xs
xsm
sm
md
lg

สั่ง “มหาดไทย” หย่าศึกชาวนาแย่งน้ำ-ใช้งบเดิมขุดบาดาล-ภัยแล้งทำผลผลิตข้าวหาย 2.1 ล้านตัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
สั่ง “มหาดไทย” หย่าศึกชาวนาแย่งน้ำ พร้อมไฟเขียวแผนงบ 5.1 หมื่นล้าน โครงการขุดบ่อบาดาลลุ่มน้ำเจ้าพระยา “ดาว์พงษ์”ยันใช้งบเดิมของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ไม่ต้องขอเพิ่ม ด้าน ก.เกษตร รายงาน ครม. ยังมีเกษตรกรบางส่วนทำนาปี 6.26 ล้านไร่ ต้องใช้น้ำเกินแผน1,200 ล้านลูกบาศก์เมตร เผยภัยแล้งทำผลผลิตข้าวหายไป 2.1 ล้านตัน รอชง ครม.เศรษฐกิจ ปรับโครงสร้างระบบชลประทานควบคุมน้ำใหม่ แผนช่วยเกษตรกร 24 มิ.ย.นี้

วันนี้(23 มิ.ย.) มีรายงานว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นชอบใช้งบประมาณจำนวน 5.1 หมื่นล้านบาทเดิม สำหรับการขุดเจาะน้ำบาดาลเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยเบื้องต้นกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะใช้งบที่เหลือของ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล เพื่อนำไปขุดเจาะน้ำบาดาล แก้ปัญหาภัยแล้งให้กับประชาชน โดยเฉพาะขณะนี้ที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ที่กำลังประสบปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก

มีรายงานว่า ที่ประชุม สั่งการให้ไปพิจารณาปรับโครงสร้างระบบชลประทานใหม่ และปรับงบประมาณแผนงานโครงการบริหารจัดการน้ำใหม่ ที่มีพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน

ด้านพล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงการเตรียมการขุดเจาะน้ำบาดาลแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ว่า สามารถดำเนินการโดยใช้งบประมาณของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลที่มีอยู่เดิม ไม่ต้องของบเพิ่ม ที่จริงกระทรวงทรัพยากรฯมีแผนขุดเจาะน้ำบาดาลประจำปีอยู่แล้ว แต่ปีนี้เกิดภัยแล้งทำให้ต้องมีการปรับแผนให้สอดคล้องกับปัญหา และตนได้สั่งการให้ตรวจสอบอย่างละเอียดว่าเจอจุดที่พบน้ำบาดาลกี่จุดแล้ว โดยจะนำข้อมูลส่วนนี้เข้ารายงาน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในวันที่ 24 มิ.ย.นี้

อย่างไรก็ตามการเจาะน้ำบาดาลจุดใดนั้นต้องให้กระทรวงเกษตรฯชี้เป้าแล้วเราเป็นผู้ดำเนินการ ทั้งนี้การเจาะน้ำบาดาลเพียงช่วยเสริมในส่วนที่น้ำในเขื่อนไม่เพียงพอ โดยเราจะขุดน้ำบาดาลบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา น่าจะพอมีน้ำอยู่ เนื่องจากกระทรวงเกษตรฯได้ชี้เป้าแหล่งน้ำบริเวณไว้แล้ว เมื่อ

ถามว่าในที่ประชุมครม.ได้หารือเรื่องปัญหาการแย่งน้ำของเกษตรกรหรือไม่ พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าวว่า มีการหารืออยู่ เป็นหน้าที่ที่เขาต้องทำความเข้าใจ ซึ่งได้มีการสั่งการให้กระทรวงมหาดไทยเข้าไปดูแล.

ขณะที่ นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า มีการรายงานสถานการณ์ภัยแล้งเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ในส่วนความต้องการของประชาชนต้องนำมารวบรวมและสรุปให้ชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งจะมีการหารือร่วมกันอีกครั้งในที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจ ว่าจะมีการช่วยเหลือเยียวยาเฉพาะหน้าอย่างไร ส่วนเกษตรกรที่ยังไม่เริ่มเพาะปลูกนาปีก็ต้องขอความร่วมมือให้ชะลอออกไป ซึ่งขณะนี้มีปัญหาที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพียงแห่งเดียวที่มีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 4 ล้านไร่ ส่วนพื้นที่อื่นมีการเพาะปลูกไปแล้วหลายล้านไร่ จากทั้งหมด 60 ล้านไร่ต่อปี ฉะนั้นปัญหาที่ต้องแก้ขณะนี้จะต้องดูแลในส่วนพื้นที่ที่เพาะปลูกไปแล้ว และการชะลอออกไปยังไม่รู้ว่าภูมิอากาศจะเป็นอย่างไร รวมทั้งต้องแก้ปัญหาระยะยาวหากไม่มีฝนตกเลย

นายปีติพงศ์ กล่าวต่อว่า จากการทำงานมา 7-8 เดือน เห็นว่าจะต้องมีการปรับโครงสร้างชลประทาน โดยจะมองเพียงความต้องการน้ำอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องดูอุปสงค์ของน้ำด้วย ต้องทำให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัดที่สุด และต้องปรับให้มีการควบคุมน้ำมากขึ้น เพราะปริมาณน้ำน้อยลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในรอบหลายปีที่ผ่านมามีการใช้น้ำต้นทุนไปมาก ส่วนแนวคิดการผันน้ำจากแม่น้ำโขงและสาละวินนั้น เป็นโครงการในระยะยาว ซึ่งกระทรวงต่างประเทศได้ระบุว่ากำลังดำเนินการเจรจา แต่โครงการดังกล่าวก็ต้องไม่ทำให้ใครเดือดร้อน

ส่วนแนวคิดให้มีการขุดเจาะบาดาลเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้ามีแน่นอน เพราะมีน้ำอยู่ในระดับความลึก 50-100 เมตร สามารถดึงมาใช้ได้ แต่จะไปขยายให้ได้มากน้อยแค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับช่วงเวลา

ด้าน พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี ได้แสดงข้อห่วงใยในเรื่องการบริหารจัดการน้ำในการช่วยเหลือเกษตกร และการอุปโภคบริโภค และได้สั่งการผ่านรองนายกรัฐมนตรีว่าในการประชุมครม.เศรษฐกิจ ให้ถือว่าปัญหาดังกล่าวถือเป็นเรื่องสำคัญ และให้ทุกกระทรวง ทบวง กรมเข้าร่วมประชุมเพื่อกำหนดแนวทางปฎิบัติทั้งระบบ เพื่อให้ตอบรับวิกฤติที่เกิดขึ้นได้ เพราะถือเป็นเรื่องสำคัญ จะมาคุยเป็นต่อนๆ เป็นส่วนๆ ไม่ได้ โดยจะคุยกันในช่วงเช้า และรีบดำเนินการโดยเร็ว

ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ในวันนี้มีมติรับทราบรายงานสถานการณ์น้ำและแนวทางการให้ความช่วยเหลือ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ โดยสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปริมาณน้ำต้นทุนในลุ่มน้ำเจ้าพระยาเมื่อต้นฤดูแล้งปี 2557/2558 มีปริมาณน้ำน้อย กรมชลประทานได้ประกาศงดส่งน้ำเพื่อการปลูกข้าวนาปรัง โดยวางแผนการใช้น้ำให้เหลือเพียงพอสำหรับสนับสนุนการปลูกข้าวนาปีตั้งแต่ต้นฤดู (น้ำต้นทุนจาก 4 เขื่อน เมื่อต้นฤดูฝนจะมีประมาณ 4,000 - 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตร) ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือ แต่ยังมีเกษตรกรบางส่วนทำการปลูกข้าวนาปีไปประมาณ 6.26 ล้านไร่ ทำให้ต้องใช้น้ำเกินแผนไปประมาณ 1,200 ล้านลูกบาศก์เมตร (วางแผนไว้ 2,900 ล้านลูกบาศก์เมตร ใช้จริง 4,100 ล้านลูกบาศก์เมตร คงเหลือน้ำ ณ วันที่ 1 พฤษภาคม 2558 จำนวน 3,800 ล้านลูกบาศก์เมตร) มากกว่าปี 2557 จำนวน 600 ล้านลูกบาศก์เมตร

ขณะที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)ได้คาดการณ์ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในเบื้องต้น กรณีเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในลุ่มน้ำเจ้าพระยาในเขตพื้นที่ชลประทาน โดยเฉพาะพื้นที่ที่ยังไม่ได้เพาะปลูกข้าวนาปี จำนวน 4.61 ล้านไร่ หากพื้นที่ดังกล่าวไม่สามารถปลูกข้าวนาปีได้อย่างสิ้นเชิงจะทำให้ผลผลิตข้าวหายไปประมาณ 2.1 ล้านตัน โดยคิดเฉลี่ยจากผลผลิตต่อไร่ข้าวนาปีลุ่มน้ำเจ้าพระยา 500 กิโลกรัมต่อไร่ และคิดเป็นมูลค่าข้าวที่หายไปประมาณ 15,750 ล้านบาท โดยคำนวณจากราคาข้าวขาวในตลาด ตันละ 7,500 บาท

ส่วนแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกร ได้มอบหมายให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรดำเนินการขึ้นปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเติมน้ำเหนืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ได้อย่างต่อเนื่อง โดยแนวทางการแก้ไขปัญหาเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เพาะปลูกข้าวนาปี แบ่งเป็น 2 พื้นที่ คือ พื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีที่ได้เพาะปลูกแล้วประมาณ 2.84 ล้านไร่ ได้กำหนดแนวทางการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวระบบจัดการน้ำแบบเปียกสลับแห้งในนาข้าวเพื่อลดการใช้น้ำ และมอบหมายให้กรมชลประทาน กรมการข้าวและกรมส่งเสริมการเกษตรหารือร่วมกันเพื่อกำหนดแนวทางการบูรณาการดำเนินงาน ซึ่งจะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการสร้างความรู้ความเข้าใจโดยการถ่ายทอดเทคโนโลยีผ่านแปลงสาธิตของกรมการข้าวในพื้นที่เพื่อสร้างการยอมรับให้แก่เกษตรกร

และ พื้นที่ที่ยังไม่เพาะปลูกข้าวประมาณ 4.61 ล้านไร่ ให้ดำเนินการประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจกับเกษตรกรในพื้นที่เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำ และการชะลอการเพาะปลูกข้าวนาปีที่จะเริ่มปลูกได้ประมาณปลายเดือนกรกฎาคมหรือเมื่อมีปริมาณฝนตกชุกแล้ว เพื่อลดความเสียหายที่เกิดขึ้น รวมทั้งติดตามและประเมินสถานการณ์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

ในระหว่างเกษตรกรชะลอการเพาะปลูกข้าวนาปี 40 - 45 วัน มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกรมการข้าว กรมวิชาการเกษตร และกรมพัฒนาที่ดินพิจารณาแนวทางเลือกเพื่อกำหนดเป็นมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร อาทิ การปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่น เช่น พืชอายุสั้น ซึ่งต้องคำนึงถึงคุณภาพและปริมาณของผลผลิตหลังการเก็บเกี่ยวเป็นสำคัญ และหากจำเป็นต้องจ่ายเงินชดเชยเพื่อช่วยเหลือรายได้แก่เกษตรกร จะพิจารณาผลภายหลังการเก็บเกี่ยวแล้ว รวมทั้งกำหนดมาตรการกรณีที่เกษตรกรไม่สามารถทำการเพาะปลูกข้าวนาปีได้

เกษตรกรในพื้นที่สามารถรับบริการข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้ ของ กษ. ได้จากศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร 882 ศูนย์ เช่น การเรียนรู้ฟาร์มตัวอย่าง แปลงสาธิตการทำการเกษตร การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ องค์ความรู้ด้านเมล็ดพันธุ์ เป็นต้น เพื่อใช้สำหรับลดต้นทุนการผลิต และสามารถปรับตัวเตรียมพร้อมรับสถานการณ์และสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง.


นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
กำลังโหลดความคิดเห็น