิดปัญหาขึ้นบ่อยครั้ง

เบอร์ 112 ลดปัญหาแจ้งข้อมูลซ้ำซ้อน

เพียงแค่จะ โทร.แจ้งเหตุฉุกเฉิน แต่จำเบอร์ไม่ได้ หรือ โทร.ไปผิดเบอร์ เช่น เจ็บป่วยฉุกเฉินแต่ โทร.หา 191 กว่าจะโอนสายไปยังหน่วยปฏิบัติงานที่ตรงกับเหตุฉุกเฉินของผู้ โทร.แจ้ง ก็เสียเวลาไปไม่ใช่น้อย คำถามคือยิ่งมีเบอร์ 112 มาเป็นเบอร์กลางรับแจ้งเหตุ กว่าจะประสานไปยังทีมช่วยเหลือจะยิ่งช้าเข้าไปอีกหรือไม่

นี่คือคำถามในใจที่หลายๆ คนตั้งข้อสงสัยกับเบอร์ 112 ซึ่ง นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย รองเลขาธิการ สพฉ. ชี้แจงเรื่องดังกล่าวว่า สายด่วนฉุกเฉิน 112 จะเป็นหมายเลขเดียวในการรับแจ้งเหตุฉุกเฉิน ซึ่งระบบของ 112 จะเชื่อมต่อไปยังหน่วยปฏิบัติงานด้านฉุกเฉินทั้งหมด ทั้ง 191 1669 และ 199 ทำให้เมื่อ 112 รับแจ้งเหตุ สายด่วนอีก 3 หมายเลขจะได้รับข้อมูลการแจ้งเหตุไปพร้อมๆ กัน โดยไม่ต้องเสียเวลาแจ้งข้อมูลใหม่

การรับสายแจ้งเหตุฉุกเฉินแต่ละสายจะต้องใช้เวลาพูดคุยไม่เกิน 3 นาที โดยตั้งคำถามไม่เกิน 3 คำถาม เพื่อให้ได้ข้อมูล ซึ่งไม่ต้องกังวลว่าหมายเลข 112 จะทำให้เสียเวลาในการประสานไปยังหน่วยปฏิบัติงานแล้วต้องรายงานข้อมูลซ้ำซ้อน เพราะผู้แจ้งเหตุฉุกเฉินเข้ามาที่ 112 ไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ใดก็ตาม ข้อมูลที่ 112 ได้รับจากผู้แจ้งเหตุจะถูกส่งไปยังสายด่วนฉุกเฉินของทั้ง 3 หน่วยปฏิบัติการในทันที ทำให้ไม่เสียเวลาสอบถามข้อมูลใหม่ และพร้อมจ่ายงานไปยังพื้นที่ที่ใกล้ที่สุดของผู้รับแจ้งให้ออกปฏิบัติการได้ทันที หากเหตุฉุกเฉินนั้นเกี่ยวข้องกับหน้าที่ของตัวเอง แต่หากผู้แจ้งเหตุไม่สามารถพูด หรือให้รายละเอียดได้ก็จะส่งทั้ง 3 ทีมไปยังที่เกิดเหตุ ส่วนเคสไม่ฉุกเฉินจะไม่มีการตัดสายทิ้ง แต่จะมีการจ่ายงานโอนสายไปยังหน่วยงานอื่นเพื่อดูแลต่อไปแทน ทั้งนี้ ยืนยันว่า ไม่ได้เป็นการยุบหรือยกเลิกหมายเลขฉุกเฉินเดิมที่มีอยู่ แต่เป็นหมายเลขรับแจ้งเหตุและประสานแทนหมายเลขเดิมที่มีอยู่” รองเลขาธิการ สพฉ. กล่าว

รู้พิกัดที่เกิดเหตุ - สกัดคนโทร.ป่วน

ความสามารถพิเศษของเบอร์ 112 ที่เหนือไปกว่าสายด่วนฉุกเฉินอื่นที่มีในประเทศคือ สามารถรู้พิกัดที่เกิดเหตุได้ทันที และรู้ข้อมูลของผู้ที่ โทร.เข้ามาทันที ทำให้สามารถจับคนโทร.ป่วนได้ทันทีเช่นกัน

เรื่องนี้ ร.ต.อ.ดร.สามารถ กาษร รอง สว. ชุดปฏิบัติ กก.ศร.บก.สปพ. (191) กล่าวว่า ปัญหาในการออกไปช่วยเหลือเหตุฉุกเฉินของตำรวจผ่านหมายเลข 191 คือ ไม่สามารถรับรู้สถานที่เกิดเหตุได้ เนื่องจากขัดต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชน ทำให้การช่วยเหลือล่าช้า นอกจากนี้ ยังมีการโทรศัพท์ป่วนเข้ามายังหมายเลข 191 ด้วย โดยแต่ละวันมีผู้ โทร.เข้ามาประมาณ 10,000 สาย เป็นสาย โทร.ป่วนประมาณ 8,000 สาย ส่วนใหญ่เป็นเด็กหญิงอายุ 10 - 12 ขวบ เป็นเหตุฉุกเฉินจริงไม่ถึง 1,000 สาย แต่หากมีหมายเลขฉุกเฉิน 112 จะช่วยลดปัญหาดังกล่าว เพราะสามารถบอกพิกัดของผู้แจ้งเหตุฉุกเฉินได้ และจะมีการแสดงข้อมูลส่วนตัวตามทะเบียนราษฎร รูปภาพผู้โทรศัพท์ และข้อมูลสุขภาพให้เห็นอย่างชัดเจน จึงช่วยให้เจ้าหน้าที่ไปช่วยได้รวดเร็วตรงจุด ภายใน 10 นาที ตามมาตรฐานของ สพฉ. และสามารถช่วยพิจารณาได้ว่าจะต้องส่งหน่วยงานใดออกไปช่วยเหลือ

งานฉุกเฉินระดับ World Class

เบอร์ 112 นี้รู้หรือไม่ว่า ประเทศไทยไม่ได้คิดขึ้นมาเอง แต่เป็นเพราะทั่วโลกเขาก็ใช้กัน
ภาพจาก https://www.youtube.com/watch?v=k1sg03k_4LU
จุดกำเนินของ 112 นั้น นายสืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิชาการโทรคมนาคม อธิบายว่า มาจากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับสายด่วนเห็นว่าการจะจำสายด่วนของแต่ละประเทศได้ทั้งหมดเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติหากประสบเหตุฉุกเฉินต้องการขอความช่วยเหลือในต่างแดนจึงเป็นเรื่องยาก จึงมีหารหารือมาตลอดว่าจะใช้เลขหมายใดเป็นเบอร์แจ้งเหตุ ซึ่งที่ผ่านมามีการเสนอทั้ง 911 ของสหรัฐฯ และ 112 ซึ่งภายหลังมีมติให้ใช้ 112 เป็นหมายเลขกลางในการ โทร. ซึ่งประเทศไทยเองก็เป็นสมาชิก ITU จึงดำเนินการเรื่องนี้ด้วย โดย กสทช. ได้ออกประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้ใช้หมายเลข 112 เป็นสายด่วนครอบคลุมทุกความฉุกเฉินในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 7 พ.ค. 2557 ขาดแต่เพียงหน่วยงานหลักที่จะมาดำเนินการเท่านั้น

ส่วนโทรศัพท์มือถือทุกรุ่นขณะนี้สามารถ โทร.สายด่วนฉุกเฉิน 112 ได้ แม้จะไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ ไม่มีซิมการ์ด เพราะผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือเขาผลิตออกมรองรับระบบ 112 กันทั้งหมดแล้ว

ลดอัตราตายลงได้

นพ.ไพโรจน์ กล่าวอีกว่า ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุ หรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน เนื่องจากระบบ 112 มีความรวดเร็วในการรับแจ้งเหตุและประสานยังพื้นที่ ทำให้การช่วยเหลือรวดเร็วขึ้น เชื่อว่า จะช่วยให้ผู้บาดเจ็บ ผู้ป่วย หรือผู้ที่เกิดเหตุฉุกเฉินต้องการได้รับความช่วยเหลือ ได้รับการช่วยเหลือได้ทันท่วงที ลดเจ็บตายหรือพิการลงได้ อย่างในอนาคตจะมีการเชื่อมระบบ 112 เข้ากับเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ หรือ AED ทำให้สามารถรู้จุดที่เกิดเหตุเมื่อนำเครื่องออกมาช่วยผู้ป่วยหัวใจวายได้ทันที โอกาสรอดชีวิตก็เพิ่มขึ้น หรือแม้แต่ไฟไหม้ เมื่อกดปุ่มเตือนภัยระบบก็จะรู้ทันทีว่าเกิดเพลิงไหม้ที่อาคารใด และไปช่วยเหลือดับเพลิงได้ทันการณ์

วิพากษ์ตั้งองค์กรใหม่ ตระกูล ส.คุม

จากการที่เครือข่ายพลเมืองปฏิรูประบบสายด่วนฉุกเฉิน 112 เสนอให้ สพฉ. เป็นหน่วยงานหลักในการดูแล 112 นั้น หลายฝ่ายมองว่าอาจจะมีการตั้งองค์กรใหม่ สำนักงานใหม่ ซึ่งไม่พ้นคนองค์กรตระกูล ส. จะมาคุมบังเหียน

นพ.ไพโรจน์ กล่าวว่า การจัดตั้งศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน 112 ไม่จำเป็นต้องสร้างอาคารใหม่ อาจอาศัยการเช่าสถานที่ โดยทำเป็นศูนย์ฯชั่วคราว และเซตระบบเชื่อมโยงหน่วยปฏิบัติงานทั้งหมด และจ้างบุคลากรภายนอกมาเป็นผู้รับโทรศัพท์แจ้งเหตุ ซึ่งจากการพิจารณาร่วมกันเห้นว่า ประมาณ 140 คู่สาย สามารถรองรับการรับแจ้งเหตุต่อวันได้เพียงพอ โดยเบื้องต้นคาดว่าจะใช้งบประมาณ 150 - 200 ล้านบาท ในการจัดตั้งตรงนี้ โดยใช้เวลาประมาณ 8 เดือน นับจากจัดตั้งหน่วยงานหลักในการดำเนินการจึงเสร็จสิ้น ส่วนการตั้งองค์กรใหม่หรือไม่นั้น เรื่องนี้ยังต้องมีการพิจารณา โดยจะต้องทำงานไปสักระยะเวลาหนึ่งก่อนสักประมาณ 3 ปี ว่า สมควรจะมีการตั้งหน่วยงานใหม่ที่เหมาะสมขึ้นมารับช่วงต่อในการดูแลหรือไม่ หรือจะพัฒนาศูนย์ชั่วคราวให้เป็นศูนย์ถาวร

การจะตั้ง 112 ขึ้นมาเป็นหมายเลขฉุกเฉินเดียวในไทยคงต้องจับตาดูว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ และนายกรัฐมนตรีจะเอาด้วยหรือไม่ ที่จะต้องมีการลงทุนเซตระบบเชื่อมโยงสายด่วนฉุกเฉินต่างๆ เข้ามารวมกันภายใต้ร่ม 112 ที่จะมี สพฉ. เป็นผู้ดูแลในการช่วยเหลือประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือฉุกเฉินอย่างเร่งด่วน ที่สำคัญคือหากตั้งขึ้นมาแล้วจะผ่าวิกฤตปัญหางานฉุกเฉินของไทยที่มีอยู่ได้จริงหรือไม่ ก็คงอยู่ที่กึ๋นและความสามารถของผู้จะมากุมบังเหียน 112 แล้วว่าจะทำได้ดีเพียงไร ซึ่ง สพฉ.ก็ต้องพิสูจน์ตัวเองด้วย เพราะที่ผ่านมาในสายตาของคนทั่วไปก็ยังไม่เชื่อใจในศักยภาพเท่าไรนัก

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น