xs
xsm
sm
md
lg

“หม่อมอุ๋ย” ยันภัยแล้งไม่กระทบเศรษฐกิจมาก จ่อแจกงบตำบลละล้านให้ขุดบ่อ แนะชาวนารอฝน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ)
รองนายกรัฐมนตรี เผยภาพรวมภัยแล้งไม่กระทบเศรษฐกิจมานัก ยันชลประทานช่วยอยู่ โอ่รู้มาตั้งแต่ พ.ย. 57 น้ำในเขื่อนพร่องจึงสั่งงดปลูกข้าวปลายเจ้าพระยา ช่วยจ้างงานแทน บอกไม่ได้แจ้งสื่อ เหตุประกาศทีไรยุ่งทุกที ใช้วิธีคุยตรงเกษตรกร ระบุนารอบนี้ไม่ได้บอกให้งด แต่ขอเลื่อนรอฝน แนะยอมขุดบ่อกลางนา รัฐจะหนุนเงินให้ จ่อแจกงบตำบลละล้าน ย้ำไม่นิ่งนอนใจปัญหา

วันนี้ (16 ก.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 09.40 น. ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯ กล่าวถึงปัญหาภัยแล้งว่า โดยภาพรวมคงไม่กระทบต่อเศรษฐกิจมากนัก เพราะพื้นที่นาทั้งหมดในประเทศมีอยู่ 63 ล้านไร่ โดย 55 ล้านไร่ส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยังไม่มีการปลูก จะเริ่มปลูกกันในเดือนสิงหาคม ส่วนอีก 8 ล้านไร่ที่ปลูกไปแล้ว มีที่ไม่เป็นปัญหาอยู่ 3.5 แสนไร่ เนื่องจากเกษตรกรพึ่งน้ำผิวดิน ส่วนที่เป็นปัญหาจริงๆ มีอยู่ประมาณ 4.5 ล้านไร่ซึ่งเป็นพื้นที่อยู่ในเขตชลประทาน แต่คงไม่เป็นปัญหาเพราะมีน้ำจากชลประทานช่วยอยู่ตลอด อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้มีการคาดการณ์ไว้ว่าจะมีฝนตกมาก แต่ฝนกลับไม่ตกจึงเป็นปัญหา

รองนายกฯ กล่าวด้วยว่า ตั้งแต่รัฐบาลนี้เข้ามาก็ได้รู้สถานการณ์น้ำมาตั้งแต่ต้นแล้วว่ามีน้ำน้อย ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2557 น้ำในเขื่อนพร่องไปมาก จึงมีมาตรการงดการปลูกข้านาปรัง ให้ลุ่มแม่น้ำแม่กลองงดปลูก ส่วนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาปลูกได้ และมีมาตรการช่วยเหลือชาวนาโดยการจ้างทำงาน 40,000 คน รวมถึงมีการจัดการฝึกอบรม จากการงดทำนาปรังในปี 2557 ทำให้ปริมาณข้าวนาปรังลดไปประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งการแก้ปัญหาภัยแล้งที่ผ่านมาได้ทำกันมาโดยตลอด แต่ไม่ได้มีการสื่อสารผ่านสื่อมวลชน เพราะเกรงจะทำให้เกิดปัญหามากขึ้น การดำเนินการจึงเข้าไปพูดคุยกับเกษตรกรโดยตรง ผลตอบรับในช่วงดังกล่าวก็เป็นผลดี ทั้งนี้ข้าวที่ได้จากการใช้น้ำฝนนั้นมีมากกว่าข้าวที่ใช้น้ำจากเขตชลประทาน

“การทำนาในรอบนี้ มาตรการช่วยเหลือจะไม่เหมือนเดิมเพราะไม่ได้ขอให้งด แต่ขอให้เลื่อนการทำนาออกไปก่อนเพื่อรอดูสถานการณ์ฝนที่จะตกลงมา คิดว่าพื้นที่ซึ่งประสบปัญหาและต้องชดเชยจริงๆ ประมาณ 1 ล้านไร่ มาตรการหนึ่งที่สำคัญ คือ การทำบ่อกลางนา เป็นบ่อน้ำไว้สำหรับกักเก็บน้ำผิวดิน โดยจะเป็นพื้นที่รับน้ำจากฝนที่ตกลงมารวมถึงรองรับการส่งน้ำของชลประทานอีกส่วนหนึ่ง ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความเต็มใจของเกษตรกร โดยรัฐบาลจะมีการสนับสนุนเงินให้ ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นเป็นผู้รับผิดชอบ รวมถึงจะพิจารณาพื้นที่แล้งซ้ำซาก จำนวน 3,511 ตำบลเป็นสำคัญ ให้งบประมาณตำบลละ 1 ล้านบาท และมีการกำหนดว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของการใช้เงินจะต้องเป็นส่วนของค่าจ้างแรงงาน สิ่งที่สำคัญคือจะต้องมีกระบวนการเก็บกักน้ำผิวดินให้มากขึ้น” รองนายกฯ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากไม่มีฝนเพียงพอต่อการเกษตรตามที่สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (จิสด้า) ได้คาดการณ์ไว้ จะมีวิธีการแก้ไขอย่างไร ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวว่า “เอาตอนนี้ให้อยู่ก่อน พวกผมไม่นิ่งนอนใจหรอก เราดูไปถึงพฤศจิกายนปีนี้ว่าจะเป็นเหมือนปีที่แล้วหรือไม่ สำหรับผมเห็นว่าการประชาสัมพันธ์เป็นเรื่องสำคัญ ควรใช้เจ้าหน้าที่เกษตรไปพูดทำความเข้าใจดีกว่าให้ทหารเข้าไป การพีอาร์บางอย่างคุยตรงกับชาวบ้านดีกว่าประกาศผ่านทีวี เพราะผ่านทีวีมันยุ่งทุกที” ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น