xs
xsm
sm
md
lg

ชาวนาชัยนาททำใจชลประทานจะหยุดส่งน้ำให้ชะลอปลูกข้าวนาปีหวังพึ่งฝนมาช่วยชีวิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ชัยนาท - กรมชลประทาน ออกประกาศขอเกษตรกรลุ่มเจ้าพระยาชะลอปลูกข้าวเพราะไม่มีน้ำให้เพาะปลูก เนื่องจากฝนตกน้อย น้ำในเขื่อนลดลง หวั่นเกิดการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ขณะที่ชาวนาชัยนาททำใจหากไม่มีน้ำชลประทาน ก็ต้องรอฝนให้มาช่วยชีวิต

วันนี้ (10 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน ได้ออกประกาศกรมชลประทานลงวันที่ 9 มิถุนายน 2558 ขอความร่วมมือเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ยังไม่ได้เพาะปลูกข้าวนาปี ให้ชะลอการเพาะปลูกข้าวออกไปก่อน จนกว่าจะเริ่มมีฝนตกชุก หรือมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูกประมาณปลายเดือนกรกฎาคม 2558 และขอให้ผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัดเพื่อป้องกันการเกิดการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา

ทั้งนี้ เนื่องจากสถานการณ์ฝนปีนี้มีปริมาณฝนตกน้อยกว่าเกณฑ์ที่ประเมินไว้ จากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยาสรุปว่า ในเดือนพฤษภาคมซึ่งเข้าสู่ฤดูฝน แต่ปริมาณฝนที่ตกในภาคเหนือต่ำกว่าค่าปกติ 98.6 มิลลิเมตรหรือ 55% และปริมาณฝนที่ตกในภาคกลางต่ำกว่าค่าปกติ 119.1 มิลลิเมตร หรือ 69% ส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนในเกณฑ์น้อย และต้องระบายน้ำจากเขื่อนจำนวนมากกว่าแผนที่วางไว้เพื่อเสริมน้ำฝนที่น้อยกว่าปกติ ทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนลดลงอย่างต่อเนื่อง

โดยเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.58 ที่ผ่านมา ปริมาตรน้ำใช้การได้ในเขื่อนภูมิพล 457 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์ 831 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมทั้ง 2 เขื่อน จำนวน 1,288 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 7 ของความจุน้ำใช้การได้ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน 95 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 11 ของความจุน้ำใช้การได้ และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จำนวน 97 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 10 ของความจุน้ำใช้การได้

จากการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.58 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ระบายน้ำจากเขื่อนทั้ง 4 แห่งในช่วงเดือนมิถุนายน ถึงเดือนกรกฎาคม 2558 อัตรารวมเฉลี่ยวันละ 30-35 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถสนับสนุนเพียงพอเฉพาะเพื่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ และอื่นๆ รวมถึงพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีที่ได้เพาะปลูกแล้ว จำนวน 2.84 ล้านไร่เท่านั้น จึงมีความจำเป็นต้องขอความร่วมมือให้เกษตรกรในลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ยังไม่ได้ปลูกข้าวให้ชะลอการปลูกออกไปก่อนประมาณปลายเดือนกรกฎาคม 2558

ขณะที่เขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท ซึ่งเป็นเขื่อนทดน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งที่รับน้ำจากเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ได้รักษาระดับน้ำเหนือเขื่อนอยู่ที่ 14.61 เมตร (เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง) ระดับน้ำท้ายเขื่อนอยู่ที่ 5.90 เมตร (เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง) ปริมาณน้ำระบายท้ายเขื่อนมีจำนวน 70 ลูกบาศก์เมตร/วินาที

ส่วนการปลูกข้าวในจังหวัดชัยนาท ขณะนี้มีเกษตรกรได้ทำการเพาะปลูกข้าวนาปีไปแล้ว จำนวน 887,481.20 ไร่ จากพื้นที่ปลูกข้าวทั้งหมด 943,760 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่อยู่ในเขตชลประทาน และอยู่ต้นน้ำกับพื้นที่ที่มีบ่อบาดาล และใกล้กับแหล่งน้ำธรรมชาติที่สามารถทำการเพาะปลูกได้

ส่วนพื้นที่ที่อยู่ในเขตชลประทานแต่อยู่ท้ายน้ำ และพื้นที่นอกเขตชลประทาน เกษตรกรยังไม่สามารถปลูกข้าวได้เพราะไม่มีน้ำ ยังคงต้องเฝ้ารอให้ฝนตก หรือชลประทานส่งน้ำมาให้ต่อไป อย่างไรก็ตาม แม้จะมีชาวนาที่สามารถปลูกข้าวได้แล้ว แต่นาข้าวหลายแห่งก็อยู่ในสภาพที่กำลังขาดน้ำหล่อเลี้ยง

นางสมพิศ มีเดช อายุ 58 ปี ชาวนาหมู่ 1 ต.บางขุด อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท กล่าวว่า จากสภาพความแห้งแล้งฝนตกน้อย และชลประทานส่งน้ำมาให้ไม่ถึงปลายคลอง ทำให้ตนสามารถปลูกข้าวได้เพียง 10 ไร่ แต่ข้าวที่ปลูกไว้ขณะนี้ก็อยู่ในสภาพที่กำลังขาดน้ำ พื้นนาแตกระแหงต้นข้าวใกล้ตาย

“ขณะที่นาอีกแปลง จำนวน 3 ไร่ ก็ยังไม่สามารถปลูกข้าวได้ เพราะต้องรอน้ำจากชลประทานอย่างเดียว ซึ่งหากชลประทานจะหยุดส่งน้ำ และให้รอไปปลูกปลายเดือนกรกฎาคม ก็คงต้องทำใจรับสภาพไปไม่รู้จะทำอย่างไร คงได้แต่รอคอยขอให้มีฝนตกลงมาเพื่อช่วยชีวิตชาวนาต่อไป”


นางสมพิศ มีเดช อายุ 58 ปี ชาวนาหมู่ 1 ต.บางขุด อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท
กำลังโหลดความคิดเห็น