xs
xsm
sm
md
lg

ศจย.ยันร่าง พ.ร.บ.ยาสูบใหม่ ผ่านการรับฟังความเห็น ฉะกลุ่มธุรกิจบิดเบือนชาวไร่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผอ.ศจย.เผยกระบวนการรับฟังความเห็น พ.ร.บ.ควบคุมยาสูบใหม่ ทำตั้งแต่ปี 55 มีประพิจารณ์ 4 ภาค และมีการแสดงความเห็นจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ได้แก้ไขปรับปรุงครบถ้วน อัดกลุ่มธุรกิจยาสูบบิดเบือนชาวไร่ยาสูบ โต้ทำลายอาชีพ ปล่อยเป็นกระบวนการทาง กม. แจงมีกลไกแก้ปัญหาชัด ร่วมกับ ก.เกษตรฯ หนุนพืช ศก.ปลูกทดแทน

วันนี้ (30 มี.ค.) ดร.ทพญ.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฏ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวถึงกรณีที่สมาคมชาวไร่ยาสูบเบอร์เล่ย์ จ.สุโขทัย เรียกร้องให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการออก พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ว่า กระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่เปิดให้ภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ได้เริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2555 โดยมีการทำประชาพิจารณ์ทั้ง 4 ภาค และครั้งสุดท้ายที่กรุงเทพฯ โดยการทำประชาพิจารณ์เป็นไปตามขั้นตอนทางกฎหมายที่มีการเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาร่วมแสดงความคิดเห็น หลังจากฟังความคิดเห็นก็มีการนำข้อคิดเห็นต่างๆ มาปรับแก้ในข้อกฎหมาย โดยตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบันมีการรับฟังความเห็นปรับแก้ หาแนวทางเพื่อเป็นทางออกให้กับผู้ปลูกยาสูบ เช่น การเยียวยา และการปลูกพืชทดแทน

ดร.ทพญ.ศิริวรรณกล่าวต่อว่า ในการรับฟังความคิดเห็นยังมีการแสดงข้อคิดเห็นจากหน่วยงานภาครัฐโดยเฉพาะกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ โดยมีการให้ข้อความเห็น กฎหมายในประเด็นต่างกัน เช่น ถ้อยความที่อาจกระทบเรื่องสิทธิบัตร หรืออาจส่งผลให้เกิดการกีดกันทางการค้า เป็นต้น หลังจากกระทรวงต่างๆ แสดงข้อคิดเห็นก็มีการนำมาปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ไปแล้ว อย่างไรก็ตาม การที่สำนักเลขาธิการ ครม.ทำหนังสือส่งกลับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อให้รับฟังข้อคิดเห็นนั้น มีการนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมการบริโภคยาสูบแห่งชาติ.(คบยช.) ไปแล้วเมื่อวันที่ 23 ก.พ.ที่ผ่านมาซึ่งตัวแทนจากกระทรวงต่างๆ ก็ได้ให้ข้อคิดเห็นและซักซ้อมความเข้าใจ เพื่อเตรียมนำเสนอเข้าที่ประชุม ครม.อีกครั้ง

“เมื่อกฎหมายได้ผ่านกระบวนการต่างๆ ตามที่กำหนดแล้ว แม้ว่าสำนักเลขา ครม.จะให้ทำความเข้าใจกับหน่วยงานที่ยังมีข้อกังวล แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องทำกระบวนการประชาพิจารณ์ใหม่ทั้งหมด ซึ่งกระบวนการแก้ไขกฎหมายนั้น ถือว่ายังไม่จบเพราะเมื่อกฎหมายผ่าน ครม.แล้ว ก็ยังมีกระบวนการแก้ถ้อยคำเพื่อไม่ให้ขัดต่อกฎหมายอื่นๆ ในขั้นตอนของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสภานิติบัญญัติฯ ด้วย ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ของการปรับปรุงกฎหมายเพื่อควบคุมการบริโภคยาสูบ มีหลักการเพื่อให้เท่าทันกลยุทธ์ทางการตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปและป้องกันการเพิ่มนักสูบหน้าใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชน การทำกฎหมายดังกล่าวถือเป็นหนึ่งในหลายมาตรการ ซึ่งอยากให้ภาคส่วนต่างๆ เห็นความสำคัญและร่วมกันผลักดันกฎหมายดังกล่าวให้สามารถบังคับใช้ได้” ดร.ทพญ.ศิริวรรณกล่าว

ดร.ทพญ.ศิริวรรณกล่าวว่า ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พยายามชี้แจงว่ากฎหมายไม่มีมาตราใดกระทบทำลายอาชีพ หรือสร้างผลกระทบกับผู้ปลูกใบยาสูบ รวมทั้งยังเสนอทางออกแนวทางแก้ปัญหาไว้อย่างครบถ้วนแล้ว แต่การออกมาคัดค้านของกลุ่มสมาคมยาสูบต่างๆ โต้เถียงด้วยถ้อยคำเดิมๆ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าการคัดค้านนี้มีกลุ่มธุรกิจยาสูบเป็นผู้สนับสนุนเบื้องหลัง ให้ข้อมูลแก่ชาวไร้ยาสูบไม่ถูกต้อง บิดเบือนข้อเท็จจริงไปจากสาระสำคัญของกฎหมาย ดังนั้น จึงควรปล่อยให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายถือเป็นแนวทางที่ดีที่สุด ที่สำคัญขณะนี่ได้มีความพยายามคลี่คลายปัญหาให้กลุ่มชาวไร่ยาสูบ โดยร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การสนับสนุนการปลูกพืชทดแทน เช่น หน่อไม้ฝรั่ง พริกหวาน ข้าวโพดหวาน ถือเป็นพืชกลุ่มที่สามารถสร้างรายได้ทดแทนได้ใกล้เคียงกันและเป็นพืชที่ต้องใช้ทักษะในการปลูกขั้นสูงซึ่งชาวไร่ยาสูบสามารถทำได้ และการเปลี่ยนไปปลูกพืชทดแทนยังช่วยให้สุขภาพของชาวไร่ดีขึ้น เพราะใบยาสูบเป็นพืชที่ต้องใช้สารเคมีในการปลูกสูงมาก


กำลังโหลดความคิดเห็น