สพฉ. มอบเครื่อง AED ช่วยชีวิตผู้ป่วยหัวใจวายให้ 30 องค์กร และสถานที่สาธารณะ หวังนำร่องรณรงค์ให้เจ้าของอาคารสถานที่เห็นความสำคัญในการติดตั้งเครื่อง AED เป็นอุปกรณ์พื้นฐานเช่นเดียวกับถังดับเพลิง เพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้ผู้หัวใจวาย 45% เผยเตรียมออกระเบียบให้ ปชช. ที่ใช้เครื่องไม่ถูกฟ้อง หากช่วยชีวิตไม่สำเร็จ
วันนี้ (9 ก.พ.) เมื่อเวลา 09.00 น. ที่สถานีรถไฟหัวลำโพง กทม. นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ร่วมเปิดงานมหกรรมรณรงค์เตรียมความพร้อมการช่วยฟื้นคืนชีพด้วยเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ Automated External Defibrillator (AED) ให้สถานที่สาธารณะที่มีโอกาสเสี่ยงเกิดภาวะฉุกเฉินติดตั้งเครื่อง AED โดยนำร่องมอบเครื่อง AED ให้แก่หน่วยงานราชการ สถานีขนส่ง และสถานที่สาธารณะต่างๆ จำนวน 30 องค์กรด้วย พร้อมสาธิตวิธีการใช้งานด้วย
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา สพฉ. พัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน โดยเน้นการจัดระบบรถฉุกเฉินถึงที่เกิดเหตุให้ทันท่วงที และไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่กรณีหัวใจวายเฉียบพลัน ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 3 ของคนไทย ปีละประมาณ 54,000 ราย พบว่า กว่าครึ่งหนึ่งเสียชีวิตก่อนถึงโรงพยาบาล หากจะให้รอรถฉุกเฉินมารับก็อาจเสียโอกาสในการช่วยให้รอดชีวิต หลายประเทศจึงมีการติดตั้งเครื่อง AED ในที่สาธารณะต่างๆ ซึ่งเป็นเครื่องที่คนธรรมดาสามารถใช้งานเองได้ การจัดงานครั้งนี้ต้องการรณรงค์ให้ประชาชนและหน่วยงานต่างๆ เห็นความสำคัญในการติดตั้งเครื่อง AED เพื่อใช้เป็นเครื่องมือช่วยชีวิตผู้ที่หัวใจวายเฉียบพลันให้รอดชีวิตมากขึ้น เหมือนเป็นอุปกรณ์พื้นฐานในอาคาร และสถานที่สาธารณะเช่นเดียวกับถังดับเพลิง
“หากให้รัฐบาลแจกเครื่อง AED ก็จะขาดการบำรุงดูแลรักษา เครื่องก็เสื่อมประสิทธิภาพ แต่หากรณรงค์ให้องค์กร เจ้าของสถานที่ต่างๆ เห็นความสำคัญเขาก็จะนำมาติดตั้งและดูแลเครื่องของเขา ตรงนี้จะเพิ่มโอกาสรอดชีวิตผู้หัวใจวายเฉียบพลันได้ถึง 45% ทั้งนี้ สธ. ตั้งเป้ารณรงค์ติดตั้งให้ได้ 3,000 แห่งทั่วประเทศ ภายใน 3 ปี โดยมอบหมายให้ สพฉ. ฝึกอบรมการปฐมพยาบาล ฝึกการปั๊มหัวใจ ช่วยฟื้นคืนชีพให้แก่ประชาชนทั่วไปทุกอาชีพ เพื่อให้มีความรู้และมีทักษะการช่วยชีวิตเบื้องต้น” รมช.สาธารณสุข กล่าว
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า หลักการช่วยเหลือคือเมื่อพบเจอคนหมดสติ ซึ่งไม่แน่ชัดว่าเกิดจากการหัวใจวายหรือไม่ ให้เข้าไปปลุกผู้ป่วยก่อน หากไม่ตอบสนองให้ตะโกนขอความช่วยเหลือจากบุคคลรอบข้าง พร้อมโทรศัพท์หมายเลข 1669 เพื่อเรียกทีมแพทย์ฉุกเฉิน ระหว่างนี้สามารถไปนำเครื่อง AED ในบริเวณนั้นมาช่วยผู้ป่วยได้ โดยฉีกซองบรรจุอิเล็กโทรด แล้วนำมาติดบนทรวงอกผู้ป่วย เครื่องจะวินิจฉัยอัตราการเต้นของหัวใจอัตโนมัติ และจะบอกว่าผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการช็อกหัวใจด้วยไฟฟ้าหรือไม่ หากไม่จำเป็นก็ไม่ต้อดำเนินการใดต่อ รอเพียงรถฉุกเฉินมารับ แต่หากจำเป็นเครื่องจะส่งสัญญาณให้กดปุ่มเพื่อช็อกหัวใจผู้ป่วย ทั้งนี้ หากผู้ช่วยเหลือมีความสามารถในการปั๊มหัวใจก็สามารถดำเนินการควบคู่ไปด้วยได้ตามคำสั่งปั๊มหัวใจของเครื่อง AED
“กระทรวงจะออกระเบียบภายใต้ พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551 ให้ผู้ที่ใช้เครื่อง AED ไม่ถูกฟ้อง หากการช่วยเหลือผู้ป่วยไม่ประสบความสำเร็จ หรือผู้ป่วยเสียชีวิต นอกจากนี้ อาจมีการเสนอให้บรรจุเครื่อง AED ลงใน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร เพื่อบังคับให้เจ้าของอาคาร สถานที่ ต้องติดตั้งเครื่องดังกล่าวให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐานเช่นถังดับเพลงด้วย” รมช.สาธารณสุข กล่าว
ด้าน นพ.อนุชา กล่าวว่า สพฉ. ได้มอบเครื่อง AED จำนวน 30 เครื่อง ที่ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิชิน โสภณพนิช บริษัท ฟิลิปส์ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท เซ็นต์ เมดิคอล (คริติคอล แคร์) จำกัด ให้แก่หน่วยงาน สถานที่สาธารณะต่างๆ อาทิ สถานีรถไฟหัวลำโพง สถานีขนส่งหมอชิต เอกมัย และสายใต้ ท่าเรือคลองเตย สนามกีฬาศุภชลาศัย สนามกีฬาราชมังคลากีฬาสถาน (หัวหมาก) ทำเนียบรัฐบาล รัฐสภา เป็นต้น สำหรับสถานที่ติดตั้งเครื่อง AED ควรอยู่ในที่ที่สามารถนำมาช่วยฟื้นคืนชีพได้ภายใน 5 นาที เช่น ใกล้ลิฟต์ บันได ติดป้ายให้เห็นชัด ดึงออกมาใช้งานได้สะดวกใน 1 นาที โดยจำนวนเครื่องควรสัมพันธ์กับขนาดของสถานที่และจำนวนคนเข้าออก โดยไม่เกิน 5 พันคน ติดตั้ง 1 เครื่อง ไม่เกิน 15,000 คน ประมาณ 2 เครื่อง และควรจัดทำแผนผังของอาคารที่เข้าใจง่าย มีป้ายชี้ทางบอก และมีผู้ดูแลรักษาตรวจสภาพเครื่องให้พร้อมใช้งาน และฝึกอบรมการช่วยฟื้นคืนชีพและการใช้เครื่องแก่พนักงานประจำพื้นที่
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่