xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลวอนเกษตรกรชะลอปลูกข้าว รอน้ำจากกรมชลฯระบายได้ภายใน ก.ค.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด (แฟ้มภาพ)
รองโฆษกรัฐบาล แจงกรมชลฯ แจ้งให้จังหวัดเตรียมพร้อมรับน้ำเข้าสู่พื้นที่ชลประทานภายในกรกฎาคมวอนเกษตรกรอย่าเพิ่งลงมือเพาะปลูกเกรงได้ไม่คุ้มเสีย เหตุน้ำน้อยหวั่นข้าวยืนต้นตาย กำชับผู้ว่าฯ เร่งสื่อสารกับเกษตรกร

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงสถานการณ์ภัยแล้งในประเทศ ซึ่งทำให้ต้องขอความร่วมมือพี่น้องเกษตรกรชะลอการปลูกพืชเกษตรออกไประยะหนึ่งก่อนว่ารัฐบาลได้มอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้สื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชนในเขตชลประทานและลุ่มน้ำเจ้าพระยาให้ชะลอการปลูกพืชโดยเฉพาะข้าวออกไปก่อน และให้เตรียมพร้อมรับน้ำเข้าเต็มพื้นที่ได้ภายในเดือนกรกฎาคมนี้

ทั้งนี้เหตุที่ต้องชะลอการเพาะปลูก เนื่องจากระดับน้ำในเขื่อนหลักลดต่ำลงมาก จำเป็นต้องรอรับน้ำฝนให้เพียงพอก่อนปล่อยเข้าสู่ระบบชลประทาน

“บางพื้นที่ในเขตชลประทาน และลุ่มน้ำเจ้าพระยาจะได้รับน้ำเต็มพื้นที่ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม บางพื้นที่เป็นช่วงกลางเดือน ซึ่งตามแผนของกรมชลประทานการปล่อยน้ำจะทำได้ครบถ้วนทุกพื้นที่ภายในเดือนกรกฎาคมจึงอยากขอให้พี่น้องเกษตรกรอดทนรออีกระยะหนึ่ง อย่าเร่งรีบลงมือเพาะปลูก เพราะอาจส่งผลให้พืชผลขาดน้ำ เกิดความเสียหาย รวมทั้งอยากขอร้องพี่น้องเกษตรกรว่า ควรให้ความร่วมมือและอย่าได้กดดันเจ้าหน้าที่ให้เร่งระบายน้ำในขณะที่น้ำในเขื่อนยังไม่มีความพร้อมเต็มที่ เพราะจะทำให้กระทบแผนการระบายน้ำทั้งระบบซึ่งรวมถึงน้ำสำหรับการอุปโภค บริโภคด้วย"

พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า ในช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมารัฐบาลมีมติงดส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปรังในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลอง โดยได้จัดสรรน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง 2,900 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งได้รับความร่วมมือจากเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นอย่างดี แต่ก็มีเกษตรกรบางส่วนไม่ปฏิบัติตาม ทำให้เมื่อสิ้นฤดูแล้งมีการใช้น้ำไปถึง 4,113 ล้านลบม. ซึ่งมากกว่าที่ตั้งเป้าหมายไว้ถึง 1,213 ล้าน ลบม. ทำให้น้ำต้นทุนสำหรับฤดูกาลเพาะปลูกใหม่ในเขื่อนหลัก คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้มากส่งผลให้ต้องขอความร่วมมือชะลอการเพาะปลูกออกไปดังกล่าว

อย่างไรก็ตามรัฐบาลมีโครงการช่วยเหลือเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งเพื่อการสร้างอาชีพ การจ้างงาน การส่งเสริมการเลี้ยงปศุสัตว์เพื่อชดเชยการขาดรายได้ ในวงเงิน 1,800 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการอยู่ โดยข้อมูลล่าสุดมีการจ้างงานเกษตรกรไปแล้ว 37,569 ราย จากเป้าหมายประมาณ 44,000 ราย ซึ่งยังสามารถให้การช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรได้อย่างต่อเนื่องต่อไป อย่างไรก็ตามหากเกษตกรมีปัญหาสามารถขอคำปรึกษาได้ที่ศูนย์เกษตกรตำบล หรือศูนย์ดำรงธรรมของจังหวัด


กำลังโหลดความคิดเห็น