คนกรมชลฯ แฉ “ฝ่ายการเมือง” ปี 55 แทรกแซงสั่งระบายน้ำในเขื่อนทั่วประเทศเหลือ 45% ของความจุเขื่อน เป็นสาเหตุปริมาณน้ำปัจจุบันลดต่ำ กลัววิกฤตน้ำท่วมใหญ่แบบปี 54 รับมีการระบายมากถึง 14,000 ล้าน ลบ.ม. ถือว่ามากที่สุดในรอบ 15 ปี ด้าน “รมว.เกษตรฯ” เล็ง ชงแผนช่วยภัยแล้ง เน้น “ปลูกพืชอายุสั้นทดแทน - ปศุสัตว์พื้นเมือง” เข้า ครม. เศรษฐกิจพุธนี้
วันนี้ (22 มิ.ย.) นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการดำเนินแก่แก้ปัญหาภัยแล้ง ว่า สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า ได้ใช้ดาวเทียมสำรวจการปลูกข้าวนาปีในเขตชลประทานลุ่มเจ้าพระยา 22 จังหวัด พบว่า ขณะนี้ปลูกไปแล้ว 4 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมาปลูกแค่ 3.44 ล้านไร่ จากพื้นที่ปลูกทั้งหมด 7.5 ล้านไร่ ซึ่งพื้นที่ 3.44 ล้านไร่ จะดูแลให้ดีที่สุด สำหรับเพิ่มขึ้นมา 600,000 ไร่ มีความเสี่ยงมาก ช่วงนี้มีน้ำเพียงพอส่งให้พื้นที่ปลูกข้าวแล้ว แต่ต้องมีการแบ่งรอบเวรใช้น้ำผลัดกันสูบน้ำระหว่างต้นน้ำกับปลายน้ำ ทั้งนี้ เตรียมมาตราการช่วยเหลือให้ชาวนาปลูกพืชอายุสั้นทดแทน และ ปศุสัตว์ เช่นเลี้ยงไก่พื้นเมือง ที่มีอายุให้ผลผลิตไม่นานจนเกินไป
“จะเสนอต่อ ครม. เศรษฐกิจพิจารณา ในวันที่ 24 มิ.ย. นี้ รวมทั้งให้ ธ.ก.ส. ไม่คิดดอกเบี้ยหนี้สินเดิมจนกว่ามีรายได้ใหม่ ส่วนกรณีชาวนาแย่งสูบน้ำที่ จ.สุพรรณบุรี และ อ่างทอง ได้ให้เจ้าหน้าที่เกษตร ในทุกจังหวัดลงพื้นที่ทำความเข้าใจพร้อมกับให้ทหาร หน่วยความมั่นคงในพื้นที่เพื่อระงับเหตุแล้วแต่เหตุแย่งน้ำอาจเกิดขึ้นอีกเพราะคงไม่มีชาวนาคนไหนยอมให้นาข้าวล่มเสียหาย” นายปีติพงศ์ กล่าว
ด้าน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า จะรอข้อเสนอมาตรการช่วยเหลือชาวนาที่ประสบภัยแล้งเข้ามายังที่ประชุมคระรัฐมนตรีเศรษฐกิจในวันที่ 24 มิ.ย. นี้ แต่ไม่ใช่เป็นการนำเงินไปให้วันละ 1,000 บาท เพราะผิดหลักการ และตอนนี้ข้าวยังไม่ออกก็ยังไม่รู้ราคา ต้องดูราคาข้าวในตลาดก่อนและดูการผลิตที่เกิดขึ้นก่อน ดังนั้น การช่วยเหลืออย่าให้ผิดลักษณะของมัน ส่วนจะออกมาในรูปแบบไหนตนก็ไม่ทราบต้องรอดูที่รมว.เกษตรฯเสนอ รวมถึงกรอบเงินงบประมาณที่จะใช้เท่าไรนั้น
อีกทั้งราคาข้าวก็ยังไม่รู้ว่าจะขึ้นหรือลง ก็จะไม่มีการจ้างมาทำนู่นทำนี่ ดังนั้น การช่วยเหลือครั้งนี้ จะต่างจากครั้งที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการขอให้เลื่อนการผลิตเฉพาะในลุ่มน้ำเจ้าพระยาไม่ใช่ทั้งหมดและการขอให้เลื่อนการผลิตก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีรายได้ เขายังมีรายได้แต่ช้าไป 2 เดือน ฉะนั้น มันไม่เข้าข่ายที่จะต้องมาชดเชยเหมือนที่มีการจ้างแรงงานเหมือนครั้งที่ผ่านมา
“จะมีการพิจารณากันว่าจะช่วยอย่างไร ซึ่งจะต่างจากเดิมแน่นอน เพราะเราแค่ขอชะลอการผลิตไม่ได้ให้เลิกการผลิตที่ต้องมีการชดเชย” รองนายกฯกล่าว
ส่วนข้อเสนอที่จะให้เงินอุดหนุนไปปลูกพืชชนิดอื่นใช่หรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า อันนี้น่าสนใจ เพราะเป็นการให้แล้วมีผลิตผล ถือว่าช่วยถูกต้อง สำหรับการเลื่อนปลูกไป 2 เดือนจะทันหน้าน้ำหรือไม่ เพราะถ้าน้ำมากก็จะเกิดความเสียหายอีก ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า “ทัน”
ส่วนกรณีภัยแล้งขณะนี้ ตนได้สอบถามไปแล้ว กระทรวงเกษตรฯ แจ้งว่า เมื่อเดือน พ.ค. ข้อมูลระบุว่า “ฝนจะมาแต่ไม่คิด ว่าข้อมูลจะเปลี่ยนเร็วขนาดนี้ ซึ่งธรรมชาติตอนนี้รุนแรงมาก ไม่มีใครอยากให้แล้ง”
อีกด้าน ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำกรมชลประทาน รายงานสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศล่าสุด มีปริมาณน้ำรวมกัน จำนวน 32,251 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 46 ของความจุอ่างฯขนาดใหญ่รวมกันทั้งหมด
สถานการณ์น้ำในเขื่อนใหญ่ภาคเหนือ อาทิ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล จ.เชียงใหม่ มีปริมาณน้ำ 73 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 28 ของความจุอ่างฯ เขื่อนกิ่วลม จ.ลำปาง มีปริมาณน้ำ 49 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 45 ของความจุอ่างฯ เขื่อนภูมิพล จ.ตาก มีปริมาณน้ำ 4,123 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 31 ของความจุอ่างฯ เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีปริมาณน้ำ 3,465 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 36 ของความจุอ่างฯ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก มีปริมาณน้ำ 131 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 14 ของความจุอ่างฯ มีน้ำไหลลงอ่างฯใหญ่ภาคเหนือ รวมทั้งสิ้น 3.78 ล้านลูกบาศก์เมตร
ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ เขื่อนห้วยหลวง จ.อุดรธานี มีปริมาณน้ำ 27 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 20 ของความจุอ่างฯ เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร มีปริมาณน้ำ 200 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 38 ของความจุอ่างฯ เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ มีปริมาณน้ำ 486 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 25 ของความจุอ่างฯ เขื่อนลำตะคอง จ.นครราชสีมา มีปริมาณน้ำ 82 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 26 ของความจุอ่างฯ ฯ เขื่อนลำนางรอง จ.บุรีรัมย์ มีปริมาณน้ำ 63 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 52 ของความจุอ่างฯ อ่างฯใหญ่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีน้ำไหลลงอ่างฯใหญ่ รวมกัน 3.31 ล้านลูกบาศก์เมตร
สำหรับในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออก ที่ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มีปริมาณน้ำ 76 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 8 ของความจุอ่างฯ เขื่อนกระเสียว จ.สุพรรณบุรี มีปริมาณน้ำ 89 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 37 ของความจุอ่างฯ เขื่อนคลองสียัด จ.ฉะเชิงเทรา มีปริมาณน้ำ 41 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 10 ของความจุอ่างฯ เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก มีปริมาณน้ำ 15 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 7 ของความจุอ่างฯ
สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ส่วนใหญ่ยังมีน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย เนื่องจากทางตอนบนยังมีฝนตกน้อยต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย โดยกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่า ปริมาณฝนจะตกชุกตามฤดูกาลประมาณปลายเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งกรมชลประทานจะบริหารจัดการน้ำในช่วงระยะเวลานี้ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อพื้นที่การเกษตรที่ปลูกไปแล้ว รวมทั้ง เพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศน์ จึงขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัดด้วย
ด้าน นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลฯ กล่าวว่า ยอมรับว่า ในปี 2555 มีการสั่งการจากฝ่ายการเมืองให้กรมชลฯ ระบายน้ำในเขื่อนทุกเขื่อนลงเหลือ 45%ของความจุเขื่อน จนปริมาณน้ำลดต่ำมาถึงในปัจจุบัน เพราะไม่ต้องการให้มีน้ำท่วมซ้ำเหมือนวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ซึ่งขณะนั้นกรมชลฯ ได้พยายามทัดทาน และประวิงเวลาการระบายน้ำมาโดยตลอด เนื่องจากการระบายน้ำมากหรือน้อย ต้องทำให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำท้ายเขื่อน แม้ท้ายที่สุดฝ่ายการเมืองจะยอมรับฟังเหตุผล ให้หยุดการระบายน้ำจากเขื่อนได้ แต่ก็มีการระบายออกแล้วมากถึง 14,000 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเป็นปริมาณการระบายน้ำออกที่มากที่สุดในรอบ 15 ปี