สพฉ. เร่งรณรงค์อบรมการใช้เครื่อง AED ช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันที่อยู่นอกสถานพยาบาล ชี้ช่วยเหลือรวดเร็วเพิ่มโอกาสการรอดชีวิต 45% พร้อมแนะเทคนิควิธีการใช้เครื่อง
นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า หลังจาก สพฉ. ได้นำเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ (AED) ซึ่งได้รับบริจาคจำนวนหนึ่งจากหน่วยงานเอกชนหลายแห่ง ไปติดตั้งให้กับหน่วยงานและพื้นที่สาธารณะต่างๆ ทั้งใน กทม. และต่างจังหวัดแล้ว สพฉ. กำลังเร่งรณรงค์ให้มีการเตรียมพร้อมการติดตั้งและการฝึกใช้เครื่อง AED ในสถานที่ที่มีโอกาสและความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะฉุกเฉินดังกล่าว เพื่อให้เครื่อง AED ได้ถูกใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของประชาชนที่หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันนอกสถานพยาบาล โดยเมื่อเร็วๆ นี้ สพฉ. ได้จัดอบรมการใช้เครื่อง AED ให้กับชมรมจักรยานและอาสาสมัครจักรยานกู้ชีพจำนวน 35 คน
“ที่ญี่ปุ่นมีการติดตั้งเครื่อง AED ในที่สาธารณะที่มีความเสี่ยง อาทิ สถานีรถไฟ สถานีรถโดยสาร สนามบิน บนเครื่องบิน สนามแข่งขันวิ่งมาราธอน ห้างสรรพสินค้า โรงเรียน สถานที่สำคัญ โรงงานที่มีคนงานจำนวนมาก และสถานที่ท่องเที่ยวห่างไกลหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน เป็นต้น ทำให้พบสถิติอัตราการรอดชีวิตของประชาชนมากขึ้น 45% เมื่อได้ใช้เครื่องดังกล่าว จึงถือเป็นโอกาสดีที่ประเทศไทยจะได้มีการเรียนรู้เรื่องการใช้เครื่อง AED เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉิน” เลขาธิการ สพฉ. กล่าว
นพ.อนุชา กล่าวว่า ก่อนใช้เครือ่ง AED เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วย ผู้ช่วยเหลือต้องยึดหลัก 3 H ทุกครั้ง คือ 1. Hazard ตรวจสอบอันตรายหรือภาวะเสี่ยงก่อนว่ามีอะไรบ้างที่จะมีผลกระทบต่อผู้ป่วยฉุกเฉิน 2. Help ช่วยเหลือโดยโทร.ผ่านสายด่วน 1669 พร้อมทั้งทำการปฐมพยาบาลตามคำแนะนำของผู้ปฏิบัติการทางการแพทย์ฉุกเฉิน และ 3. Hello เข้าไปปลุกเรียกผู้ป่วยฉุกเฉิน หากผู้ป่วยไม่ตอบสนองจากการช่วยเหลือตามแนวทาง 3H แล้ว ให้ผู้ช่วยเหลือทำการฟื้นคืนชีพทันทีและรีบนำเครื่อง AED เข้ามาช่วยในการฟื้นคืนชีพ จะทำให้โอกาสรอดชีวิตของผู้ป่วยฉุกเฉินเพิ่มมากขึ้นได้ ซึ่งเครื่องนี้ประชาชนทั่วไปที่ผ่านการฝึกฝนสามารถใช้งานเองได้ ภายใต้คำแนะนำของสายด่วน 1669 เพราะเป็นเครื่องอิเล็กทรอนิกส์จะออกคำสั่งให้เราทำตามได้ และสามารถวินิจฉัยการเต้นของหัวใจเองได้ และช็อกไฟฟ้ากระตุกหัวใจโดยใช้กระแสไฟฟ้าหยุดรูปบบการเต้นหัวใจที่ผิดจังหวะ
“การใช้งานเริ่มแรกจะต้องเปิดฝาเครื่อง AED และฉีกซองบรรจุอิเล็กโทรด ซึ่งจะมีอยู่ 2 ชิ้น คือ ชิ้นแรกติดบนทรวงอกตอนบน ชิ้นที่สองติดบนทรวงอกตอนล่างของผู้ป่วย เครื่อง AED จะทำการวิเคราะห์จังหวะการเต้นของหัวใจ ซึ่งขณะนี้ห้ามผู้ช่วยเหลือสัมผัสตัวผู้ป่วย จากนั้นเมื่อเครื่องวินิจฉัยเสร็จเสร็จจะขึ้นสัญญาณให้ทำการช็อกไฟฟ้า ให้ผู้ช่วยเหลือกดที่ปุ่มช็อกตามสัญญาณที่ปรากฏอยู่บนตัวเครื่อง และสลับกับการช่วยเหลือฟื้นคืนชีพผู้ป่วยหรือ CPR อย่างต่อเนื่อง จนกว่าเจ้าหน้าที่กู้ชีพจะมาถึง โดยการช่วยเหลือควรทำภายใน 3 -5 นาที จะช่วยเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของผู้ป่วยฉุกเฉินได้มากขึ้น” เลขาธิการ สพฉ. กล่าว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่