คาบสมุทรสทิงพระ มีรูปทรงแหลมยาวยื่นลงไปในทะเล ด้านหนึ่งขนาบด้วยทะเลอ่าวไทย อีกด้านขนาบด้วยทะเลสาบสงขลา
พื้นที่ของคาบสมุทรสทิงพระวางตัวในแนวเหนือ-ใต้ ครอบคลุม อ.ระโนด อ.กระแสสินธุ์ ซึ่งอยู่ติดทะเลสาบตอนบน หรือทะเลหลวง อ.สทิงพระอยู่ติดทะเลสาบตอนกลาง และ อ.สิงหนครติดทะเลสาบตอนล่าง โดยมีเกาะยอเป็นตัวเชื่อม อ.สิงหนครไปสู่ อ.เมืองสงขลา ด้วยสะพานติณสูลานนท์ 2 ช่วง
คาบสมุทรสทิงพระ ในอดีตถือเป็นส่วนหนึ่งของอู่ข้าวอู่น้ำของภาคใต้ เพราะมีพื้นที่ทำนามากกว่า 2 แสนไร่ นอกเหนือจากพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังที่ครอบคลุมจังหวัดใกล้เคียงรวมทั้งพัทลุง แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่าง อู่ข้าวอู่น้ำแห่งนี้จึงค่อยๆ โรยราเหลือเพียงประวัติศาสตร์
ว่าที่ ร้อยตรี ไพเจน มากสุวรรณ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ระบุว่า ปัญหาใหญ่ของคาบสมุทรแห่งนี้คือปัญหาน้ำ ทั้งอุทกภัยหรือภัยจากน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก และการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง
“พื้นที่คาบสมุทรส่วนที่ติดทะเลสาบสงขลาที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำน้ำท่วมทุกครั้งที่ฝนตกหนัก เพราะน้ำจากฝั่งพัทลุงไหลทะลักลงทะเลสาบ เมื่อระดับน้ำสูงขึ้นก็บ่าเข้าท่วมพื้นที่คาบสมุทร จนเดือดร้อนเสียหายเป็นประจำทุกปี”
อุทกภัยครั้งล่าสุด เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2548 ยาวไปจนถึงเดือนมกราคม 2549 เกิดฝนตกหนักบริเวณลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ส่งผลให้คาบสมุทรสทิงพระมีพื้นที่น้ำท่วมเป็นบริเวณกว้าง ได้รับความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินจากภาวะน้ำท่วมขังระดับสูง และกินเวลานานหลายสัปดาห์
ส่วนในฤดูแล้ง คาบสมุทรสทิงพระก็มีปัญหาขาดแคลนน้ำเพราะไม่มีแหล่งน้ำต้นทุนในพื้นที่ ครั้นจะไปปิดช่วงรอยต่อระหว่างทะเลสาบน้ำจืดกับทะเลอ่าวไทยก็ได้รับเสียงคัดค้านจากชาวบ้าน และเอ็นจีโอ จนต้องเลิกล้มโครงการ
มีความพยายามแก้ไขปัญหานี้ โดยการขุดคลองพลเอก อาทิตย์ กำลังเอก ในแนวเหนือใต้ ล้อไปตามคาบสมุทร เมื่อ พ.ศ. 2527 ช่วงเวลาใกล้เคียงกับการก่อสร้างสะพานติณสูลานนท์ โดยมีความยาวกว่า 54 กิโลเมตร โดยเริ่มจาก อ.ระโนด ไล่เรื่อยมาจนถึง อ.สิงหนคร เพื่อใช้คลอง พล.อ.อาทิตย์ ทำหน้าที่เก็บกักน้ำไว้ในลำน้ำ สำหรับใช้ในการเกษตรบนพื้นที่สองฝั่งคลอง
“ปัญหาใหญ่ของคาบสมุทรสทิงพระคือไม่มีแหล่งน้ำต้นทุน พอเข้าหน้าแล้งก็ขาดแคลนน้ำตั้งแต่ไหนแต่ไร สมัยก่อนนอกจากเพาะปลูกไม่ได้แล้ว คนเลี้ยงวัวยังไม่มีน้ำให้วัวกินเลย พอมีคลองขุดคือคลอง พล.อ.อาทิตย์ก็ดีขึ้น แต่สุดท้ายก็ไม่พออยู่ดี” รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าว
ว่าที่ ร.ต.ไพเจนกล่าวว่า กรมชลประทานศึกษาปัญหาน้ำของคาบสมุทรแห่งนี้ เสนอทางออกสำหรับการขาดแคลนน้ำด้วยการขยายคลอง พล.อ.อาทิตย์เพิ่มขึ้นข้างละ 15 เมตร รวมเป็น 30 เมตร ทำให้ขนาดความกว้างคลองจาก 40 เมตรขยับเป็น 70 เมตร ทำให้คลองเพิ่มความจุน้ำจาก 2 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็น 7 ล้านลูกบาศก์เมตร มากขึ้น 3.5 เท่า เพิ่มพื้นที่เพาะปลูกฤดูแล้งได้ 12,000 ไร่
นอกจากนั้น ยังก่อสร้างระบบกระจายน้ำริมคลอง พล.อ.อาทิตย์ เพื่อส่งน้ำไปสู่แปลงนาด้วยคูส่งน้ำ ก่อสร้างระบบสูบน้ำด้วยไฟฟ้า 19 จุด เพื่อนำน้ำมาใช้เพาะปลูกฤดูแล้ง ก่อสร้างท่อระบายน้ำปลายคลองเพื่อทดน้ำเข้าพื้นที่การเกษตร เช่น ปลายคลองเฉียงพง ปลายคลองมหาการ และปลายคลองไสร้า รวมทั้งการก่อสร้างอาคารกั้นน้ำเค็มเข้าคลองสทิงหม้อ เพื่อบริหารจัดการแบ่งโซนน้ำจืด-น้ำเค็ม ใน อ.สิงหนคร
การขยายความจุคลองดังกล่าวช่วยให้คาบสมุทรสทิงพระมีความมั่นคงด้านน้ำเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเป็นคลองที่ทอดตัวยาวตามคาบสมุทรผ่านทั้ง 4 อำเภอของ จ.สงขลา ส่งผลให้ในฤดูแล้งชาวบ้านสามารถปลูกพืชผักเอาไว้บริโภคในครัวเรือน หรือเหลือออกจำหน่าย คุณภาพชีวิตย่อมดีขึ้นกว่าเดิม
ส่วนการป้องกันอุทกภัยนั้น กรมชลประทานใช้มาตรการใช้สิ่งก่อสร้างเข้าช่วย เช่น การก่อสร้างคันกั้นน้ำริมทะเลสาบสงขลาเพื่อกันน้ำจากทะเลสาบสงขลาไหลเข้าท่วมพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระในฤดูน้ำหลาก และกันน้ำเค็มเข้าพื้นที่เกษตรกรรมในฤดูแล้ง
การปรับปรุงคลองระบายน้ำเพื่อระบายน้ำที่เกิดจากฝนออกสู่ทะเลสาบสงขลาและอ่าวไทย เช่น การปรับปรุงคลองระโนดและคลองสาขา การปรับปรุงระบบระบายน้ำของพื้นที่ภายในคันกั้นน้ำกระแสสินธุ์ เพื่อระบายน้ำออกทั้งทะเลสาบสงขลาและอ่าวไทย เช่นกัน
นอกจากนั้น ยังมีการผันน้ำจากทะเลสาบสงขลาออกสู่อ่าวไทยเพื่อลดระดับน้ำในทะเลสาบสงขลาในช่วงฤดูน้ำหลาก โดยผันน้ำผ่านคลองหนังและคลองสทิงพระ ซึ่งต้องปรับปรุงคลองทั้งสองแห่ง พร้อมก่อสร้างอาคารประกอบ
“จากที่เคยเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของภาคใต้ แต่การขาดการพัฒนาทำให้คาบสมุทรสทิงพระ ตกอยู่ในภาวะถดถอยตามลำดับ โครงการที่ทำอยู่นี้ช่วยให้ชาวบ้านมีโอกาสได้น้ำทำกินในฤดูแล้ง ขณะเดียวกันช่วยป้องกันน้ำท่วมไม่ให้กลายเป็นพื้นที่ท่วมซ้ำซาก แล้งซ้ำซาก ซึ่งไม่มีวันเงยหน้าอ้าปากได้” ว่าที่ ร.ต.ไพเจนกล่าว