กระทรวงเกษตรฯ ถกแก้วิกฤตแล้ง วิดีโอคอนเฟอเรนซ์ 29 จังหวัด พบ “เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์” วิกฤตสุด มีปริมาณน้ำเหลือใช้ได้เพียง 7 เปอร์เซ็นต์ ย้ำเกษตรกรไม่ต้องวิตกกังวล เหตุปีนี้มีเดือนแปดสองหน ฝนจะมาล่าช้า ด้าน “บิ๊กตู่” สั่งกรมชลฯ ขอร้องประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด ลดเสี่ยงขาดน้ำ สั่งเพิ่มใช้น้ำบาดาล หลังพบมีใช้แค่ 10%
วันนี้ (16 มิ.ย.) มีรายงานว่า นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ประชุมทางไกลผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับสำนักงานชลประทาน และเจ้าหน้าที่การเกษตรทั้ง 22 จังหวัดลุ่มเจ้าพระยา และ 7 จังหวัดลุ่มน้ำแม่กลอง ภายหลังประชุม นายชวลิตกล่าวว่า ได้สั่งการให้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจรองรับสถานการณ์น้ำน้อยจากฝนทิ้งช่วง โดยให้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณน้ำแต่ละพื้นที่ และจำแนกพื้นที่ปลูกข้าวแล้ว กับยังไม่ปลูก ที่สำคัญต้องเน้นให้ทำความเข้าใจกับเกษตรกรในส่วนที่ปลูกข้าวแล้วให้ใช้น้ำอย่างคุ้มค่า ส่วนที่ยังไม่ปลูกให้เลื่อนออกไปอีก 1 เดือน และให้สอบถามข้อมูลความต้องการจากเกษตรกรเพื่อที่จะประมวลความช่วยเหลือเสนอต่อนายกฯ
ส่วนเขื่อนที่วิกฤตสุดคือ ป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำเหลือใช้การได้เพียง 7 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่เกษตรกรไม่ต้องวิตกกังวลเพราะปีนี้มีเดือนแปดสองหน ฝนจะมาล่าช้า เป็นปกติของการมีเดือนแปดสองหน โดยภาพรวมผลกระทบจากภัยแล้งครั้งนี้ยังถือว่าระบบเศรษฐกิจด้านการเกษตรไม่เสียหาย เพราะการใช้ชะลอปลูกข้าวเท่านั้น ไม่ใช่ยกเลิกปลูก และยังไม่เสียหาย
มีรายงานว่า ขณะนี้สถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่อยู่ในระดับวิกฤตสุดแล้ว ปริมาณน้ำสำรองแทบไม่มี ทำให้พื้นที่ภาคกลางมีน้ำใช้อีก 30 วัน ซึ่งการชะลอปลูกข้าวนาปี 4 ล้านไร่ใน 22 จังหวัดออกไปอีก 1 เดือน
อีกด้าน ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ล่าสุด (16 มิ.ย. 58) ที่เขื่อนภูมิพล จ.ตาก มีปริมาณน้ำ 4,172 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 31 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 372 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีปริมาณน้ำ 3,562 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 37 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 712 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก มีปริมาณน้ำ 134 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 14 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 91 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มีปริมาณน้ำ 85 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 9 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 82 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมทั้ง 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 1,257 ล้านลูกบาศก์เมตร
สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ยังคงมีปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์น้อย เนื่องจากทางตอนบนฝนยังไม่ตกชุกกระจายเท่าที่ควร ส่งผลให้มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำน้อยตามไปด้วย ซึ่งปริมาณน้ำที่มีอยู่จะใช้สนับสนุนกิจกรรมการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศอย่างไม่ขาดแคลน รวมทั้งพื้นที่ปลูกข้าวนาปีที่ทำการเพาะปลูกไปแล้วตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา ส่วนพื้นที่ที่ยังไม่ได้ทำการเพาะปลูก ขอความร่วมมือให้ชะลอการเพาะปลูกไว้ก่อน รอจนกว่าฝนจะตกชุกกระจายตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ไว้ว่าฝนจะมาปกติในช่วงประมาณกลางถึงปลายเดือนกรกฎาคมนี้
นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงปัญหาภัยแล้งในขณะนี้ ว่า ปัญหาหลักอยู่ที่บริเวณภาคกลางลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งภาคกลางมีหลายเขื่อนที่จะต้องบริหารจัดการ แต่เดิมเราประมาณการว่า ฝนจะตกตามฤดูกาล แต่ปรากฏว่าฝนไม่ได้ตกตามที่คาดไว้ โดยได้มีการสำรวจพบว่ามีการปลูกข้าวไปแล้ว 3.4 ล้านไร่ ซึ่งยังบริหารน้ำในเขื่อนได้ แต่ต้องใช้อย่างประหยัด โดยตนได้ให้เจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงไปตรวจสอบพื้นที่ 3 ล้านไร่ที่เหลือ ว่ามีการปลูกข้าวหรือไม่ เพราะทางกรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่า ประมาณเดือน ก.ค.ฝนจะมา และเราก็บอกกับประชาชนว่าอยากให้เลื่อนการปลูกข้าวนาปีออกไปจนถึงเดือน ก.ค. ทั้งนี้ในวันที่ 17 มิ.ย.นี้ ตนจะหารือร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดที่อยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อดูให้ชัดเจนว่าจะทำอะไรได้บ้าง ซึ่งเรื่องการทำความเข้าใจกับประชนเป็นกุญแจความสำเร็จ เพราะน้ำที่ใช้ได้ขณะนี้ โดยเฉลี่ยเหลือประมาณ 40 วัน แต่หากฝนตกลงมาก็สามารถใช้ได้ออกไปอีก
นายปีติพงศ์ กล่าวว่า สำหรับการกรมชลประทานของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาจะแบ่งเป็น 2 ตอน คือเจ้าพระยาตอนบน ที่จะต้องให้เขาทำนาเร็วหน่อย เนื่องจากลุ่มน้ำบางลุ่มน้ำไม่มีโครงสร้างพื้นฐานอะไรเลย เช่น แม่น้ำยม หากช่วงเดือนก.ค.ฝนตกลงมาเร็วก็จะทำให้น้ำท่วม จะทำให้เสียหายอย่างที่เป็นมาเกือบทุกปี แต่ลุ่มพระยาตอนล่างมีเขื่อนอยู่หลายเขื่อน แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไปก็จำเป็นต้องจ่ายน้ำในลักษณะที่ประหยัดมากยิ่งขึ้นเมื่อถามว่า ทำฝนเทียมได้หรือไม่
นายปีติพงศ์ กล่าวต่อไปว่า ฝนเทียมเราพยายามทำทุกแห่ง แต่ต้องทราบว่าความชื้นไม่พอ ได้ผลไม่ตรงตามที่เราอยากให้เป็น เมื่อถามว่า ปริมาณน้ำที่ลดลงส่งผลกระทบทำให้เกษตรกรมีรายได้ลดลง จะมีการแก้ไขปัญหาอย่างไร
นายปีติพงศ์ กล่าวด้วยว่า เราเป็นห่วงอยู่ แต่ยังไม่ได้เข้าไปดูให้ชัดเจนว่า จะแก้ไขอย่างไร ซึ่งรัฐบาลก็เตรียมการเพื่อให้ได้ข้อมูลที่เหมาะสมที่สุด คิดเอาเองอย่างเดียวก็ไม่ตอบสนองปัญหา โดยในสัปดาห์นี้ ได้ให้เจ้าหน้าที่บอกกับประชาชนบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ขอให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ด้วย เพราะบางแห่ง มีเรื่องพอเขื่อนปล่อยน้ำก็สูบไปใช้ก่อนทำให้คนที่อยู่ท้ายเขื่อนไม่มีน้ำใช้ทำให้เกิดปัญหา
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ปรารภและสั่งการต่อที่ประชุมฯ ว่าปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหาภัยแล้งแม้ขณะนี้จะเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว เพราะฝนส่วนใหญ่จะตกในพื้นที่ทางด้านใต้ของประเทศ ไม่ตกในพื้นที่แหล่งรับน้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่เขื่อนขนาดใหญ่ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ส่งผลให้น้ำต้นทุนมีปริมาณค่อนข้างน้อย ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ปรารภถึงการปลูกข้าวนาปรังที่ผ่านมาซึ่งรัฐบาลได้พยายามหามาตรการต่างๆ ช่วยเหลือเกษตรกรด้วยการสนับสนุนให้ปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยและสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจ้างงานในพื้นที่เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ในช่วงเวลาดังกล่าวอีกทางหนึ่ง รวมทั้งมีการลดต้นทุนการผลิตต่างๆ ให้แก่เกษตรกร
อย่างไรก็ตาม ยังมีเกษตรกรส่วนหนึ่งที่ไม่เข้าใจการดำเนินการของรัฐบาล พยายามที่จะปลูกข้าวนาปรัง ทำให้แผนการบริหารจัดการน้ำไม่เป็นไปตามแนวทางที่กำหนด เนื่องจากในช่วงการทำนาปรังได้มีการกำหนดแผนการใช้น้ำเต็มที่ไม่เกินประมาณ 2,900 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่เมื่อมีเกษตรกรบางส่วนที่ไม่ดำเนินการตามแนวทางของรัฐบาลก็ส่งผลให้นาปรังได้รับความเสียหาย ตรงนี้รัฐบาลตระหนักถึงผลกระทบและความเสียหายที่เกิดขึ้นจึงพยายามให้ความช่วยเหลือโดยปล่อยน้ำเพิ่มทำให้แผนการใช้น้ำเพิ่มสูงขึ้นถึง 4,000 กว่าล้านลูกบาศก์เมตร สูงกว่าแผนการบริหารจัดการน้ำที่กำหนดไว้ ส่งผลให้น้ำต้นทุนที่อยู่ในเขื่อนขนาดใหญ่มีปริมาณน้อยลง
ดังนั้น วันนี้กรมชลประทานจึงได้มีหนังสือแจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 22 จังหวัดในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพื่อชี้แจ้งทำความเข้าใจต่อประชาชนในพื้นที่ให้เลื่อนเวลาการปลูกข้าวออกไปก่อน
ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรโดยเฉพาะชาวนา หากฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลหรือไม่ตกในพื้นที่แหล่งรับน้ำจนทำให้ไม่มีน้ำที่จะใช้เพาะปลูกข้าวได้เพียงพอ เช่น การจัดโครงการเกี่ยวกับการปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย การจ้างงานในพื้นที่ให้กับเกษตร ตลอดจนอาจจะต้องมีการใช้น้ำบาดาลเพิ่มขึ้นโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและดินประกอบด้วย เพราะปัจจุบันมีการใช้น้ำบาดาลใช้เพียงแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้เพื่อให้สามารถผ่านพ้นสถานการณ์และปัญหาดังกล่าวไปได้ โดยให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต้องวางแผนการดำเนินการในเรื่องนี้อย่างรัดกุมและนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาโดยเร็ว
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรมประชาสัมพันธ์ ชี้แจงทำทำความเข้าใจต่อประชาชนทุกพื้นที่ใช้น้ำอย่างประหยัดและเป็นไปอย่างคุ้มค่าเกิดประโยชน์สูงสุด