สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรประเมินผลจัดรูปที่ดินโครงการเขื่อนแควน้อยฯ ปี 2557 ระบุประสิทธิภาพการส่งน้ำ-ระบายน้ำ เพิ่มจากระดับ 30% เป็นเกือบ 100% ประสิทธิภาพการใช้ที่ดินพุ่งเกือบเต็มพิกัด ในขณะที่ประสิทธิภาพผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นชัดเจนกว่า 100 กิโลกรัม/ไร่ ทั้งนาปี-นาปรัง ส่วนความขัดแย้งเรื่องการใช้น้ำระหว่างเกษตรกรลดลงมาก
นายสิริวิชญ กลิ่นภักดี ผู้อำนวยการ สำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง กรมชลประทาน เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ประเมินผลการดำเนินงานระยะแรกสำหรับโครงการจัดรูปที่ดินในพื้นที่นำร่องโครงการเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก จำนวน 1,513.27 ไร่ โดยระบุถึงประสิทธิภาพการชลประทานว่า การส่งน้ำและระบายน้ำออกจากแปลงมีประสิทธิภาพขึ้น จากเดิมเกษตรกร 30.87% เท่านั้นที่รับน้ำเข้านาได้สะดวก เพิ่มเป็น 98.78% หลังมีโครงการ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับประสิทธิภาพการระบายน้ำ
ด้านประสิทธิภาพการใช้ที่ดิน เพิ่มขึ้นจาก 168.07% เป็น 191.32% เนื่องจากมีน้ำต้นทุนเพียงพอ สามารถเพาะปลูกได้ตลอดทั้งปี สอดคล้องกับประสิทธิภาพการผลิต โดยข้าวนาปีเพิ่มขึ้นจาก 720.21 กิโลกรัม เป็น 840.67 กิโลกรัม/ไร่ หรือเพิ่มขึ้น 120.46 กิโลกรัม/ไร่ คิดเป็น 16.73% ข้าวนาปรังเพิ่มขึ้นจาก 737.33 กิโลกรัม เป็น 849.63 กิโลกรัม/ไร่ หรือเพิ่มขึ้น 112.30 กิโลกรัม/ไร่ คิดเป็น 15.23%
ด้านสังคม พิจารณาจากปัญหาความขัดแย้งในการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งของเกษตรกรในพื้นที่หลังจากมีการจัดรูปที่ดินลดลงจาก 58.02% เหลือเพียง 8.54% และยังก่อให้เกิดการจ้างงานใช้แรงงานในพื้นที่มากขึ้น รวมทั้งเกษตรกรมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำดีขึ้นในระดับปานกลาง
ส่วนความสามารถในการชำระค่าใช้จ่ายในการจัดรูปที่ดินนั้น ไม่ว่าจะเลือกชำระคืนครั้งเดียว หรือผ่อนชำระ 15 ปี พบว่าเกษตรกรมีความสามารถในการชำระคืน
นายสิริวิชญกล่าวด้วยว่า ผลประเมินดังกล่าวสอดรับกับทิศทางการขยายพื้นที่จัดรูปที่ดินในอนาคต ซึ่งจะมุ่งทั้งพื้นที่โครงการชลประทานเปิดใหม่ พื้นที่โครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้า รวมทั้งรื้อฟื้นพัฒนาพื้นที่โครงการจัดรูปที่ดินเก่าด้วย จะทำให้เพิ่มพื้นที่จัดรูปที่ดินได้มากกว่า 2 ล้านไร่ในปัจจุบัน
สำหรับพื้นที่นำร่องโครงการเขื่อนแควน้อยฯ มีการจัดรูปที่ดินเมื่อปี 2553 โดยการประเมินผลครั้งนี้ดำเนินการในปี 2557