xs
xsm
sm
md
lg

ชลประทานอ่างทองเผยทั้ง 7 อำเภอแล้งหนัก เตรียมปล่อยน้ำช่วยชาวสวน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายวินัย อ่ำรัศมี หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด (ปภ.) อ่างทอง
อ่างทอง - หัวหน้าป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอ่างทอง เผยขณะนี้ชาวนา และชาวสวนในพื้นที่ทั้ง 7 อำเภอของ จ.อ่างทอง กำลังได้รับกระทบจากภัยแล้งอย่างหนัก แต่ทางจังหวัดก็ได้เตรียมรับสถานการณ์ไว้แล้วหากมีกรณีวิกฤตที่จะเกิดการขาดแคลนน้ำ โดยชลประทานพร้อมที่จะปล่อยน้ำช่วยหล่อเลี้ยงชาวสวน ส่วนน้ำอุปโภคบริโภคที่ใดขาดแคลนพร้อมน้ำรถบรรทุกน้ำช่วยเหลือ

วันนี้ (15 ก.พ.) หลังจากชลประทานประกาศหยุดจ่ายน้ำทำนา และรัฐบาลได้ให้เงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาทในช่วงที่ผ่านมา ในส่วนของจังหวัดอ่างทอง ได้รับผลกระทบจากภาวะแล้งภัยเพิ่มขึ้นไม่สามารถที่จะเพาะปลูกพืชทางการเกษตรได้ และทางสวนผลไม้เริ่มได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำหล่อเลี้ยงนั้น

นายวินัย อ่ำรัศมี หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด (ปภ.) อ่างทอง เปิดเผยว่า ทางจังหวัดอ่างทอง ได้รับผลกระทบจากภาวะแล้งนี้มากพอสมควร จนทำให้ชาวนาขาดแคลนน้ำทำนา และชาวสวนขาดน้ำหล่อเลี้ยงต้นไม้ ครั้งนี้ทางสำนักงานชลประทานจังหวัดอ่างทอง จะทำการปล่อยน้ำหล่อเลี้ยงให้เกษตรกรอยู่ที่ 70 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะมีเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค แต่ทางด้านการเกษตรถือว่าไม่มีน้ำเพียงพอสำหรับทำนาปรัง

สำหรับพืชสวน หรือพืชผักต่างๆ ในจังหวัดอ่างทอง แนวโน้มที่ขาดน้ำในการเพาะปลูก หรือหล่อเลี้ยงนั้นมีมากพอสมควร จากการสำรวจข้อมูลทั่วทั้ง 7 อำเภอของจังหวัดอ่างทอง พบว่ามีพื้นที่ที่มีพืชสวนอยู่ประมาณ 1,200 ไร่ ที่อาจจะได้รับผลกระทบ ทางจังหวัดอ่างทอง จึงเตรียมรับสถานการณ์หากมีกรณีวิกฤตที่จะเกิดการขาดแคลนน้ำ ก็จะเข้าไปดูแลโดยเฉพาะเรื่องพืชสวนซึ่งต้องใช้เวลานานในการเพาะปลูกถ้าเกิดความเสียหายขึ้นแล้วจะทำการฟื้นฟูได้ยาก ซึ่งทางผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง ก็ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลเกษตรกรในกลุ่มนี้เป็นพิเศษ

“ในส่วนของน้ำอุปโภคบริโภคจะขาดแคลนไม่ได้ ต้องมีให้ประชาชนอย่างเพียงพอ ซึ่งในเขตพื้นที่ที่อยู่ในความดูแลของการประปาส่วนภูมิภาคมีแหล่งน้ำที่จะนำมาผลิตน้ำประปาอย่างเพียงพอ ส่วนประปาหมู่บ้านก็จะได้รับการสนับสนุนน้ำจากกรมชลประทานในการผลิตน้ำประปา สำหรับพื้นที่นอกเขตการให้บริการประปาทั้ง 2 ประเภทที่กล่าวถึง ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้มีการรับน้ำจากการประปาส่วนภูมิภาค เพื่อไปแจกจ่ายในความดูแลต่อไป” นายวินัย กล่าว

สำหรับจังหวัดอ่างทอง มีเกษตรกรทำนาในช่วงฤดูแล้งประมาณ 250,000 ไร่ จากพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั้งหมด 390,535 ไร่ และได้มีการเก็บเกี่ยวไปแล้วกว่า 200,000 ไร่ ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 50,000 ไร่ ซึ่งชาวนาส่วนใหญ่ที่ปลูกข้าวในช่วงฤดูแล้งนี้ได้ทำการปลูกข้าวที่อยู่ใกล้กับคลองธรรมชาติใหญ่ๆ จึงสูบน้ำจากคลองมาใช้ในการเพาะปลูก และบางส่วนก็ใช้น้ำจากบ่อบาดาล ซึ่งทางสำนักงานเกษตรจังหวัดอ่างทอง ได้รณรงค์ให้งดปลูกข้าวแล้ว แต่ยังมีเกษตรกรบางรายที่ยังคงปลูกอยู่ จึงอาจจะทำให้ประสบปัญหานาแล้งในอนาคตได้




กำลังโหลดความคิดเห็น