“ประยุทธ์” ประชุม ครม.เศรษฐกิจ ช่วยภัยแล้ง “อนุพงษ์” เร่งแก้น้ำน้อย ย้ำต้องมีใช้ถึง เม.ย.ปีหน้า ขออย่าสร้างข่าวประชาชนแย่งน้ำ ชี้กรมชลฯ ต้องแจงให้ชัดปล่อยน้ำจุดไหน ปัดมีชาวนาฆ่าตัวตาย พร้อมช่วย รมว.เกษตรฯ-ทส.เผยขุดบ่อบาดาลช่วยพื้นที่เสี่ยง 2 แสน ลบ.ม.เสร็จกลาง ก.ค. ผอ.จิสด้าชี้ไทยเจอเอลนีโญหนักสุดเทียบปี 40 อธิบดีกรมชลฯ คาดสิ้นฤดูฝนต้องมีน้ำ 3,500 ล้าน ลบ.ม. เล็งลดระบายน้ำต่อวัน
วันนี้ (24 มิ.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ หรือ ครม.เศรษฐกิจ ที่ห้องประชุมสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล โดยมีวาระในการประชุมคือพิจารณามาตรการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบภัยแล้ง โดยใช้เวลาในการประชุมนานเกือบ 3 ชั่วโมง
ภายหลังการประชุม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.1) แถลงว่า ประเด็นสำคัญในการประชุมวันนี้ คือ ปัญหาเรื่องน้ำขาดแคลน ข้อมูลปัจจุบันระบุว่าน้ำในระยะเวลาเดียวกับปีที่แล้วมีจำนวนน้อย นายกรัฐมนตรีจึงให้ประชุมบูรณาการที่จะดูแลว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร โดยมีการพิจารณาแนวทางสำหรับการบริหารจัดการน้ำ เริ่มต้นจากการดูว่าน้ำที่มีอยู่นั้นว่ามีเท่าไร ดูข้อมูลพยากรณ์ในอีก 6 เดือนข้างหน้าว่าจะมีน้ำอย่างไร ดูว่าพื้นที่ขณะนี้ใช้น้ำสำหรับการอุปโภค บริโภค น้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ และช่วยเหลือเกษตรได้แค่ไหน และพื้นที่ที่ประสบปัญหาจะมีมาตรการอื่นมาช่วยได้อย่างไร เช่น เจาะน้ำบาดาล และที่มีปัญหาแย่งน้ำจะดำเนินการอย่างไร ทั้งนี้มีข้อมูลว่าช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค.น้ำจะมีน้อย ดังนั้นรัฐบาลจะต้องมาดูว่าจะช่วยได้แค่ไหนอย่างไร จนกว่าจะเข้าสู่ช่วงภาวะปกติ
พล.อ.อนุพงษ์กล่าวอีกว่า ขอสื่อมวลชนอย่าสร้างข่าวให้เป็นประเด็น แต่ขอให้ทำความเข้าใจให้ประชาชนเข้าใจว่าน้ำมีน้อย อย่าสร้างวัฒนธรรมที่ว่าเมื่อคนจวนตัวแล้วก็จะแย่งน้ำกัน เราพยายามดูแลอยู่ ในที่ประชุมนายกฯย้ำเรื่องการดำเนินการต้องอยู่บนฐานข้อมูลที่ตรงกัน ถ้าอะไรมีเปลี่ยนแปลงก็ให้หารือปรับแผนกันตลอดเวลา และย้ำว่าน้ำต้องมีใช้อยู่จนถึง เม.ย.ปีหน้าให้ได้
เมื่อถามถึงกรณีการใช้กำลังพลจากฝ่ายปกครองและฝ่ายความมั่นคงดูแลภัยแล้งจำนวนเท่าใด พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า เราต้องร่วมมือกันระหว่างกรมชลประทาน ฝ่ายปกครองและเจ้าหน้าที่ทหารที่จะต้องเร่งทำความเข้าใจว่าจุดใดสามารถปล่อยน้ำได้หรือไม่ได้ และสามารถปล่อยได้มากน้อยแค่ไหน ส่วนการป้องกันไม่ให้นักการเมืองท้องถิ่นที่หวังเรียกคะแนนนิยมประชาชนจนไปกดดันเจ้าหน้าที่ให้เปิดประตูระบายน้ำนั้นตนคิดว่าต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่บริหารจัดการจะดีกว่า อย่าไปสร้างกระแสจนทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด ตนไม่อยากพูดมากเดี๋ยวจะหาว่าไปรบกับนักการเมืองอีก
เมื่อถามต่อว่าจะแก้ไขปัญหาการแย่งน้ำของเกษตรกรอย่างไร พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า เป็นความรับผิดชอบของกรมชลประทานเพราะเป็นคนปล่อยน้ำให้เกษตรกร ดังนั้นกรมชลประทานจะต้องออกมาพูดให้ชัดว่าจะปล่อยน้ำตรงไหน และไม่ปล่อยตรงไหน แล้วให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองท้องถิ่นไปสร้างความเข้าใจให้ประชาชนในพื้นที่ และสิ่งสำคัญคือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องชี้เป้าจุดเจาะน้ำบาดาลให้ชัดเจนเพื่อให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมขุดในจุดที่เหมาะสมที่สุด “ส่วนเรื่องบทลงโทษสำหรับผู้ที่แย่งน้ำ ผมไม่รู้จะพูดอย่างไรดีเดี๋ยวจะเป็นประเด็นขึ้นมาอีก สำคัญประชาชนต้องเข้าใจ แต่มันก็ต้องมีบ้างหากรุนแรงเกินไปเพราะเกษตรกรเป็นล้านๆ ราย แต่ขอร้องว่าอย่าไปสร้างกระแสจะดีกว่า” พล.อ.อนุพงษ์กล่าว
เมื่อถามถึงข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์ชาวนาฆ่าตัวตายเพราะเดือดร้อนจากภัยแล้งซึ่งไม่สามารถทำการเกษตรได้ พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า ตนได้ตรวจสอบกรณีที่มีชาวนาที่อ้างว่าขายนาขายไร่ซึ่งปรากฏว่าเป็นการขายที่ดินตามปกติและมีคนเช่าที่นาของเกษตรกรรายนี้ไปเนื่องจากมีเป็นร้อยๆ ไร่ ทำนาเองไม่ไหว นี่ถือเป็นเรื่องปกติ ตนไม่อย่างให้สร้างกระแสขึ้นมาเพราะไม่มีประโยชน์ต่อสังคม ส่วนกรณีการฆ่าตัวตายนั้นตนคิดว่าเราอย่าเพิ่งไปตัดสินใจอะไรแบบนั้น อย่าแก้ปัญหาเพียงตัดช่องน้อยแต่พอตัว ไม่คิดถึงลูกภรรยาที่อยู่ข้างหลังหากตายไปใครจะดูแล เรายังมีโอกาสหากเดือดร้อนจริงก็ขอให้ไปให้ไปร้องเรียนที่ศูนย์ดำรงธรรมทั่วประเทศเรายินดีจะช่วยอยู่แล้วหากวิกฤตจริงๆ ตนก็ได้กำชับผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศไปแล้วว่าหากใครเดือดร้อนมาร้องเรียนต้องช่วย ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ทุกคนมีความยินดีที่จะช่วยเหลือประชาชนอยู่แล้ว นายกฯ ก็อยากให้ทุกคนมีความสุขที่สุด ส่วนการประชุมคณะรัฐมนตรีที่ จ.เชียงใหม่ระหว่างวันที่ 29-30 มิถุนายนนี้จะลงไปดูพื้นที่ประสบภัยแล้งด้วยหรือไม่นั้นคาดว่าจะลงไปดูเรื่องน้ำและพบปะเกษตรกรด้วย
ขณะที่นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ในส่วนของข้อมูลด้านการเกษตรระบุว่า พื้นที่ที่มีปัญหาคือพื้นที่เฉพาะลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา แบ่งเป็นพื้นที่ทั้งหมดที่วางแผนเพื่อการเพาะปลูกจำนวน 7.45 ล้านไร่ มีการปลูกไปก่อนหน้าที่จะประกาศชะลอการเพาะปลูกประมาณ 3.44 ล้านไร่ แต่หลังจากที่ประกาศให้ชะลอการเพาะปลูกมีการเพาะปลูกเพิ่มอีกประมาณ 5.6 แสนไร่ และนอกจากนั้น 3.45 ล้านไร่ คือพื้นที่ที่ยังไม่ปลูกอะไรเลยและเนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนชลประทานมีไม่พอสำหรับ 3.45 ล้านไร่ ที่คงต้องรอเรื่องฝน และใน 3.4 ล้านไร่ที่เพาะปลูกไปแล้ว จะมีพื้นที่ที่มีความเสี่ยงประมาณ 8 แสนกว่าไร่ เพราะปริมาณน้ำที่คาดไว้ไม่เพียงพอ และส่วนมาตรการที่จะช่วยเป็นมาตรการที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) จะร่วมกันทำการเจาะบ่อบาดาลและใช้บ่อบาดาลเดิมที่มีอยู่แล้ว เพื่อเข้ามาช่วยในส่วนของ 8 แสนไร่ที่มีความเสี่ยง ส่วนพื้นที่ที่มีการเพาะปลูกเพิ่มมาหลังจากประกาศให้ชะลอฯอีก 5.6 ล้านไร่ กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ส่วนใหญ่อยู่ใกล้แหล่งน้ำตามธรรมชาติและขุดเองบ้าง ก็สามารถดูแลตัวเองได้จนถึงฤดูที่ฝนจะมา
ส่วนพื้นที่ที่ยังไม่มีการเพาะปลูก 3.45 ล้านไร่ มท.1 กล่าวว่า มีมาตรการ 4 มาตรการรองรับ คือ 1. เราคงจะต้องขอให้เลื่อนระยะเวลาการเพาะปลูกออกไปเป็นช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค. เรื่องนี้ประกาศหลายครั้งแล้ว 2. ปรับเปลี่ยนพืชที่จะทำการเพาะปลูกเพราะฝนจะมาล่าและมีน้อย โดยหันไปปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยและมีอายุสั้น และเป็นพืชที่มีความต้องการของตลาด คือ ข้าวโพด และถั่วเขียว 3. ปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกไปเลย คือเป็นเกษตรผสมผสาน หรือเกษตรที่ประณีต ที่กระทรวงเกษตรฯ จะคุยกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์เพื่อการเกษตร (ธ.ก.ส.) ในการจัดการทุนที่ต้องใช้ในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิต และ 4. ถ้าจะต้องเลื่อนการเพาะปลูกออกไปเรื่อยๆมีปัญหาเรื่องระยะเวลา ดังนั้น กระทรวงการคลังจะต้องพิจารณาว่าการเลื่อนหนี้หรือการพักชำระหนี้ทั้งต้นและดอกจะทำอย่างไรได้บ้างในพื้นที่ประสบปัญหา
ด้าน พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า ภารกิจของ ทส.คือการขุดเจาะบ่อบาดาลสนับสนุนพื้นที่เพาะปลูกที่มีความเสี่ยงจำนวน 8.5 แสนไร่ เพราะมีพื้นที่บางส่วนที่ไม่สามารถผันน้ำไปได้ ซึ่งจากศักยภาพที่มีอยู่ ในปัจจุบันของปริมาณน้ำใต้ดิน และเครื่องมือที่มีนั้นที่ประชุมกำหนดให้ต้องเสร็จภายในกลางเดือน ก.ค. โดย ทส.สามารถสนับสนุนบ่อบาดาลได้จำนวน 880 บ่อ ที่แบ่งเป็นสองส่วน คือ บ่อน้ำสังเกตการณ์จำนวน 380 บ่อที่มีอยู่แล้ว เป็นบ่อทางวิชาการที่มีน้ำพร้อมแต่ยังไม่มีเครื่องปั๊ม ไม่ต้องไปเจาะใหม่ ซึ่ง กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้ส่งปั๊มน้ำเข้าไปแล้วจำนวน 300 เครื่องที่มีอยู่อยู่แล้ว และอาจจะต้องซื้อเพิ่มอีกนิดหน่อย และได้เริ่มทำการปั๊มน้ำแล้วก็พบว่ามีน้ำตามที่คาดไว้ และส่วนอีกคือ 500 บ่อ ที่จะต้องเจาะใหม่ และต้องหาปั๊มเพิ่มอีกจำนวน 80 ปั๊ม ส่วนการเลือกลงพื้นที่เป้าหมายกรมชลประทานจะเป็นฝ่ายชี้เป้าให้
“ทส.ได้ส่งเครื่องมือเจาะไปแล้ว 60 ชุด ทั้งของ ทส. กองทัพบก และกองทัพไทยที่ทำงานร่วมกัน และนายกรัฐมนตรีฝากเรื่องการสร้างงานในพื้นที่โดยให้เกษตรกรที่ปลูกอะไรไม่ได้เลยประมาณ 2 พันคนมาช่วยกัน ซึ่งในส่วนของการขุดบ่อบาดาลไม่ใช่นำน้ำไปใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค แต่เพื่อช่วยที่นา ซึ่งใช้งบประมาณเพิ่มเติม ทั้งหมด 84 ล้าน ซึ่งในทั้งสองส่วนนี้จะทำให้ได้น้ำ ประมาณ 2 แสน ลบ.ม. จะช่วยได้ 1-1.3 แสนไร่ ที่เราต้องทำให้เสร็จภายในกลาง ก.ค. โดยทำงานตลอด 24 ชั่วโมง” พล.อ.ดาว์พงษ์กล่าว
ขณะที่นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (จิสด้า) กล่าวว่า การคาดการณ์สถานการณ์ฝนที่เหลือในช่วงฤดูฝนของปี 2558 จากการติดตามตัวชี้วัดเรื่องเอลนีโญ ทำให้ทราบอย่างแน่นอนว่าภาวะเอลนีโญได้เกิดขึ้นแล้วและมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่แต่เพียงประเทศไทยที่ประสบกับปัญหาดังกล่าว หลายประเทศก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน อาทิ เกาหลีเหนือ จีน ไต้หวันและอินเดีย จากการคาดการณ์ของหลายสำนักภาวะเอลนีโญที่เกิดขึ้นในปีนี้อาจสูงเท่ากับปี 2540 ซึ่งเป็นปีที่ภาวะเอลนีโญรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยโดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน จะทำให้มรสุมและร่องฝนมีกำลงอ่อนลงอยากมาก โดยจะก่อให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำ เพราะฉะนั้นจะต้องมือการเตรียมการรับมือ
นายอานนท์กล่าวอีกว่า ได้มองปัจจัยอีก 2ประการคือ การแปรผันของมวลน้ำในมหาสมุทรอินเดีย (indian ocean dipole) เมื่อพิจารณาแนวโน้มของปัจจัยนี้ มีแนวโน้มไปในทางที่ดี ซึ่งอาจช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งได้บ้างแต่ก็ยังมีผลน้อยกว่าภาวะเอลนีโญ เนื่องจากสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยขึ้นอยู่กับภาวะเอลนีโญอยู่ถึง 60% แต่การแปรผันของมวลน้ำในมหาสมุทรอินเดียมีผลอยู่ประมาณ 30%โดยอาจช่วยได้ในปลายฤดูฝนช่วงปลายเดือนสิงหาคม-กันยายนเป็นต้นไป ส่วนอีกปัจจัยหนึ่งคือ Madden-Julian oscillation (MJO) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์วงรอบสั้น ทำให้เกิดมรสุมรุนแรงขึ้นเป็นช่วงๆ วงรอบประมาณ 30-60 วัน ซึ่งในอีก2-3 วันนี้จะเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวขึ้น แต่เป็นสิ่งที่จะช่วยได้เพียงระยะสั้น
ผอ.จิสด้ากล่าวต่อถึงการคาดการณ์ของฝนรายเดือนตั้งแต่เดือนกรกฎาคม คาดว่าฝนเฉลี่ยจะน้อยกว่าค่าเฉลี่ยอยู่ประมาณ 18% ในเดือนสิงหาคมจะน้อยกว่าค่าเฉลี่ยลดลงเป็นประมาณ 10% และในเดือนกันยายนฝนจะน้อยกว่าค่าเฉลี่ยประมาณ 5-6% แล้วจะเป็นไปตามค่าเฉลี่ยปกติในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ซึ่งคาดการณ์ต่ออีกว่าในปีนี้ประเทศไทยจะมีพายุ 2 ลูก ในเดือนสิงหาคมและในเดือนกันยายน-ตุลาคม ซึ่งก็จะทำให้มีน้ำเพิ่มขึ้นมาบ้าง อย่างไรก็ตามน้ำในปัจจุบันมีอยู่ในปริมาณน้อย จำเป็นอย่างยิ่งที่จะได้รับความร่วมมือโดยเฉพาะด้านการทำการเกษตรจะต้องมีการบริหารจัดการที่เข้มงวดและต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชน
ด้านนายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ในลุ่มเจ้าพระยามีการระบายน้ำ 33 ล้าน ลบ.ม./วัน ครอบคลุมภารกิจการอุปโภคบริโภค และการทำประปา และใช้ในการรักษาระบบนิเวศน์ 5 ล้าน ลบ.ม./วัน เช่น การผลักดันน้ำเค็ม รักษาสภาพตลิ่ง รักษาความสะอาดแม่น้ำคือท่าจีนและเจ้าพระยา ส่วนที่มีพื้นที่ปลูกไปแล้ว 3.44 ล้านไร่ ก็มีการดูแลให้สามารถเก็บเกี่ยวได้ในอัตราการระบายวันละ 33 ล้าน ลบ.ม. แต่เมื่อตรวจสอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าการระบาย 33 ล้านลบ.ม./วัน จะมีน้ำต้นทุนใช้ถึงปลายเดือน ก.ค. แต่ก็ยังไม่มั่นคงนัก แต่ถ้าจะให้มีความมั่นคงน่าจะในช่วงเดือนสิงหาคม ดังนั้น สิ่งที่มีการหารือกันคือน่าจะปรับลดเพื่อที่จะให้มีน้ำใช้อย่างมั่นคงให้ได้ถึงเดือน ส.ค.โดยที่น้ำอุปโภคและบริโภคและรักษาระบบนิเวศน์จะยอมให้ขาดไม่ได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงสิ้นฤดูแล้งคือเดือน เม.ย. ดังนั้นการคำนวณน้ำได้มีการจำลองสถานการณ์กรณีที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดเอาไว้ว่าน้ำปีนี้จะน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 10% และจำลองว่าน้ำที่น้อยที่สุดที่จะเกิดขึ้นเพื่อให้สามารถส่งน้ำได้ถึงเดือนสิงหาคม และมีน้ำกินน้ำใช้อย่างไม่ขาดแคลนถึงเดือน เม.ย. และจำลองอีกกรณีที่ฝนในปีหน้ามาช้าและขาดช่วง ซึ่งตามตัวเลขเราควรจะเหลือน้ำเมื่อสิ้นฤดูฝน 3,500 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็นน้ำอุปโภค 1,100 ล้าน ลบ.ม. น้ำรักษาระบบนิเวศน์ 1,400 ล้าน ลบ.ม. และน้ำต้นฤดูฝนกรณีฝนขาดช่วงอีก 1,000 ล้าน ลบ.ม. เพราะฉะนั้นเงื่อนไขก็คือเราต้องมีน้ำกินน้ำใช้ภายในเดือน ส.ค.จนกว่าฝนจะตกชุกและในอ่างทั้ง 4 อ่างเมื่อสิ้นฤดูฝนจะต้องมีน้ำ 3,500 ล้าน ลบ.ม.
“สรุปแล้วเราเลือกสถานการณ์ที่ใช้น้ำน้อยที่สุดในอัตราระบายลดลง 5 ล้าน ลบ.ม./วัน ซึ่งสามารถทำได้ตามเงื่อนไข แต่จะมีผลกระทบทำพื้นที่เพาะปลูก 3.44 ล้านไร่ที่ปลูกไปแล้วได้รับผลกระทบให้ 8.5 แสนไร่ที่มีความเสี่ยงและอาจจะเสียหายบางส่วนที่ต้องมีมาตรการเสริมจากการใช้น้ำบาดาล ที่กรมชลประทานจะต้องวางแผนในการบริหารจัดการน้ำโดยขอความร่วมมือจากฝ่ายปกครองและฝ่ายความมั่นคงให้ได้ตามที่ต้องการ” อธิบดีกรมชลประทานกล่าว