xs
xsm
sm
md
lg

ครม.ปล่อยน้ำเฉพาะนาข้าวกำลังตั้งท้อง “อุดมเดช” เสียงแข็งทหารไม่เอาปืนจี้หัวห้ามสูบน้ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ผู้บัญชาการทหารบก (ภาพจากแฟ้ม)
คณะรัฐมนตรี อนุมัติส่งน้ำให้ภาคการเกษตรบางส่วน เฉพาะนาข้าวกำลังจะออกรวงใกล้จะเก็บเกี่ยวได้ 1.36 ล้านไร่ พื้นที่อื่นห้ามสูบน้ำเหมือนเดิม เตรียมหาทางสร้างงานในพื้นที่ “อุดมเดช” หนักใจสื่อบางฉบับพาดหัวทหารเอาปืนจี้หัวห้ามสูบน้ำ ยืนยันว่าไม่มี ส่วนนายกรัฐมนตรีประชุมคณะกรรมการนโยบายน้ำแห่งชาติพรุ่งนี้

วันนี้ (21 ก.ค.) ที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยนายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ร่วมกันแถลงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เกี่ยวกับการแก้ปัญหาภัยแล้ง

นายปีติพงศ์กล่าวว่า ในส่วนของการบริหารจัดการน้ำ จากที่รัฐบาลเคยขอความร่วมมือในการงดการสูบน้ำทำการเกษตรในพื้นที่เหนือเขื่อนเจ้าพระยาขึ้นไป พบว่าได้รับความร่วมมืออย่างดีและ ในช่วงที่ผ่านมาน้ำเหนือเขื่อนก็มีอัตราเพิ่มขึ้นในอัตราที่น่าพอใจ และมีการประเมินเมื่อวันที่ 20 ก.ค. ที่ผ่านมาว่ามีโอกาสจะส่งน้ำเพิ่มให้ภาคการเกษตรด้วยเงื่อนไข คือ พื้นที่ส่งน้ำคงไม่ใช่พื้นที่ทั้งหมดที่จะได้รับน้ำ แต่จะเป็นพื้นที่ที่ดูแลร่วมกันระหว่างกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า ที่เป็นพื้นที่วิกฤต ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตั้งข้าวอายุมากกว่า 8 สัปดาห์กำลังตั้งท้องและจะออกรวงใกล้จะเก็บเกี่ยวได้ ซึ่งการส่งน้ำจะส่งไปในพื้นที่ที่มีความจำเป็นที่มีปัญหาที่ต้องมีการส่งส่งน้ำผ่านไปยังจุดเป้าหมายจำนวน 1.36 ล้านไร่

“จึงขอร้องประชาชนสองฝั่งต้องช่วยกันดูแล เพราะคนเดือดร้อนก็อยู่ปลายทาง ที่รัฐบาลต้องเข้าไปดูแล ที่มีการกำหนดจำนวนลูกบาศก์เมตรว่าจะดูแลอย่างไร จึงขอให้เชื่อฟังเจ้าหน้าที่ในการส่งน้ำระหว่างทาง ต้องพยายามเข้าใจว่าน้ำจะต้องถูกลำเลียงในพื้นที่ที่กำหนดไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ที่จะดำเนินการพรุ่งนี้ (22 ก.ค.) เป็นต้นไปซึ่ง อาจจะใช้เวลาเล็กน้อยกว่าน้ำจะวิ่งไปถึงพื้นที่เป้าหมาย ซึ่งมีการจัดทำแผนที่ข้อมูล มอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และส่วนเกี่ยวข้องว่าพื้นที่ปัญหาเป็นอย่างไรแล้ว” รมว.เกษตรฯ กล่าว

นายปีติพงศ์กล่าวอีกว่า สำหรับพื้นที่ข้าวตั้งท้องออกรวง หรืออายุ 8 สัปดาห์ขึ้นไปมีจำนวน 1.36 ล้านไร่ เป็นส่วนที่รัฐบาลจะช่วย ส่วนที่ข้าวมีอายุมากกว่า 6 สัปดาห์ แต่น้อยกว่า 8 สัปดาห์มีจำนวน 1.25 ล้านไร่ การให้น้ำอาจจะมีความจำเป็นน้อยกว่า และส่วนที่สามที่ข้าวอายุน้อยกว่า 6 สัปดาห์มีจำนวน 1.7 แสนไร่ ส่วนการเยียวยาอื่นๆ นั้นจะมีการหารือมาตรการเยียวยาในการประชุมคณะกรรมการนโยบายน้ำแห่งชาติ (กนช.) ในวันพรุ่งนี้ (22 ก.ค.) ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานด้วยตัวเอง

“จะมีการหารือว่ามาตรการจะเป็นการปลูกพืชอะไรทดแทนอย่างไร แต่สำหรับการเยียวยาชดเชยรายได้นั้น จะต้องรอให้มีผลการสำรวจความเสียหายจากพื้นที่จริงรายงานเข้ามาก่อน” นายปีติพงศ์กล่าว

ด้าน พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า จากที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ส่วนเกี่ยวข้องพิจารณาช่วยเหลือเกษตรกรจากปัญหาฝนแล้งที่ส่งผลต่อปัญหาปากท้อง โดยเรื่องแรก ครม. ให้ไปพิจารณาให้มีการสร้างงานในพื้นที่ ซึ่งเป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย การดำเนินการมติ ครม. ทำงานร่วมกันกับ คสช. คือฝ่ายทหารและกระทรวงเกษตรฯ โดยไปดูว่าจะสร้างงานในพื้นที่อย่างไร และการมอบหมายให้กระทรวงเกษตรฯดูแนวทางที่จะฟื้นฟูว่าจะทำอะไรได้อย่างไร จากความเสียหายที่เกิดขึ้น และเมื่อภัยแล้งผ่านไปแล้วมีการประเมินความเสียหายแล้วจะมีการเยียวยาตามที่มีกฎหมายอยู่แล้วได้อย่างไร

พล.อ.อนุพงษ์กล่าวต่อว่า ในเรื่องของการสร้างงาน ครม. มติอนุมัติในหลักการตามที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เสนอในการให้นำเงินทดลองจ่าย 10 ล้านบาทของผู้ว่าราชการจังหวัดมาใช้ให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ภัยแล้ง โดย ครม. ให้กระทรวงมหาดไทยประสานงานกับกระทรวงการคลังเพื่อไม่ให้เป็นการทำผิดกฎหมายเพราะเป็นการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์

มท.1 กล่าวถึงการระบายน้ำให้พื้นที่ปลูกข้าว 1.36 ล้านไร่ที่ข้าวอยู่ในช่วงตั้งท้องว่า พื้นที่ข้าวกำลังตั้งท้องนั้นไม่ได้อยู่กระจุกตัว แต่กระจายๆ ออกไป ดังนั้นจะทำอย่างไรให้เกษตรกรระหว่างทางเข้าใจด้วย เพราะหากระดมสูบอีกก็จะมีปัญหาอีก จึงเป็นหน้าที่ของฝ่ายปกครองและฝ่ายทหารจะต้องดูแลซึ่งเป็นความยาก ในการทำให้สัมฤทธิ์ผล อย่างไรก็ตาม อยากวิงวอนสื่อมวลชนด้วยว่า หากมีการปล่อยน้ำให้อีกฝั่ง สื่อก็จะก็ไปถามเกษตรกรอีกฝั่งที่ไม่ได้รับการปล่อยน้ำอีก ความคลาดเคลื่อนก็จะเกิดขึ้น ดังนั้นจะเกิดความสับสน แต่ทั้งนี้รัฐบาลเข้าใจและเห็นใจเกษตรกรที่เขาทำนาด้วยชีวิตเขากู้เงินมาทำนา ข้าวกำลังตั้งท้อง ก็เป็นความธรรมดาที่เขาต้องต่อสู้ทุกวิถีทาง ซึ่งนั่นเป็นความยากในการบริหารจัดการ

“ฝ่ายทหารก็ต้องช่วยสร้างความเข้าใจ เพราะเราไม่ต้องการเผชิญหน้า ทหารต้องมาช่วยให้ระบบเดินไปได้และสื่อก็ต้องช่วยกันสร้างความเข้าใจ ไม่ใช่สร้างประเด็นความขัดแย้ง ขอให้ช่วยสร้างความเข้าใจกับสังคม” มท.1 กล่าว

ด้าน พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า ยืนยันว่าทหารมีความจำเป็นต้องร่วมกันกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เกษตรจังหวัด เกษตรอำเภอ กรมชลประทาน เนื่องจากการปฏิบัติงานต้องร่วมกัน ซึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมีความจำเป็นต้องดำเนินการตามมาตรการที่หารือกันไว้ ที่ต้องดูดำเนินการจัดสรรน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคเป็นหลัก ซึ่งในวันพรุ่งนี้ (22 ก.ค.) ช่วงเย็นคงจะปล่อยน้ำไปดูแลพื้นที่การเกษตรได้

พล.อ.อุดมเดชกล่าวอีกว่า ตนเรียนว่าหนักใจบางอย่างเกี่ยวกับเรื่องความเข้าใจของประชาชนและสื่อที่เข้าใจคนละส่วน และที่มีสื่อหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งพาดหัวว่าทหารเอาปืนจ่อหัวผู้ที่จะสูบน้ำซึ่งยืนยันว่าไม่มี แต่เป็นการดำเนินการเสริมสร้างความเข้าใจ และเราก็เห็นใจประชาชน เพราะทหารที่ไปปฏิบัติหน้าที่ก็เป็นทหารชั้นผู้น้อยที่เป็นลูกหลานในพื้นที่ทั้งนั้น อย่างไรก็ตามในส่วนของกองทัพบกจะมีการนำดื่มลำเลียงจากกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ในการนำน้ำที่ได้รับบริจาคจากภาคส่วนต่างๆ เข้าไปช่วยเหลือประชาชนตามจุดต่างๆ ผ่านหน่วยทหารในพื้นที่ อาทิ กองทัพภาคหรือมณฑลทหารบกในจังหวัดที่ขาดแคลนน้ำ

ด้าน พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ต้องสร้างความเข้าใจกับประชาชนในภาคการเกษตรว่ารัฐบาลไม่ได้ทอดทิ้ง แต่จำเป็นต้องกำหนดความเร่งด่วนในพื้นที่ที่ต้องดูแลเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย ขณะเดียวกันต้องลดการระบายน้ำลงตามที่มีมติ ครม. ไปแล้ว เพื่อให้ระบบประปาดำเนินไปได้และไม่มีผลกระทบจากน้ำเค็ม

ส่วนที่ ครม.อนุมัติหลักการให้กระทรวงมหาดไทยนำเงินทดลองจ่ายที่โดยปกติเป็นการให้นำเงินดังกล่าวไปช่วยป้องกันภัยพิบัตินั้น แต่ขณะนี้ปัญหาได้เกิดขึ้นและมีความเสียหาย ถ้านำเงินดังกล่าวมาใช้ทันที ผู้ว่าฯ จะถูกตั้งข้อหาว่าใช้เงินผิดระเบียบ จึงมีการเสนอเข้ามาเพื่อให้ ครม. อนุมัติหลักการที่ให้นำเงินทดลองจ่ายจำนวน 10 ล้านบาทของแต่ละจังหวัดนำมาใช้ได้ โดยวันนี้ ครม.ได้เห็นชอบในหลักการ และให้กระทรวงมหาดไทยนำรายละเอียดพื้นที่ที่มีความเสียหายรวบรวมและประสานกับกรมบัญชีกลางในการแก้ไขกฎระเบียบภายในเวลา 1-2 วันนี้ เพื่อที่จะนำเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างงานในพื้นที่ที่ประสบภัยแล้ง และนอกจากนี้ยังมีเงินประมาณของกระทรวงเกษตรฯ ด้วยที่จะมีการบูรณาการ เพราะนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่าไม่ให้การใช้งบทับซ้อนกัน ขอให้กระจายไปทุกพื้นที่


กำลังโหลดความคิดเห็น