xs
xsm
sm
md
lg

รมว.เกษตรฯ เผยนายกฯ สั่งเร่งขึ้นทะเบียนผู้มีรายได้ ปัดโยงภาษี-อนุมัติ 10 โครงการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ (แฟ้มภาพ)
“ปีติพงศ์” เผยหลังประชุม ครม.เศรษฐกิจ “ประยุทธ์” มอบเกษตรฯ-คลัง-มท. เร่งขึ้นทะเบียนผู้มีรายได้ ให้เสร็จก.ย.นี้ แก้ปัญหาช่วยเหลือไม่ทั่วถึง ปัดเอี่ยวขึ้นภาษี เห็นชอบ 10 โครงการ ก.เกษตรฯ 3.5 หมื่นลาน กลาง เม.ย.ออกนโยบายยางใหม่หมด เห็นชอบตัดหนี้สูญเกษตรกรที่เข้าเงื่อนไข 10 ประเภท

วันนี้ (30 มี.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ภายหลังประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ)ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรฯ ร่วมกับกระทรวงการคลัง และมหาดไทย เร่งขึ้นทะเบียนผู้มีรายได้ทุกสาขาอาชีพโดยเน้นเรื่องรายได้ ทรัพย์สิน และที่อยู่ เพื่อต้องการให้ทราบข้อมูลว่า ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือจากรัฐอยู่ที่ไหนและเป็นใครบ้าง เพราะทุกครั้งที่รัฐบาลดำเนินมาตรการช่วยเหลือจะมีเสียงสะท้อนกลับมาว่าความช่วยเหลือไปไม่ถึงชาวบ้าน ขณะที่การขึ้นทะเบียนครั้งนี้ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องของการเก็บภาษีแต่อย่างใด

“เหตุผลของการจดทะเบียนผู้มีรายได้ครั้งนี้จะต้องรู้ให้ชัดเจนเป็นรายชื่อว่าในตำบล ในหมู่บ้านมีใครที่เดือดร้อนเข้าข่ายจะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบ้าง เพื่อให้มาตรการที่รัฐจะให้ความช่วยเหลือในอนาคตไปถึงตัวบุคคลที่ถูกต้อง ซึ่งไม่ใช่เฉพาะเกษตรกร แต่จะจดทะเบียนผู้มีรายได้ทั้งหมด ทั้งพ่อค้าแม่ค้า ผู้ใช้แรงงาน ซึ่งแต่ละหน่วยงานจะมาหารือกันอีกครั้งว่าจะดำเนินการจดทะเบียนอย่างไร ซึ่งต้องรีบทำให้เสร็จก่อนสิ้นปีงบประมาณ 58 หรือภายในเดือนกันยายนนี้ เพราะเมื่อพ้นฤดูกาลเพาะปลูก หรือพ้นฤดูกาลกรีดยาง หากจะมีมาตรการไปช่วยเหลือเกษตรกร หรือบุคคลที่ไม่ใช่เกษตรกรก็ตาม จะต้องมีความชัดเจนไม่รั่วไหล”

ทั้งนี้ ที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจยังได้เห็นชอบแนวทางการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์หรือโรดแมปของกระทรวงเกษตรฯใน 10 โครงการวงเงิน 35,000 ล้านบาท ระยะเวลา 5 ปีตั้งแต่ปี 58-62 แบ่งเป็นเงินกู้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) วงเงิน 20,000 ล้านบาท ที่เหลือ 15,000 ล้านบาท เป็นงบประมาณจ่ายขาดของรัฐบาล โดยปี 58 จะต้องใช้งบกลางเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นวงเงิน 1,800 ล้านบาท เพื่อเริ่มโครงการต่างๆตามแผนที่กำหนดไว้ซึ่งเป็นโครงการกลางปี ไม่ได้บรรจุโครงการไว้ในงบประมาณปี 58

นอกจากนี้ ในช่วงประมาณกลางเดือนเมษายนนี้ รัฐบาลจะออกนโยบายใหม่ทั้งหมดเรื่องยาง ตอนนี้นายอำนวย ปะติเส รมช.เกษตรและสหกรณ์อยู่ระหว่างสำรวจข้อมูล โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับแก้ปัญหายางพาราคือการลดอุปทาน หรือซัปพลาย เพราะ 10 ปีที่ผ่านมามีอุปทานส่วนเกินมาก เพราะราคายางสูง มีการทำสวนยางในเขตป่า ที่หวงห้ามจำนวนมากประมาณ 1-2 ล้านไร่ จะต้องไปดูว่าจะดำเนินการปรับอย่างไรเพื่อลดพื้นที่ลงเพราะมีเรื่องข้อกฎหมายด้วย

ขณะเดียวกัน ที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจยังได้เห็นชอบมาตรการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร โดยเฉพาะการแก้ปัญหาหนี้สินด้วยการตัดหนี้สูญให้เกษตรกรที่อยู่ในส่วนกองทุนกระทรวงเกษตรฯ 9 กองทุน จำนวน 4,556 ล้านบาท โดยกระทรวงเกษตรฯจะเป็นผู้พิจารณาตัวบุคคลที่เป็นไปตามเงื่อนไขของเกณฑ์การจัดเป็นหนี้สูญว่ามีใครบ้าง จากนั้นจะส่งข้อมูลเกษตรกรทั้งหมดไปให้กระทรวงการคลังอนุมัติการตัดหนี้สูญตามกฎหมาย โดยรมว.คลังสามารถตัดหนี้สูญให้เกษตรกรได้ทันทีในกรณีมีหนี้สินวงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท แต่หากมีหนี้สินเกินกว่า 5 ล้านบาท ต้องนำเรื่องเสนอ ครม.พิจารณา

สำหรับเงื่อนไขการตัดหนี้สูญที่วางไว้ 10 ประเภท คือ หนี้ที่เกิดจากโครงการส่งเสริมหรือสงเคราะห์ของรัฐที่ไม่ประสบความสำเร็จ, หนี้ที่เกิดจากเกษตรกรประสบภัยธรรมชาติ, หนี้ที่เกิดจากปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ,หนี้ที่ขาดอายุความ, หนี้ค้างชำระเกินกว่า 10 ปีขึ้นไป, หนี้ที่ไม่สามารถติดตามทรัพย์สินเพื่อบังคับคดีได้, หนี้ที่เกษตรกรผู้ยืมเงินเสียชีวิต สาบสูญ หาตัวไม่พบ หรือละทิ้งที่อยู่, หนี้ที่เกษตรกรผู้กู้ยืมเงินชราภาพ ทุพพลภาพ วิกลจริต หรือเจ็บป่วยเรื้อรัง, หนี้ที่ลูกหนี้ผู้กู้ยืมเงินมีรายได้น้อย ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ และหนี้ที่มีการกู้ยืมเงินต่ำกว่า 10,000 บาท

สำหรับโรดแมปกระทรวงเกษตรฯ 10 โครงการ ประกอบด้วย โครงการปรับโครงสร้างการผลิตข้าว, โครงการปรับโครงสร้างการผลิตปศุสัตว์, โครงการปรับโครงสร้างการผลิตประมง, โครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรด้วยการจำหน่ายหนี้สูญ, การปรับปรุงและออกกฎหมายเพิ่มเติม, โครงการปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร, โครงการบริหารจัดการผลผลิตทางการเกษตรในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษโดยสหกรณ์, โครงการปรับโครงสร้างการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการตลาดปาล์มน้ำมันแบบครบวงจร, โครงการพัฒนาเพิ่มศักยภาพการดำเนินธุรกิจข้าวของสถาบันเกษตรกร และโครงการศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว


กำลังโหลดความคิดเห็น